ถวายความจงรักภักดีใช้คำถูกต้องหรือไม่


747 ผู้ชม


ศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ คำราชาศัพท์ใช้กับระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย พระสงฆ์และคนสุภาพ   

ถวายความจงรักภักดีใช้คำถูกต้องหรือไม่

ถวายความจงรักภักดีใช้คำถูกต้องหรือไม่

ภาพจาก : https://www.geocities.com/

          ๕ พ.ค. ๕๒  เข้าสู่ปีที่ ๖๐  แห่งการบรมราชาภิเษก  รัฐบาลได้จัดงานพิธีถวายเครื่องราชสักการะ และจุดเทียนชัยถวายพระชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในวันฉัตรมงคล  ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า  แม้อากาศจะร้อนอบอ้าวเพียงใด  พสกนิกรชาวไทยทั่วสาทิศต่างหลั่งไหลเข้าร่วมพิธีวันฉัตรมงคล โดยไม่แยกสีเสื้อ  สะท้อนถึงความสามัคคีในคนในชาติอย่างแท้จริง
          
จะเห็นว่างานพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์  พระบรมวงศานุวงศ์       ก็จะต้องใช้คำราชาศํพท์  ทั้งหนังสือพิมพ์  สื่อมวลชน และผู้รายงานข่าวของแต่ละช่องแต่ละสถานีก็เช่นกันจะต้องใช้คำราชาศํพท์   ถ้าใช้ผิดประชาชนก็รับกันแบบผิด ๆ  จำกันแบบผิด ๆ  ภาษาไทยก็จะผิดเพี้ยนไปเรื่อย ๆ ยิ่งถ้าไม่ระวังปล่อยให้ผิดบ่อยครั้ง  ชนรุ่นหลังก็คงใช้ราชาศํพท์ไม่ถูกต้อง
          " คำราชาศํพท์" ถ้าจะแปลให้ตรงตามรูปศัพท์แล้ว  ก็หมายถึง " ศัพท์ที่ใช้กับพระราชา" แต่ในการบัญญัติศัพท์ของนักวิชาการที่ปรากฏในตำราวิชาการจะให้ความหมายว่า  " ศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ คำราชาศัพท์ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์  เจ้านาย  พระสงฆ์และคนสุภาพ"

            ถ้าผู้อ่านสังเกตในการใช้คำราชาศัพท์ในงานพิธีฉัตรมงคลของหนังสือบางฉบับ   หรือผู้รายงานข่าวบางช่องบางสถานี จะเห็นคำว่า " ถวายความจงรักภักดี"  หรือ " ประชาชนร่วมถวายความจงรักภักดี"  แท้ที่จริงแล้ว คำว่า  ความจงรักภักดี    จะนำมาถวายกันไม่ได้  พูดกันง่าย ๆ " ถวายความจงรักภักดี "ใช้ไม่ถูกต้องตามหลักการใช้คำราชาศํพท์  ที่ถูกต้องจะต้องใช้คำว่า  " แสดงความจงรักภักดี " เช่น ประชาชนต่างร่วมกันแสดงความจงรักภักดี       หรือ " มีความจงรักภักดี" จึงจะถูกต้องตามหลักการใช้คำราชาศํพท์

           อย่างไรก็ตามจะใช้คำว่า  ขอฝากให้สื่อมวลชนได้ตระหนักถึงการใช้คำราชาศํพท์  ให้ถูกต้องตามหลักการใช้    เพราะคำราชาศํพท์เป็นศัพท์ชั้นสูง     เยาวชนคนรุ่นหลังก็จะจดจำใช้คำราชาศํพท์ได้อย่างถูกต้อง  และรักษาวัฒนธรรมทางภาษาไทยชั่วลูกหลานสืบไป

                                   ( อ้างอิงผู้เขียน : ครูศานติกรศิ์  วงค์เขียว  โรงเรียนเวียงมอกวิทยา  สพท.ลำปาง เขต ๒ )

