ถิ่นกำเนิดเดิมของชนชาติไทย ต้นกำเนิดของชนชาติไทย แนวคิดถิ่นเดิมของชนชาติไทย


20,130 ผู้ชม


ถิ่นกำเนิดเดิมของชนชาติไทย ต้นกำเนิดของชนชาติไทย แนวคิดถิ่นเดิมของชนชาติไทย


งานค้นคว้าเกี่ยวกับชนชาติไทย

การศึกษาเกี่ยวกับที่มาของชนชาติไทยยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่และหา ข้อยุติแน่นอนไม่ได้ แต่ข้อสันนิษฐานหรือแนวคิดต่าง ๆ ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือมีผลให้การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติ ไทยมีความชัดเจนมากขึ้น
 

1. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของจีน แถบภูเขาอัลไต

ถิ่นกำเนิดเดิมของชนชาติไทย ต้นกำเนิดของชนชาติไทย แนวคิดถิ่นเดิมของชนชาติไทย

ไทยอพยพจากภูเขาอัลไตในใจกลางทวีปเอเชียลงมายังน่านเจ้า แล้วอพยพต่อลงมายังประเทศไทย
ดร.วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน พบว่าหมู่ชนที่เชื่อกันว่าเป็นชนชาติไทยนั้น ได้ตั้งถิ่นฐานเป็นรัฐอยู่แว่นแคว้นอยู่ในประเทศจีนแล้ว ก่อนที่จีนจะอพยพลงมา เนื่องจากประวัติศาสตร์ของจีนเริ่มต้นที่พระเจ้าวั่งตี่ เมื่อ ๒๐๙๔ ปี ก่อนพุทธศักราช ขณะนั้นจีนยังอยู่ทางทะเลแคสเบี้ยน หรืออยู่ระหว่างการเคลื่อนย้ายมุ่งสู่ตะวันออก ยังไม่ได้ตั้งอาณาจักรลงในดินแดนที่เป็นประเทศจีนเวลานี้ และประวัติศาสตร์ที่ขงจื้อ เขียนเอง เริ่มต้นที่พระเจ้าเย้า เมื่อ ๑๘๑๔ ปี ก่อนพุทธศักราช ก็ยังเป็นระยะเวลาที่อาณาจักรจีนยังไม่ได้ตั้งถิ่นฐานมั่นคง  การสำรวจดินแดนซึ่งกระทำในรัชสมัย พระเจ้ายู้ เมื่อประมาณ ๑๕๐ ปี พบว่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเสฉวนปัจจุบัน เขตแดนจีนในครั้งนั้นไปจดอาณาเขตของอาณาจักรใหญ่อาณาจักรหนึ่งชื่อว่าต้ามุง ซึ่งเป็นพวกเดียวกับพวกที่มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า เมื่อปี พ.ศ. ๑๑๗๒  และพวกต้ามุงนี้เรียกตัวเองว่าอ้ายลาว
จากหลักฐานพบว่า ก่อนนี้มีอาณาจักรของคนไทยเราเรียกตนเองว่า “อ้ายลาว” ต่อมาจึงใช้คำว่า “ไท”  หลังอ้ายลาว นอกจากอ้ายลาวแล้วเรายังมีชื่อเรียกกันหลายอย่าง เช่น มุง ลุง ปา ตามหลักฐานกล่าวว่าถิ่นฐานของไทยอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำยั่งจื้อ หรือแยงซี และในจดหมายเหตุจีนเรียกชื่อคนไทยครั้งแรกว่า “ต้ามุง” ซึ่งก็คือ “อ้ายลาว” ที่ไว้เรียกตัวเองนั่นเอง
จีนเขียนจดหมายเหตุไว้ว่า ชนชาติอ้ายลาวเป็นเจ้าของถิ่นมาก่อนจีน ซึ่งเป็นระยะสองพันปีก่อนคริสต์กาล จีนได้มาพบไทย มุง ลุง ปา ปัง ปละลาว บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำยั่งจื้อ(แม่น้ำแยงซี) ครอบครองเสฉวนตะวันตกไปจนเกือบจดทะเล
ในปี ค.ศ.1901 หมอดอดด์ได้เดินทางไปในในดินแดนนี้ยังได้พบคนไทยที่เรียกตนเองว่า ลุง และ ปา แต่จีนเรียกว่า “ลุงเชน” แปลว่าประชาชนชาวลุง และพวก “ปา” เรียกว่า “ปายี่” แปลว่า “คนป่าเถื่อน”และพบว่าพวกต้ามุงที่เรียกตนเองว่าอ้ายลาวนั้นเป็นพวกเก่าแก่ โบราณกว่า พวกบาบิโลน อัสสิเรีย และอียิปต์
หมอดอดด์ได้นำความเชื่อนี้ไปกล่าวไว้ในงานเขียนที่ชื่อว่า The Tai Race มีชื่อเพิ่มเติมว่า Elder brother of the chinese ว่าพวกต้ามุงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของคนไทยได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมา จากถิ่นกำเนิดของตนในเอเชียกลางมายังชายแดนด้านตะวันตกของจีน
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือหลักไท (พ.ศ. 2471) เชื่อว่าแหล่งกำเนิดของชนชาติไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไตของเอเชียกลาง ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพวกมองโกลด้วยกัน ภายหลังจึงได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง และแม่น้ำแยงซีต่อมาเมื่อถูกรุกราน จึงค่อย  อพยพลงมาสู่สุวรรณภูมิต่อมาภายหลัง


