เราเรียนรู้เรื่องค่าจ้างไปแล้ว ก็ควรจะรู้ต่อไปอีกสักหน่อย เรื่องค่าจ้างสำหรับการทำงานในวันหยุด “ค่าทำงานในวันหยุด “ ค่าจ้างสำหรับการทำงานล่วงเวลา “ค่าล่วงเวลา” และค่าจ้างสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด”
ก่อนอื่นเรามาเรียนรู้ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนนะครับ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ และฉบับแก้ไขปี ๒๕๕๑ กำหนดไว้ดังนี้
มาตรา ๕
"วันทำงาน" หมายความว่าวันที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติ
"วันหยุด"หมายความว่าวันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์หยุดตามประเพณีหรือหยุดพักผ่อนประจำปี
"ค่าจ้างในวันทำงาน" หมายความว่าค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ
"การทำงานล่วงเวลา" หมายความว่าการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา๒๓ในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี
"ค่าล่วงเวลา" หมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
"ค่าทำงานในวันหยุด"หมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด
"ค่าล่วงเวลาในวันหยุด" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด
มาตรา๒๔ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆไป
ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินหรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น
มาตรา๒๕ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดเว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น
นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้สำหรับกิจการโรงแรมสถานมหรสพงานขนส่งร้านขายอาหารร้านขายเครื่องดื่มสโมสรสมาคมสถานพยาบาลหรือกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เพื่อประโยชน์แก่การผลิตการจำหน่าย และการบริการนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานนอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองในวันหยุดเท่าที่จำเป็นโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆไป
มาตรา๖๑ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
มาตรา๖๒ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา๒๘มาตรา๒๙หรือมาตรา๓๐ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราดังต่อไปนี้
(๑) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(๒) สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
มาตรา๖๓ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
มาตรา๖๔ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงานหรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา๒๘มาตรา๒๙และมาตรา๓๐ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา๖๒และมาตรา๖๓เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด
การทำงานล่วงเวลา ตามกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ว่า คือ
๑) เป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติหรือ
๒) เป็นการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ หรือ
๓) เป็นการทำงานเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา๒๓ในวันทำงาน หรือวันหยุดแล้วแต่กรณี
ตามมาตรา ๒๓ กำหนดให้นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติเวลาเริ่มงานและเวลาเลิกงานในแต่ละวันไว้ ตามเวลาทำงานของงานแต่ละประเภท แต่วันหนึ่งไม่เกิน ๘ ชั่วโมงสำหรับงานทั่วไป ฯ เช่น เข้างาน ๐๘.๐๐ เลิกงาน ๑๗.๐๐ น. เป็นต้น
ดังนั้น การทำงานที่เกินเวลาทำงานปกติ หรือทำงานนอกเวลาทำงานปกติ จึงถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา
ในบางกรณีพนักงานมาทำงานในเวลาทำงานปกติไม่ครบ ๘ ชั่วโมง แล้วทำงานล่วงเวลาต่อ เช่น เข้างาน ๑๓.๐๐ น. เลิกงานเวลา ๑๗.๐๐น. และทำงานต่อถึง ๒๐.๐๐ น. ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาหรือไม่ ทำได้หรือไม่ คำตอบคือ ช่วงเวลาตั้งแต่ ๑๗.๐๐ ถึง ๒๐.๐๐น. ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา เพราะถือว่าเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกตินั่นเอง สามารถทำได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ มาตรา ๒๔
