ถ้าความสามารถในการคิดของผู้ใดมีอยู่อย่างจำกัด ความสามารถในการใช้ภาษาก็จะพลอยถูกจำกัดไปด้วย
ใช้ภาษา พัฒนาความคิด ชีวิตงาม
ภาพจาก : https://www.krobkruakao.com
ประเด็นข่าว ม็อบเสื้อแดงตีปี๊บคัมแบ๊ก 27 มิ.ย.'มาร์ค'ห้ามป่วน
ม็อบเสื้อแดงขยับเคลื่อนไหวอีก"จตุพร"นัดแนวร่วมชุมนุมที่สนามหลวง “เสาร์ 27 มิ.ย.”
ระบุแค่ซักซ้อมเท่านั้น “อภิสิทธิ์” ลั่นหากพบหลักฐาน “ไอ้โม่ง” ชักใยสร้างความวุ่นวาย
สั่งเล่นงานตามกฎหมายเฉียบขาด ย้ำรัฐบาลทำงานด้วยความเสมอภาค ขณะที่ถกอนุ กก.
เหตุทุบรถนายกฯ ทีม รปภ. นายกฯ ประสานเสียงยืนยัน “อภิสิทธิ์-สุเทพ” อยู่ในรถ 100%
คนขับเผยวินาทีขับรถพุ่งชนประตูหนีตาย ด้านมารดา “พลฯ อภินพ” ยันลูกชายแข็งแรงสมบูรณ์ดี
ส่วนทหารรับใช้บ้านแม่ทัพภาคที่ 1 ระบุไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท อ้างห้องน้ำลื่น มีคนงานมาร่วมใช้เยอะ
ขณะที่ “วัฒน์ วรรลยางกูร” นักเขียนรางวัลศรีบูรพา เปิดใจร่วมเขียนหนังสือของชาวรากหญ้า
“ดีแมกกาซีน”
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 พฤษภาคม 2552 เวลา 08:23 น.
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเหตุการณ์ในชีวิต แต่ละช่วงนั้น บางครั้งอาจเป็นนาทีทอง หรือบางครั้ง
ก็อาจเป็นนาทีวิกฤตได้เหมือนกัน วิธีคิด และการใช้ภาษาในการสื่อความคิด จะเป็นยานทอง
หรือพาหนะที่จะนำพาชีวิตให้ผ่านพ้นนาทีสำคัญดังกล่าวได้ อย่างคุ้มค่า และปลอดภัย
จากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ทำให้รู้ว่าประเทศชาติต้องการประชากรที่คิดเป็น
มีวิธีคิดที่สร้างสรรค์ อย่างน้อยก็เพื่อช่วยตัวเองให้ผ่านพ้นนาทีสำคัญไปด้วยดี และถ้าทุกคน
สามารถ ใช้ภาษาเพื่อพัฒนาความคิด ของตนเองได้อย่างสร้างสรรค์ แน่นอนว่าชีวิตและ
ความสงบสุขจะเป็นของทุกคน นั่นคือ ใช้ภาษา พัฒนาความคิด ชีวิตงาม
เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖
การใช้ภาษาเพื่อพัฒนาความคิด
การใช้ภาษาพัฒนาความคิดนั้นจะใช้แสดงความคิดหรืออธิบายความคิดของคนเรา
ซึ่งสามารถแบ่งเนื้อหาได้ ๓ อย่างคือ
บทบาทของภาษาในการพัฒนาความคิด
มนุษย์แสดงความคิดออกมาได้โดยการกระทำและโดยการใช้ภาษา การใช้ภาษาเพื่อแสดงความคิด
หรืออธิบายความคิดของคนเรา นอกจากจะช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจแล้วยังช่วยให้ผู้ใช้ภาษาได้มีโอกาสขัดเกลา
ความคิดของตนให้แจ่มชัดและแหลมคมยิ่งขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อเราคิดว่าเราเข้าใจปัญหาของเราแล้ว
อย่างแจ่มแจ้ง แต่เมื่อเราต้องขี้แจ้งให้คนอื่นเจ้าใจ จะโดยพูดหรือเขียน บางครั้งบางคนอาจชี้แจ้งได้ไม่ดีนัก
อาจต้องเสียเวลานาน พูดหรือเขียนวกวน ขณะพูดหรือเขียนออกไปอาจรู้สึกติดขัดตรงนู้นบ้างตรงนี้บ้าง
ซึ่งแสดงว่าความจริงที่นึกว่าเข้าใจนั้น แท้จริงหาได้เข้าใจอย่างแจ่มชัดไม่ ซึ่งต้องย้อนกลับไปทบทวนอีกครั้ง
จนจะได้เข้าใจปัญหานั้นอย่างแท้จริง
สรุปได้ว่า ถ้าความสามารถในการคิดของผู้ใดมีอยู่อย่างจำกัด ความสามารถในการใช้ภาษาก็จะพลอย
ถูกจำกัดไปด้วย ถ้าความสามารถในการใช้ภาษามีอยู่อย่างจำกัดแล้วความสามารถในการคิดก็จะถูกจำกัดลง
ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคคลใดมีความสามารถสูงในการคิด บุคคลนั้นก็จะพลอยมีความสามารถสูงในการใช้ภาษา
ซึ่งมีผลต่อเนื่องทำให้ความสามารถในการคิดสูงตามไปด้วย
วิธีการคิด
แบ่งได้ ๓ ประเภทดังนี้คือ
