เรียงความ คือการใช้ศิลปะทางการเขียนร้อยแก้วแสดงความรู้สึกนึกคิด จินตนาการและความเข้าใจของผู้เขียนอย่างสละสลวย เรียงความจะต้องประกอบด้วยส่วนที่เป็นคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป
ภาพจาก : https://www.moreschool.net
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้จัดทำโครงการประกวดเรียงความ เรื่อง “ครูดี ที่ฉันประทับใจ” ขึ้นเพื่อให้นักเรียนเขียนเรียงความถ่ายทอดความรู้สึกประทับใจที่มีต่อ “ครู” ที่ประกอบไปด้วยคุณธรรม ๘ ประการ และเป็นผู้ดำรงตนอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ทำให้นักเรียนสามารถนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตของตนตลอดไป หมดเขตวันศุกร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://icess.tu.ac.th
ตั้งแต่เปิดเทอมมา จะมีหนังสือเชิญชวนให้โรงเรียนประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนเขียนเรียงความ เข้าร่วมประกวดโครงการนั้น โครงการนี้อยู่ตลอดเกือบทุกสัปดาห์ เมื่อครูได้หนังสือก็ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนเขียนเรียงความส่งเข้าร่วมประกวด จนบางครั้งครุก็ไม่ได้ทบทวนหรือให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะใดๆเพิ่มเติมแก่นักเรียน เพราะครูมักจะคิดว่า นักเรียนของเราเขียนเรียงความกันเป็นทุกคน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป วันนี้จึงอยากจะชวนนักเรียนทบทวนเกี่ยวกับการเขียนเรียงความกัน ซึ่งเกี่ยวกับการเขียนเรียงความ เป๋นเนื้อหาสาระของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งสอนกันทุกระดับชั้น ลองมาติดตามกันดูว่าการเขียนเรียงความที่ดีนั้นเป็นอย่างไร
เรียงความที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
ลักษณะของเรียงความที่ดี ต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง ๓ ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป แล้วยังต้องมีลักษณะ ดังนี้
๑. เอกภาพ คือ ในแต่ละย่อหน้า ความคิดสำคัญต้องมีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกันกับหัวข้อเรื่อง
๒. สัมพันธภาพ คือ ต้องมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่อง โดยจะต้องมีการวางโครงเรื่องที่ดี จัดลำดับย่อหน้าอย่างมีระบบระเบียบ เรียบเรียงด้วยคำเชื่อมที่เหมาะสม
๓. สารัตถภาพ คือ มีเนื้อหาสาระที่สมบูรณ์ตลอดทั้งเรื่องโดยในแต่ละย่อหน้า ประโยคสำคัญต้องชัดเจน ประโยคขยายมีน้ำหนักเชื่อถือได้ ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อช่วยเน้นย้ำให้ประโยคใจความสำคัญมีความ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น https://www.pantown.com
ก่อนเขียนเรียงความนั้นจะต้องตีโจทย์ให้แตกว่า ชื่อเรื่องที่เขาให้มานั้น หมายถึงอะไร เกี่ยวโยงกับอะไร ข้อมูลที่จะเขียนลงไปนั้นต้องถูกต้องชัดเจน ดังนั้นผู้เขียนจะต้องรู้ชัดรู้จริง
การเขียนคำนำ
เป็นการเกริ่นเรื่อง ขอย้ำว่าแค่เกริ่นนะคะอย่าลึก ใช้คำโอบความหมายกว้างๆ เช่น เรียงความเรื่องแม่ของฉัน ควรกล่าวถึงแม่โดยทั่วไปก่อน เขียนให้กินใจ น่าอ่าน น่าติดตาม แต่ยังไม่ควรเล่าว่า " แม่ของฉัน "เป็นอย่างไร
เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องเป็นส่วนที่มีใจความสำคัญ ประเด็นสำคัญตามห้วข้อ ดังนั้นจะต้องเขียนให้ละเอียด ครอบคลุม ชัดเจน เช่น เรื่องแม่ของฉัน ในย่อหน้าเนื้อเรื่องให้พรรณนาถึงพระคุณแม่ ( เขียนในด้านบวก )
สรุป