ข้อสำคัญของการทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลา การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด คือกฎหมายห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นครั้งคราวไป ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินหรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๔ และห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดเว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกัน หากหยุดจะเสียหายแก่งาน ตามมาตรา ๒๕
ในทางตรงกันข้าม ลูกจ้างจะทำงานล่วงเวลาหรือมาทำงานในวันหยุดเอง โดยไม่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้างานผู้มีอำนาจหรือนายจ้างได้หรือไม่ คำตอบคือ ทำได้แต่ไม่ได้ค่าจ้าง เนื่องจากเป็นการมาทำงานเองโดยที่นายจ้างไม่ได้สั่ง หรือไม่ได้ตกลงให้มาทำงาน นายจ้างจึงสามารถปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างกรณีดังกล่าวได้
แต่ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องอาจไม่เหมือนกันตลอดไป ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น ประเพณีปฏิบัติอาจมีการลงชื่อทำงานไว้ล่วงหน้าทุกครั้ง โดยการวางแผนการทำงานของหัวหน้างาน ตามแผนการทำงาน และทำงานตามแผนงานที่วางไว้ โดยไม่ต้องรอผลการอนุมัติให้ทำงานล่วงเวลา เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป ย่อมแสดงให้เห็นว่านายจ้างได้ตกลงให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ตามแผนการทำงานที่หน้างานวางแผนไว้แล้ว ดังนี้ถือว่ามีสิทธิได้รับค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด
ดังนั้นการทำงานในวันหยุด ทำงานล่วงเวลา จึงต้องมีการตกลงกันทุกครั้งไป ลักษณะของการตกลงกันที่ปฏิบัติกันทั่วไปคือ การลงชื่อทำงานล่วงเวลา ลงชื่อทำงานในวันหยุด และหัวหน้างานผู้มีอำนาจ อนุมัติ จึงถือว่ามีการตกลงกันทำงานล่วงเวลา
ข้อยกเว้นที่นายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม คือ ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินหรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น งานขนย้ายสินค้าลงเรือ ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเรือออกตามเวลา งานควบคุมดูแลเครื่องจักรที่ต้องเดินเครื่องตลอดเวลา หรือสายงานการผลิตที่ต้องทำต่อเนื่อง หากหยุดผลิตภัณฑ์อาจได้รับความเสียหาย เป็นต้น
การคำนวณค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด มีวิธีการคำนวณคือ
ค่าทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ทั้งลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายเดือน มีสิทธิได้รับค่าทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า ๑.๕ เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ ตามมาตรา ๖๑ เช่น
ค่าจ้างต่อวัน วันละ ๓๐๐ บาท ทำงานล่วงเวลา ๓ ชั่วโมง จะได้รับค่าทำงานล่วงเวลา คือ ๓๐๐ หาร ๘ = ๓๗.๕ x ๑.๕ x ๓ ช.ม. = ๑๖๘.๗๕ บาท พนักงานจะได้รับค่าทำงานล่วงเวลา จำนวน ๑๖๘.๗๕ บาท
การทำงานในวันหยุด หากเป็นพนักงานรายวัน พนักงานจะได้รับค่าจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
หากเป็นพนักงานรายเดือน พนักงานจะได้รับค่าจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ตัวอย่างเช่น
พนักงานรายเดือน เดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ทำงานในวันหยุด จะได้รับค่าจ้าง คือ ๑๐,๐๐๐ หาร ๓๐
เท่ากับ ๓๓๓.๓๓ บาท (ทำงานทั้งวัน) หากทำงานไม่ครบ ทำเพียง ๔ ชั่วโมง ให้เอาจำนวนชั่วโมงทำงานปกติหารค่าจ้างต่อวัน จะได้อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง x จำนวนชั่วโมงที่ทำ จะเป็นค่าจ้างที่ได้รับ ตามตัวอย่างคือ ๓๓๓.๓๓ หาร ๘ x ๔ = ๑๖๖.๖๖ บาท
