ในชีวิตประจำวันของคนเราจะต้องใช้ภาษาในการรับความคิดความรู้สึกของผู้อื่น ภาษาจึงเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร
ใช้ภาษาถูกหลัก.....คนรักทั้งเมือง
ประเด็นข่าว
"พิ้งกี้"มุ่งหน้า-เดินคนละเส้น"อั้ม" งงเหตุเลิก-ยันไร้มือที่3ไม่เกี่ยว"ทิว-นัท"
ภาพจาก : https://entertain.teenee.com
"ความสัมพันธ์วันนี้เป็นเพื่อนกันค่ะ ไม่ได้เป็นแฟนอย่างที่เคยบอกไว้แล้ว"
ดาราสาว "พิ้งกี้" สาวิกา ไชยเดช เผยน้ำเสียงปนเศร้าถึงสัมพันธ์หนุ่ม "อั้ม"
อธิชาติ ชุมนานนท์ ระหว่างมาร่วมงาน "สยามดารา สตาร์ส ปาร์ตี้2009"
ที่เรทโทร ไลฟ์ คาเฟ่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์
"เราเพิ่งเลิกกันไม่ถึงเดือน กว่าจะรักกันใช้เวลานาน ถึงกี้จะเลิกคบกับพี่อั้ม
กี้ก็ยังไม่พร้อมมีใครใหม่ ยอมรับมีเพื่อนชายเข้ามาคุยตลอด บอกว่าเห็นเลิกกับแฟน
แต่เราก็ไม่ได้ทำตัวว่าเราเปิดรับใคร"
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนระหว่างคุณพิ้งกี้ และคุณอั้ม จากวันวาน สู่วันนี้นั้น
ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตัวการสำคัญที่เป็นต้นเหตุ ก็คือ "การสื่อสาร" หากเรารู้ว่า
"อุปสรรคของการสื่อสาร" มีอะไรบ้าง ต้นเหตุของความไม่เข้าใจ อาจอยู่ที่คุณอั้ม
หรือคุณพิ้งกี้ ซึ่งเป็นทั้งผู้ส่งสาร,ผู้รับสาร หรือ อาจจะเกิดจากภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจ รู้ให้เท่าทัน ทุกอย่างแก้ไขได้
เรื่อง อุปสรรคของการสื่อสาร ตอน ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
ภาษาเป็นเครื่องมือของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ใช้แทนความคิด ความจำ ความรู้สึก
ในชีวิตประจำวันของคนเราจะต้องใช้ภาษาในการรับความคิดความรู้สึกของผู้อื่น โดยใช้
ทักษะทั้ง ๔ ได้แก่ ฟัง อ่าน เขียน พูด ชึ่งจะช่วยให้สามารถสื่อสารได้สำเร็จความมุ่งหมาย ภาษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสื่อสาร
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.วัจนภาษา คือภาษาถ้อยคำ ได้แก่ ถ้อยคำที่ใช้พูดใช้เขียนกันทั่ว ๆไป
๒.อวัจนภาษา คือภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำ หรือภาษาท่าทาง
การศึกษาที่ผ่านมาตั้งแต่ชั้นต้นๆ เราเรียนกันเฉพาะวัจนภาษาแทบทั้งสิ้น
ส่วนอวัจนภาษานั้นเรายังไม่มีการเรียนกันอย่างเป็นระบบนัก แต่ในการสื่สารระหว่างบุคคล
ด้วยการพูดจากันนั้น มนุษย์ใช้อวัจนภาษาตลอดเวลา มิได้ใช้ขณะส่งสารเท่านั้น
ยังใช้ขณะที่รับสารด้วย อวัจนภาษาที่สำคัญมีดังนี้
๒.๑ การแสดงออกทางสีหน้า สีหน้าจะเป็นเครื่องแสดงเจตนาในการสื่อสาร
เช่นถ้าผู้ส่งสารมีสีหน้ายิ้มแย้ม ย่อมสื่อความหมายว่าเต็มใจ และพอใจที่จะสื่อสาร
๒.๒ ท่ายืน ท่านั่ง และการทรงตัว จะแสดงความหมายได้ทั้งสิ้น เช่น
นักเรียนนั่งไขว่ห้าง หรือยืนล้วงกระเป๋ากางเกงคุยกับผู้อาวุโส ย่อมแสดงว่าผู้พูด
ขาดความเคารพผู้ใหญ่
๒.๓ การแต่งกาย เป็นเครื่องหมายแสดงมารยาท ถ้าเครื่องแต่งกายเหมาะ
แก่กาลเทศะและสภาพแวดล้อมทางสังคม มีผลสำคัญมากต่อการสือสารเช่นเดียวกัน
๒.๔ การเคลื่อนไหว ช่วยให้เกิดการสื่อสารที่ดี ทั้งนี้ต้องให้พอเหมาะกับ
เนื้อหาของสารและเจตนาในการส่งสาร
๒.๕ การใช้มือและแขน ช่วยเน้นความหมายของสารที่ส่งไป
และความให้สอดคล้องกับคำพูด
๒.๖ การใช้นัยน์ตา แสดงอารมณ์และความรู้สึกในการส่งสาร เช่น แปลกใจ
สนใจ จริงใจ
๒.๗ การใช้น้ำเสียง แสดงเจตนาพิเศษของผู้ส่งสาร เช่นคำพูดเดียวกัน
เปล่งออกด้วยน้ำเสียง ต่างกัน จะสื่อความหมายต่างๆ กันไป อยู่ที่ความดัง ความสูงต่ำ
และความสั้นยาวของเสียง ข้อสำคัญก็คือ
ผู้พูดควรฝึกวิธีใช้เสียงให้สื่อความหมายตรงตามที่ตนต้องการให้มากที่สุด
ภาพจาก : https://www.pr.nu.ac.th
ระดับของภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร
ระดับของภาษาแบ่งเป็น ๓ ระดับ
๑. ภาษาปาก คือ ภาษาพูดทั่ว ๆ ไป รวมถึงคำหยาบต่าง ๆ เช่น มึง กู
๒.ภาษากึ่งทางการ คือ ภาษาสุภาพ เช่น ทานข้าวหรือยัง คุณคิดว่า
หนังเรื่องนี้น่าสนใจหรือไม่ ?
