ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา ตอนที่ ๑


1,016 ผู้ชม


ภาษาของชนชาติจะสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชนชาตินั้น การศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ ซาบซึ้ง เป็นแนวทางในการธำรงรักษา   

ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา

บทท่องจำบทรอง ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕  และทุกระดับชั้น
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  
      พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ให้นิยามคำ “อาขยาน” ไว้ว่า 
บทท่องจำ การบอกเล่า การบอก การสวด เรื่อง นิทาน “อาขยาน” อ่านออกเสียงได้ ๒ อย่าง
 คือ อา - ขะ - หยาน หรือ อา - ขะ -ยาน
                                     ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๑
                                                                                ที่มา : matichon.co.th

         การท่องอาขยานในระยะแรก (พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๗๘) เป็นการท่องจำบทร้อยกรองที่ถือว่าไพเราะ 
ซึ่งตัดตอนมาจากหนังสือวรรณคดี โดยให้นำมาท่องประมาณ ๓ - ๔ หน้า และมีการท่องบทอาขยาน
ติดต่อกันเรื่อยมา การท่องบทอาขยานจะใช้เวลาก่อนเลิกเรียนเล็กน้อย ให้นักเรียนทั้งห้องท่องพร้อมๆ กัน
แต่เมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น 
พุทธศักราช ๒๕๒๑ และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช ๒๕๒๔ จนถึงหลักสูตรปรับปรุง 
พุทธศักราช ๒๕๓๓ ในหลักสูตรทุกหลักสูตรมิได้ระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับการท่องบทอาขยาน เป็นสาเหตุ
ให้การท้องบทอาขยานเริ่มหายไปจากสถานศึกษาบางแห่ง จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ จึงได้มีการ
กำหนดบทอาขยานขึ้นอีกครั้งหนึ่งแต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร
                                   ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๑

                                                                 ที่มา :  taradplaza.com

       กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายกำหนดให้มีการท่องอาขยานอย่างจริงจังในสถาน ศึกษาตั้งแต่
ปีการศึกษา ๒๕๔๒ เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์ของการท่องอาขยาน ดังนี้
       ๑. เพื่อให้นักเรียนตระหนักในคุณค่าของภาษาไทย และให้ซาบซึ้งในความไพเราะของบทร้อยกรอง
       ๒. เพื่อเป็นพื้นฐานในการแต่งคำประพันธ์
       ๓. เพื่อเป็นการสื่อในการถ่ายทอดคุณธรรม คติธรรม และข้อคิดที่เป็นประโยชน์แก่เยาวชน
       ๔. เพื่อส่งเสริมให้มีจิตสำนึกทางวัฒนธรรมของคนในชาติในฐานะ “รากร่วมทางวัฒนธรรม”

บทอาขยานที่กำหนดให้ท่องจำ
         บทอาขยายที่ให้นักเรียนท่องจำนั้น แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ บทอาขยานที่เป็นบทหลัก บทรอง และบทเลือกอิสระ

          บทหลัก หมายถึง บทอาขยานที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดให้นักเรียนนำไปท่องจำเพื่อความ 
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วประเทศ ดังปรากฏในเอกสาร

          บทรอง หมายถึง บทอาขยานที่ครูผู้สอนหรือสถานศึกษาเป็นผู้กำหนดให้นักเรียนท่องจำเสริมจากบท 
อาขยานที่กระทรงศึกษาธิการกำหนด (บทหลัก) เป็นบทร้อยกรองที่มีลักษณะตรงตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก
บทอาขยาน อาจเป็นบทร้อยกรองที่แสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เพลงพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก ค่าวชอ ผญา 
เพลงชาน้อง เพลงเรือ บทกวีร่วมสมัยที่มีคุณค่า ฯลฯ โดยกำหนดให้ท่องจำภาคเรียนละ ๑ บท เป็นอย่างน้อย

