มารยาทในการพูดและฟัง มารยาทในการพูดและการฟัง


15,346 ผู้ชม


มารยาทในการพูด    มารยาทในการพูดในที่ประชุม

มารยาทการพูดที่ดีควรปฏิบัติ มีดังนี้
- ใช้คำทักทายผู้ฟังให้ถูกต้อง เหมาะสมตามสถานภาพผู้ฟัง เช่น สวัสดี / เรียน
กราบเรียน / ขอประทานกราบเรียน
- ใช้คำพูดที่แสดงถึงความมีมารยาทอยู่เสมอ เช่น ขอโทษ ขอบใจ ขอบคุณ
- ใช้คำพูดที่สุภาพ ให้เกียรติผู้ฟัง ไม่ใช้เสียงดุดัน หยาบคาย
- ไม่พูดยกตนข่มท่าน คุยโอ้อวดว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น
- ไม่ชิงพูด แย่งพูดก่อนคนอื่น หรือผูกขาดการพูดเพียงคนเดียว
- ไม่พูดยืดยาว นอกประเด็น พูดวกวนซ้ำซากน่าเบื่อ
- ไม่พูดเสียงห้วนๆ สั้นๆ ตามอารมณ์
- ไม่พูดหยาบคาย ใช้คำต่ำไม่เหมาะสม
- ไม่โต้เถียง คัดค้านอย่างไม่มีเหตุผล

การ พูดมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์เป็นอันมากไม่ว่าจะอยู่ที่ใดประกอบกับกิจการ งานใดหรือคบหา สมาคมกับผู้ใด ผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจการงาน การคบหาสมาคมกับผู้อื่นตลอดจนการทำประโยชน์แก่สังคม ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีประสิทธิภาพในการพูดทั้งสิ้น
การพูดมีความสำคัญต่อตนเอง เพราะถ้าผู้พูดมีศิลปะในการพูดก็จะเป็นคุณแก่ตนเอง ส่วนในด้านสังคมนั้น เนื่องจากเราต้องคบหาสมาคมและพึ่งพาอาศัยกัน การที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั้นจำเป็นต้องเป็นคนที่ “พูดดี” คือพูดไพเราะ น่าฟัง และพูดถูกต้องด้วย
มารยาทในการพูด
     การพูดของคนเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ รู้จักกาลเวลา และที่สำคัญต้องคำนึงถึงมารยาทที่ดีในการพูดด้วย มารยาทในการพูดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
     1. มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล
     2. มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ
มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล มีดังนี้
     1. เรื่องที่พูดควรเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีความสนใจและพอใจร่วมกัน
     2. ไม่พูดเรื่องของตนเองมากจนเกินไป ควรฟังในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพูด ไม่สอดแทรกเมื่อเขาพูดยังไม่จบ
     3. พูดตรงประเด็น อาจออกนอกเรื่องบ้างพอผ่อนคลายอารมณ์
     4. เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่บังคับให้ผู้อื่นเชื่อหรือคิดเหมือนตน
ฯลฯ


มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ
     การพูดในที่สาธารณะต้องรักษามารยาทให้มากกว่าการพูดระหว่างบุคคล เพราะการพูดในที่สาธารณะนั้น ย่อมมีผู้ฟังซึ่งมาจากที่ต่าง ๆ กัน มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และพื้นฐานความรู้ ความสนใจและรสนิยมต่างกันไป มารยาทในการพูดระหว่างบุคคลอาจนำมาใช้ได้และควรปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้
     1. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะแก่โอกาสและสถานที่
     2. มาถึงสถานที่พูดให้ตรงเวลาหรือก่อนเวลาเล็กน้อย
     3. ก่อนพูดควรแสดงความเคารพต่อผู้ฟังตามธรรมเนียมนิยม
     4. ไม่แสดงกิริยาอาการอันไม่สมควรต่อหน้าที่ประชุม
     5. ใช้คำพูดที่ให้เกียรติแก่ผู้ฟังเสมอ
     6. ไม่พูดพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่นในที่ประชุม
     7. ไม่พูดหยาบโลนหรือตลกคะนอง
     8. พูดให้ดังพอได้ยินทั่วกันและไม่พูดเกินเวลาที่กำหนด
     การสื่อสารด้วยการพูดไม่ว่าจะเป็นการพูดกับคนเพียงคนเดียวหรือพูดกับคนจำนวน มาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พูดทุกคนต้องมีมารยาท ถ้าขาดหรือละเลยต่อมารยาทในการพูด แล้วอาจทำให้การพูดประสบความล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จได้


ข้อควรคำนึงในการสื่อสารด้วยการพูด
     การพูดจะสัมฤทธิผลหรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการที่ผู้พูดได้วิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญในการพูดให้ถ่องแท้หรือ ไม่ มีการเตรียมพร้อมเพียงใดก่อนที่จะพูด ฉะนั้นการพูดจึงมีข้อควรคำนึงดังนี้
การพูดให้เหมาะสมกับบุคคล
     ต้องวิเคราะห์ในเรื่องต่อไปนี้ คือ วัย เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ ความสนใจพิเศษเพื่อเตรียมเรื่องที่จะพูดได้อย่างเหมาะสม
การพูดให้เหมาะกับกาลเทศะ
     ควรพิจารณาว่าจะพูดในโอกาสใด การพูดนั้นเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน
การพูดให้ผู้อื่นเข้าใจตรงตามความประสงค์
     ควรใช้ภาษาบ่งบอกความต้องการหรือความมุ่งหมายให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการตีความหลายแง่หลายมุม
การพูดสรุปใจความสำคัญจากเรื่องที่ฟังหรืออ่าน
     เป็นการพัฒนาการใช้ภาษาให้สัมพันธ์กันทุกด้าน และอาศัยความสามารถในการสรุปความจากเรื่องที่ฟังหรืออ่านได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจเจตนาของผู้ส่งสารได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว
การพูดแสดงความคิดเห็น
     เป็นการใช้ทักษะ การฟัง การอ่าน การพูด และการคิดให้สัมพันธ์กัน ต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ เพราะการพูดแสดงความคิดเห็นผู้พูดต้องใช้ทั้งความรู้ ความคิด เหตุผลหรือหลักการต่าง ๆ หลายอย่างประกอบกัน ความคิดเห็นจึงจะมีคุณค่าน่าเชื่อถือ

อัพเดทล่าสุด