ลิลิตละเลงพ่าย ตอน เปลี่ยนรัฐบาล


1,057 ผู้ชม


บ้านเมืองใดที่มีความอ่อนแอจากคนในชาติแก่งแย่ง ขัดแย้งหัน ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าศึกภายนอกเข้ารุกรานได้ง่าย   

 ลิลิตละเลงพ่าย ตอน เปลี่ยนรัฐบาล

       แกนนำ นปช.แตกคอ แรมโบ้อีสาน รวมกลุ่มสายฮาร์ดคอร์ เสนอปลด “ธิดา” 
พ้นตำแหน่งกลางที่ประชุม อ้างไม่เป็นประชาธิปไตย ทำองค์กรแตกแยก เตรียมหนุน 
“คณิต  บุญถึงสุวรรณ" เข้าชิงตำแหน่งแทน.
 
              ที่มา : ไทยรัฐออนไลท์   ๗ กรกฎาคม  ๒๕๕๔, ๐๘:๑๕ น.

     เป็นที่ทราบกันดีว่า  ผลการเลือกตั้ง  พรรคได้ที่มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล  ไม่ว่าจะเป็น
รัฐบาลสมัยไหน  การขัดแย้งก็มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย  คู่กับประเทศที่มีประชาธิปไตย  ต่างกัน
ตรงที่ว่า ประเทศใดที่ประชาชนมีการศึกษาที่มีคุณภาพ  ชอบอ่านหนังสือ แนวคิด มุมมอง
ที่ขัดแย้งนั้น  จะทำอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก   หากบ้านเมืองใดที่
คนขัดแย้งทำเพื่ออัตตา  สิ่งที่ต้องระวังคืออันตรายจากภายนอก  อย่างเช่น เรื่องลิลิตตะเลงพ่าย
ตอนเหตุการณ์ทางเมืองมอญ  พระเจ้านันทบุเรง ก็คงจะแอบลุ้นเหมือนกันว่า พระมหาธรรมราชา
สวรรคต  ใครจะขึ้นครองราช ระหว่างองค์ดำ กับองค์ขาว  จึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชา
ยกกองทัพไปช่วยลุ้นด้วย 
                                                  ลิลิตละเลงพ่าย ตอน เปลี่ยนรัฐบาล

                                                                           ภาพจาก : entertain.enjoyjam.net

ลิลิต    เป็นคำประพันธ์ที่แต่งโดยใช้ร่าย แต่งสลับกับโคลง (โคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ
          และโคลงสี่สุภาพ)
ตะเลง  แปลว่า มอญ  ในเรื่องนี้หมายถึงพม่า  เนื่องจากมอญกับพม่าสู้รบกันมานาน ผลัดกันแพ้ 
          ผลัดกันชนะ  และในที่สุดพม่าชนะ  ยึดเมืองหลวงของมอญได้คือเมืองหงสาวดี  พม่าจึง
          เข้าปกครองมอญ  
พ่าย  มาจากคำว่า  พ่ายแพ้  ดังนั้น   ลิลิตตะเลงพ่าย  มิได้หมายถึง  มอญแพ้  แต่หมายถึง พม่าแพ้
ผู้ทรงนิพนธ์  สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิต ชิโนรส

จุดมุ่งหมายในการนิพนธ์
๑. สดุดีพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรส
๒. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


ร่ายสุภาพ  ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ลักษณะบังคับของร่ายสุภาพ
           ร่ายสุภาพ ๑ บท มี ตั้งแต่ ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่งมี ๕ คำ บทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้  แต่ต้องจบ
ลงด้วยโคลงสองสุภาพ  คำสุดท้ายของแต่ละวรรค  ส่งสัมผัสไปยัง คำที่ ๑,๒,๓ ของวรรคต่อไป 
แต่เมื่อลงท้ายต้องจบด้วยโคลงสองสุภาพ  คำสร้อย เติมได้ ๒ คำ ท้ายบท เช่นเดียวกับโคลงสองสุภาพ


