การเขียนแสดงความคิดเห็น


1,142 ผู้ชม


วัยรุ่นในปัจจุบันบางคนไม่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ทั้งนี้อาจมีผลมาจากสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม   

๑. กตัญญูเชิดชูความดี

          ตำรวจล้อมจับลูกทรพี ฉุนแม่ – พ่อเลี้ยงไม่ให้เงินกินเหล้าคว้าไม้หน้าสามฟาดปางตาย : นายชาตการ องอาจ อายุ 34 ปี ผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกายแม่และพ่อเลี้ยง นายชาตการ ได้ใช้ไม้หน้าสามฟาดที่ใบหน้าและตามลำตัวของมารดา คือ นางกัญจนา สุธุภาพ อายุ 51 ปี และนายบุญสิทธิ์ สุธุภาพ พ่อเลี้ยง จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะค้นทรัพย์สินเงินทองในตัวมารดา ซึ่งมีประมาณ 5,000 บาทขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไป จากนั้น นายชาตการได้มาหลบอยู่ที่บ้านพัก
ของตนเองและเตรียมจะหนี แต่มาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้ในที่สุด 
ที่มา : https://www.samrong.biz/index.php/forum/33/3316----#3320


๒. ประเด็นจากข่าวเพื่อนำเข้าสู่เนื้อหาหลัก
        จากข่าวแสดงให้เห็นถึงวัยรุ่นในปัจจุบันบางคนไม่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ทั้งนี้อาจมีผลมาจากสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

๓. เนื้อหาสำหรับ  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๑  
        สาระที่ ๑ การอ่าน
        มาตรฐาน ท ๑.๑
  ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิดเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจ แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตและมีนิสัยรักการอ่าน
        สาระที่ ๒ การเขียน
        มาตรฐาน ท ๒.๑ ใช้กระบวนการเขียนเขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ
        สาระที่ ๔ หลักการใช้ภาษาไทย
        มาตรฐาน ท ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ

๔. เนื้อเรื่อง
                                  การเขียนแสดงความคิดเห็น
    ๑. ความหมายของการเขียนแสดงความคิดเห็น
         การเขียนแสดงความคิดเห็น คือ  การเขียนที่ประกอบด้วยข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงกับการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความคิดเห็นควรจะมีเหตุผลและเป็นไปในทางสร้างสรรค์
การเขียนแสดงความคิดเห็นมักปรากฏในรูปของบทความตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ  เช่น  หนังสือพิมพ์  วารสาร  นิตยสาร  เป็นต้น
    ๒. หลักการเขียนแสดงความคิดเห็น
         ๒.๑  การเลือกเรื่อง  ผู้เขียนควรเลือกเรื่องที่เป็นที่สนใจของสังคมหรือเป็นเรื่องที่ทันสมัย  อาจเกี่ยวกับเหตุการทางการเมือง เศรษฐกิจ  สังคม  ศาสนา  ศิลปะ  วิทยาศาสตร์ หรือข่าวเหตุการณ์ประจำวัน  ทั้งนี้ผู้เขียนต้องมีความรู้และเข้าใจเรื่องที่ตนจะแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างดี  เพื่อที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างลึกซึ้ง
         ๒.๒ การให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลที่เลือกมานั้นจะต้องมีรายละเอียดต่างๆ เช่น ที่มาของเรื่อง  ความสำคัญ  และเหตุการณ์เป็นต้น 
         ๒.๓ การแสดงความคิดเห็น ผู้เขียนอาจแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องได้ ๔ ลักษณะดังนี้คือ
               ๑) การแสดงความคิดเห็นเพื่อตั้งข้อสังเกต  เช่น  การเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ต  ความนิยมรับประทานอาหารเสริมสุขภาพ
               ๒) การแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนข้อเท็จจริง  เช่นหัวข้อเรื่อง  การจัดระเบียบสังคมของร้อยตำรวจเอกปุระชัย  เปี่ยมสมบูรณ์   
               ๓) การแสดงความคิดเห็นเพื่อโต้แย้งข้อเท็จจริง เช่น  หัวข้อเรื่อง  การกินยาลดความอ้วนของวัยรุ่น  การเปิดเสรีการค้า   น้ำเมาของภูมิปัญญาชาวบ้าน
               ๔) การแสดงความคิดเห็นเพื่อประเมินค่า  เช่นหัวข้อเรื่อง  การวิจารณ์เรื่องสั้น ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือรางวัลซีไรต์
         ๒.๔ การเรียบเรียง
               ๑) การตั้งชื่อ  ควรตั้งชื่อเรื่องให้เร้าความสนใจผู้อ่าน  และสอดคล้องกับเนื้อหาที่   จะเขียน  เพราะชื่อเรื่องเป็นส่วนที่ผู้อ่าน จะต้องอ่านเป็นอันดับแรกและเป็นการบอกขอบเขตของเรื่องด้วย
               ๒) การเปิดเรื่อง ใช้หลักการเขียนเช่นเดียวกันกับคำนำ  และควรเปิดเรื่องให้น่าสนใจ  ชวนให้ผู้อ่านติดตามเรื่องต่อไป  
               ๓) การลำดับ  ควรลำดับเรื่องให้มีความต่อเนื่องสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจนจบไม่ควรเขียนวกไปวนมา  เพราะผู้อ่านอาจเกิด ความสับสนจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริงและส่วนใดเป็นการแสดงความคิดเห็น
               ๔) การเปิดเรื่อง  ใช้หลักการเช่นเดียวกับการเขียนสรุปและควรปิดเรื่องให้ผู้อ่านประทับใจ
         ๒.๕ การใช้ภาษา ควรใช้ภาษาอย่างสละสลวย  ชัดเจน  ไม่เยิ่นเย้อ  มีการใช้สำนวนโวหารอย่างเหมาะสมกับเรื่อง  นอกจากนั้นยังต้องใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายได้ตรงตามอารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียน ทั้งนี้พึงหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่แสดงอารมณ์รุนแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายหลัง
ที่มา : https://www.kr.ac.th/ebook/songsri/b2.htm