๑. วิธีคิดเชิงวิเคราะห์ การวิเคราะห์คือ การพิจารณาแยกสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกเป็นส่วน ๆ เพื่อทำความเข้าใจแต่ละส่วน
ให้แจ่มแจ้ง ขั้นตอนของวิธีคิดเชิงวิเคราะห์สรุปได้ดังนี้
- กำหนดขอบเขตหรือนิยามสิ่งที่เราจะวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าจะวิเคราะห์อะไร
- กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่าจะวิเคราะห์เพื่ออะไร
- พิจารณาหลักความรู้ หรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องว่าจะใช้หลักใดเป็นเครื่องมือในการ วิเคราะห์
- ใช้หลักความรู้นั้นให้ตรงกับเรื่องที่จะวิเคราะห์เป็นกรณี ๆ ไป และจะต้องรู้ว่าควรจะวิเคราะห์อย่างไร
- สรุปและรายงานผลการวิเคราะห์ให้เป็นระเบียบชัดเจน
๒. วิธีคิดเชิงสังเคราะห์ คำว่า วิเคราะห์ กับคำ สังเคราะห์ มีความหมายที่แสดงถึงกระบวนการคนละทางกัน
การวิเคราะห์มีความหมายว่า แยกออกพิจารณา โดยมีจุดหมายปลายทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจ
ส่วนการสังเคราะห์มีความหมายไปทางรวมเข้าด้วยกัน โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้น
สำหรับขั้นตอนวิธีคิดเชิงสังเคราะห์ จะต้องตั้งจุดมุ่งหมายในการสังเคราะห์ให้ชัดเจนว่าเราต้องการที่จะ
สรรค์สร้างสิ่งใดขึ้น เพื่อประโยชน์อะไร หรือเพื่อให้ทำหน้าที่อะไร สรุปขั้นตอนของการคิดเชิงสังเคราะห์มีดังนี้
- หาความรู้เกี่ยวกับหลักการ ทฤษฎี หรือแนวทางที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้เป็นหลักในการสังเคราะห์
- ทำความเข้าใจเกี่ยวกับส่วนต่าง ๆที่จะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการสังเคราะห์ให้ถ่องแท้
จนแน่ใจว่าเรารู้จักหรือเข้าใจส่วนประกอบนั้น ๆทุกส่วนเป็นอย่างดีแล้ว
- ใช้หลักความรู้ในข้อ ๒ ให้เหมาะแก่กรณีที่จะสังเคราะห์
- ทบทวนว่า ผลของการสังเคราะห์สอดคล้องกับความมุ่งหมายหรือไม่เพียงใด
๓. วิธีคิดเชิงประเมินค่า คำว่า ประเมินค่า หมายถึง การใช้ดุลพินิจตัดสินคุณค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เป็นคุณหรือเป็นโทษ มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เป็นต้น และก่อนที่เราจะประเมินค่า
เราจำเป็นต้องมีเกณฑ์ที่ดี สรุปขั้นตอนวิธีคิดเชิงประเมินค่ามีดังนี้
- ทำความเข้าใจ หรือทำความรู้จักสิ่งที่เราจะประเมินให้ชัดเจนก่อน ซึ่งก็คือการวิเคราะห์นั่นเอง
จากนั้นควรจะสังเคราะห์ให้ดีเสียก่อน
- พิจารณาว่าจะใช้เกณฑ์อะไรเป็นเครื่องตัดสินคุณค่าของสิ่งที่เราจะประเมิน
- ถ้าจะประเมินค่าโดยไม่ใช้เกณฑ์ อาจเปรียบเทียบกับหลักฐานอื่นซึ่งมีความสมเหตุสมผลพอ
ที่จะนำมาเปรียบเทียบกันก็ได้การคิดเพื่อแก้ปัญหา
ปัญหา คือ สภาพการณ์ที่ทำความยุ่งยากให้แก่มนุษย์ โดยมีหลักในการคิดเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ
แต่เราควรที่จะต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้เสียก่อน ก่อนที่จะคิดเพื่อแก้ปัญหาคือ
ประเภทของปัญหา แบ่งได้ ๓ ประเภทกว้างๆ ดังนี้
๑. ปัญหาเฉพาะบุคคล ได้แก่ ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเท่านั้น
ส่วนสาเหตุที่มาของปัญหาอาจเชื่อมโยงไปถึงบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นก็ได้
๒. ปัญหาเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ ปัญหาที่กลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งประสบความยุ่งยากร่วมกัน
