ฟังให้สำเร็จ คือเพชรเม็ดงาม


929 ผู้ชม


เมื่อฟังสิ่งใด หากผู้ฟังใส่ใจ คิดตาม บันทึกสิ่งสำคัญขณะฟัง และได้ลงมาฝึกปฏิบัติ การฟังนั้นก็ "สัมฤทธิ์ผล"   

                                              ฟังให้สำเร็จ คือเพชรเม็ดงาม

ฟังให้สำเร็จ คือเพชรเม็ดงาม

                                         ภาพจาก : https://masterorg.wu.ac.th
ประเด็นข่าว
   
" เปิดใจผู้แทนฯ ชีววิทยา "
     คุยกับผู้แทนประเทศไทย ๔ คน ก่อนเดินทางไปแข่ง ‘ชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ’ 
วันที่ ๑๒-๑๙ ก.ค.๒๕๕๒ ที่เมืองซึคูบา ประเทศญี่ปุ่น พร้อมเผยเหตุผลของคนชอบ ‘ชีวฯ’ 
ศาสตร์บูรณาการแสนสนุก ที่ต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขาวิชา เพื่อโยงเข้ามาตอบปัญหา
กับสิ่งที่อยู่รอบตัว 
         น้องกวง      จตุพร วนิชานนท์ นักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
         น้องเพชร    นันทนัช วุฒิไกรวิทย์ นักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 
         น้องฝ้าย     ฝันฝ้าย สมเกียรติ นักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 
         น้องนุ้ย      วีรภัทร คิ้ววงศ์งาม นักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

        ก่อนแข่งนอกจากเตรียมความพร้อมด้านวิชาการแล้ว ยังต้องรักษาสุขภาพ รักษาจิตใจ
        คลายความเครียด รวมทั้งจัดระบบการนอน และตื่นให้เร็วกว่าปกติ ๒-๓ ชั่วโมง 
        เพื่อปรับร่างกายให้ตรงกับเวลาที่จะไปแข่งจริง”

    “หลังทราบว่า ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยฯ แม้จะกดดันบ้าง แต่เชื่อว่าการเป็นตัวของตัวเอง
จะดีที่สุด และแน่นอน คือ การทำอย่างเต็มความสามารถ” น้อง ๆ กล่าวทิ้งท้าย.
    
            ที่มา :  เดลินิวส์  วันพุธ ที่ 15 กรกฎาคม 2552 เวลา 0:00 น


                  ในฐานะที่เป็นครู  ได้อ่านข่าวแล้วก็แสนจะภูมิใจ 
       อยากให้ประเทศไทยมี   นักเรียนอย่างนี้อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ  
       เพราะนั่นคืออนาคตของประเทศชาติ   แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ก็ต้องขอยกนิ้วให้กับ
       คุณครูที่สอน ,ครูผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับชั้น  และที่สำคัญคนที่ต้องให้
       ๑๐ ดาว ก็คือคุณพ่อคุณแม่ และครอบครัวของนักเรียนทั้ง ๔  คน  
               จะมีใครรู้บ้างว่านักเรียนทั้งสี่คนนี้มีทักษะที่มีคุณภาพที่ทำให้มีวันนี้ขึ้นมา
       นั่นก็คือทักษะ "การฟัง"  เมื่อฟังสิ่งใด หากผู้ฟังใส่ใจ  
คิดตาม  บันทึกสิ่งสำคัญขณะฟัง
       และได้ลงมาฝึกปฏิบัติ  
การฟังนั้นก็ "สัมฤทธิ์ผล"  เหมือนน้องกวง  น้องเพชร 
       น้องฝ้ายและ น้องนุ้ย


เรื่อง  การฟังให้สัมฤทธิ์ผล

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๔

         "ฟังให้สัมฤทธิ์ผล"

         ฟังให้สัมฤทธิ์ผล  หมายถึง  ฟังให้ได้รับความสำเร็จ  การฟังให้สัมฤทธิ์ผลจะมี
ระดับสูงหรือต่ำ มากน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ  โอกาสของการฟัง  และระดับขั้น
ของการฟัง  ดังนั้น   ขั้นแรกผู้ฟังจึงควรวิเคราะห์โอกาสที่ฟังก่อน

          โอกาสของการฟัง
           ๑. การฟังระหว่างบุคคล  เป็นการฟังที่ไม่เป็นทางการ เช่นฟังการสนทนา  
การสอบถาม คำแนะนำ
           ๒. การฟังในกลุ่มขนาดเล็ก เป็นการฟังกึ่งทางการ  เช่นการปรึกษาหารือร่วมกัน 
วางแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
           ๓. การฟังในที่ประชุม เป็นการฟังที่เป็นทางการ  ผู้ฟังต้องรักษากิริยามารยาท 
เช่น ฟังการบรรยาย  สาธิต
          ๔. การฟังจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นการฟังที่ไม่เป็นทางการ


         ระดับขั้นของการฟังให้สัมฤทธิ์ผล
         ๑. ทราบว่าจุดประสงค์ได้แก่อะไร
         ๒. ทราบว่าเนื้อความครบถ้วนแล้วหรือไม่//อย่างไร
         ๓. พิจารณาได้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ //เพราะอะไร
         ๔. เห็นว่าสารนั้นมีคุณค่าเพียงใด  ในแง่ใด  โดยใช้ดุลยพินิจ
 