                                  ตัวอย่างการเขียนแสดงความคิดเห็น


                                การเขียนแสดงความคิดเห็น
                     ภาพจาก www.212cafe.com/.../view.php?user=teeku51&id=365

                                                                                  บุพการี
                           ใครแทนพ่อแม่ได้                 ไป่มีเลยท่าน
                  คือคู่จันทร์สุรีย์ศรี                           สว่างหล้า
                  สิ้นท่านทั่วปฐพี                              มืดหม่น
                  หมองมิ่งขวัญซ่อนหน้า                     นิ่งน้ำตาไหล ฯ      

                                                                             อังคาร กัลยาณพงศ์

         “บุพการี”  คำนี้ อ่านว่า   บุบ-พะ-กา-รี เป็นคำบาลี  ที่เกิดจากคำว่า ปุพฺพ แปลว่า ก่อน กับคำว่า การี แปลว่า ผู้กระทำ บุพการี แปลว่าผู้กระทำก่อนหมายถึงพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้กระทำการอุปการะต่อลูกก่อน คือ ตั้งแต่เริ่มมีชีวิตอยู่ในท้อง   และเลี้ยงดูให้การศึกษาอบรมด้วยความรัก
โดยมิได้หวังสิ่งใดตอบ     ที่มา :  https://www.panyathai.or.th
        ในโลกนี้ ไม่มีใครมาแทนพ่อแม่ได้อีกแล้ว  ที่พ่อแม่ตำหนิ ตักเตือน ก็ด้วยความห่วงใย อยากให้ลูกได้ดี แต่ลูกคิดว่าสิ่งที่ตักเตือนเป็นเรื่องไร้สาระ น่าเบื่อหน่ายรำคาญ ทุกคนควรตระหนักถึงพ่อแม่ให้มากที่สุด เพราะท่านคือผู้ที่ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มามากมายเพื่อลูก   พ่อและแม่คือผู้ที่ปกป้อง ดูแล  และอยู่เคียงข้างลูกเสมอจวบจนชีวิตจะหาไม่ และสิ่งที่ลูกๆทุกคนควรกระทำต่อท่านคือ  มีความกตัญญูกตเวที รู้คุณท่าน และตอบแทนพระคุณของท่าน ด้วยการเคารพ เชื่อฟัง ประพฤติตนเป็นคนดี ไม่ทำให้ท่านเสียใจ ปรนนิบัติรับใช้ท่านอย่างเต็มใจ และเลี้ยงดูท่านเมื่อท่านแก่ชราถึงตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไปที่เรา...จะมาเริ่มทำสิ่งดีๆ ให้กับพ่อและแม่ รักท่านให้มากๆ เชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน  เอาใจใส่ท่าน การทดแทนบุญคุณนั้นจัดเป็นการปฏิบัติที่เป็นอุดมมงคล เป็นเครื่องหมายของคนดี มีคุณธรรม 
         รองศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์   เกยุรานนท์ เขียนบทความไว้ว่า   “ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุ   เป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อผู้สูงอายุ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข  ในบั้นปลายชีวิต.....การทำให้นั้นไม่ควรทำด้วยหน้าที่    เพราะสิ่งที่ทำนั้นจะไม่อ่อนโยนไม่นุ่มนวล และไม่ได้เกิดความรู้สึกที่ดี เพราะไม่ได้ออกมาจากใจ แต่การทำต้องทำด้วยใจ  ด้วยความรัก และด้วยความปรารถนาดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผู้สูงอายุสามารถรับรู้ได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้น” https://www.stou.ac.th/stoukc/elder/main1_9.html  