          บทเลือกอิสระ หมาย ถึง บทอาขยานที่นักเรียนแต่ละคนเลือกสรรมาท่องเองด้วยความสมัครใจ 
หรือด้วยความชื่นชอบอาจเป็นบทร้อยกรองที่มีผู้แต่งไว้ หรือเป็นบทร้อยกรองที่นักเรียนแต่งขึ้นเอง 
หรือผู้ปกครองเป็นผู้แต่งขึ้นก็ได้ แต่ต้องบอกได้ว่ามีเหตุผลอย่างไรจึงเลือกบทร้อยกรองนั้นๆ มาท่องจำ
เป็นบทอาขยานของตนเองโดยความเห็นชอบของครูผู้สอนหรือสถานศึกษา

                              ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๑

                                                                ที่มา : education.kapook.com


บทร้อยกรองที่จะคัดเลือกให้เป็นบทรองและบทเลือกอิสระ ควรมีลักษณะดังนี้
        ๑. มีเนื้อหา ความยากง่ายเหมาะสมกับวัย
        ๒. มีความยาวพอเหมาะพอควร
        ๓. มีคุณธรรม คติธรรม ให้แนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีงาม
        ๔. มีสุนทรียรสทางภาษา
        ๕. มีความถูกต้องตามฉันทลักษณ์
        ๖. มีรูปแบบที่หลากหลาย

  การอ่านบทอาขยานตามหลักการทั่วไป
         การอ่านบทอาขยานส่วนใหญ่เป็นการอ่านออกเสียง คือ ผู้อ่านเปล่งเสียงออกมาดังๆ ในขณะที่
ใช้สายตากวาดไปตามตัวอักษร ยึดหลักการอ่านออกเสียงเหมือนหลักการอ่านทั่วไป เพื่อให้การอ่านออกเสียง
มีประสิทธิภาพควรฝึกฝนดังนี้
          ๑. กวาดสายตาจากคำต้นวรรคไปยังท้ายวรรค และเคลื่อนสายตาไปยังวรรคถัดไปอย่างรวดเร็ว 
โดยไม่ต้องส่ายหน้าตามไป เพื่อเป็นการอ่านล่วงหน้า ทำให้การอ่านออกเสียงต่อเนื่องกันไปโดนไม่สะดุด ซะงัก
          ๒. ฝึกเปล่งเสียงให้ดังพอประมาณโดยพิจารณาถึงกลุ่มผู้ฟังและสถานที่ แต่ไม่ตะโกนควรบังคับเสียง
 เน้นเสียง ปรับระดับเสียงสูง - ต่ำ ให้สอดคล้องกับจังหวะลีลา ท่วงทำนอง และความหมายของเนื้อหาที่อ่าน
          ๓. อ่านด้วยเสียงที่ชัดเจน แจ่มใส ไพเราะ มีกระแสเสียงเดียว ไม่แตกพร่า เปล่งเสียงจากลำคอโดยตรง
ด้วยความมั่นใจ
          ๔. ควรทรงตัวและรักษาอากัปกิริยาให้ถูกวิธี จะช่วยให้ระบบกล้ามเนื้อต่างๆ ทำงานประสานกัน 
ทำให้เปล่งเสียงได้ดี มีท่วงท่าน่าเชื่อถือ ลักษณะการทรงตัวที่ถูกวิธีคือ ไม่ว่าจะยืนหรือนั่งอ่าน ลำตัวต้องตั้งตรง 
และอยู่ในอาการสมดุล ควรถือบทหรือหนังสือห่างจากสายตาประมาณหนึ่งฟุต ขณะอ่านพยายามให้ลำคอตั้งตรง
 เงยหน้าเล็กน้อย สบตากับคนฟังเป็นระยะๆ
           ๕. อ่านออกเสียงให้ถูกอักขรวิธีหรือความนิยม และต้องเข้าใจเนื้อหาของบทอาขยานนี้ก่อน
           ๖. อ่านออกเสียง ร ล คำควบกล้ำ ให้ถูกต้องชัดเจน
           ๗. อ่านให้ถูกจังหวะและวรรคตอน
          ๘. พยายามอ่านให้ได้อารมณ์และความรู้สึกตามเนื้อหา
                                ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๑
                                                                         ที่มา : numtan.com

