ทำไมต้องรดน้ำแล้วดำหัว


939 ผู้ชม


ลักษณะการสร้างคำของไทย "รดน้ำดำหัว"เป็นคำซ้อน   

                                               ประเพณีรดน้ำดำหัว 
                     ทำไมต้องรดน้ำแล้วดำหัว
                                  ภาพจาก : https://www.oknation.net/blog

         คำว่ารดน้ำดำหัวเป็นคำพูดของชาวเหนือที่จะไปรดน้ำขอขมา(ขอโทษ) ผู้ใหญ่และขอพร
จากผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ ซึ่งจะมีการอาบน้ำจริง ๆ คืออาบทั้งตัวและดำหัวคือสระผมด้วย
สื่งที่ใช้สระผมก็จะเป็นน้ำส้มป่อยหรือน้ำมะกรูด

        การดำหัว ในความหมายทั่วไปของชาวล้านนาไทยนั้นหมายถึงการ "สระผม" 
แต่ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุก ๆ ปี หมายถึง การชำระสะสาง
สิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้วิปลาสปราดไป ด้วยการใช้น้ำส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ

       จึงใช้คำว่า ดำหัว มาต่อท้ายคำว่า รดน้ำ ซึ่งมีความหมายคล้ายกัน 
กลายเป็นคำซ้อน คำว่า "รดน้ำดำหัว"

          ประเพณีรดน้ำดำหัวถือว่าเป็นประเพณีที่ดีงามอีกประเพณีหนึ่ง ที่ประชาชนชาวไทย
ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลา ที่ยาวนาน ซึ่งการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ 
หรือญาติผู้ใหญ่ บุคคลผู้ที่ตนให้ความเคารพนับถือ การรดน้ำดำหัวนั้นจะเป็นการ
ขอโทษขออภัย ซึ่งกันและกัน ที่เคยล่วงเกินกันในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการล่วงเกิน
ทางกาย ล่วงเกินทางวาจาหรือว่าการล่วงเกินทางใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ 
ต่อหน้าหรือว่าลับหลังก็ตาม ประเพณีรดนำดำหัว หรือบางครั้งก็เรียกว่า 
ประเพณีปีใหม่เมืองจะมี ในระหว่าง วันที่ 13 – 15 เดือนเมษายนของทุกปี หรือ
วันสงกรานต์นั่นเอง

           ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะกระทำกันในวันสุดท้ายของเทศการสงกรานต์ 
เพียงวันเดียวหรือวันเถลิงศกนั่นเอง แต่การรดน้ำดำหัวพระสงฆ์นั้นจะ มีลักษณะคล้ายๆ กัน
 แต่พิธีการรดน้ำดำหัวพระสงฆ์จะมีพิธีการมากกว่า คือก่อนที่จะรดน้ำพระสงค์จะต้องรดน้ำ
พระพุทธรูปก่อน แล้วจึงค่อยรดน้ำดำหัวพระภิกษุสงฆ์ จากนั้น ก็รับพรจากพระภิกษุสงค์ 
พอเสร็จพิธีก็จะมีการเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน และการรดน้ำดำหัวพระภิกษุนั้นจะทำทุกวัน
ตั้งแต่วันแรกของการเริ่มประ เพณีสงกรานต์ จนถึงวันสุดท้ายของสงกรานต์

                          ที่มา : https://www.kroobannok.com/blog/7929

ประเด็นการศึกษา  คำว่ารดน้ำดำหัว  เป็นคำซ้อน

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4


          คำซ้อน    คือคำที่เกิดจากคำมูลตั้งแต่  2  คำขึ้นไปซึ่งมีความหมายเหมือนกันหรือไปใน
ทำนองเดียวกันหรือมีความหมายต่างกันในลักษณะตรงข้าม มารวมกันทำให้เกิดคำใหม่ขึ้นมา
คำมูลที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นนาม  กริยา  หรือวิเศษณ์ก็ได้  คำมูลเหล่านี้ต้องประกอบกับ
คำชนิดเดียวกัน คือเป็นคำนามด้วยกัน หรือกริยาด้วยกัน และทำหน้าที่ได้ต่างๆ เช่นเดียวกับ

ชนิดของคำมูลที่นำมาซ้อนกันเช่น
      นามกับนาม  เช่น เนื้อตัว  เรือแพ  ลูกหลาน  เสื่อสาด  หูตา   
กริยากับกริยา เช่น ทดแทน ชมเชย เรียกร้อง ว่ากล่าว สั่งสอน
วิเศษณ์กับวิเศษณ์ เช่น เข้มงวด แข็งแกร่ง ฉับพลัน  ซีดเซียว  เด็ดขาด
คำมูลที่นำมาซ้อนกันอาจเป็นคำมาจากภาษาใดก็ได้  อาจเป็นคำไทยกับคำไทย  
คำไทยกับคำที่มาจากภาษาอื่น หรือเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นทั้งหมด เช่น
คำไทยกับคำไทย   เช่น  ผักปลา  เลียบเคียง  อ่อนนุ่ม   อ้อนวอน
คำไทยกับคำเขมร  เช่น  แบบฉบับ  พงไพร  หัวสมอง  แจ่มจรัส
คำไทยกับคำบาลีสันสกฤต เช่น  เขตแดน โชคลาง  พรรคพวก ศรีสง่า หมู่คณะ
คำเขมรกับคำเขมร เช่น ขจัดขจาย  เฉลิมฉลอง
คำบาลีสันสกฤตกับคำบาลีสันสกฤต เช่น  สรงสนาน  ตรัสประภาษ  เสบียงอาหาร
คำมูลที่นำมาซ้อนกัน  ส่วนมากเป็นคำมูล  2  คำ  ถ้ามากกว่านั้นมักเป็นคำมูล  4  คำ 
หรือ  6  คำ
คำมูล  2  คำ  เช่น ข้าวปลา  นิ่มนวล  ปากคอ  ฟ้าฝน  หน้าตา
คำมูล  4 คำ  อาจมีสัมผัสกลางหรือซ้ำเสียง เช่น ได้หน้าลืมหลัง   กู้หนี้ยืมสิน  
ยากดีมีจนมากหมอมากความ ไปวัดไปวา  ต้อนรับขับสู้
คำมูล  6  คำ  มักมีสัมผัสระหว่างกลาง เช่น  คดในข้องดในกระดูก  จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหน

กิจกรรมช่วยคิด
๑. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน  แต่ละกลุ่มเลือกฟังเพลงลูกทุ่งกลุ่มละ 1 เพลง
แล้วให้สมาชิกในกลุ่มรวบรวมคำซ้อนที่ปรากฎในเนื้อเพลง  แล้วนำเสนอหน้าห้อง

กิจกรรมเสนอแนะ
    ให้แต่ละกลุ่มนำความหมายของคำซ้อนมาแต่งเป็นเพลง กลุ่มละ 1 เพลง 
นำเสนอหน้าห้อง  เพื่อให้จดจำได้

กิจกรรมบูรณาการ
    กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เรื่องคำที่มีความหมายคล้ายกัน

          ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๑๑๐๑
          ที่มา : เพลินพิศ   สุพพัตกุล คู่มือการสอนวิชาภาษาไทย  ท๓๑๑๐๑

                     ขอบคุณ : https://www.thaigoodview.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2097

อัพเดทล่าสุด