กฎหมายแรงงาน ค่าจ้าง กฎหมายแรงงาน ค่าชดเชย กฎหมายแรงงาน เงินชดเชยเลิกจ้าง


1,379 ผู้ชม


กฎหมายแรงงาน ค่าจ้าง กฎหมายแรงงาน ค่าชดเชย กฎหมายแรงงาน เงินชดเชยเลิกจ้าง


กฎหมายแรงงาน : การจ่ายค่าชดเชย

  

 

มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1)  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยสี่ยิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(2)  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(3)  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(4)  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่ร้อยกว่าค้าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

(5)  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยให้นายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

คำว่าค่าชดเชยนั้น มีการกำหนดความหมายอยู่ในมาตรา 5

ค่าชดเชยหมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

ค่าชดเชยจึงเป็นเงินที่นายจ้างมีหน้าที่จ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง ถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้างลูกจ้าง แต่ลูกจ้างลาออกจากงานไป ทิ้งงานไปหรือลูกจ้างถึงแก่ความตาย นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว ถ้ายังไม่มีการเลิกจ้างดังเช่นกรณีนายจ้างได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานให้เลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง แต่นายจ้างยังไม่มีคำสั่งเลิกจ้างหรือบอกเลิกจ้าง ลูกจ้างยังไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย

ในลักษณะเดียวกันเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวาระอื่นและมีชื่อเรียกต่างๆกันโยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเงินจำนวนนั้นก็มิใช่ค่าชดเชย เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างออกจากงานอาจจะมีหลายชื่อเรียกด้วยกัน เช่น เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินทุนเลี้ยงชีพ เงินสะสม เงินกองทุนสงเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งเงินเหล่านี้แม้นายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ออกจากงานเพราะเลิกจ้างด้วยก็ตาม แต่โดยเจตนามิได้มีลักษณะที่จะจ่ายในทำนองเดียวกันกับการจ่ายค่าชดเชย เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าชดเชย แม้จะมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชยก็ตาม โดยต้องถือหลักไว้ว่า ถ้าเงินจำนวนใดมีลักษณะในการจ่ายหลักเกณฑ์การจ่าย และเงื่อนไขการจ่ายเช่นเดียวกับค่าชดเชยแล้วก็ถือว่าเป็นค่าชดเชยได้ แต่ถ้าเงินจำนวนนั้นมีลักษณะการจ่าย มีวัตถุประสงค์ในการจ่ายแตกต่างไปจากค่าชดเชย เช่น ถ้านายจ้างจ่ายเงินนั้นให้แก่ลูกจ้างที่ออกจากงาน ไม่ว่าเกษียณอายุ ลาออก หรือตาย มิได้จ่ายให้เฉพาะกรณีที่นายจ้างเลิกจ้าง เงินจำนวนนั้นก็มิใช่ค่าชดเชย

กฎหมายได้กำหนดค่าชดเชยไว้ 5 อัตรา ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยมากขึ้นตามระยะเวลาในการทำงาน ลูกจ้างที่จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตะจ้องเป็นลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วันขึ้นไป (จะเห็นได้ว่าสถานประกอบกิจการหลายแห่งกำหนดระยะเวลาทดลองงานลูกจ้าง 119 วัน เพราะถ้าให้ลูกจ้างทำงานนานกว่านั้นก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง) การคำนวณค่าชดเชยนั้น กฎหมายให้คำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายซึ่งหมายถึงค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับจริงครั้งสุดท้ายก่อนที่ลูกจ้างจะถูกเลิกจ้าง