๓.ภาษาทางการ คือ ภาษาที่ใช้ในวงราชการ และภาษาที่ใช้ในโอกาสพิธีการต่าง ๆ
ถ้อยคำสำนวนที่ใช้ในการสื่อสาร
สำนวน คือ วิธีการใช้ถ้อยคำทำให้ความหมายด้านใดด้านหนึ่งเด่นชัดขึ้น
โดยไม่จำเป็นต้องถูกต้องตามหลักไวยกรณ์ แต่ก็ยอมรับใช้เป็นภาษาที่ถูกต้อง เช่น
๑.สำนวนภาษาสามัญหรือสำนวนภาษาทั่วไป
๒.สำนวนภาษาการประพันธ์
๓.สำนวนภาษาสื่อมวลชนและสำนวนภาษาโฆษณา
๔.สำนวนภาษาเฉพาะวิชาชีพ
อุปสรรคที่เกิดจากการใช้ภาษาในการสื่อสาร
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารนั้น ถ้าผู้รับสารไม่สามารถเข้าใจได้ หรือเข้าใจเลือนลาง
หรือเป็นภาษาผิดระดับ หรือเป็นสำนวนภาษาที่ไม่ตรงตามเนื้อหาของเรื่องราวที่จะส่งสาร ภาษาที่ใช้นั้นก็จะกลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร อุปสรรคที่เกิดจากการใช้ภาษา-
ในการสื่อสารมีดังนี้
๑) ใช้ภาษาผิดระดับ
๒) ใช้ภาษายากเกินไป
๓) ใช้ภาษาไม่เหมาะกับเนื้อหา
๔) ใช้ภาษาวกวน
ภาพจาก : https://gotoknow.org
วิธีแก้ไขอุปสรรคของการใช้ภาษาในการสื่อสาร
ผู้ใช้ภาษาจำเป็นต้องระมัดระวัง เลือกใช้ถ้อยคำให้สื่อความชัดเจน เป็นที่เข้าใจ
แก่ผู้รับสาร
๑) ไม่พูดกำกวม
๒) ไม่ควรใช้คำยาก หรือคำศัพท์โดยไม่จำเป็น
๓) ประโยคที่ยืดยาวเกินไปมักจะเข้าใจยาก ถ้าเป็นการเขียนยิ่งต้อง
ระมัดระวังมากกว่าการพูด เพราะผู้อ่านไม่อาจสอบถาม ทำความเข้าใจได้โดยทันที
อาจต้องใช้วิธีคาดเดาหรือตีความเอาเอง โอกาสที่ผู้อ่านจะเข้าใจผิดพลาดจึงมีได้มาก
พึงระลึกอยู่เสมอว่าภาษาเป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสาร เป็นปัจจัย ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ
ซึ่งกันและกัน จึงควรระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นอุปสรรคของการสื่อสาร
จุดมุ่งหมายสำคัญในการเรียนวิชาหลักภาษา และการใช้ภาษาก็เพื่อให้รู้จัก
ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร
ส่วนการเรียนวิชาวรรณคดีนั้น จุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อให้เข้าใจภาษาที่กวี
หรือนักประพันธ์ ใช้สื่อความคิด และ จินตนาการมายังผู้อ่าน มิได้มุ่งให้ภาษาเป็นอุปสรรค
ในการเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของกวี
ช่วยคิดช่วยค้าน
๑. ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร มีผลต่อวิถีชีวิตของเราทั้งในด้านบวก และด้านลบอย่างไร
๒. เราสามารถป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
๑. แบ่งนักเรียนเป็น ๒ กลุ่ม กำหนดให้นักเรียนสืบค้นบทร้อยกรอง หรือบทกวีดังนี้
กลุ่มที่๑ รวบรวมบทร้อยกรองหรือบทกวีที่แสดงให้เห็นการใช้วัจนภาษา
กลุ่มที่ ๒ รวบรวมบทร้อยกรองหรือบทกวีที่แสดงให้เห็นการใช้อวัจนภาษา
ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานและ เพื่อนๆ ช่วยอภิปรายบทกวีนั้นว่าสื่อความหมาย
อย่างไร
๒. นำเนื้อหา "ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร" มาแต่งเป็นบทเพลงใช้ร้องในห้องเรียน
เพื่อย้ำคิดย้ำจำ
การบูรณาการ
๑. กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ ชั้น ม.๔ เรื่อง การใช้ปัญญาไตร่ตรอง
๒. กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ชั้น ม.๔ การเลือกใช้คำในการสื่อสาร
ที่มา: เพลินพิศ สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๑๑๐๑ ม.๔
ที่มา : เพลินพิศ สุพพัตกุล คู่มื่อการสอนวิชาภาษาไทย
ขอบคุณ : https://www.aksorn.com
ขอบคุณ : ภาษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1089