*** หมายเหตุ มีการศึกษาทางด้านโบราณคดีและด้านภูมิศาสตร์ ทำให้แนวความคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไปเพราะทางแถบบริเวณเทือกเขาอัล ไตของเอเชียกลางนั้นเป็นเขตแห้งแล้ง อากาศมีความหนาวเย็น และถ้าอพยพโยกย้ายลงมาก็ต้องผ่านทะเลทรายที่กว้างใหญ่และทุรกันดารมาก จึงไม่เหมาะสำหรับจะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์

2. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ตอนกลางของจีน แถบมณฑลเสฉวน
ถิ่นฐานเดิมของไทยอยู่ทางภาคตะวันตกของมณฑลเสฉวน ต่อมาได้ถอยร่นลงมาทางใต้ และตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ขึ้นตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นอาณาจักรสุดท้ายที่ตั้งในดินแดนจีน เมื่อถูกจีนรุกรานอีก ชนชาติไทยจึงค่อยๆ เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ มาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรอินโดจีน
ศาสตราจารย์ แตร์รีออง เดอ ลา คูเปอรี นักภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เขียนหนังสือชื่อว่า  Cradle of  the Shan Race (ถิ่นกำเนิดของชนชาติฉาน)ได้ตรวจสอบภาษาพูดที่ทางจีนสมัยโบราณรวบรวมไว้ พบว่าคำพูดของหมู่ชนที่จีนเรียกว่าคนป่าในสมัยโบราณนั้น แยกออกได้เป็นสองสาขา คือบางคำตรงกับภาษาไทย บางคำตรงกับภาษามอญและญวน เมื่อลองตรวจนับดูก็พบว่าในบรรดาคำ ๑๙ คำ เป็นภาษาไทย ๑๒ คำ เป็นภาษามอญและญวน และมีอยู่มากคำที่ไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไร ด้วยเหตุนี้ศาสตราจารย์ คูเปอรีจึงถือว่า หมู่ชนที่ชาวจีนเรียกว่าคนป่านั้นต้องเป็นพันธุ์ๆ หนึ่ง ซึ่งเขาชื่อว่าเป็นพันธุ์ “มอญไทย” โดยที่พันธุ์มอญได้เคลื่อนลงมาทางใต้ก่อนพันธุ์ไทย และมากลายเป็น มอญ เขมร ญวน ในปัจจุบัน
หลวงวิจิตรวาทการ ได้กล่าวถึงถิ่นกำเนิดของคนไทยไว้ว่า คนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในดินแดนซึ่งเป็นมณฑลเสฉวน ฮูเป อันฮุย และเกียงซีตอนกลางของประเทศจีนปัจจุบัน ก่อนที่จีนจะอพยพเข้ามา แล้วค่อย ๆ อพยพสู่มณฑลยูนนานและแหลมอินโดจีน

