อ่านตีความเป็นการอย่างวินิจ ใช้ปัญหาไตร่ตรอง วิเคราะห์เจตนาของผู้ส่งสาร มีความสำคัญในการวิเคราะห์สาร
อ่านสร้างศักดิ์ศรี ต้องอ่านตีความ
ประเด็นข่าว รวบหนุ่มส่งจม.ขู่ทำร้าย ลูกเคน รีด ๑แสน (ไอเอ็นเอ็น)
ตำรวจ รวบหนุ่มพิการ เขียนจดหมายขู่ทำร้ายลูกชาย เคน ธีรเดช
รีดเงิน ๑ แสนบาท ขณะฟิล์ม โก๊ะตี๋ รายต่อไป
พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผู้กำกับการ ๑ กองบังคับการปราบปราม (ผกก.๑ บก.ป.)
แถลงผลการจับกุมตัว นายสินทร ยอดเกวียน อายุ ๖๓ปี ชาว อ.เมือง จ.ลพบุรี
ผู้ต้องหาส่งจดหมายข่มขู่รีดทรัพย์ จำนวน ๑๐๐๐๐๐ บาท จากครอบครัว และ
เคน ธีรเดช วงศ์พัวพันธุ์ นักแสดงชื่อดัง โดยการจับกลุ่มดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจาก
มารดาของ เคน ธีรเดช ได้รับจดหมายจ่าหน้าซองถึงบุตรชาย
ภาพจาก : websociety.biz
โดยเนื้อความในจดหมายมีลักษณะข่มขู่ว่าจะทำร้ายลูกชายของ เคน ธีรเดช
หากไม่โอนเงินจำนวน ๑๐๐๐๐๐ บาท ให้ จึงไปแจ้งความไว้ที่ สน.บางชัน และ
กองบังคับการปราบปราม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสอบสวน จนพบว่าเป็นผู้ต้องหา
คนดังกล่าวและได้นำกำลังไปจับกุมตัวได้ที่บ้านเช่า อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
ที่มา : https://hilight.kapook.com/view/57897
อ่านข่าวนี้แล้วก็ขอยกนิ้วให้คุณตำรวจ ที่สร้างความปลอดภัยในชีวิตให้กับ
ดารา และประชาชนทั่วไป จะเห็นว่าเป้าหมายมีดาราอีกหลายคน เราทั้งหลาย
ก็ร่วมสบายใจ ที่อย่างน้อยสังคมก็ปลอดภัยขึ้นอีกระดับหนึ่ง
ในสังคมปัจจุบัน การอ่านจึงนับว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการอ่านตีความ
การอ่านตีความจะทำให้ทราบเจตนาของผู้ส่งสาร ทำให้เข้าใจเรื่องในแง่มุมต่างๆ
ช่วยให้ผู้อ่าน ได้ไตร่ตรองสารที่อ่าน เกิดปัญญา และเป็นองค์ประกอบสำคัญ คือทำให้
ผู้อ่านมีข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจ ในเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง และที่สำคัญ
สารที่เราตีความแล้ว จะอยู่ในความทรงจำของผู้อ่านตลอดไป ...ความรู้ไม่มีวันตาย
ประเด็นการศึกษา เรื่องการอ่านตีความ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๔
การอ่านตีความ (การวินิจสาร,พินิจสาร,วินิจฉัยสาร)
ภาพจาก : pic.mthai.com
ความหมายและความสำคัญของการอ่านตีความ
การอ่านตีความ เป็นการอ่านเพื่อหาความหมายที่ซ่อนเร้น หรือหาความหมาย
ที่แท้จริงของสาร โดยพิจารณาข้อความที่อ่านว่าผู้เขียนมีเจตนาให้ผู้อ่าน เกิดความคิด
หรือความรู้อะไรนอกเหนือไปจากการรู้เรื่อง
ภาพจาก : happyreading.in.th
ความสำคัญของการอ่านตีความ
๑. ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องที่อ่านได้หลายด้านหลายมุม
๒. ทำให้เห็นคุณค่าและได้รับประโยชน์จากสิ่งที่อ่าน
๓.ช่วยฝึกการคิดไตร่ตรองหาเหตุผล
๔. ทำให้มีวิจารณญาณในการอ่าน
ภาพจาก : thai-school.net
ประเภทของการอ่านตีความ แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. การอ่านออกเสียงอย่างตีความ (การอ่านตีบท)
เป็นการอ่านแบบทำเสียงให้สมบทบาท ใส่อารมณ์กับบทที่อ่านและความรู้สึกให้เหมาะสม
๒. การอ่านตีความเป็นการอ่านที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจงานเขียนทุกแง่
ทุกมุมเพื่อตีความเป็นพื้นฐานของการอ่านออกเสียงอย่างตีความ
ภาพจาก : ryt9.com
ความรู้เกี่ยวกับการอ่านตีความ
๑. เสียง (คำ) และความหมาย เสียงของคำที่แตกต่างกัน ย่อมสื่อความหมาย