๓. ปัญหาสาธารณะ เรียกอีกอย่างว่า ปัญหาสังคมก็ได้ เป็นปัญหาที่มีผลกระทบถึงคนทุกคน
หรือคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่โดยตรงก็โดยอ้อม
สาเหตุและสภาพแวดล้อมของปัญหา สภาพการณ์ใด ๆ ที่กลายเป็นปัญหาจะต้องมีสาเหตุมาก่อนเสมอ
สาเหตุอาจมีประการเดียวหรือหลายประการก็ได้แล้วแต่กรณี ปัญหาบางอย่างอาจจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อม
อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอไป ตัวอย่างเช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น ซึ่งสาเหตุและสภาพแวดล้อมของปัญหา
เป็นสิ่งที่เราจะต้องทราบให้ได้ เช่นเดียวกับการกำหนดรู้ตัวของปัญหา
เป้าหมายในการแก้ปัญหา โดยปกติเมื่อเราสามารถรู้ปัญหาแน่ชัดแล้ว แม้จะยังคิดไม่ตกว่าจะหาทาง
แก้ปัญหาได้อย่างไร เราก็พอคะเนได้ว่าเป้าหมายของคนเราในการแก้ปัญหานั้นคืออะไร
การเลือกวิถีทางแก้ปัญหา ปัญหาส่วนมากมีวิถีการแก้ปัญหาหลายทาง จึงต้องยิ่งวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน
รอบคอบ ซึ่งก็จะตัดสินใจเลือกวิถีทางที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด โดยต้องมีอุปสรรคน้อยที่สุดหรือไม่มีอุปสรรค
อยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้ ไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมาและมั่นใจได้ว่าจะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
โดยสรุป หลักสำคัญในการคิดเพื่อแก้ปัญหามีดังนี้
๑. ทำความเข้าใจลักษณะของปัญหาและวางขอบเขตของปัญหา
๒. พิจารณาสาเหตุของปัญหา
๓. รู้สภาพแวดล้อมของปัญหา
๔. ทำเป้าหมายในการที่จะแก้ปัญหา
๕. เลือกวิถีทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดที่จะทำให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้
ต่อยอดความคิด
๑. ภาษากับความคิด และพฤติกรรม มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
๒. ให้ยกพฤติกรรมของบุคคลในข่าว ช่วยกันอภิปรายเชื่อมโยงความความคิด กับพฤติกรรม
และประเมินค่าพฤติกรรมนั้น
๓. ให้ยกพฤติกรรมของบุคคลในข่าว อภิปรายเชิงวิเคราะห์ และสังเคราะห์ พฤติกรรม และความคิด
กิจกรรมเสนอแนะ ฝึกใช้ภาษาเพื่อพัฒนาความคิด
ให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๓-๔ คน เลือกบุคคลในวงการ การเมือง ดารา นักร้อง นางแบบ
ผู้ประกาศข่าว ผู้จัดรายการ แล้วนำเสนอวิธีการใช้ภาษาเพื่อพัฒนาความคิด ในประเด็นต่อไปนี้
๑) จากการนำเสนอข้อมูลของบุคคล เขามีเจตนาอย่างไร (ฝึกตีความ)
๒) เจตนานั้น เกิดจากความคิดใดเป็นพื้นฐาน (ฝึกวิเคราะห์, สังเคราะห์)
๓) วิธีการนั้น มีประโยชน์ มีโทษกับสังคมอย่างไร (ฝึกประเมินค่า)
ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอหน้าห้องเรียน วันละ ๑ กลุ่ม
การบูรณาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา วิชาพระพุทธศาสนา ชั้น ม.๔-๖ เรื่อง หลักกาลมสูตร
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ชั้น ม.๔ เรื่องการใช้พูดนำเสนอ
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้น ม.๖ เรื่อง ภาพสะท้อนจากความคิด
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย ท๓๑๑๐๑
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล เอกสารประกอบการเรียนรู้วิชาภาษาไทย
ขอบคุณ : https://www.mwit.ac.th
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=520