*** หมายเหตุ ถ้าความเห็นนี้เป็นจริง ก็นับว่าชนชาติไทยเคยมีอาณาจักรยิ่งใหญ่ก่อนสมัยสุโขทัยนับร้อยๆ ปีเพราะหลักฐานต่างๆ ระบุว่า ในสมัยที่น่านเจ้าเป็นอิสระอยู่ประมาณ 600 ปีนั้น มีความเจริญก้าวหน้ามาก แบ่งการบริหารราชการออกเป็นส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น อาชีพสำคัญ คือ การปลูกข้าว ประชาชน รู้จักเลี้ยงไหมและทอผ้าใช้เอง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์หลายคนได้มีความเห็นขัดแย้งกับความเชื่อถือเดิม คือส่วนใหญ่ยอมรับว่าพลเมืองน่านเจ้ามีคนไทยปนอยู่ด้วย แต่ถ้วนเหตุที่น่านเจ้าจึงอาจเป็นอาณาจักรของชนชาติอื่นที่มิใช่ไทยก็ได้ เรื่องราวของอาณาจักรน่านเจ้า จึงเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่

3. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของจีน บริเวณมณฑลยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง ตลอดไปจนถึงรัฐอัสสัมของอินเดีย

ถิ่นกำเนิดเดิมของชนชาติไทย ต้นกำเนิดของชนชาติไทย แนวคิดถิ่นเดิมของชนชาติไทย

อาร์ซิบัลด็ รอน คอลูน นักสำรวจชาวอังกฤษ ได้เดินทางไปสำรวจดินแดนต่างๆทางตอนใต้ของจีนและทางตอนเหนือของคาบสมุทรอิน โดจีน รวมทั้งรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย และเขียนรายงานการสำรวจที่ปรากฏอยู่ ในหนังสือชื่อ ไครเซ ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2428 ได้พบคนเชื้อชาติไทยในบริเวณภาคใต้ของจีนตั้งแต่กวางตุ้งไปจนถึงมัณฑะเลย์ใน พม่า และรัฐอัสสัม
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นว่า ถิ่นฐานเดิมของไทยอยู่ทาง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีน แถบมณฑลกวางตุ้ง กวางสี และยูนนาน ต่อมาถูกรุกรานจึงได้ถอยร่นลงมาทางใต้ กระจัดกระจายกันไปตามถิ่นต่างๆ หลายทิศทางด้วยกัน และลงมาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ความเห็นนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นส่วนใหญ่ในขณะนั้น ดร . วิลเลียม ดอดด์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้เดินทางไปสำรวจแว่นแคว้นต่างๆ ที่อยู่นอกประเทศไทย ทางภาคเหนือของพม่า ไทย ลาว จนถึงภาคใต้ของจีน ปรากฏว่าขณะนั้นมีชนชาติที่พูดภาษาไทยอยู่ในดินแดนแถบนั้นเป็นจำนวนมาก
วิลเลียม เจ. เก็ตนีย์ นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษาไทยในเวียดนามตอน เหนือ ลาว และจีนตอนใต้ ได้เสนอความเห็นไว้เมื่อพ.ศ. 2508 ว่า ถิ่นกำเนิดของภาษาไทยมิได้อยู่ทางมณฑลยูนนาน แต่อยู่ที่มณฑลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนแถวเส้นเขตแดนระหว่างมณฑลกวางสีของ จีนกับ เมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนามตอนเหนือ ศาสตราจารย์เก็ดนีย์อาศัยทฤษฎีว่า ภาษาเกิดที่ใดจะมีภาษาท้องถิ่นมากหลายชนิดเกิดขึ้นแถบบริเวณนั้น เพราะอยู่มานานจนแตกต่างกันออกไป พวกจ้วงที่อยู่ในกวางสีห่างกันเพียง ๒๐ กิโลเมตร ยังพูดกันไม่รู้เรื่อง แต่ภาษาถิ่นต่างๆ ของลาว ไทย และพม่า ไม่ค่อยแตกต่างกัน ยังฟังกันรู้เรื่อง ภาษาอังกฤษในเกาะอังกฤษมีภาษาถิ่นมากมาย แต่ในสหรัฐอเมริกาพูดกันเข้าใจทั้งทวีป
วูลแฟรม อีเบอร์ฮาด นักสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ชาวเยอรมันได้กล่าวว่า เผ่าไทยอยู่บริเวณมณฑล
กวางตุ้ง ต่อมาชนเผ่าไทยได้อพยพเข้าสู่ยูนานและดินแดนในอ่าวตังเกี๋ย และได้มาสร้างอาณาจักรเทียนหรือแถน ที่ยูนนานซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถังเผ่าไทยก็สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นที่ยูนนาน
เฟรเดอริค โมต ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนได้ให้ทัศนะไว้เป็นบทความที่เขียนขึ้นใน พ.ศ. 2507 ว่า หลักฐานประวัติศาสตร์จีนแม้จะไม่ระบุไว้อย่างชัดเจน เกี่ยวกับกำเนิดของชนชาติไทยว่าอยู่บริเวณใด แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนใดๆ ที่จะคัดค้านสมมติฐานที่ว่าถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย อยู่ในบริเวณตอนใต้ของจีนและบริเวณต่อเนื่องกับเขตแดนของเวียดนาม
เจมส์ อาร์ แชมเบอร์เลน นักภาษาศาสตร์ กล่าวว่า ถิ่นกำเนิดเริ่มแรกของชนชาติไทยนั้นน่าจะอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลเหนือปากแม่ น้ำแยงซีตอนล่างเพราะเป็น วิถีชีวิตของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยที่เพราะปลูกข้าวนาลุ่มมาแต่แรก ข้อมูลเกี่ยวกับคำศัพท์ของกล้าข้าว ประเภทต่าง ๆในภาษาไทยสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนที่พูดภาษา ไทยอาจเป็นคนกลุ่มแรกที่รู้จักเพาะปลูกข้าวนาลุ่ม
ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช กล่าวว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของจีนแถบมณฑลกวางตุ้ง กวางสี ต่อมาประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ชนเผ่าไทยจึงได้อพยพมาทางตะวันตก ตั้งแต่มณฑลเสฉวน เมืองเชียงตู ลงล่างเรื่อยมาจนเข้าเขตยูนนาน และลงมาทางใต้ผ่านสิบสองจุไทลงสู่ประเทศลาว
จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอทัศนะไว้ว่า คนเผ่าไทยอาศัยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณทางตอนใต้ของจีน และบริเวณภาคเหนือของไทย ลาว เขมร พม่า และรัฐอัสสัมของอินเดีย

