นิทานพื้นบ้าน..ตำนานการสอนภาษาไทย


699 ผู้ชม


นิทานพื้นบ้านนับเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษของแต่ละท้องถิ่น   

ทำไมช้างจึงตาเล็ก..และเสือมีลาย

            นิทานพื้นบ้าน..ตำนานการสอนภาษาไทยนิทานพื้นบ้าน..ตำนานการสอนภาษาไทย

                                 ที่มา : https://www.everykid.com/nitan/eleandtiger.html

                   ยังมีเสือหนุ่มตัวหนึ่งดุร้ายมาก วันหนึ่งมันออกไปหากินตามปรกติ ขณะที่มันสอดส่ายสายตาหาเหยื่ออยู่นั้น มันก็แลเห็นช้างตัวหนึ่งกำลังยืนอยู่ใต้ต้นไม้ มันจึงวางแผนที่จะจับช้างให้ได้ แล้วเสือก็เดินตรงไปหาช้างทันที
ฝ่ายช้างเมื่อเห็นเสือเดินตรงมาหามันเช่นนั้น ครั้นจะวิ่งหนีไปก็ไม่ทัน จึงทำใจดีสู้เสือ แล้วพูดกับเสือไปว่า

"สวัสดี เจ้าเสือผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าจะไปไหนหรือ"
"ข้าก็จะมาจับเจ้าไปเป็นอาหารนะสิ" เสือตอบ
"ช้าก่อนเจ้าเสือร้าย เจ้าคงไม่รู้หรอกว่าตอนนี้ข้าไม่ได้เป็นอิสระแล้ว ข้าเป็นเชลยเขาอยู่" ช้างพูด
"พุทโธ่เอ๋ย อย่ามาหลอกข้าเสียให้ยากเลย เจ้าตัวใหญ่ออกอย่างนี้
ใครจะกล้ามาจับเจ้าเป็นเชลยได้ นอกจากข้าเจ้าป่าผู้ยิ่งใหญ่"
"นี่ไงเจ้าเห็นมั้ย ขาของข้าถูกล่ามโซ่อยู่กับต้นไม้นี้ ก็เพราะข้าตกเป็นเชลยของมนุษย์"
ช้างพูดพร้อมยกขาที่ถูกล่ามโซ่ให้เสือดู
"อะไรกันมนุษย์ตัวเล็กนิดเดียว ยังจับเจ้าล่ามโซ่ได้หรือ" เสือถามอย่างสงสัย
"ก็ใช่นะซิ มนุษย์ตัวเล็กๆนี่แหละ ถึงจะไม่มีเขี้ยวเล็บ ไม่มีเขาหรืองา แต่มนุษย์นั้นมี "ปัญญา" ช้างตอบยืนยัน
เสือพอได้ยินช้างพูดถึงคำว่า "ปัญญา" ก็สนใจ จึงถามช้างขึ้นว่า
"อ้ายตัวปัญญาของมนุษย์มันวิเศษแค่ไหนเชียว ถ้าข้าเจอละก็จะจับกินเสียให้เข็ด"
"ปัญญาของมนุษย์ก็อยู่ที่ตัวมนุษย์ซิเจ้าเสือเอ๋ย ถ้าเจ้าอยากเห็นจริงๆ ละก็ รีบแก้โซ่ที่ผูกขาข้าออกซิ แล้วข้าจะพาเจ้าไปดู"
"ได้เลย" เสือพูดแล้วตรงเข้าไปแก้โซ่ที่ผูกขาช้างออก แล้วช้างก็เดินนำหน้าเสือ มุ่งสู่บ้านมนุษย์ทันที
เมื่อถึงบ้านมนุษย์แล้ว ช้างก็ตะโกนเรียกมนุษย์ให้ออกมาพบข้างนอก ฝ่ายมนุษย์ไม่รู้ว่าใครมาเรียก ก็ออกมาจากบ้านโดยที่ไม่ได้ระวังตัว    ทันใดนั้น เสือซึ่งรอจังหวะอยู่แล้ว จึงตะครุบตัวมนุษย์ไว้ในกรงเล็บอย่างง่ายดาย มันหัวเราะเยาะด้วยเสียงอันดัง ที่สามารถเอาชนะมนุษย์ผู้พิชิตช้างได้ เสือจึงหันไปพูดกับช้างว่า

