ปรนัย อัตนัย เด็กไทยเขียนไม่ถูก คิดไม่เป็น


736 ผู้ชม


เด็กไทยอาการหนัก! มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการใช้ข้อสอบปรนัยในการวัดและประเมินผลเด็กมากขึ้น   

        เด็กไทยอาการหนัก!มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้เพียบ จากการประเมินคุณภาพมาตรฐานสถานศึกษาภายนอกของสมศ.ในรอบสอง (พ.ศ.2549-2551) มีข้อสังเกตจากผู้ประเมินจำนวนมากว่านักเรียนในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษามีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้  โดยพบว่าโรงเรียนหลายแห่งนักเรียนมีการเขียนคำภาษาไทยผิด การเรียงรูปประโยคไม่ถูกต้อง ทำให้ข้อความที่เขียนไม่สามารถสื่อความหมายได้ซึ่งอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาจึงทำข้อสอบอัตนัยไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการใช้ข้อสอบปรนัยในการวัดและประเมินผลเด็กมากขึ้น ทำให้เด็กไม่ค่อยได้ใช้ภาษาไทยในการเขียนตอบข้อสอบซึ่งการตอบข้อสอบแบบอัตนัยจะทำให้เด็กได้มีการคิดวิเคราะห์ และต้องถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาเขียนเพื่อสื่อสารถึงสิ่งที่ตนเองรู้และเข้าใจให้ชัดเจน
ที่มา :https://www.kruthai.info/Posted : 2009-03-24 17:09:44 
 
        
อ่านข่าวนี้แล้วทำให้นึกถึงการสอนภาษาไทยของตนเองที่ผ่านมาซึ่งได้มองเห็นพฤติกรรมของเด็กไทยในปัจจุบันไม่ชอบคิด ไม่ชอบอ่าน ไม่ชอบเขียนบรรยายความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นข้อความยาวและที่สำคัญคือสรุปไม่ค่อยเป็นสาเหตุก็คงจะเป็นเพราะเราให้เด็กฝึกทักษะทางด้านนี้น้อย ดังนั้นในการประเมินผลนักเรียนครูภาษาไทยคงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างข้อสอบโดยเพิ่มข้อสอบแบบอัตนัยให้มากขึ้นเพื่อวัดความรู้ของเด็กอย่างแท้จริงทำให้เด็กเขียนถูก คิดเป็นไม่ใช่การเดาข้อสอบ และข้อสอบแบบอัตนัยที่ดีจะมีวิธีการสร้างอย่างไร ถ้าสงสัยลองมาศึกษากันเลยค่ะ
           

      ข้อสอบอัตนัยเป็นข้อสอบที่ให้ผู้เรียนเขียนตอบแบบบรรยาย เพื่อวัดผลว่าผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนไปแล้วอย่างไรบ้าง ข้อสอบอัตนัยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิด และทัศนคติได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ผู้เขียนต้องมีความสามารถในการรวบรวม เรียบเรียง และลำดับความคิดของตนให้เป็นระบบระเบียบ ทั้งยังต้องมีความสามารถในการเขียนถ่ายทอดความรู้ ความคิดเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง ชัดเจนด้วย

        แบบทดสอบแบบอัตนัยเป็นแบบทดสอบที่ให้ผู้ตอบได้แสดงความคิดเห็น เหมาะสำหรับการวัดความรู้ขั้นสูงกว่าความจำและความเข้าใจ ข้อสอบแบบอัตนัยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบไม่จำกัดตอบ (extended response) และแบบจำกัดตอบ (restricted response) ซึ่งขึ้นอยู่กับการให้อิสระแก่นักเรียนในการตอบ จากการศึกษาพบว่าเด็กระดับประถมศึกษาเขียนตอบแบบกำหนดโครงสร้างให้ตอบได้ดี ส่วนนักเรียนในระดับสูงเขียนตอบแบบไม่กำหนดโครงสร้างให้ตอบได้ดี

1. แบบไม่จำกัดตอบ (extended response) ข้อสอบแบบอัตนัยแบบไม่จำกัดคำตอบนี้ให้อิสระเสรีแก่นักเรียนอย่างเต็มที่ ในการอภิปรายแสดงความคิดเห็นและรวบรวมข้อมูลเท็จจริงต่างๆ มาใช้ในการสอน โดยทั่วไปข้อสอบแบบนี้จะให้นักเรียนแสดงความสามารถ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการสังเคราะห์และการประเมินผล ข้อสอบนี้นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในการวัดขบวนการทางสมองที่สูงขึ้น ตามขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1  ระลึกถึงความรู้ที่เรียนไป 
ขั้นที่ 2  ประเมินค่าความรู้ที่จำได้ 
ขั้นที่ 3  รวบรวมความรู้และความคิดให้เป็นระบบ 
ขั้นที่ 4  แสดงความคิดเห็นออกมาอย่างมีเหตุผล 
ข้อเสียของข้อสอบประเภทนี้คือมีความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำ แต่มีข้อดีคือ นักเรียนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี 