*** หมายเหตุ แนวความเชื่อนี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีหลักฐานในสาขาวิชาการต่าง ๆ ทั้งทางด้านภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยา และอื่น ๆ มาสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

4. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมาตั้งแต่โบราณกาล
จากการขุดค้นทางโบราณคดีในระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา ได้พบแหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และที่บ้านเชียงจังหวัดอุดรธานี ได้มีการพิสูจน์กันว่า โครงกระดูก เครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผาเขียนลายสี มีอายุเก่าแก่ถึง 4,000 – 5,000 ปีมาแล้ว จึงเกิดปัญหาว่ามนุษย์ชาติใด เผ่าใดอาศัยอยู่แถบนั้น และมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับชนชาติไทยในปัจจุบันนี้หรือไม่และอย่างใด ผลของการขุดค้นทางโบราณคดีดังกล่าว ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ว่าชนชาติไทยอาจมีถิ่นกำเนิดอยู่ในดินแดนแถบนี้มา ก่อน โดยมิได้อพยพโยกย้ายมาจากที่ใดก็ได้
ดร . พอล เบเนดิคท์ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ได้เสนอบทความเรื่อง Thai Kadai and Indonesian สรุปได้ว่า ชนชาติไทยน่าจะอยู่ในดินแดนประเทศไทยมาช้านานแล้ว ประมาณ 4000 ปี เพราะจากหลักฐานโครงกระดูกสมัยโบราณ ซึ่งตรงกับกระดูกของคนไทยในปัจจุบัน และภาษาไทยเป็นภาษาของชนชาติทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในตระกูล ออสโตรนีเชียน ซึ่งแยกเป็น ภาษาไทย ชวา-มลายู ทิเบต-พม่า
คอริช เวลส์ เป็นนักวิชาการตะวันตกคนแรกที่เสนอสมมติฐานว่า ถิ่นเดิมของชนชาติไทยอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน โดยอาศัยหลักฐานจากกะโหลกศรีษะ ที่ขุดได้จากตำบลพงตึก จังหวัดกาญจนบุรีที่มีอายุราวต้นคริสต์ศตวรรษ ซึ่งเวลส์เห็นว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับกะโหลกศรีษะของคนไทยปัจจุบัน
นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้ทำการศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ 37 โครง ซึ่งพบบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่าโครงกระดูกของมนุษย์หินใหม่เหมือนกับโครงกระดูกของคนไทยปัจจุบันเกือบ ทุกอย่าง จึงสรุปว่าดินแดนไทยเมื่อครั้งอดีตน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษของคน ไทยปัจจุบันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว
ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี ได้เสนอว่า มีร่องรอยของผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคหินเก่าเรื่อยมาจนกระทั่งยุคหินกลาง หินใหม่ ยุคโลหะ และเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ โดยแต่ละยุคได้มีการสืบเนื่องทางวัฒนธรรมสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันด้วย