การอ่านบทอาขยานเป็นทำนองเสนาะ
         การอ่านบทอาขยานเป็นทำนองเสนาะช่วยให้บทอาขยานนั้นมีความไพเราะ นักเรียนเกิดความสนใจ
จดจำบทอาขยานได้ดี และสนุกสนานยิ่งขึ้น การฝึกอ่านทำนองเสนาะมีขั้นตอนดังนี้
          ๑. อ่านเป็นร้อยแก้วธรรมดาให้ถูกต้องชัดเจน ตามอักขรวิธีก่อน ทั้ง ร , ล ตัวควบกล้ำ 
อ่านออกเสียงให้ตรงตามเสียงวรรณยุกต์
          ๒. อ่านให้ถูกจังหวะวรรคตอน การอ่านผิดวรรคตอนทำให้เสียความ
          ๓. อ่านให้สัมผัสคล้องจองกันเพื่อความไพเราะ
          ๔. อ่านให้ถูกทำนองและลีลาของคำประพันธ์แต่ละชนิด คำประพันธ์แต่ละชนิดจะมีบังคับ
จำนวนคำสัมผัส หรือคำเอก คำโท แตกต่างกัน การอ่านทำนองเสนาะจึงต้องอ่านให้ถูกท่วงทำนอง
และลีลาของคำประพันธ์แต่ละชนิด
           ๕. อ่านโดยใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับเนื้อหาและอ่านพยางค์สุดท้ายของวรรคด้วยการทอดเสียง
 แล้วปล่อยให้หางเสียงผวนขึ้นจมูก
                    ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๑
                                                                       ที่มา : oknation.net

บทท่องจำบทหลักสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕
                                                             ๑) เบื้องนั้นนฤนาถผู้                     สยามินทร์
                                                   เบี่ยงพระมาลาผิน                                  ห่อนพ้อง
                                                  ศัตราวุธอรินทร์                                       ฤาถูก องค์เอย
                                                  เพราะพระหัตถ์หากป้อง                           ปัดด้วยขอทรง

                                                             (๒) บัดมงคลพ่าห์ไท้                         ทวารัติ
                                                  แว้งเหวี่ยงเบี่ยงเศียรสะบัด                          ตกใต้
                                                  อุกคลุกพลุกเงยงัด                                      คอคช เศิกแฮ
                                                  เบนบ่ายหงายแหงนให้                                 ท่วงท้อทีถอย
                                ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๑
                                                                       ที่มา : thai-tour.com

                                            (๓) พลอยพล้ำเพลียกถ้าท่าน             ในรณ
                                     บัดราชฟาดแสงพล-                                    พ่ายฟ้อน
                                     พระเดชพระแสดงดล                                  เผด็จคู่ เข็ญแฮ
                                     ถนัดพระอังสาข้อน                                     ขาดด้าวโดยขวา

                                           (๔) อุรารานร้าวแยก                             ยลสยบ
                                    เอนพระองค์ลงทบ                                       ท่าวดิ้น
                                   เหนือคอคชซอนซบ                                     สังเวช
                                   วายชิวาต์สุดสิ้น                                            สู่ฟ้าเสวยสวรรค์