2.  แบบจำกัดตอบ (restricted response)
 ข้อสอบแบบนี้มักจะกำหนดขอบเขตแบบฟอร์มและเนื้อที่เฉพาะให้นักเรียนไม่มีอิสระเสรีในการตอบมากนัก แบบทดสอบนี้ให้ตอบสั้นกว่าแบบแรก คำตอบอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ในวงจำกัด โดยทั่วไปแล้วจะกำหนดขอบข่ายและความยาวในการตอบไว้ด้วยตัวอย่างเช่น
-จงอธิบายความหมายของ...............
-จงยกตัวอย่าง...................
ส่วนดีของข้อสอบแบบนี้คือ ง่ายในการตรวจ มีความยุติธรรมและมีความเชื่อมั่นสูงกว่าข้อสอบประเภทไม่จำกัดคำตอบอีกด้วย
        จุดอ่อนของแบบทดสอบอัตนัยก็คือ การสร้างโดยขาดการวางแผนที่ดี การวางแผนการสร้างแบบทดสอบอัตนัยก็มีความสำคัญ เช่นเดียวกับการวางแผนสร้างแบบทดสอบปรนัยถึงแม้ว่าจะมีวิธีการสร้างและธรรมชาติต่างกันก็ตาม  สิ่งที่ผู้ออกข้อสอบจะต้องคำนึงถึงในการออกข้อสอบแบบอัตนัย ดังนี้
1.จุดมุ่งหมายของกลุ่มสาระนั้น ๆ  เหมาะสมกับแบบทดสอบอัตนัยหรือไม่
2.ผู้เข้าสอบมีพื้นฐานทั้งในด้านความเรียง และเนื้อหาวิชาเพียงพอที่จะเขียนตอบแบบอัตนัยหรือไม่ เช่น เด็กเล็กๆ ไม่ควรใช้ข้อสอบอัตนัยทดสอบอย่างเด็ดขาด
3.ข้อสอบนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ตอบมีอิสระในการตอบ เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นหลายแง่หลายมุมหรือไม่ หรือจำกัดวงคำตอบให้ตอบแค่แคบๆ เพียงด้านเดียว เช่น ถามแต่ความจำในเนื้อหาที่ครูสอนไปก็ไม่ควรใช้ข้อสอบอัตนัย
4.กำหนดเวลาที่ใช้ในการสอบมากเพียงพอหรือไม่ เพราะการสอบแบบอัตนัยนั้นต้องใช้เวลาในการเขียนตอบนานมากกว่าแบบทดสอบปรนัย
หลักในการสร้างแบบทดสอบอัตนัย
1.การสร้างข้อสอบควรคำนึงถึงลำดับความสำคัญของจุดมุ่งหมายที่วางไว้ตามที่ปรากฏในตารางการวิเคราะห์หลักสูตร จุดมุ่งหมายหรือพฤติกรรมใดมีน้ำหนักความสำคัญมากก็ออกข้อสอบเพื่อวัดพฤติกรรมนั้นมากให้ได้สัดส่วนตามตารางวิเคราะห์หลักสูตร เพราะแบบทดสอบแบบนี้ถามได้น้อยข้อ เนื่องจากต้องเสียเวลาตอบนาน
2.พิจารณาให้รอบคอบว่าจะสร้างแบบข้อสอบให้คลุมเนื้อหาอะไรบ้าง เช่น จะสอบเฉพาะเนื้อหาที่ครูบรรยายอย่างเดียว หรือจะครอบคลุมไปถึงส่วนที่นักเรียนร่วมอภิปราย ทำรายงานหรืออ่านนอกเวลาด้วย และควรแจ้งให้ผู้สอนทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมตัวศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง
3.ไม่ควรให้มีการเลือกตอบเป็นบางข้อ เพราะอาจมีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน อันเนื่องมาจากข้อสอบมีความยากง่ายไม่เท่ากัน คะแนนที่ได้จึงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวัดที่ไม่เท่ากัน
4.เขียนคำสั่งให้ชัดเจนว่าข้อสอบนั้นๆ ต้องการให้ผู้สอบทำอย่างไรมีเกณฑ์ในการพิจารณาให้คะแนนอย่างไร ควรให้
นักเรียนอ่านคำสั่งให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ ควรบอกให้ชัดเจนด้วยว่ามีการแบ่งส่วนคะแนนอย่างไร เพื่อผู้สอบจะได้วางแผนการตอบได้เหมาะสม 
     ตัวอย่าง  คำชี้แจงคำถามมีทั้งหมด 4 ข้อ ให้คะแนนข้อละ 20 คะแนน ผู้ตอบควรแบ่งเวลาในการตอบข้อสอบแต่ละข้อให้เท่ากัน เนื่องจากการเรียบเรียงข้อความในการตอบมีผลต่อการให้คะแนน 