ที่แตกต่างกัน ผู้อ่านต้องวิเคราะห์ว่าเสียงของคำที่ผู้เขียนใช้นั้น สัมพันธ์กับความหมายอย่างไร
๒. ภาพพจน์ ผู้อ่านต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องภาพพจน์ ซึ่งจะช่วยให้การอ่านตีความ
มีความกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น ภาพพจน์ อุปมา อุปลักษณ์ นามนัย อธิพจน์ บุคลาธิษฐาน เป็นต้น
๓. สัญลักษณ์ สัญลักษณ์ในทางวรรณกรรม หมายถึง สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมักจะเป็นรูปธรรม
ที่เป็นเครื่องแทนนามธรรม เช่น ดอกไม้แทนหญิงงาม พระเพลิงแทนความร้องแรง ฯลฯ
แบ่งเป็นลัญลักษณ์ตามแบบแผน และสัญลักษณ์ส่วนตัว
ภาพจาก : bkkonline.com
๔. พื้นหลังของเหตุการณ์ คือ ความเป็นไปในสมัยที่งานเขียนเรื่องนั้นได้แต่งขึ้น
รวมถึงลัทธิความเชื่อ สภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และความเป็นอยู่
ของยุคสมัยนั้น ๆ
๕. ความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่านตีความ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับประวัติผู้แต่ง
ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา ปรัชญา ศาสนา
๖. องค์ประกอบที่ทำให้การอ่านตีความแตกต่างกัน ได้แก่ ความสนใจ
ประสบการณ์ จินตนาการ เจตคติ ระดับสติปัญญา ความรู้และวัย
๗. เกณฑ์การพิจารณาการอ่านตีความ การตีความงานเขียน ความผิดถูก
ไม่ใช่เรื่องสำคัญ อยู่ที่มีความลึกซึ้งกว้างขวางและมีความสมเหตุสมผล
กลวิธีการอ่านตีความ (กระบวนการอ่านตีความ)
๑. การวิเคราะห์เพื่อการตีความ หมายถึง การพิจารณารูปแบบเนื้อหา
กลวิธีการแต่ง และการใช้ภาษาของงานเขียน
๒. พิจารณารายละเอียดของงานเขียน จะต้องพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ คือ
๒.๑ พิจารณาว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง เรื่องใดเป็นข้อคิดเห็น
ตลอดจนความรู้สึกและอารมณ์ของผู้เขียน ซึ่งอาจแสดงออก
โดยตรง หรือแสดงออกโดยผ่านพฤติกรรมของตัวละคร
๒.๒ วิเคราะห์และรวบรวมปฏิกิริยาของผู้อ่านที่มีต่องานเขียน
เป็นการที่ผู้อ่านวิเคราะห์ตัวเอง
๒.๓ การพิจารณาความคิดแทรก หมายถึง การพิจารณา
ข้อความรู้ความคิดที่ผู้เขียนมีไว้ในใจ แต่ไม่ได้เขียนไว้
ในงานเขียนนั้นตรง ๆ
ภาพจาก : www4.eduzones.com
๓. การตีความงานเขียน นำข้อมูลต่าง ๆ ประมวลเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้เกิด
ความเข้าใจแล้วตีความงานเขียน ว่าผู้เขียนส่งสารอะไรมาให้แก่ผู้อ่าน
๔. การแสดงความคิดเสริม เป็นการที่ผู้อ่านแสดงความคิดของผู้อ่านเอง
โดยที่กระบวนการอ่านตีความนั้นมีส่วนยั่วยุให้คิด เป็นความรู้ ความคิดเห็น ความรู้สึก
หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นใหม่
ภาพจาก : hq.prd.go.th
ความคิดสร้างสรรค์แบ่งปันหลังเรียน
๑. ให้ร่วมอภิปราย "ในชีวิตประจำวัน นอกจากต้องตีความเรื่องที่อ่านแล้ว
เราต้องตีความสิ่งใดบ้าง สิ่งนั้นสำคัญต่อการใช้ชีวิตอย่างไร (เน้นความคิดเห็นที่
หลากหลาย จากเรื่องใกล้ตัว)
กิจกรรมเสนอแนะ
๑. ให้วิธีอ่านบทเพลงและตีความเจตนาของบทเพลง
สรรถนะที่ต้องการเน้น
๑. มีความสามารถในการคิด
๒. มีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต
กิจกรรมบูรณาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องความคิดเชิงเหตุผล
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้ ภาษาไทย ชั้นม.๔
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล คู่มือการสอนภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3626