ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา ตอนที่ ๒


1,041 ผู้ชม



ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมของชาติ   

ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๒
บทท่องจำ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
 

วิธีการสอนท่องจำบทอาขยาน
๑)  ผู้สอนคุยถึงเรื่องราว ความหมายและที่มาของบทอาขยานนั้นๆ เพื่อสร้างความสนใจให้ผู้เรียน
๒)  บอกวิธีการท่อง  ให้ท่องทีละบท จำให้ได้ แล้วค่อยท่องบทต่อไป  แล้วทบทวนบทแรกที่ท่อง
พร้อมกับบทใหม่ แล้วจึงเริ่มท่องบทต่อไป  ทำเช่นนี้จนกว่าจะท่องได้หมด  
          ๓)  ทำแบบนี้ ทุกวัน เด็กจะจำได้เป็นร้อยๆบท
           ๔)  หาโอกาสให้นักเรียนท่องพร้อมกันทั้งห้อง  ท่องทีละกลุ่ม  แข่งขันการท่องในห้อง เพื่อเพิ่มศักยภาพ  การท่องจำ
           ๕) ระดับมัธยมศึกษา ครูควรสอนให้รู้จักวิเคราะห์ความงามของภาษา การเล่นเสียง เล่นคำ  โวหารภาพพจน์   ตลอดจนถึงรสของวรรณคดี  และความสำคัญของบทอาขยาน
           ๖) ครูผู้สอนพึงระลึกไว้ว่า การท่องจำบทอาขยาน เป็นการเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะความจำของเด็กเล็ก  แต่เมื่อเด็กโต  ควรหลีกเลี่ยงวิธีสอนแบบท่องจำ  เพราะเด็กเล็ก ๆ โดยเฉพาะก่อน ๓ ขวบ  จะมีพลังสมอง  ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มหาศาล มากกว่าสมองผู้ใหญ่ และหากเด็กจดจำอะไร ก็จะมีผลต่อนิสัยใจคอ 
  เช่นความมุมานะอดทน ความคิดสร้างสรรค์ กระตือรือร้น อีกทั้งมีผลต่อการทำงานของสมองด้วย 
          ๗) ครูที่สอนเด็กโต  อย่าเบื่อหน่ายที่จะฟังเด็กท่อง และบอกให้นักเรียนท่องให้ถูกทำนองฉันทลักษณ์
  แม้ต้อง บอก ถึง ๑๐๐  ครั้ง


บทอาขยาน  ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๕  มหาเวสสันดรชาดก  กัณฑ์มัทรี
ผู้แต่ง  เจ้าพระยาพระคลัง(หน)
                                             ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๒
 
                                                              ที่มา : sahavicha.com

ที่มาของเรื่อง
  
           มหาเวสสันดรชาดก   เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร และได้ทรงบำเพ็ญทานบารมีอย่างสูงสุดก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  ผู้แต่งมหาเวสสันดรชาดกมีหลายคนต่างกันไปเป็นกัณฑ์  ฉันทลักษณ์ ร่ายยาว
คุณค่าของบทอาขยาน 
มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี มีความสำคัญและดีเด่นทั้งด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์ ในตอนนี้แสดง
ให้เห็นถึงความรู้สึกของพระนางมัทรี ซึ่งสะท้อนความรักความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูกได้อย่างลึกซึ้งสะเทือนใจ
 
บทอาขยาน เรื่อง มหาเวสสันดรชาดก  กัณฑ์มัทรี  (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕)
 
           “...จึงตรัสว่าโอ้โอ๋เวลาปานฉะนี้เอ่ย จะมิดึกดื่น  จวนจะสิ้นคืนค่อนรุ่งไปเสียแล้วหรือกระไรไม่รู้เลย   
พระพายรำเพยพัดมารี่เรื่อยอยู่เฉื่อยฉิว  อกแม่นี้ให้อ่อนหิวสุดละห้อยทั้งดาวเดือนก็เคลื่อนคล้อยลงลับไม้   
สุดที่แม่จะติดตามเจ้าไปในยามนี้   ฝูงลิงค่างบ่างชะนีที่นอนหลับ  ก็กลิ้งกลับเกลือกตัวอยู่ยั้วเยี้ย   ทั้งนกหก
ก็งัวเงียเหงาเหงียบทุกรวงรัง  แต่แม่เที่ยวเซซังเสาะแสวง  ทุกแห่งห้องหิมเวศทั่วประเทศทุกราวป่า   
สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล  สุดโสตแล้วที่แม่จะซับทราบฟังสำเนียง  สุดสุรเสียงที่แม่จะร่ำเรียกพิไรร้อง
สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื้องย่องย่างลงเหยียบดิน ก็สุดสิ้นสุดปัญญาสุดหาสุดค้นเห็นสุดคิด  จะได้พานพบประสบรอย
พระลูกน้อยแต่สักนิดไม่มีเลย  จึ่งตรัสว่า เจ้าดวงมณฑาทองทั้งคู่ของแม่เอ๋ย  หรือว่าเจ้าทิ้งขว้างวางจิตไปเกิดอื่น
เหมือนแม่ฝันเมื่อคืนนี้แล้วแล.....”