"เจ้าช้าง ไหนเจ้าว่ามนุษย์มีปัญญาเก่งกล้า ยังไม่ทันได้ต่อสู้เลย ข้าก็จับมันได้แล้ว
และข้าจะกินมันเสียเดี๋ยวนี้แหละ"

มนุษย์เมื่อได้ยินเสือพูดอวดตัวเช่นนั้น ก็ใช้ปัญญาของตนต่อสู้กับเสือทันที โดยพูดกับเสือว่า
"ช้าก่อนเจ้าเสือ ถ้าเจ้ากินข้าตอนนี้ เจ้าก็จะไม่มีโอกาศเห็นตัวปัญญาของข้าเลย"

เสือได้ยินดังนั้นก็หยุดชะงัก แล้วถามมนุษย์ไปว่า
"ไหนละตัวปัญญาของเจ้า ก่อนตายเอาออกมาอวดข้าหน่อยเป็นไง"
"ได้ซิ ถ้าเจ้าอยากดู แต่ตัวปัญญาของข้าอยู่ในบ้าน ถ้าอยากเห็น เจ้าต้องปล่อยข้าไป
ข้าจะได้ไปจูงมันออกมาให้เจ้าดู"

ฝ่ายเสืออยากเห็นตัวปัญญาเป็นหนักหนา จึงหลงกลปล่อยมนุษย์ไป
มนุษย์เมื่อถูกปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว ก็วางแผนจัดการกับเสือ โดยพูดขู่เสือไปว่า
"ระวังนะเจ้าเสือ ตัวปัญญาของข้ามันตกใจง่าย ถ้ามันเห็นเจ้าเข้า มันจะวิ่งหนีเข้าบ้าน
แล้วจะไม่ยอมออกมาอีกเป็นเด็ดขาด"
"แล้วเจ้าจะให้ข้าทำอย่างไร" เสือถาม
"ไม่ยาก เจ้ามาให้ข้าจับมัดไว้กับต้นไม้เสียก็สิ้นเรื่อง" มนุษย์เสนอความคิด
"ตกลง" เสือตอบ

มนุษย์ก็จัดการมัดเสือไว้กับต้นไม้ แล้วก็เดินเข้าบ้านไป และออกมาพร้อมกับหวายในมือ
เสือเห็นมนุษย์ถือหวายออกมาก็แปลกใจ จึงถามว่า
"ไหนละตัวปัญญาของเจ้า ไม่เห็นจูงออกมาให้ข้าดู"
มนุษย์ชูหวายขึ้นแล้วพูดว่า "นี่ไงละตัวปัญญาของข้า"
"อ้ายนั่นมันหวาย จะเป็นตัวปัญญาได้อย่างไร" เสือแย้ง
"นี่แหละตัวปัญญาของข้าอ้ายเสือหน้าโง่ เจ้ามันอวดเก่งนัก ข้าจะสั่งสอนให้รู้สำนึกเสียบ้าง"

พอมนุษย์พูดขาดคำ ก็หวดเสือด้วยหวายอย่างมันมือ จนนับครั้งไม่ถ้วน

ฝ่ายช้างที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ได้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด ก็หัวเราะด้วยความชอบใจ
เพราะด้วยปัญญาของมนุษย์ มนุษย์ไม่เพียงรอดชีวิต มันเองก็รอดชีวิตด้วย ช้างหัวเราะใหญ่
หัวเราะเสียจนน้ำตาไหลพรากอาบแก้ม ดวงตาของช้างเลยเล็กลง เล็กลง เหลือเท่าที่เห็นจนทุกวันนี้
ซึ่งไม่สมกับตัวของมันเลย ก็เพราะหัวเราะมากนั่นเอง

