สุนทรภู่ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นกวีเอกของโลก 26 มิถุนายน เป็นวันสุนทรภู่
ที่มาของภาพ https://hilight.kapook.com/view/24209
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
(นิราศภูเขาทอง : สุนทรภู่)
กลอนวรรคทองจากนิราศภูเขาทองซึ่งสุนทรภู่แต่งขึ้นเมื่อครั้งเดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. 2371 เหตุที่ยกกลอนบทนี้มาเกริ่นนำเนื่องจากนิราศภูเขาทองเป็นนิราศที่ได้รับยกย่องว่าแต่งได้เยี่ยมที่สุด และกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการได้นำนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่มาเป็นสื่อสำหรับให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาถึงความงดงามของภาษาวรรณศิลป์ การแสดงถึงอารมณ์โศกที่สุนทรภู่รำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม หรือ “มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และวันที่ 26 มิถุนายนซึ่งเป็นวันเกิดของสุนทรภู่จึงกำหนดให้เป็น "วันสุนทรภู่"
สำหรับประวัติของสุนทรภู่นั้นมีผู้นำมาเขียนเผยแพร่มากมายตามเว็บไซต์ต่างๆและจะไม่ขอนำมากล่าว ณ ที่นี้ แต่จะขอวิเคราะห์ถึงผลงานของสุนทรภู่ที่ปรากฏดังนี้
ประเภทนิทาน จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่
เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องสิงหไกรภพ
ประเภทสุภาษิต จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่
- สวัสดิรักษา- คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
- สุภาษิตสอนหญิง - เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่
- เพลงยาวถวายโอวาท - คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
ประเภทบทละคร จำนวน 1 เรื่อง คือ เรื่องอภัยณุราช ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประเภทบทเสภา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่
เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)
เรื่องพระราชพงศาวดาร
ประเภทกลอนนิราศ จำนวน 9 เรื่อง เรียงตามปี พ.ศ.สรุปได้ดังนี้
- นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349 ) สมัยรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
- นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) สมัยรัชกาลที่ 1 แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
- นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) สมัยรัชกาลที่ 3 แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) สมัยรัชกาลที่ 3 แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) สมัยรัชกาลที่ 3 แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา
- นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา
- รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท
- นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและ ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนคร ชัยศรี
- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) แต่งเมื่อไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร
จะเห็นได้ว่าผลงานประเภทกลอนนิราศมีจำนวนมากที่สุดและกวีรุ่นหลังได้ยึดแบบอย่างการแต่งกลอนนิราศของสุนทรภู่เป็นแม่แบบในการแต่งนิราศ
นิราศ คือ บทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเพื่อบรรยายถึงสภาพการเดินทาง ด้วยสมัยก่อนการเดินทางค่อนข้าง ลำบากและใช้เวลานาน นักเดินทางจึงแก้ความเหงาเบื่อด้วยการประพันธ์บทกวี พรรณนาถึงการเดินทางและสภาพภูมิประเทศ โดยมากมักโยงเข้ากับความรัก
นิราศของสุนทรภู่ นอกจากจะพรรณนาการเดินทางแล้ว ท่านยังสอดแทรกคติธรรม ข้อ
เตือนใจต่างๆ และเปรียบเทียบถึงชีวิตของตัวท่านเองเข้าไว้ด้วย ทำให้นักศึกษางานของท่านสืบเสาะประวัติของท่านจาก งานนิพนธ์ของท่านเองได้มาก ท่านสุนทรภู่แต่งนิราศไว้มาก แต่เท่าที่พบในปัจจุบันมี ๘ เรื่อง คือ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศสุพรรณ นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร ส่วน รำพันพิลาป ก็มีเนื้อความรำพึงรำพันทำนองเดียวกับนิราศ เนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านสุนทรภู่เป็น ส่วนใหญ่ นอกเหนือจากนี้ ในช่วงเวลาที่ท่านบวชเป็นพระนั้น ท่านได้ธุดงค์ไปทั่ว จึงเชื่อว่ายังมีนิราศ เรื่องอื่นของท่านที่ยังมิได้ค้นพบ หรืออาจไม่มีวันค้นพบก็ได้ เพราะต้นฉบับอาจถูกทำลายไปเสียแล้วเมื่อ ครั้งปลวกขึ้นกุฏิของท่านที่วัดเทพธิดาราม