     ดังนั้นก่อนการเขียนคำตอบแต่ละข้อ ท่านควรจะใช้เวลาเล็กน้อย สำหรับกำหนดหัวข้อ (Outline) ในการตอบแต่ละข้อไว้ก่อน เพื่อที่จะทำให้ได้คะแนนดีขึ้น
5.ถามปัญหาที่แสดงว่านักเรียนมีความรู้จริง ๆ สามารถตอบปัญหาได้โดยพยายามนำกฎเกณฑ์ หรือความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ ไม่ควรเป็นคำถามที่นักเรียนเคยพบหรือเคยทำมาก่อนเพราะจะกลายเป็นการวัดความจำไป
6.พยายามใช้คำถามหลาย ๆ แบบ มิใช่มีแต่คำถามประเภท ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร เท่านั้น เพราะคำถามประเภทนี้มีลักษณะไปทางวัดความจำมากกว่าวัดสมรรถภาพอื่น คำถามที่ใช้วัดสมรรถภาพที่สูงขึ้นควรจะเป็นคำถามประเภท ทำไม อย่างไร หรือให้บรรยาย อธิบายเปรียบเทียบ หาความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง ตีความ วิเคราะห์เหตุผล วิจารณ์ และประเมินผล เป็นต้น
7.เขียนคำถามให้ชัดเจนว่าต้องการให้ตอบอย่างไร พยายามเขียนตอบให้เฉพาะเจาะจงลงไป คำถามประเภทให้แสดงความคิดเห็น เป็นคำถามที่กว้างไป 
8.ใช้คำถามที่สามารถบอกได้ว่าคำตอบใดดีกว่าคำตอบใด คำถามนั้น ๆ เมื่อนักเรียนตอบแล้วคนที่มีความรู้ทั้งหลายควรเห็นพ้องกันว่าเป็นคำตอบที่ดี คำตอบใดเป็นคำตอบที่ไม่ดี
9.เมื่อเขียนคำถามแล้วควรเขียนคำตอบที่ต้องการไว้ด้วยเลยเพื่อเป็นการตรวจสอบดูว่าคำถามนั้นชัดเจนดีแล้วหรือยัง คำถามนั้นเมื่ออ่านแล้วจะต้องตอบตามที่คิดไว้หรือไม่ หากยังไม่ตรงจะได้แก้ไขก่อนนำไปใช้ได้
10.ถ้าเป็นคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นขัดแย้งที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ข้อสอบนั้นควรมุ่งให้หาหลักฐานมายืนยัน หรือมาสนับสนุนมากกว่าที่จะทดสอบอย่างอื่น เช่น ข้อความที่ยังหาข้อมูลยุติไม่ได้ควรหลีกเลี่ยง การถามว่าถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ แต่ควรจะทดสอบการหาสาเหตุมาสนับสนุนประเด็นนั้น ๆ
11.พยายามสร้างข้อคำถามหลาย ๆ ข้อ ให้พอเหมาะกับเวลาที่สอบ และควรกำหนดความยาวของข้อสอบ และความซับซ้อนของข้อสอบให้พอเหมาะกับความสามารถของผู้สอบ
12.พยายามให้ข้อสอบมีจำนวนมากข้อ เพื่อจะได้ออกให้ครอบคลุมเนื้อหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับค่าความเชื่อมั่นของข้อสอบด้วย เราอาจเพิ่มข้อสอบให้มากข้อโดยกำหนดให้ตอบสั้น ๆ
13.ถ้าข้อสอบมีหลายข้อ ควรจะเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก เพื่อยั่วยุให้อยากตอบยิ่งขึ้น
ข้อแนะนำในการใช้แบบทดสอบอัตนัย
1.ใช้ข้อสอบอัตนัยเพื่อจะวัดในสิ่งที่ข้อสอบอัตนัยสามารถวัดได้มากที่สุด ซึ่งได้แก่ ความสามารถในการบรรยาย การแสดงข้อคิดเห็น การเรียงความ และข้อวิจารณ์ต่างๆ
2.ควรใช้ข้อสอบอัตนัยวัดพฤติกรรมที่ลึกซึ้งกว่าความรู้ความจำในเนื้อหาวิชา เพราะพฤติกรรมดังกล่าวข้อสอบปรนัยวัดได้ดีกว่า สำหรับพฤติกรรมด้านอื่นๆ เช่น ความเข้าใจ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผลนั้น ข้อสอบอัตนัยและปรนัยมีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่   ส่วนข้อสอบอัตนัยจะมีคุณค่าเหนือกว่าในการใช้วัดเกี่ยวกับการที่ให้นักเรียนคิดหาเหตุผล อธิบายความสัมพันธ์  บรรยายข้อมูล กฎเกณฑ์และการสรุปความ ขยายความ
