ถ้าคุณฟังไม่ได้ศัพท์ คุณจะจับไปกระเดียด ?


960 ผู้ชม


อะไรที่คุณรู้ อะไรที่คุณได้ยิน อาจจะไม่เป็นจริงเสมอ ถ้าคุณกระเดียด คุณจะพบกับ...???   

ฟังไม่ได้ศัพท์ จับไปกระเดียด ? 

ถ้าคุณฟังไม่ได้ศัพท์ คุณจะจับไปกระเดียด ?

       ภาพจาก : ข่าวการเมือง

          จากข่าวกล่าวตอบโต้กรณี นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย วิพากษ์วิจารณ์การลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยว่าเป็นการท้าทายอำนาจของคมช. ว่า การให้สัมภาษณ์ของนายบรรหาร เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หากดูข้อมูลที่นายจาตุรนต์แถลงรายละเอียด จะเห็นว่าไม่ใช่การท้าทายอำนาจ คมช.ทำทุกอย่างถูกต้องเปิดเผยและยังช่วยพูดสร้างความสมานฉันท์ด้วยซ้ำแม้แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในฐานะประธานคมช.ยังยอมรับคำชี้แจงของนายจาตุรนต์ว่าไม่ใช่การท้าทาย นายบรรหารกลับ ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด  แล้วมาปรักปรำนายจาตุรนต์ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี  ( ที่มา : ข่าวการเมือง )
 
          จากประเด็นข่าวดังกล่าว  ผู้อ่านอาจจะเกิดความสงสัยจึงอธิบายความหมายของ สำนวน  คำพังเพย และสุภาษิต  และอธิบายสำนวนที่ว่า "ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด"มีความหมายว่าอย่างไร         ผู้เขียนจึงขออธิบายความหมายให้
เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น             

          สำนวน  หมายถึง  ถ้อยคำที่มีความหมายไม่ตรงตามตัวอักษร เช่น จูงจมูก
          คำพังเพย  หมายถึง  คำที่กล่าวไว้กลาง ๆเพื่อให้ตีความไปในทางใดทางหนึ่ง  อาจไปในทางดีหรือทางร้าย  เช่น  น้ำขึ้นให้รีบตัก  หมายถึง มีโอกาสดีให้รีบทำ  อาจตีความทั้งทางดีและทางร้าย
          สุภาษิต  หมายถึง ถ้อยคำที่เป็นคติ  ซึ่งรับรองว่าเป็นเรื่องที่ดีงาม  มีจุดมุ่งหมายเพื่อสั่งสอน  เตือนใจ  ให้ปฏิบัติตาม  เช่น ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน“ คนไทยมักจะใช้ทั้งสามคำนี้รวม ๆ กันไป”

         ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด   ความหมาย  (สํา) ก.ฟังไม่ได้ความแจ่มชัด แล้วเอาไปพูดต่อหรือทําผิด ๆ   พลาด ๆ

          ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด  หมายถึง   ฟังเรื่องราวไม่ชัดเจน  แล้วนำไปพูดหรือทำอย่างผิดพลาด   คำว่า กระเดียด  คือ  เป็นกิริยาใช้สะโพกข้างหนึ่งแบกน้ำหนักของไป ด้วยการเอาของที่จะแบกวางบนสะโพกข้างหนึ่ง แล้วใช้มือข้างนั้นประคองของไว้   แต่ในในสำนวนนี้  หมายถึง  นำไปพูดต่อ  ตัวอย่าง “ข้อเสียของคนไทยสิ่งใดที่เป็นของเก่าจะทิ้งเสียให้หมด  แต่ของใหม่ก็ไม่มีมาแทน  ได้ยินฝรั่งเขาพูดอะไร  ได้ยินแว่วๆ ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด เขาพูดก็พูดไปบ้างอย่างนั้นเอง" 