การคำนวณค่าชดเชย
 
 
ในการคำนวณค่าชดเชย เมื่อทราบค่าจ้างอัตราสุดท้ายแล้ว
สำหรับกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน  ให้นำค่าจ้างรายวันนั้นคูณด้วย 30 , 90 , 180 ,240 , 300  สุดแล้วแต่ว่าลูกจ้างนั้นทำงานมานานเท่าใด
สำหรับกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ก็ต้องเอาค่าจ้างรายเดือนตั้ง แล้วก็หารด้วย 30 เพื่อให้เป็นค่าจ้างรายวันแล้วจึงคูณด้วย 30 , 90 , 180 ,240 , 300
 ส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยนั้น กรณีเช่นนี้ต้องนำเอาค่าจ้างที่ลูกจ้างนั้นได้รับจริงแต่ละวันรวมกันย้อนหลังไป 30 วัน  90 วัน  180 วัน 240 วัน หรือ 300 วัน โยนำมาบวกได้จำนวนเท่าใด จำนวนนั้นคือ จำนวนค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้ลูกจ้างโดยมิต้องนำเอาไปหารหรือไปคูณอีกแต่อย่างใด ถ้าลูกจ้างนั้นได้รับค่าจ้างหลายประเภท เช่น ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนและได้รับค่าจ้างตามผลงานด้วย กรณีเช่นนี้ให้คิดค่าชดเชยตามวิธีข้างต้นจากค่าจ้างแต่ละประเภทนั้นเสียก่อนแล้วนำผลลัพธ์ของทุกประเภทมารวมเข้าด้วยกัน ก็จะเป็นการคำนวณค่าชดเชยที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ข้อมูลอ้างอิง : คำอธิบายกฎหมายแรงงาน  พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม

โดย : ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ


บทความกฎหมายแรงงาน
กฎหมายคุ้มครองแรงงาน : การพักงาน การพักงาน
อาทิตย์ ที่ 4 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2553
มาตรา ๑๑๖ ในกรณีที่นายจ้างทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ห้ามมิให้นายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างในระหว่างการสอบสวนดังกล่าว เว้นแต่จะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้อำนาจนายจ้างสั่งพักงานลูกจ้างได้ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องมีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงานได้ไม่เกินเจ็ดวันโดยต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงาน
ในระหว่างการพักงานตรวจวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งนี้ อัตราดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน
มาตรา ๑๑๗ เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าลูกจ้างไม่มีความผิด ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานนับแต่วันที่ลูกจ้างถูกสั่งพักงานเป็นต้นไป โดยให้คำนวณเงินที่นายจ้างจ่ายตามมาตรา ๑๑๖เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามมาตรานี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี
บทบัญญัติข้างต้นมีเจตนารมณ์เพื่อมิให้นายจ้างที่ทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางวินัย สั่งพักงานลูกจ้างในระยะเวลายาวนานโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างได้รับได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก (เท่าที่ผ่านมานายจ้างได้สั่งพักงานลูกจ้างเพื่อทำการสอบสวนเป็นเวลาถึง ๒ ปีบ้าง ๔ บ้าง บางรายสั่งพักงานตั้งแต่การสอบสวนเป็นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งในระหว่างสอบสวนดังกล่าวนั้น นายจ้างก็มิได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง นับว่าเป็นที่เดือดร้อนแก่ลูกจ้างเป็นอันมาก) บทมาตราดังกล่าวจะเป็นการคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้นายจ้างสั่งพักงานเพื่อการสอบสวนความผิดทางวินัยลูกจ้างนานเกินไปโดยกำหนดไว้ว่า นายจ้างจะสั่งพักงานลูกจ้างได้ต่อเมื่อ
๑. ลูกจ้างนั้นได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด (วินัยในการทำงาน)
๒. นายจ้างประสงค์จะทำการสอบสวนลูกจ้างและพักงานลูกจ้างนั้น
๓. มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุว่านายจ้างมีอำนาจสั่งพักงานลูกจ้างได้
๔. นายจ้างได้มีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงานซึ่งต้องไม่เกิน ๗ วัน และ
๕. นายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงานนั้นแล้ว
ในระหว่างพักงานนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างนั้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าจ้างในวันทำงาน
ถ้าการสอบสวนเสร็จสิ้นลงแล้วไม่ปรากฏว่าลูกจ้างมีความผิด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างการพักงาน ๗ วันนั้น (โดยหักเงินค่าจ้างส่วนที่จ่ายไปแล้วออกได้) พร้อมทั้งจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีด้วย
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว นายจ้างที่รอบคอบคงจะไม่พักงานลูกจ้างเพื่อสอบสวนลูกจ้างว่ากระทำความผิดหรือไม่ นายจ้างควรสอบสวนลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไปโดยไม่ต้องสั่งพักงาน หรือถ้านายจ้างไม่ประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างทำงานในระหว่างที่ทำการสอบสวน นายจ้างก็อาจจะสั่งให้ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงานและนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างนั้น หรือหากนายจ้างไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานอยู่ในหน้าที่เดิมนายจ้างก็มีอำนาจโดยชอบธรรมในทางการบริหารบุคคลที่จะย้ายลูกจ้าง ไปทำงานในหน้าที่อื่นเป็นการชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนนั้นได้

อัพเดทล่าสุด