3.เนื่องจากข้อสอบอัตนัยนั้นผู้สอบจำเป็นต้องเขียนตอบ ดังนั้นความสามารถในการเขียนของผู้สอบจึงมีผลต่อผู้สอบเป็นอย่างมาก การจะใช้ข้อสอบประเภทนี้ควรจะพิจารณาทักษะในการเขียนของผู้สอบด้วย การฝึกให้นักเรียนได้ตอบข้อสอบอัตนัยบ่อย ๆ จะช่วยให้นักเรียนมีทักษะในการตอบข้อสอบอัตนัยมากขึ้น
4.ไม่ควรใช้ข้อสอบอัตนัยและปรนัยปนกันในฉบับเดียวกัน และให้ทำในเวลาจำกัดเพราะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการวางแผนการตอบ อีกประการหนึ่งการนำคะแนนจากข้อสอบทั้งสองชนิดมารวมกันไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการวัดคนละอย่าง
แนวคำถามของแบบทดสอบอัตนัย
1.ใช้คำถามประเภท ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร เมื่อต้องการวัดความจำ
2.ให้นิยาม หรืออธิบายความหมาย
3.ให้จัดลำดับเรื่อง ลำดับเหตุการณ์
4.ให้จำแนกประเภทของสิ่งต่าง ๆ
5.ให้เขียนเค้าโครงหรือแผนดำเนินการต่าง ๆ
6.ให้เขียนบรรยาย หรือพรรณนาสิ่งของ หรือกระบวนการต่าง ๆ
7.ให้เปรียบเทียบความแตกต่าง
8.ให้บอกความคล้ายคลึง
9.ให้อธิบายวิธีทำ หรือหาเหตุผลประกอบ
10.ให้อธิบายเหตุผลย่อย ๆ เพื่อสนับสนุนหรือคัดค้าน
11.ให้อภิปรายอย่างกว้างขวาง
12.ให้สรุปความ ย่อเรื่อง
13.ให้ประเมิน ตัดสอนคุณค่า หรือพิจารณาว่าควรหรือไม่ควร
14.ให้บอกสาเหตุ หรือคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้น
15.สรุปหรือย่อความจากตำราเรียนหรือเรื่องที่อ่านมา
16.ให้หาความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ
17.ให้นำกฎเกณฑ์ หรือหลักการไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ
18.ให้ระบุจุดประสงค์ของผู้แต่งหนังสือหรือบทความต่าง ๆ
19.ให้วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อสรุปหาเหตุผลที่ถูกต้อง
20.ให้จัดระเบียบข้อเท็จจริงขึ้นใหม่
21.ให้บอกปัญหาที่จะเกิดขึ้นใหม่
        
จากสาระความรู้เกี่ยวกับการสร้างข้อสอบภาษาไทยแบบอัตนัยคงจะเป็นแนวทางให้ครูผู้สอนปรับเปลี่ยนวิธีการวัดผลประเมินผลผู้เรียนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ความคิดได้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ และคิดเป็น  
 เนื้อหา:สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับช่วงชั้นที่ 2 ขึ้นไป

ประเด็นคำถาม
        ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวที่ว่า "การใช้ข้อสอบแบบอัตนัยทำให้เด็กเขียนหนังสือถูก และคิดเป็น"

กิจกรรมเสนอแนะ
-ทำตารางวิเคราะห์หลักสูตรก่อนออกข้อสอบเพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหา
-ข้อสอบควรมีทั้งแบบปรนัยและแบบอัตนัย

การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
-บูรณาการได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้

แหล่งที่มา :https://learners.in.th               
                
https://home.kku.ac.th
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=212

อัพเดทล่าสุด