          การดูแลผู้สูงอายุนั้นไม่ได้ดูแลเฉพาะสุขภาพทางกายเท่านั้น  แต่ต้องดูแลสุขภาพทางด้านจิตใจด้วย   เพราะท่านอาจมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า  สิ้นหวัง  เราจำเป็นต้องเข้าใจ และหาทางช่วยเหลือ  คนส่วนใหญ่มักคิดว่า ท่านไม่เข็มแข็ง  ฟุ้งซ่านไปเอง  หรือเรียกร้องความสนใจ
ซึ่งความจริงแล้วอาการเหล่านี้เป็นภาวะการเจ็บป่วยทางใจอย่างหนึ่ง พวกเราที่เป็นลูกหลานต้องเข้าใจท่าน  ให้กำลังใจท่าน ปัจจุบันมีลูกบางคนทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพทำงานไม่ไหวไว้ตามลำพัง  ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาสงเคราะห์  หรือนำพ่อแม่ไปพักที่เนอร์สซิ่งโฮม ด้วยเหตุผลว่าต้องทำงานนอกบ้าน  ไม่มีคนดูแลพ่อแม่ที่บ้าน  เบื่อ รำคาญคนแก่  ชอบบ่น จู้จี้จุกจิก ฯลฯ
คิดว่าเจ้าหน้าที่ที่เนอร์สซิ่งโฮม  ดูแลพ่อแม่ ได้ดีกว่าตนเอง แต่สภาพจิตใจของผู้สูงอายุที่นั่น  ถึงแม้ว่าจะมีคนดูแลอย่างดีก็จริง  แต่ท่านก็ไม่มีความสุข ซึมเศร้าบางคนเรียกหาแต่ลูกคนโน้นที 
คนนี้ที บางรายพ่อแม่เป็นโรคอัลไซเมอร์  คิดว่าพ่อแม่จำลูกไม่ได้ เลยไม่ค่อยมาเยี่ยม จ่ายแต่เงินค่าดูแล เชื่อเถอะ...พ่อแม่ไม่อยากอยู่กับคนอื่นหรอก ไม่ว่าเขาจะดูแลท่านดีแค่ไหนก็ตาม....

๕. ประเด็นคำถาม  
         ๑. ให้นักเรียนเขียนแสดงความรู้สึกของตนเองที่มีต่อพ่อแม่
         ๒. นักเรียนมีวิธีแสดงความกตัญญูต่อพ่อ แม่ อย่างไรบ้าง
         ๓. ให้นักเรียนวิเคราะห์สภาพสังคมในปัจจุบันที่มีผลต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว

๖.กิจกรรมเสนอแนะ
         ๑. ให้นักเรียนทำหนังสือเล่มเล็ก เรื่องกิจกรรมในวันพ่อ หรือวันแม่
         ๒. ให้นักเรียนแต่งคำประพันธ์เกี่ยวกับพระคุณของพ่อ หรือแม่

๗. การบูรณาการกับสาระวิชาอื่น ๆ 
         ๑. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่องความกตัญญู
         ๒. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  เรื่องการเขียน
         ๓. กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่องการวาดภาพกิจกรรมในวันแม่

๘.อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล

ที่มา : https://www.samrong.biz/index.php/forum/33/3316----#3320
ที่มา : https://www.kr.ac.th/ebook/songsri/b2.htm
ที่มา : https://www.panyathai.or.th
ที่มา : https://www.stou.ac.th/stoukc/elder/main1_9.html

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3706

อัพเดทล่าสุด