ข้อสังเกต   
            ควรศึกษาความไพเราะด้านวรรณศิลป์ ทั้งกลวิธีการแต่งและการสรรคำใช้ของผู้นิพนธ์ 
เช่น เล่นคำว่า สุด  ซึ่งมีความหมายว่าไม่มีเกินไปกว่านี้ได้อีกแล้ว  มานำหน้าแต่ละวรรค เพื่อย้ำเน้นความรู้สึกได้อย่าง
สะเทือนใจยิ่ง  แสดงให้เห็นว่าความรักอันยิ่งใหญ่  พระนางมัทรีที่ทรงติดตามค้นหาพระกุมารทั้งสองโดยทุ่มเทพระกำลัง
ปัญญา และทุกสิ่งทุกอย่างในตัวของ พระนางจนหมดสิ้น

ท่วงทำนองของบทอาขยาน  
      การท่องบทอาขยาน ผู้สอนควรต้องศึกษาว่าบทอาขยานที่นำมานั้นอยู่ในรสใด  การท่องบทอาขยานต้องสอดคล้องกับอารมณ์ที่ปรากฏในบทอาขยาน  รสที่ใช้ในวรรณคดีมีดังนี้ 

         ๑. รสถ้อย ( คำพูด ) แต่ละคำมีรสในคำของตัวเอง ผู้อ่านจะต้องอ่านให้เกิดรสถ้อย 
ตัวอย่าง 
              สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน              ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม 
         กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม     อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม 
         แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม    ดังดูดดื่มบอระเพ็ดที่เข็ดขม 
         ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์            ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย

                                                 (พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ) 
                                                       ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๒
                                                                           ภาพจาก : gallery.palungjit.com

          ๒. รสความ ( เรื่องราวที่อ่าน ) ข้อความที่อ่านมีเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เช่น โศกเศร้า สนุกสนาน ตื่นเต้น โกรธ รัก เวลาอ่านต้องอ่านให้มีลีลาไปตามลักษณะของเนื้อเรื่องนั้น ๆ

   ตัวอย่าง : บทโศกตอนที่นางวันทองไปส่งพลายงามให้ไปหาย่าทองประศรีที่สุพรรณบุรี

                ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                     ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล 
          สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย                      แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา 
          เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น             แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา 
          แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญาณ์   โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง

                                          (เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม : สุนทรภู่ ) 
                                      ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๒
                                                         ภาพจาก : bangkrod.blogspot.com


ตัวอย่าง : บทสนุกสนาน ในนิราศพระบาทขณะมีมวยปล้ำ

             ละครหยุดอุตลุดด้วยมวลปล้ำ              ยืนประจำหมายสู้เป็นคู่ขัน 
       มงคลใส่สวมหัวไม่กลัวกัน                        ตั้งประจันจดจับขยับมือ 
      ตีเข้าปับรับโปกสองมือปิด                         ประจบติดเตะผางหมัดขว้างหวือ 
       กระหวัดหวิดหวิวผวาเสียงฮาฮือ                 คนดูอืออ้อเออกันสนั่นอึง

                                                                                              (นิราศพระบาท : สุนทรภู่ ) 
                               ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๒
                                                     ภาพจาก : internetofreedom.com

         ๓. รสทำนอง ( ระบบเสียงสูงต่ำซึ่งมีจังหวะสั้นยาว ) ในบทร้อยกรองไทยจะประกอบด้วยทำนองต่าง ๆ เช่น ทำนองโคลง ทำนองฉันท์ ทำนองกาพย์ ทำนองกลอน และทำนองร่าย เป็นต้น ผู้อ่านจะต้องอ่านให้ถูกต้องตามทำนองของร้อยกรองนั้น เช่น โคลงสี่สุภาพ

                    สัตว์ พวกหนึ่งนี้ชื่อ             พหุบา ทาแฮ 
                       มี เอนกสมญา                ยอกย้อน 
                    เท้า เกิดยิ่งจัตวา               ควรนับ เขานอ 
                    มาก จวบหมิ่นแสนซ้อน       สุดพ้นประมาณฯ

                           ( สัตวาภิธาน : พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยากูร ) 
                                             ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๒
                                                                    ภาพจาก :  new.goosiam.com

          ๔. รสคล้องจอง ในบทร้อยกรองต้องมีคำคล้องจอง ในคำคล้องจองนั้นต้องให้ออกเสียงต่อเนื่องกันโดยเน้นสัมผัสนอกเป็นสำคัญ เช่น

             ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง              มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา 
        โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา                  ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย 
        ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ                     พระสรรเพชรโพริญาณประมาณหมาย 
        ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย                         ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป 
       ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก                   สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน 
        ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป                     แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

                               (นิราศภูเขาทอง : สุนทรภู่) 
         
         ๕. รสภาพ เสียงทำให้เกิดภาพ ในแต่ละคำจะแฝงไปด้วยภาพ ในการอ่านให้เห็นภาพต้องใช้เสียง สูง – ต่ำ ดัง - ค่อย แล้วแต่จะให้เกิดภาพอย่างไร เช่น 
              “มดเอ๋ยมดแดง                       เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน 
              “สุพรรณหงส์ทรงพูดห้อย          งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์” 
              “อยุธยายศล่มแล้ว                    ลอยสวรรค์ ลงฤา”


                                ท่องบทอาขยานสืบสานวัฒนธรรมทางภาษา  ตอนที่ ๒                                                      
                                                              ภาพจาก : atcloud.com
ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
        ๑. ให้แต่ละกลุ่ม ร่วมสังเคราะห์วิธีการอ่านหนังสือให้จำได้และเข้าใจ
        ๒. บทท่องจำเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี มีประโยชน์ต่อนักเรียนอย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑.  ให้นักเรียนฝึกอ่านบทอาขยาน จากวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร

สรรถนะที่ต้องการเน้น
       ๑. มีความสามารถในการคิด
       ๒. มีความสามารถในกาใช้ทักษะชีวิต

กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์

          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๕
          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่๕
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4637 

อัพเดทล่าสุด