ลิลิตตะเลงพ่าย  ตอน เหตุการณ์ทางเมืองมอญ
ร่าย.
          ฝ่ายพระนครรามัญ   ขัณฑ์เขตด้าวอัสดง   หงสาวดีบุเรศ   รั่วรู้เหตุ บ มิหึง   แห่งเอิกอึงกิดาการ
  ฝ่ายพสุธารออกทิศ   ว่าอดิศวรกษัตรา มหาธรรมราชนรินทร์  เจ้าปถพินทร์ผ่านทวีป ดับชนมชีพพิราลัย
 เอารสไทนฤเบศ นเรศวรเสวยศวรรยา แจ้งกิจจาตระหนัก จึ่งพระปิ่นปักธาษตรี บุรีรัตนหงสา 
ธ ก็บัญชาพิภาษ   ด้วยมวลมาตยากร ว่านครรามินทร์ ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช   เยียววิวาทชิงฉัตร   
เพื่อกษัตริย์สองสู้  บ ร้างรู้เหตุผล ควรยาตรพลไปเยือน   เตือนประยุทธ์เอาเปรียบ   แม้นไป่เรียบเป็นที
  โจมจู่ยี่ย่ำภพ เสนีนบนึกชอบ ระบอบเบื้องบรรหาร  ธ ก็เอื้อนสารเสาวพจน์ แต่เอารสยศเยศ 
 องค์อิศเรศอุปราช  ให้ยกยาตราทัพ กับนครเชียงใหม่ เป็นพยุหใหญ่ห้าแสน  ไปเหยียบแดนปราจิน  
บุตรท่านยินถ้อถ้อย  ข้อยผู้ข้าบาทบงสุ์   โหรควรคงทำนาย ทายพระเคราะห์ถึงฆาต  ฟังสารราชเอารส
  ธ ก็ผะชดบัญชา เจ้าอยุธยามีบุตร ล้วนยงยุทธ์เชี่ยวชาญ หาญหักศึก บ มิย่อ  ต่อสู้ศึก บ มิหยอน   
ไปพักวอนว่าใช้   ให้ ธ หวง ธ ห้าม  แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี 
สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์  ธ ตรัสเยาะเยี่ยงขลาด  องค์อุปราชยินสาร แสนอัประมาณมาตย์มวล 
นวลพระพักตร์ผ่องเผือด เลือดสลดหมดคล้ำ  ช้ำกมลหมองมัว กลัวพระอาชญายอบ นอบประณตบทมูล
 ทูลลาไท้ลีลาศ   ธ ก็ประกาศเกณฑ์พล บอกยุบล บ่ มิหึง ถึงเชียงใหม่ตระบัด เร่งแจงจัดจตุรงค์ 
ลงมาสู่หงสา แล้ว ธ ให้หาเมืองออก  บอกทุกแดนทุกด้าว บอกทุกท้าวทุกเทศ  ทั่วทุกเขตทุกขอบ 
รอบสีมามณฑล  ทราบนุสนธิ์ทุกแห่ง ต่างตกแต่งแสะสาร แสนยาหาญมหิมา คลาบรรลุเวียงราช
 แลสระพราศสระพรั่ง คั่งคับนับเหลือตรา  ต่างภาษาต่างเพศ พิเศษสรรพแต่งตน ข้าศึกยลแสยงฤทธิ์ 
บ พิตร ธ เทียบทัพหลวง โดยกระทรวงพยุบาตร จักยาตราตรู่เช้า เสด็จเข้านิเวศไท้ เกรียมอุระราชไหม้
 หม่นเศร้าศรีสลาย อยู่นา  
ลิลิตละเลงพ่าย ตอน เปลี่ยนรัฐบาล