พนักงานรายวัน วันละ ๓๐๐ บาท จะได้รับค่าทำงานในวันหยุด คือ ๓๐๐ x ๒ = ๖๐๐ บาท (ทำงานทั้งวัน) หากทำงานไม่ครบ ทำเพียง ๔ ชั่วโมง ให้เอาชั่วโมงทำงานปกติหารค่าจ้างต่อวัน จะได้อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง x จำนวนชั่วโมงที่ทำ x ๒ เท่า จะเป็นค่าจ้างที่ได้รับ ตามตัวอย่างคือ ๓๐๐ หาร ๘ x ๒ x ๔ = ๓๐๐ บาท
หากสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ ในกระทู้ หรือ E-mail หรือโทรศัพท์โดยตรงได้ครับ
พบกันในโอกาสต่อไปครับ
ไสว ปาระมี
--------
กฎหมายแรงงาน/เวลาพักของการทำล่วงเวลา
ทำโอหลัง 2 ทุ่ม เราต้องทำชดเชยเวลาที่พักตอน 5 โมงด้วยหรอครับ คือที่บ.ไทยยามากิ เขาให้ทำอย่างเช่น ถ้าโอปกติเลิก 2 ทุ่มเราก้อต้องเลิกงาน 2 ทุ่ม 20 เขาบอกว่าทำชดเชยเวลาที่พัก 20นาที ตอน 5 โมงเย็น ยังงัยช่วยตรวจสอบให้ต้วยนะครับ บ.ไทยยามากิ ถ.มาลัยแมน ต.วังตะกู อ.เมือง จ.นครปฐม
คำแนะนำทนายคลายทุกข์
ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากการทำงานปกติ ไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้มีเวลาพักไม่น้อยกว่ายี่สิบนาทีก่อนที่ลูกจ้างเริ่มทำงานล่วงเวลา ซึ่งในเวลาพักระหว่างการทำงานไม่ให้นับรวมเป็นเวลาทำงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 27 วรรคสามและวรรคสี่ ดังนั้น เมื่อเวลาทำงานปกติของคุณเลิก 17.00 น. แล้วนายจ้างและคุณตกลงทำงานล่วงเวลา นายจ้างต้องจัดให้มีการพักไม่น้อยกว่า 20 นาทีก่อนเมื่อคุณเริ่มทำงานล่วงเวลา นายจ้างต้องจัดให้มีการพัก 20 นาที (คือเลิกงาน 17 นาฬิกา พัก 20 นาที) เริ่มทำงาน 17.20 นาฬิกา ตกลงทำงานล่วงเวลา 3 ชั่วโมง การทำงานล่วงเวลา จะครบ ณ เวลา 20.20 นาฬิกา เพราะเวลาพักระหว่างการทำงานไม่ให้นับรวมเป็นเวลาทำงาน การกระทำของนายจ้างถือว่าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
https://www.decha.com/main/showTopic.php?id=4736
คำถามที่ 1
ถาม :
การลากิจ ลูกจ้างจะขอลากิจได้ปีละกี่วัน และจะได้รับค่าจ้างในวันลากิจหรือไม่
ตอบ :
วันลากิจ กฎหมายคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดไว้ว่านายจ้างจะจัดวันลากิจให้ลูกจ้าง กี่วันและจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างหรือไม่ เพียงแต่กำหนดไว้ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ความว่า ให้ลูกจ้างมีสิทธิลา เพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
คำถามที่ 2
ถาม :
บริษัทจะหักค่าจ้างในวันที่ลูกจ้างไม่มาทำงานได้เป็นจำนวนเงินเท่าใด
ตอบ :
เงินค่าจ้าง เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานของลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้าง ไม่มาทำงาน (ขาดงาน) นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้เท่าที่ลูกจ้างไม่มาทำงาน
คำถามที่ 3
ถาม :
บริษัทจะเลื่อนวันหยุดตามประเพณีในวันที่ 1 พฤษภาคม เนื่องจากมีงานด่วนจะทำได้หรือไม่และพนักงานให้ความยินยอมด้วยแล้ว
ตอบ :
แม้พนักงานจะให้ความยินยอมให้บริษัทเลื่อนวันหยุด แต่หากบริษัทที่มิใช่เป็นงาน ในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล สถานบริการ การท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดเสียหายแก่งานแล้ว บริษัทจะเลื่อนวันหยุดมิได้ หากบริษัทฯมีงานด่วนให้ลูกจ้างมาทำงานในวันที่ 1 พฤษภาคม ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนและต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับ ลูกจ้างตามกฎหมาย
คำถามที่ 4
ถาม :
ลูกจ้างเพิ่งเข้ามาทำงานได้ 15 วัน หากลูกจ้างลาออกจากงานจะได้รับค่าจ้างหรือไม่
ตอบ :
ลูกจ้างเข้าทำงานได้ 15 วัน หากลูกจ้างลาออกตามระเบียบของนายจ้าง ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้าง 15 วัน เท่าที่ทำงาน และได้รับค่าจ้างเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้าง
คำถามที่ 5
ถาม :
บริษัทฯประกาศว่า หากพนักงานคนใดมาทำงานสายเกินกว่าครึ่งชั่วโมง จะหักค่าจ้างครึ่งวัน และหากมาทำงานสายเกินกว่าครึ่งวัน จะไม่จ่ายค่าจ้างในวันนั้นสามารถทำได้หรือไม่
ตอบ :