          ถ้าสามารถตอบคำถามข้างต้นได้ถือว่าผู้ฟังสามารถฟังได้สัมฤทธิ์ผลสูงมากเป็นพิเศษ

    คำว่า "ดุลยพินิจ" หมายถึง  การใช้ปัญญาพิจารณาด้วยความไม่เอนเอียง ปราศจากอคติ  
เป็นความสามารถที่ค่อย ๆ เจริญขึ้นในตัวบุคคลเมื่อมีโอกาสได้รับการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
จากบิดามารดา ครู อาจารย์ สภาพแวดล้อมฯลฯ

  
         การฝึกฟังให้สัมฤทธิ์ผล
         ๑.  ฟังเรื่องที่ไม่ยากและไม่ยาวจนเกินไป เช่น  ฟังข่าววิทยุ และโทรทัศน์แล้วสามารถ
จับสาระ ของเรื่องมาเล่าให้ผู้อื่นฟังได้
         ๒. หาโอกาสฟังสิ่งที่มีสารประโยชน์อยู่เป็นนิจ เช่น ฟังรายการสารคดีทางวิทยุและ
โทรทัศน์   แล้วนำมาวิเคราะห์วิจารณ์กับผู้ที่ได้ฟังรายการด้วยกัน จะช่วยพัฒนาความสามารถ
ในการฟังของเราให้สัมฤทธิ์ผลสูงขึ้น
          ๓. หมั่นฟังการบรรยายหรือการอภิปรายในโอกาสต่าง ๆ เช่น สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ  
วันครู   วันเด็กฯลฯ 
          ๔. บันทึกเรื่องที่ได้ยินได้ฟังไว้เสมอ  เพื่อสามารถที่จะเก็บข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ 
ที่จะนำมาใช้     ตรวจสอบภายหลัง


       มารยาทในการฟัง
       ๑. การฟังเฉพาะหน้าผู้ใหญ่ ผู้ฟังพึงสำรวมกิริยาอาการ สบตากับผู้พูดเป็นระยะ ๆ 
ให้พอหมาะ    แต่ไม่ถึงกับจ้องหน้า ไม่ชิงพูดก่อนที่คู่สนทนาจะพูดจบความ ถ้าฟังไม่เข้าใจ
ควรถามเมือผู้พูดพูดจบกระแสความ
       ๒. การฟังในที่ประชุม  ในที่ประชุมขณะที่ประธานหรือผู้ร่วมประชุมคนอื่นพูด  เราจำเป็นต้องตั้งใจฟัง  อาจจดข้อความสำคัญไว้  ไม่ควรพูดกระซิบกับคนอื่นที่อยู่ข้างเคียง ไม่ควรพูดแซงขึ้นต้องฟังจนจบแล้วจึงขออนุญาตพูด
       ๓. การฟังในที่สาธารณะ ข้อควรระวังสำหรับการฟังในที่สาธารณะ เช่น โรงละคร 
โรงภาพยนตร์ มีดังนี้
             ๑)  รักษาความสงบ ไม่พูดคุย ไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่กำลังดูหรือฟังอยู่ 
                 ไม่นำของขบเคี้ยวเข้าไปรับประทาน  ไม่นำเด็กเล็กเกินไปเข้าไปชมด้วย
             ๒) ไม่เดินเข้าเดินออกบ่อย ๆ ถ้าจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น ควรเลือกที่นั่งอยู่ริมหรือ
                  ใกล้ประตูทางเดิน
             ๓) ไม่ควรแสดงกิริยาอาการที่ไม่สมควรระหว่างเพื่อนต่างเพศในโรงมหรสพ 
                  เพราะเป็นการทำลายค่านิยมทางด้านวัฒนธรรมไทย


ถามตอบ   สอบถามแนวคิด
       ๑. หากจะฟังให้สัมฤทธิ์ผล ขั้นแรกผู้ฟังควรอย่างอะไร  เพราะเหตุใด
       ๒. ลำดับขั้นของการฟัง มีความจำเป็น และความสำคัญอย่างไร
       ๓. ให้ช่วยกันเสนอแนะวิธีการฟังที่จะนำไปสู่ ความสำเร็จในชีวิต

กิจกรรมเสนอแนะ
        ๑. ฝึกฟังเพลง  และร่วมอภิราย ตามลำดับขั้นของการฟังทั้ง ๔ ข้อ
        ๒. ฝึกทักษะการฟัง และดู อย่างมีวิจารณญาณ โดยการสรุปข่าวจากโทรทัศน์ 
นำเสนอตาม  ลำดับขั้นของการฟัง ทั้ง ๔  ข้อ
        ๓. ประกวดคำขวัญจูงใจให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการตั้งใจฟัง หรือฟังอย่างมีวิจารณญาณ

กิจกรรมบูรณาการ
        ๑. กลุ่มสาระฯสังคมศึกษา  ชั้น ม.๔  วิชาภูมิศาสตร์  เรื่อง วิกฤติการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ(ฟังข่าว)
        ๒. กลุ่มสาระฯภาษาต่างประเทศ ชั้น ม.๔  เรื่อง การวิเคราะห์ข่าว เหตุการณ์ และสถานการณ์
        ๓. กลุ่มสาระฯ คณิตศาสตร์ ชั้น ม.๔     เรื่อง  การให้เหตุผล
  ที่มา: เพลินพิศ  สุพพัตกุล แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย ท๓๑๑๐๑  ม.๔
  ที่มา : เพลินพิศ  สุพพัตกุล คู่มื่อการสอนวิชาภาษาไทย

  ที่มา : การใช้ภาษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้  กระทรวงศึกษาธิการ
  ที่มา : หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1263

อัพเดทล่าสุด