ประโยชน์ของการท่องบทอาขยาน 
                 การท่องจำบทอาขยานมิใช่เพียงการท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่การท่องจำบทอาขยาน
ได้เปรียบเสมือนเป็นบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่การคิด เมื่อมีข้อมูลมีตัวอย่างที่ดีซึ่งเป็นคลังความรู้ทีเราเก็บไว้กับตัว
 ต้องการใช้เมื่อใดเราก็สามารถนำออกมาใช้ได้ทันที การท่องจำบทอาขยานเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การเลือกจำ
บทประพันธ์ที่ดีและมีคุณค่าทั้งในเชิงภาษาและเนื้อหาที่เราได้พบในชีวิตประจำวันต่อไป
การท่องจำบทอาขยานมีประโยชน์ สรุปได้ดังนี้
                  ๑. ช่วยให้เกิดความซาบซึ้งในเรื่องที่อ่าน
                  ๒. ฝึกการคิดวิเคราะห์ประเมินค่าเรื่องที่อ่าน
                  ๓. เป็นตัวอย่างการใช้ภาษาที่ไพเราะ
                  ๔. ช่วยให้มีคติประจำตัว สอนใจให้ระลึกถึงคุณธรรมที่ได้จดจำ
                  ๕. ช่วยกล่อมเกลาและจรรโลงใจให้ประณีตมากขึ้น
                  ๖. เป็นตัวอย่างการแต่งคำประพันธ์ตามรูปแบบที่ได้ท่องจำ
                  ๗. ได้รับความเพลิดเพลิน สนุกสนาน
                  ๘. สามารถนำไปใช้อ้างอิงในงานต่างๆ ได้
                                  ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๑
                                                                      ที่มา : facebook.com

        วัฒนธรรม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตในสังคม เช่น ประเพณี
ขนบธรรมเนียมพิธีกรรมต่างๆ ศิลปะ การละเล่น อุปนิสัย 
      ภาษาของชนชาติจะสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชนชาตินั้น ภาษาไทยก็เช่นกันภาษาไทยสะท้อน
ให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนนิยมใช้คำคล้องจอง เห็นได้จากการตั้งชื่อต่างๆ 
เช่น ชื่อหนังสือสัมผัสคล้องจองกัน เช่นวานิตินิกร ไวพจน์พิธาน พิศาลการันต์ อนันตวิภาค
ถ้อยคำสำนวนในภาษาไทยก็นิยมผูกให้คล้องจองกันคำประพันธ์ทุก ประเภทของไทยมีบังคับ
สัมผัสคล้องจองแม้คำประพันธ์นั้นจะมาจากภาษาอื่นซึ่ง ไม่บังคับก็ตามเช่นคำประพันธ์ประเภทฉันท์ 
เมื่อรับมาแล้วจึงเพิ่มเสียงสัมผัสให้เข้ากับลักษณะคำประพันธ์ของไทย
        การธำรงรักษามีสามารถทำได้หลายทางดังนี้
        ๑.การสะสม สามารถทำได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านประเพณี วรรณกรรม ศิลปะ ศีลธรรม คุณธรรม 
และเทคโนโลยีต่างๆ เป็นการเลือกสะสมสิ่งที่ดีงาม เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และมีการถ่ายทอด
เป็นมรดกให้แก่คนรุ่นหลังเพื่อที่จะได้นำไปปฏิบัติ
      ๒.การสืบต่อทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องของการเรียนรู้จากบุคคลอื่น เป็นการเรียนรู้สิ่งที่ดีจากบรรพบุรุษ
      ๓.การปรับปรุงและการเผยแผ่วัฒนธรรม ต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพและเพื่อเผยแผ่
การธำรงรักษาวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุกที่ใช้เป็นเครื่องมือในการ ธำรงรักษา คือ ภาษา 
เพราะภาษาจะเป็นสื่อในการทำความเข้าใจและถ่ายทอดวันธรรม ทั้งในด้านของการสะสมและการสืบทอด

ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
        ๑. การท่องบทอาขยาน  มีผลต่อคุณภาพชีวิตเราอย่างไร จงอธิบาย
        ๒. การท่องบทอาขยาน เป็นการสืบสานวัฒนธรรมอย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑.  ให้นักเรียนฝึกอ่านบทอาขยานบทหลัก จากวรรณคดีเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย

สรรถนะที่ต้องการเน้น
       ๑. มีความสามารถในการคิด
       ๒. มีความสามารถในกาใช้ทักษะชีวิต

กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์

          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๕
          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕

ที่มา  :  https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4633

อัพเดทล่าสุด