การหักค่าจ้างของลูกจ้าง นายจ้างจะกระทำได้เฉพาะที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ในมาตรา 76 เท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น หักเพื่อชำระภาษีเงินได้ ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานฯ ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เป็นเงินประกัน เงินสะสมตามข้อตกลง โดยที่ลูกจ้างให้การตกลงยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจนายจ้างในการลงโทษที่มาทำงานสายโดยการ หักค่าจ้างเลย ดังนั้นหากลูกจ้างมาทำงานสาย นายจ้างควรพิจารณาหามาตรการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัทฯ ต่อไป และนายจ้างสามารถที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเท่าที่ลูกจ้างไม่ทำงาน ให้กับนายจ้าง
คำถามที่ 6
ถาม :
บริษัทเรียกเก็บเงินประกันได้ทุกตำแหน่งหรือไม่ หากเรียกเก็บเงินประกันได้จะเก็บได้เป็นเท่าใด
ตอบ :
บริษัทฯ ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเก็บเงินประกันจากลูกจ้างได้เฉพาะลักษณะหรือสภาพของงาน ที่ลูกจ้างทำนั้นต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ อันได้แก่ งานสมุห์บัญชี งานพนักงานเก็บและหรือจ่ายเงิน งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ และงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ เก็บของในคลังสินค้า รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการนั้น
กรณี ที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตาม ที่กล่าวมาแล้วนั้น เงินประกันที่เรียกเก็บได้จะต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับในวันที่นายจ้างรับเงิน ประกัน และต้องนำ เงินประกันที่รับจากลูกจ้างไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และแจ้งให้ลูกจ้างทราบด้วย
คำถามที่ 7
ถาม :
ลูกจ้างลาป่วยแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์ ซึ่งระเบียบบริษัทฯ ให้ลูกจ้างยื่นใบรับรองแพทย์ด้วยจึงจะจ่ายค่าจ้างหากบริษัทฯไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะลูกจ้างไม่มีใบรับรองแพทย์จะได้หรือไม่
ตอบ :
สิทธิการลาป่วยของลูกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง หากลูกจ้างป่วยจริงและลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง หรือของสถานพยาบาลของทางราชการ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ
ค่าจ้างระหว่างการลาป่วย กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ในวันลาป่วยตามวรรคหนึ่งเท่ากับอัตราค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา ป่วย ปีหนึ่งไม่เกิน 30 วันทำงาน
คำถามที่ 8
ถาม :
วันหยุดตามประเพณีแต่ละปีๆ หนึ่งต้องจัดให้มีวันหยุดกี่วัน วันใดบ้าง จำเป็นต้องเหมือนกันทุกๆ ปีหรือไม่ และต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดให้ลูกจ้างรายวันด้วยหรือไม่
ตอบ :
นายจ้างต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปี หนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย ส่วนจะเป็นวันใดบ้างให้นายจ้างพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น วันหยุดตามประเพณีไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกปีอยู่ที่ดุลยพินิจของนายจ้าง ด้วย กรณีค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายเดือนหรือลูกจ้างรายวัน
คำถามที่ 9
ถาม :
บริษัทจะจ้างลูกจ้างเด็กเข้าทำงานได้หรือไม่
ตอบ :
กฎหมายกำหนดมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง แต่ในกรณีที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นลูกจ้าง นายจ้างจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด เช่น ต้องแจ้งการจ้างลูกจ้างเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ เด็กเข้าทำงาน ต้องจัดทำบันทึกสภาพการจ้างกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการและแจ้งการสิ้นสุดการจ้างลูกจ้างเด็กต่อพนักงานตรวจแรงงาน ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เด็กออกจากงาน
คำถามที่ 10
ถาม :
นายจ้างให้เด็กซึ่งตามพ่อแม่มาทำงานในกรุงเทพฯ ทำงานช่วยพ่อแม่โดยจ่ายค่าจ้างให้วันละ 150 บาท และจะหักเงินประกันลูกจ้างเด็กได้หรือไม่
ตอบ :
ประกาศกระคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 กำหนดให้ท้องที่กรุงเทพมหานครจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างวันละ 206 บาท ดังนั้น นายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ใหญ่หรือเด็กวันละ 150 บาทไม่ได้ และตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้างซึ่งเป็นเด็ก
คำถามที่ 11
ถาม :
นายจ้างจ่ายเงินโบนัสประจำปีน้อยกว่าปีก่อนๆ จะทำอย่างไร
ตอบ :
ต้องดูว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการจ่ายโบนัสไว้หรือไม่อย่าง ไร หากไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องนี้ไว้ นายจ้างก็มีสิทธิที่จะกำหนดการจ่ายโบนัสประจำปีให้กับลูกจ้างได้ แต่หากมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการจ่ายโบนัส นายจ้างต้องจ่ายตามข้อตกลงนั้น หากจ่ายน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน
คำถามที่ 12
ถาม :
วันหยุดตามประเพณีใน 1 ปี จัดให้มีวันหยุดกี่วัน วันใดบ้าง จำเป็นต้องเหมือนกันทุกๆ ปีหรือไม่ และต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดให้ลูกจ้างรายวันด้วยหรือไม่
ตอบ :
นายจ้างต้องประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้าง ทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ ด้วย ส่วนจะเป็นวันใดบ้างให้นายจ้างพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น วันหยุดตามประเพณีไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกปีอยู่ที่ดุลยพินิจของนายจ้าง ด้วย กรณีค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างรายเดือนหรือลูกจ้างรายวัน
คำถามที่ 13
ถาม :
บริษัทจะเลื่อนวันหยุดตามประเพณีในวันที่ 1 พฤษภาคม เนื่องจากมีงานด่วนจะทำได้หรือไม่ โดยพนักงานให้ความยินยอมด้วยแล้ว
ตอบ :
แม้พนักงานจะให้ความยินยอมให้บริษัทเลื่อนวันหยุด แต่หากบริษัทที่มิใช่เป็นงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล สถานบริการ การท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดเสียหายแก่งานแล้ว บริษัทจะเลื่อนวันหยุดมิได้ หากบริษัทฯ มีงานด่วนให้ลูกจ้างมาทำงานในวันที่ 1 พฤษภาคม ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนและต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้กับ ลูกจ้างตามกฎหมาย
คำถามที่ 14
ถาม :
ในกรณีที่วันหยุดตาม ประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ จะเลื่อนไปหยุดชดเชยในวันอื่นที่ไม่ใช่วันทำงานถัดไปได้หรือไม่ หากไม่ได้ ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ร้องขอจะทำได้หรือไม่
ตอบ :
ตามกฎหมายปัจจุบันต้องไปหยุดในวันทำงานถัดไป แต่มีข้อยกเว้นตามกฎกระทรวงที่ลักษณะของงานที่อยู่ในกฎกระทรวงว่าลักษณะงาน นั้นจะหยุดชดเชยในวันใดก็ได้ หรือให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดก็ได้ แต่เฉพาะงานที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเท่านั้น นอกจากนั้นต้องไปหยุดชดเชยในวันทำงานถัดไปเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่หยุดก็ต้องจ่ายเป็นค่าทำงานในวันหยุด
คำถามที่ 15
ถาม :
บริษัทให้พนักงานมีวัน หยุดพักผ่อนตามกฎหมายปีละ 6 วันทำงาน พนักงานเข้าทำงานวันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เขาจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้กี่วัน
ตอบ :
หลักในเรื่องนี้ขอให้ยึดหลักวันชนวัน เดือนชนเดือน พอครบ 1 ปีบริบูรณ์(ก็คือวันแรกของต้นปีที่สอง) พนักงานจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนได้ทันที 6 วัน ส่วนวันหยุดพักผ่อนในช่วงปีที่สองนั้น ลูกจ้างไม่จำเป็นต้องทำงานให้ครบอีก 1 ปี ปีที่สองลูกจ้างมีสิทธิหยุดหรือนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างเมื่อรวมกับ 6 วันแรกที่ยังไม่ได้หยุดแล้วเท่ากับ 12 วัน ซึ่งหมายถึงถ้านับวันแรกเข้าทำงานจนถึงครบ 2 ปีบริบูรณ์ ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อน 12 วันทำงาน ดังนั้นสิทธิ์ของปีที่สองจึงเกิดขึ้นทันทีตั้งแต่วันต้นปีที่สองจนถึงวันสุด ท้ายของปีที่สอง