                                                  ภาพจาก : movie.mthai.com
ถอดความได้ว่า
           ฝ่ายนครรามัญ คือ หงสาวดี ทราบข่าวว่าพระมหาธรรมราชากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
ถึงแก่พิราลัย พระราชโอรส คือ พระนเรศวรได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ จึงได้ประชุมหมู่อำมาตย์
ปรึกษากันว่า กรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ บางทีโอรสทั้งสองพระองค์อาจจะวิวาทกัน
เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ เราควรยกทัพไปดูลาดเลา  ถ้าได้เปรียบก็จะได้รบแย่งชิงเอาบ้านเมืองเสีย   
           ขุนนางทั้งหลายต่างก็เห็นชอบตามพระราชดำริ จึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชาราชโอรส 
จัดเตรียมทัพพร้อมด้วยทัพเมืองเชียงใหม่เป็นจำนวนห้าแสนคน  ยกไปตีกรุงศรีอยุธยา   
           พระมหาอุปราชากราบบังคมทูลว่าโหรทำนายว่าพระองค์เคราะห์ร้าย ชะตาถึงฆาต 
           พระเจ้าหงสาวดีจึงตรัสเป็นเชิงประชดว่า “เจ้าอยุธยามีโอรสเก่งกล้าสามารถในการรบ
 ไม่ต้องให้พระบิดาใช้ แต่กลับต้องไม่ให้ทำศึกเสียอีก    ถ้าเจ้าเกรงว่าเคราะห์ร้าย  ก็อย่าไปรบเลย
 เอาผ้าสตรีมานุ่งเถอะจะได้คลายจากเคราะห์” 
            พระมหาอุปราชาทรงอับอายขุนนางข้าราชการเป็นอันมาก จึงเตรียมยกทัพโดยเกณฑ์
จากหัวเมืองต่าง ๆ รวมจำนวนห้าแสนคน   เตรียมยกทัพไปในเวลาเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น แล้วเสด็จกลับ
ตำหนัก
         
บทวิเคราะห์วรรณศิลป์
๑. พบการเล่นเสียงพยัญชนะ  เช่น
นวลพระพักตร์ผ่องเผือด     เล่นเสียง  พ
จงอย่ายาตรยุทธนา  เล่นเสียง  ย

๒. พบการเล่นคำ เช่น
    “บอกทุกแดนทุกด้าว บอกทุกท้าวทุกเทศ  ทั่วทุกเขตทุกขอบ”   เล่นคำ  ทุก

๓. พบโวหารภาพพจน์  คือนามนัย จากข้อความ  เช่น
“ว่านครรามินทร์ ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช   เยียววิวาทชิงฉัตร”   
               ฉัตร มีความหมายตามนัย  หมายถึง กษัตริย์

   “แม้นไป่เรียบเป็นที  โจมจู่ยี่ย่ำภพ”
  ภพ  มีความหมายตามนัยของเรื่องในตอนนี้ หมายถึง กรุงศรีอยุธยา

๔. ปรากฏรสวรรณคดี คือ พิโรธวาทัง
“........ฟังสารราชเอารส  ธ ก็ผะชดบัญชา เจ้าอยุธยามีบุตร ล้วนยงยุทธ์เชี่ยวชาญ 
หาญหักศึก บ มิย่อ  ต่อสู้ศึก บ มิหยอน   ไปพักวอนว่าใช้   ให้ ธ หวง ธ ห้าม  
แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์
 ตรัสเยาะเยี่ยงขลาด….”
    ? เป็นถ้อยคำของพระเจ้านันทบุเรง  ตรัสประชดพระมหาอุปราชา  โดยเปรียบเทียบพระมหา
อุปราชา กับพระนเรศวร  ต่อหน้าเหล่าเสนา อำมาตย์  เนื่องจาก พระองค์ต้องการให้
พระมหาอุปราชา แสดงฝีมือในการรบ โดยการยกทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาแต่พระมหาอุปราช
กลับทูลว่า พระโหรทำนายว่ามีพระเคราะห์  พระเจ้านันทบุเรงจึงแสดงอารมณ์โกรธ 
ด้วยการประชด พระราชโอรส.


ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
        ๑. จากร่ายสุภาพข้างต้น  ส่วนใดของร่ายที่เป็นโคลงสองสุภาพ
        ๒. เนื้อความจากร่ายบทนี้  นักเรียนเกิดแนวคิดอย่างไรบ้างเกี่ยวกับบ้านเมือง
ในปัจจุบัน

กิจกรรมเสนอแนะ
       ๑.  ให้นำเนื้อเรื่องแต่งเพลงกลุ่มละ  ๑  เพลง

สรรถนะที่ต้องการเน้น
       ๑. มีความสามารถในการคิด
       ๒. มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต

กิจกรรมบูรณาการ   
        กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์

          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล   แผนการจัดการเรียนรู้  ภาษาไทย  ชั้นม.๕
          ที่มา :  เพลินพิศ   สุพพัตกุล  คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4147

อัพเดทล่าสุด