กลับไปอ่านคำนำและเนื้อเรื่องและสรุปจบให้ไปในทิศทางเดียวกัน ขอแนะนำว่า ควรให้ข้อแนะนำ หรือแนวคิดดีๆ แล้วลงท้ายด้วยประโยคที่น่าสนใจ
การเขียนเรียงความนั้นอาจจะขึ้นต้นย่อหน้าคำนำ หรือปิดท้ายในหัวข้อสรุป ด้วย กลอน คติพจน์ วาทะ หรือคำขวัญ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้น่าติดตาม ( ถ้ายืมคำใครเขามาอย่าลืมอ้างอิง ) ภายในเรียงความควรประกอบด้วยโวหารหลายๆชนิด เพื่อให้ได้อรรถรสในการอ่าน ขั้นตอนในการเตรียมตัวเขียน นอกจากจะต้องเตรียมข้อมูลจัดทำโครงเรื่องแล้ว ควรเลือกใช้สำนวนโวหารให้เหมาะกับเนื้อความที่ จะเขียน สำนวนโวหารในภาษาไทย แบ่งออกเป็น ๕ คือ
๑) บรรยายโวหาร
๒) พรรณนาโวหาร
๓) เทศนาโวหาร
๔) สาธกโวหาร
๕) อุปมาโวหาร
๑. บรรยายโวหาร คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์ การเขียนบรรยายโวหารจะมุ่งความชัดเจน เขียน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญ ไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ในการเขียนทั่ว ๆ ไปมักใช้บรรยายโวหาร เพราะเหมาะในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากสำนวนประเภทนี้มุ่งสาระเขียนอย่างสั้น ๆ ได้ความชัดเจน
๒. พรรณนาโวหาร มีจุดมุ่งหมายในการเขียนต่างจากบรรยายโวหาร คือมุ่งให้ความแจ่มแจ้ง ละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นการเขียนพรรณาโวหารจึงยาวกว่าบรรยายโวหารมาก แต่มิใช่การเขียนอย่างเยิ่นเย้อ เพราะพรรณนา-โวหารต้องมุ่งให้ภาพ และอารมณ์ ดังนั้น จึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง ใช้ภาพพจน์แม้เนื้อความที่เขียนจะน้อยแต่เต็มไปสำนวนโวหารที่ไพเราะ อ่านได้รสชาติ
๓. เทศนาโวหาร หมายถึง โวหารที่มีจุดหมายแสดงความแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตาม หรืออาจกล่าวได้ว่ามุ่งชักจูงให้ผู้อ่านคิดเห็นหรือคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียนเทศนาโวหาร จึงยากกว่าโวหารที่กล่าว
๔.สาธกโวหาร คือ โวหารที่มุ่งให้ความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้ง หรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้หนักแน่น น่าเชื่อถือ สาธกโวหารเป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร
๕.อุปมาโวหาร หมายถึง โวหารเปรียบเทียบ โดยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่า อุปมาโวหาร คือ ภาพพจน์ประเภทอุปมานั่นเอง อุปมาโวหารใช้เป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้ชัดเจนน่าอ่าน โดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือ เปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปมา โวหารนั้นจะนำไปเสริมโวหารประเภทใด
การเขียนเรียงความที่ดีนั้นควรตีกรอบความคิดของผู้เขียนเอาไว้อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้งานเขียนไม่วกวน จนผู้อ่านเกิดความสับสนทางความคิด และที่สำคัญเรียงความจะต้องใช้ภาษาอย่างเป็นทางการ อย่าใช้ภาษาพูดเป็นอันขาดเพราะจะทำให้งานเขียนขาดความน่าเชื่อถือ https://www.pasasiam.com
คำถามเพื่อการเรียนรู้ : ในการเขียนเรียงความจำเป็นจะต้องใช้โวหารมากน้องเพียงไร จงอธิบาย
กิจกรรมเสนอแนะ : ให้นักเรียนเขียนเรียงความเรื่อง “ครูดี ที่ฉันประทับใจ” เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกประทับใจที่มีต่อ “ครู” ที่ประกอบไปด้วยคุณธรรม ๘ ประการ และเป็นผู้ดำรงตนอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ส่งเข้าประกวดตามที่อ้างถึงด้านบน
แหล่งอ้างอิง
https://www.pasasiam.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=674