*** หมายเหตุ แนวความคิดนี้มีนักวิชาการหลายท่านพยายามนำหลักฐานทาง ด้านโบราณคดีและเอกสารมาพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าคนไทยน่าจะอยู่บริเวณนี้มา ก่อน บางคนถือว่าบ้านเชียงก็เป็นคนไทย แต่ยังไม่มีผู้ใดเคยพิสูจน์ว่าวัฒนธรรมของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้าน เชียงเหมือนกับวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบันเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงอ้างความเห็นของกอร์แมนว่า โครงกระดูกคนบ้านเชียงคล้ายกับกระดูกมนุษย์ที่อยู่ตามมหาสมุทรแปซิฟิก อีกประการหนึ่ง จารึกในแหลมทองเป็นอักษรมอญ ภาษามอญมาจนถึงประมาณ พ.ศ.๑๗๓๐ ไม่เคยมีจารึกภาษาไทยเขียนด้วยอักษรใดๆ ก่อนจารึก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเลย

5. ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบหมู่เกาะ มาเลเซียและอินโดนีเซียในปัจจุบัน
ไทยพร้อมกับพวกฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียอพยพจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นมาถึงประเทศไทย แล้วเลยต่อขึ้นไปถึงจีน
นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ ได้ทำวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์เกี่ยวกับหมู่เลือดลักษณะของจำนวนยีน พบว่าหมู่เลือดของคนไทยคล้ายคลึงกับชาวเกาะชวาที่อยู่ทางใต้มากกว่าคนจีน ซึ่งอยู่ทางเหนือ รวมทั้งลักษณะและจำนวนของยีนระหว่างคนไทยกับคนจีนก็ไม่เหมือนกันด้วย
ดร.ถาวร วัชราภัย ได้ทำวิจัยกลุ่มเลือดที่ทันสมัย สรุปได้ว่าไทยดำและผู้ไทยมีลักษณะเลือดใกล้เคียงกับชาวจีน แต่ไม่ใกล้เคียงกับชาวมาเลย์ แต่ชาวมาเลย์มีลักษณะเลือดใกล้เคียงกับชาวเขมร ขากรรไกรและฟันก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ทำผลงานการวิจัยเรื่องฮีโมโกลบิน อี พบว่า ฮีโมโกลบิน อี มีมากในผู้คนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย ลาว เขมร พม่า มอญ และอื่น ๆ คนจีนเกือบไม่มีอยู่เลย

*** หมายเหตุ แต่ปัจจุบันนี้ได้เลิกใช้ฮีโมโกลบิน อี เป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากลุ่มใดมีบรรพบุรุษร่วมกับกลุ่มใด เพราะมีการพิสูจน์ได้ว่าดินแดนที่มีฮีโมโกลบิน อี มาก คือดินแดนที่มีไข้มาลาเรียมาก แนวความคิดนี้ปัจจุบัน ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดและยังไม่เป็นที่ ยอมรับกันอย่างกว้างขวางนัก

ขอบคุณข้อมูล ชนชาติไทย : thaigoodview.com

อัพเดทล่าสุด