ฝ่ายเสือเมื่อถูกโบยด้วยหวาย ก็เจ็บปวดแสนสาหัส ดิ้นทุรนทุรายไปมาจนเชือกขาด
มันจึงวิ่งหนีอย่างสุดชีวิต จนถึงบัดนี้เสือก็ยังไม่รู้ว่า ปัญญาของมนุษย์คืออะไร
เสือเดินโซซัดโซเซ ไปขอความช่วยจากสัตว์ในป่าให้ช่วยรักษารอยแผลจากการถูกโบยด้วยหวาย
แต่ไม่มีสัตว์ใดช่วยเหลือ มีแต่สมน้ำหน้า เพราะเสือได้รังแกสัตว์อื่นไว้มากนั่นเอง ตัวของเสือจึงมีแผลเป็น
และกลายเป็นลายให้เห็น มาจนทุกวันนี้ 

" อย่าทะนงหลงว่าเราเองเก่งกว่าคนอื่น   เพราะอาจมีคนเก่งกว่าเราก็ได้
และเมื่อนั้นเรานั่นแหละจะอับอายขายหน้าคนอื่นๆเขา จนมองหน้าใครไม่ได้"

ประเด็นการศึกษา  :   ซึบซาบตำนานนิทานพื้นบ้าน
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖

๑. มาตรฐานการเรียนรู้
สาระที่ ๔ หลักการใช้ภาษา
มาตรฐาน ท ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษา
และพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษาและรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ 
 มาตรฐาน ท ๔.๑.๖ สามารถเล่านิทานพื้นบ้าน และตำนานพื้นบ้านในท้องถิ่น
อย่างเห็นคุณค่า
๒.  สาระสำคัญ
 การเรียนรู้ด้วยการอ่านนิทานนั้นจะได้รับความรู้เกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรม ศาสนา ได้รับความบันเทิงและแนวทางในการปฏิบัติตน
๓.  ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
     ๑.  สามารถเล่านิทานพื้นบ้านในท้องถิ่นได้
     ๒.  เห็นคุณค่าของตำนานพื้นบ้านและท้องถิ่น 
๔.  จุดประสงค์การเรียนรู้
     ๑.  นักเรียนอ่านนิทานพื้นบ้านและบอกคุณค่าของนิทานพื้นบ้านได้
    ๒.  นักเรียนเขียนสรุปเรื่องและวาดภาพประกอบได้
    ๓.  นักเรียนมีความสนุกสนานเพลิดเพลินในการเรียน
๕.   เนื้อหาสาระ
- การเลือกเล่านิทานพื้นบ้านในท้องถิ่น
- การเขียนสรุปเรื่อง
๖.   กิจกรรมการเรียนรู้
     ขั้นเร้าความสนใจ  ( Engagement )
      ๑.  นักเรียนฟังเพลงเอื้องผึ้ง จันผา จาก MP ๓ พร้อมกับดูแผนภูมิเพลงประกอบ  (ภาคผนวก )
     ๒.  ครูกระตุ้นความสนใจด้วยการถามนำเกี่ยวกับเนื้อเพลงพื้นบ้านที่ได้ฟัง
- เนื้อเพลงพูดถึงเรื่องอะไร
- เพลงที่ได้ฟังเป็นตำนาน พื้นบ้านใช่หรือไม่
- นักเรียนเคยฟังเพลงหรืออ่านตำนานนิทานพื้นบ้านบ่อยไหม
- ใครเคยฟัง ปู่ ย่า ตา ยาย เล่าตำนานนิทานพื้นบ้านบ้าง
     ขั้นก้าวไกลสำรวจ   ( Exploration ) 
     ๓.  นักเรียนดูภาพนิทานพื้นบ้านแล้วสนทนาอภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพ 
ครูให้ความรู้เพิ่มเติม
 - นิทานพื้นบ้านนับเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษของแต่ละท้องถิ่นแต่งเอาไว้และสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน จนนิทานพื้นบ้านหลายเรื่องไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่ง ทั้งนี้เพราะเล่าต่อกันมาเรื่อย ๆ
 เราควรอนุรักษ์นิทานเหล่านี้ไว้ให้ดี เพื่อเป็นการบูชาและเห็นค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง
     ๔.  นักเรียนแบ่งกลุ่ม ๖ กลุ่ม ๆ ละ ๔ คน ไปศึกษาค้นคว้าหนังสือเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน
ในห้องสมุด
     ขั้นตรวจสอบอธิบาย  ( Explanation )
     ๕.  นักเรียนร่วมกันเลือกนิทานพื้นบ้านและผลัดกันอ่านจนครบทุกคนในกลุ่ม
     ขั้นขยายความรู้   ( Elaboration )
     ๖.  นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันย่อนิทานพื้นบ้านโดยจับประเด็น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ 
ผลเป็นอย่างไร
     ๗.  นักเรียนเขียนสรุปเนื้อเรื่องนิทานพื้นบ้านพร้อมวาดภาพประกอบในใบกิจกรรมที่ ๙ ซึมซาบตำนานนิทานพื้นบ้าน เป็นงานกลุ่ม 
     ขั้นรวบรวมสู่การประเมิน  ( Evaluation )
     ๘.  ตัวแทนกลุ่มนำเสนอผลงานจนครบทุกกลุ่ม  ครูคอยแก้ไขการใช้ภาษาที่ถูกต้อง
     ๙.  ครูและนักเรียนร่วมกันคัดเลือกผลงานตำนานนิทานพื้นบ้าน
     ๑๐.  นักเรียนรับใบกิจกรรมที่ ๙ ซึมซาบตำนานนิทานพื้นบ้าน ทำเป็นรายบุคคล 
เป็นการบ้าน
     ๑๑.  ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายหลักการเขียนสรุปนิทานพื้นบ้าน