          สรุปได้ว่า  สำนวน "ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด" หมายถึง  ฟังเรื่องราวที่ไม่ได้สาระสำคัญแจ่มชัด   เก็บเรื่องราวที่ไม่ชัดเจน  แล้วเก็บเอาสาระไปพูดต่อ
หรือนำไปขยายผลที่ผิดพลาด 

          จะเห็นได้ว่า  การฟังมีความสำคัญในชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง   ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายและเทคนิคการฟังจับใจความสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าคุณฟังไม่ได้ศัพท์ คุณจะจับไปกระเดียด ?
ภาพจาก https://www.tpa.or.th

          การฟังอย่างมีวิจารณญาณ  หมายถึง กระบวนการรับสารที่เป็นคำพูดโดยใช้ประสาทสัมผัสทางหู   แล้วนำสารมาคิดวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล 

         เทคนิคการฟังจับใจความสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ 
         ๑. ผู้ฟังต้องฟังความตั้งใจ  มีสมาธิ  และตระหนักเสมอว่าเรื่องที่ฟังมีประโยชน์
         ๒. ผู้ฟังต้องตัดสิ่งรบกวนทางจิตใจออกไป  ปล่อยจิตใจให้ว่าง  และยินดีที่จะรับฟังสิ่งใหม่ ๆ
         ๓. ผู้ฟังต้องไม่มีอคติต่อเรื่องที่ฟัง  หรือไม่มีอคติต่อผู้พูด
         ๔. ผู้ฟังต้องมีความรู้เกี่ยวกับคำและการใช้ภาษา   เพราะคำบางคำต้องอาศัยการตีความตามบริบทของเรื่อง 
         ๕. ผู้ฟังเก็บสาระสำคัญให้ครบถ้วน  ว่าใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไหร่  อย่างไร   และจุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่องเป็นอย่างไร   
         ๖. ผู้ฟังนำสาระสำคัญจากการฟังมาวิเคราะห์   ไตร่ตรอง  และเปรียบเทียบสาระสำคัญอย่างสมเหตุสมผล
(ไร้อคติ)

ความสอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ ช่วงชั้นที่ ๓ - ๔ 
        มาตรฐาน ท ๒.๑ ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่าง ๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงาน
การศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ 
        มาตรฐาน ท ๓.๑  สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ และพูดแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึกในโอกาสต่าง ๆ อย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์
        มาตรฐาน ท ๔.๑ เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็น
สมบัติของชาติ

ประเด็นคำถามสู่การอภิปรายในชั้นเรียน
๑. ความหมายของสำนวนฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด
๒. ความหมายของการฟังอย่างมีวิจารณญาณ
๓. เทคนิคการฟังจับใจความสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ
๔. ฟังอย่างไรให้ได้ใจความสำคัญครบถ้วน
๕. ปัญหาการสื่อสารและจรรยาบรรณของนักการเมืองไทย

กิจกรรมพัฒนาทักษะ
๑. การระดมพลังสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ตีความความหมายของสำนวน  ความหมายของการฟัง   และเทคนิคการฟังจับใจความสำคัญอย่างมี
ประสิทธิภาพ 
๒. การระดมพลังสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นวิเคราะห์ประเด็น"ปัญหาการสื่อสารและจรรยาบรรณของนักการเมืองไทย"
๓. การระดมความคิด "ฟังอย่างไรให้ได้ใจความสำคัญครบถ้วน"
๔. สรุปประเด็นเป็นแผนผังความคิด 
๕. นำเสนอกิจกรรมในลักษณะการอภิปรายกลุ่ม  หรือการพูดแสดงความคิดเห็น

การบูรณาการกับมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้
มาตรฐาน ส  ๒.๒  เข้าใจระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบัน ยึดมั่น ศรัทธาและธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหา
กษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แหล่งที่มาข้อมูลอ้างอิง
๑.https://tnews.teenee.com

๒..https://www.thaigoodview.com
๓.https://www.tpa.or.th
.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=227

อัพเดทล่าสุด