ทำไมสุนทรภู่จึงแต่งนิราศไว้มากตามที่ปรากฏมีจำนวนถึง 9 เรื่อง ถ้าวิเคราะห์ตามปี พ.ศ.จะพบว่าสุนทรภู่แต่งนิราศเรื่องแรกคือเรื่องนิราศเมืองแกลงเมื่อปี พ.ศ. 2349 และเรื่องที่สองคือนิราศพระบาท ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 นั้นเป็นช่วงวัยหนุ่มของสุนทรภู่จึงต้องโทษเนื่องจากไปรักใคร่ชอบพอกับนางในชื่อจัน จึงต้องจำคุก
ชีวิตของสุนทรภู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นช่วงที่สุนทรภู่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมากที่สุดเพราะพระองค์ทรงโปรดกวีและสุนทรภู่ก็เป็นผู้หนึ่งที่ทรงโปรดปรานมาก ทั้งนี้เพราะสุนทรภู่เป็นปฏิภาณกวี แต่งกลอนถวายเป็นที่พอพระราชหฤทัยหลายครั้ง แต่สุนทรภู่นั้นตามประวัติเล่าว่าชอบเสพสุราแลต้องโทษหลายครั้ง ในเวลาที่สุนทรภู่ต้องโทษ ถ้าทรงติดขัดในบทพระราชนิพนธ์ใด ก็มักจะทรงให้เบิกตัวสุนทรภู่ออกมาแก้ไข และสุนทรภู่ก็มีปฏิภาณ ทำให้เอาตัวรอด ได้รับพระราชทานอภัยโทษ อยู่เสมอ ดังที่ ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี ทรงรวบรวมเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้าฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และสุนทรภู่ ได้ร่วมเล่นสักวากลอนสดที่ลงท้ายด้วยคำตาย ซึ่งหาคำมารับสัมผัสยาก ปรากฏว่าต่างก็สามารถต่อกลอนสักวากันได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ : สักวาระเด่นมนตรี จรลีเลยลงสรงในสระ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ : เอาพระหัตถ์ขัดพระองค์ทรงชำระ
สุนทรภู่ : แล้วเรียกพระอนุชามากระซิบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ : นั่นกอบัวมีดอกเพิ่งออกฝัก
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ : จงไปหักเอาแต่ฝักบัวดิบ
สุนทรภู่ : โน่นอีกกอแลไปไกลลิบลิบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ : ให้ข้างใน ไปหยิบเอา
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ชีวิตราชการของสุนทรภู่ไม่เจริญก้าวหน้าจึงลาออกจากราชการและออกบวชเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ จึงทำให้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศได้อีกหลายเรื่องดังปรากฏได้แก่ นิราศภูเขาทอง นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศสุพรรณ นิราศพระประธม รำพันพิลาป และนิราศเมืองเพชร ซึ่งน่าจะสันนิษฐานได้ว่าสุนทรภู่มีความน้อยเนื้อต่ำใจในบุญวาสนาที่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณสูงสุดแต่ชีวิตกลับผกผันเมื่อสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ดังปรากฏในนิราศภูเขาทองหลายตอนว่า
ที่มาของภาพ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87
สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ
ต้องเที่ยวเตร็ดเตรีหาที่อาศัย ......... และ
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ
เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา
และตอนหนึ่งจากรำพันพิลาปว่า
" แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ
บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
เหมือนลอยล่องท้องทะเลอยู่เอกา
เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล
จากตัวอย่างกลอนนิราศที่ยกมาจะเห็นว่าสุนทรภู่มีความทุกข์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตจึงน่าจะเป็นไปได้ว่าความทุกข์เป็นสาเหตุที่ทำให้สุนทรภู่แต่งนิราศ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย
คำถามเพื่อการอภิปราย
อะไรน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้สุนทรภู่แต่งกลอนนิราศได้มากกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น
จงอภิปราย
บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ
กิจกรรมเสนอแนะ
1. จัดกิจกรรมวันสุนทรภู่ ประกวดแต่งกลอน วาดภาพ อ่านทำนองเสนาะบทกลอน
ของสุนทรภู่
2. ประกวดนางในวรรณคดี
3. ศึกษาประวัติชีวิตและผลงานของสุนทรภู่ จากหนังสือ และเว็บไซต์ในแหล่งอ้างอิงและเขียนสรุปเป็นองค์ความรู้
อ้างอิงแหล่งที่มา
https://hilight.kapook.com/view/24209
https://www.chiangraifocus.com/knowledge.php?id=70
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87
ที่มา ; https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2769