           จากบทความข้างต้นทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้คำราชาศัพท์         ว่าใช้คำราชาศัพท์อย่างไรให้ถูกต้อง   ปัจจุบันคำราชาศัพท์มีความสำคัญในการรับสารในชีวิตประจำวัน  ถ้าไม่มีความรู้เกี่ยวกับคำราชาศัพท์  ก็ไม่อาจทราบได้ว่า  คำราชาศัพท์ดังกล่าวหมายความว่าอย่างไร  ยิ่งถ้าไม่รู้หลักการใช้คำราชาศัพท์  ก็ไม่ใช้คำราชาศัพท์ได้ถูกต้องตามหลักการใช้คำราชาศัพท์   จึงขออธิบายเกี่ยวกับคำราชาศัพท์เพิ่มเติม 

              คำราชาศัพท์  หมายถึง  ศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ คำราชาศัพท์ใช้กับระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์  เจ้านาย  พระสงฆ์และคนสุภาพ  ( ที่มา : คลังปัญญาไทย)

             หลักการใช้คำราชาศํพท์

๑.  คำว่า  " พระราช " เช่น  พระราชปฏิสันถาร  พระราชลัญจกร    พระราชหฤทัย  พระราชประวัติ  พระราชดำริ     พระราชประสงค์  เป็นต้น  ใช้กับ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯพระบรมราชินีนาถ ,สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร , สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
๒. การใช้  กริยา  " เป็น "  และ  " มี "
     ๒.๑  ถ้าคำนามข้างหลัง คำว่า " เป็น และ มี " เป็นคำราชาศัพท์  ไม่ต้องใช้  ทรง นำหน้า   เช่น เป็นพระราชโอรส  เป็นพระราชนัดดา  มีพระบรมราชโองการ  มีพระราชประสงค์
     ๒.๒ ถ้าคำนามข้างหลัง คำว่า " เป็น และ มี " เป็นคำสามัญ ( คำทั่วไป)  ต้องใช้  ทรง นำหน้า เช่น  ทรงเป็นทหาร  ทรงเป็นครู  ทรงเป็นประธาน  ทรงมีทุกข์  ทรงมีความสงสาร
๓. เสด็จพระราชดำเนิน ( เสด็จฯ) ใช้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯพระบรมราชินีนาถ ,สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร , สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
๔. หลักการใช้ " ทรง " 
     ๔.๑  ทรง  นำหน้า  คำกริยาสามัญให้เป็นคำกริยาราชาศัพท์  เช่น   ทรงฟัง  ทรงวิ่ง  ทรงยินดี  ทรงเล่นกีฬา  ทรงสงสาร  ทรงเมตตา เป็นต้น
     ๔.๒  ทรง  นำหน้า  นามราชาศัพท์  เช่น ทรงพระเมตตา  ทรงพระกรุณา  ทรงพระอุตสาหะ  ทรงพระดำริ  ทรงพระประชวร  ทรงพระสำราญ  เป็นต้น
            ( ความแตกต่างระหว่างกริยาราชาศัพท์กับนามราชาศัพท์ คือ นามราชาศัพท์  มีคำว่า " พระ" นำหน้า " กริยาราชาศัพท์")
     ๔.๓ ทรง  ห้ามนำหน้าคำกริยาราชาศัพท์  เช่น  บรรทม  เสวย  ประทับ  ผนวช    เสด็จ   ตรัส  กริ้ว  โปรด  ประชวร  เป็นต้น ห้ามใช้ ทรงบรรทม  ทรงเสวย ( ผิดหลักการใช้)
๕. คำว่า  " พระราชทาน "  ใช้กับ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯพระบรมราชินีนาถ ,สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร , สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

๕. พระราชพิธี   คือ  งานพิธีซึ่งกษัตริย์ทรงจัดขึ้น  แบ่งเป็นงานประจำปี  เช่น  พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา   งานจร  เช่น  ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา
       
๖. รัฐพิธี   คือ งานที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นให้เป็นงานพิธีของรัฐ โดยอัญเชิญเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในพิธี  เช่น  รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ

๖. หมายกำหนดการ  คือ เอกสารกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีงาน  พระราชกุศล  และงานรัฐพิธี

๗. กำหนดการ   คือ เอกสารขั้นตอนงานทั่วไปที่ส่วนราชการหรือเอกชนได้จัดขึ้น  แม้ว่าอัญเชิญเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปร่วมพิธีด้วยก็ตาม เช่นกำหนดการพระราชทานปริญญาบัตร

๘.   พระราชอาคันตุกะ    -กษัตริย์เป็นแขกของกษัตริย์            
       ราชอาคันตุกะ         -ใครก็ตามเป็นแขกของกษัตริย์
       อาคันตุกะ             -แขกของคนธรรมดา
      หลักการวิเคราะห์   ให้ตั้งหลักดี ๆ ว่า  ถามตัวเองว่า  แขกของใคร  ถ้าเป็นแขกของพระมหากษัตริย์จะมี  ราช 
     นำหน้า   ( หากตัวแขกเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยใช้คำว่า  พระราช )แต่ถ้าไม่ใช่แขกของพระมหากษัตริย์ไม่ต้องใช้คำว่า ราช  นำหน้า
      โปรดจำตัวอย่างให้ดี ๆ 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ
ประธานาธิบดีเป็นราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นอาคันตุกะของประธานาธิบดี

๙. ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  ใช้สำหรับการถวายของที่มีขนาดเล็ก  ยกได้
    น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย  ใช้สำหรับการถวายของที่เป็นของใหญ่  หรือ

๑๐. สำนวน  “ถวายความจงรักภักดี” ใช้ผิด  ที่ถูกต้องต้องใช้ว่า  แสดงความจงรักภักดี หรือ มีความจงรักภักดี

ความสอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ ช่วงชั้นที่ ๓ - ๔ 
  

        มาตรฐาน ท ๔.๑  เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลังของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา และรักษาภาษาไทยไว้เป็น
สมบัติของชาติ
 
ประเด็นคำถามสู่การอภิปรายในชั้นเรียน
๑. วันฉัตรมงคลมีความสำคัญอย่างไร
๒. ความหมายของคำราชาศํพท์
๓. หลักการใช้คำราชาศัพท์
๔. ปัจจัยที่ทำให้ใช้คำราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง
๕. คำราชาศัพท์ที่พบว่าใช้ผิดบ่อยครั้ง
๖.  คำราชาศํพท์ที่พบในสื่อมวลชน  พร้อมบอกความหมาย

กิจกรรมพัฒนาทักษะ

๑. ศึกษาค้นคว้าหาคำราชาศํพท์จากข่าว  บทความ
๒. แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้คำราชาศัพท์
๓. รวบรวมคำราชาศัพท์จากข่าว บทความ
๔. ระดมความคิดเห็น ในประเด็นต่อไปนี้
     ๕.๑  ปัจจัยที่ทำให้ใช้คำราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง
     ๕.๒  คำราชาศัพท์ที่พบว่าใช้ผิดบ่อยครั้ง
 

การบูรณาการกับมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้

         มาตรฐาน ส 1.1 : เข้าใจประวัติ ความสำคัญ หลักธรรมของพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ และสามารถนำหลักธรรมของศาสนา มาเป็นหลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน 
         มาตรฐาน ส 1.2 : ยึดมั่นในศีลธรรม การกระทำความดี มีค่านิยมที่ดีงาม และศรัทธาในพระพุทธศาสนา หรือศาสนาที่ตนนับถือ 
         มาตรฐาน ส 1.3 : ประพฤติ ปฏิบัติตนตามหลักธรรม และศาสนพิธีของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ ค่านิยมที่ดีงาม และนำไปประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาตน บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข 

แหล่งที่มาข้อมูลอ้างอิง
๑. https://www.panyathai.or.th

๒. https://www.geocities.com
๓. ครูศานติกรศิ์  วงค์เขียว โรงเรียนเวียงมอกวิทยา  สพท.ลำปาง เขต๒
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=350

อัพเดทล่าสุด