๗.  สื่อการเรียนการสอน
      ๑.  แผนภูมิเพลงเอื้องผึ้ง จันผา
      ๒.  หนังสือนิทานพื้นบ้าน ( ห้องสมุด )
      ๓.  ใบกิจกรรมที่ ๙ ซึมซาบตำนานนิทานพื้นบ้าน
๘.  การวัดผล ประเมินผล
     ๘.๑   การวัดผล
               ๘.๑.๑ วัดด้านความรู้
               ๘.๑.๒ วัดด้านทักษะกระบวนการ
               ๘.๑.๓ วัดด้านเจตคติ
     ๘.๒   เครื่องมือการวัดผล
                ๘.๒.๑  แบบประเมินการวัดด้านความรู้
                ๘.๒.๒ แบบประเมินการวัดด้านกระบวนการ
                ๘.๒.๓ แบบประเมินการวัดด้านเจตคติ
     ๘.๓   เกณฑ์การประเมินผล
               นักเรียนทุกคนผ่านเกณฑ์ประเมินทุกด้าน ร้อยละ ๘๐            
๙.   กิจกรรมเสนอแนะ
การศึกษาค้นคว้าตำนานนิทานพื้นบ้านนอกจากจะค้นคว้าจากห้องสมุดแล้ว ควรฝึกให้นักเรียนค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ต เพื่อจะได้นิทานพื้นบ้านที่หลากหลายทุก ๆ ภาค แต่ต้องขึ้นอยู่กับเวลาที่ใช้ในการสอนด้วย
ที่มา :  นัทธมน  คำครุฑ  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
           เรื่อง  ซึมซาบตำนานนิทานพื้นบ้าน

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2877

อัพเดทล่าสุด