ลักษณะของสำนวนสุภาษิต


1,111 ผู้ชม


สำนวนไทย หมายถึง คำกล่าวหรือถ้อยคำคมคายสั้นๆ ที่ผูกเข้าเป็นประโยคหรือวลี สื่อความหมายความเข้าใจกันโดยใช้ความหมายโดยนัย   

ลักษณะของสำนวนภาษิต

ลักษณะของสำนวนสุภาษิต

                                       สำนวนไทยล้วนมากมายและหลายหลาก                   คำสอนมากนำไปใช้ได้ซึ่งผล
                             ประโยชน์เกิดผู้ปฏิบัติฝึกหัดตน                                           จะช่วยดลความสุขนิรันดร์กาล
                                                             

วันนี้ เราจะมาเรียนรู้ซึ่งความหมายของสำนวนกันนะคะ
 สำนวนไทย หมายถึง คำกล่าวหรือถ้อยคำคมคายสั้นๆ ที่ผูกเข้าเป็นประโยคหรือวลี สื่อความหมายความเข้าใจกันโดยใช้ความหมายโดยนัย แต่สามารถเข้าใจกันทั่วไปในสังคมนั้นๆ
 1. ลักษณะของสำนวนภาษิต  สามารถจำแนกได้ดังนี้
   -  มีลักษณะเป็นโวหารและมีเสียงสัมผัสกัน หมายถึง สำนวนที่มีลักษณะไพเราะด้วยการซ้ำคำ หรือมีสัมผัสคล้องจองกันทั้งสัมผัสพยัญชนะและสัมผัสสระอยู่ในสำนวนนั้นๆ
   - มีลักษณะเป็นความเปรียบหรืออุปมาอุปไมยถึงสิ่งต่างๆ เช่น แก้มแดงเป็นลูกตำลึงสุก  ขาวเหมือนสำลี เป็นต้น
   - มีลักษณะเป็นคำคมหรือคำกล่าวที่ให้แง่คิดต่างๆ
  -  มีลักษณะเป็นบุคลาธิษฐาน คือ เป็นสำนวนที่นำคำกริยาที่ใช้สำหรับมนุษย์ไปใช้กับสัตว์หรือสิ่งไม่มีชีวิตต่างๆ ให้มีลักษณะการกระทำและความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ เช่น ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งน้ำ  น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ เป็นต้น
 2.  ที่มาของสำนวนภาษิต
  แหล่งที่เกิดของสำนวนไทย มีดังนี้
  2.1  สภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพภูมิศาสตร์
   -  สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ข้าวนอกนา  น้ำสั่งฟ้า  ปลาสั่งหนอง
   - พฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ เป็นการเปรียบเปรยพฤติกรรมของสัตว์กับการกระทำและความรู้สึกของมนุษย์  เช่น  กระต่ายตื่นตูม  ปลาหมอตายเพราะปาก
   - ลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ คือ อวัยวะต่างๆที่เป็นส่วนประกอบในร่างกายคน  เช่น  ปากว่าตาขยิบ  เคียงบ่าเคียงไหล่
  2.2  สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม 
   - สภาพชีวิตความเป็นอยู่ การกระทำ และความประพฤติของคน  เช่น  ทำนาบนหลังคน  หาเช้ากินค่ำ
   - ศาสนาหรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องทางศาสนา  เช่น  ชีปล่อยปลาแห้ง  ผ้าเหลืองร้อน
   -   เหตุการณ์ในนิทาน ตำนาน วรรณคดี หรือประวัติศาสตร์  เช่น  กิ้งก่าได้ทอง
   -   ประเพณีต่างๆ ในสังคม  เช่น  กินขันหมาก
   -   วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  เช่น  ดีดลูกคิดรางแก้ว  ฆ้องปากแตก
   -   การละเล่นพื้นบ้านต่างๆ  เช่น  งูกินหาง  รุกฆาต
 3.  ประเภทของสำนวนภาษิต
  สำนวนภาษิต  อาจแบ่งตามที่มาได้เป็น  2  ประเภท  ได้แก่
   -  สำนวนภาษิตของนักปราชญ์  ได้แก่  สำนวนภาษิตที่ทราบที่มาหรือทราบว่าใครเป็นผู้กล่าว  เช่น ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
   - สำนวนภาษิตของชาวบ้าน  ได้แก่  สำนวนภาษิตที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กล่าว
แต่จดจำสั่งสอนสืบต่อกันมาช้านาน  เช่น  นอนสูงให้นอนคว่ำ  นอนต่ำให้นอนหงาย
 4.  คุณค่าของสำนวนภาษิต
   -  เป็นเครื่องอบรมสั่งสอนและชี้แนะให้เป็นคนดีในด้านต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นด้านความรัก  การสมาคม  การครองเรือน  การศึกษา  เช่น  อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์  น้ำขุ่นไว้ใน  น้ำใสไว้นอก
   - เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นแนวคิด  ความเชื่อของคนในสังคมไทยหลายประการ  เช่น  ความเชื่อในเรื่องกรรม  ความเชื่อเกี่ยวกับความไม่ประมาท  เช่น  กงเกวียนกำเกวียน  ช้างสาร  งูเห่า  
ข้าเก่า  เมียรัก
   -  เป็นเครื่องชี้สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมด้านต่างๆ  เช่น  การทำมาหากิน  การครองชีพ  เศรษฐกิจ  เช่น  ซื้อควายหน้านา  ซื้อผ้าหน้าหนาว
   - เป็นเครื่องชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของคนไทยกับธรรมชาติ  จึงได้นำเอาลักษณะ
ทางธรรมชาติมาตั้งเป็นสำนวน  เช่น  ฝนตกไม่ทั่วฟ้า  น้ำซึมบ่อทราย  
   -  การศึกษาสำนวนภาษิต  เป็นการสืบต่อวัฒนธรรมของชาติเอาไว้  ไม่ให้สูญหายและเกิดความภาคภูมิใจที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ถ้อยคำที่มีคุณค่าไว้ให้แก่เรา
ที่มา   สมพร  มันตะสูตร.  การเขียนเพื่อการสื่อสาร.  โอเดียนสโตร์  :  กรุงเทพฯ, 2540.

ที่มา  :https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=745

อัพเดทล่าสุด