ใช้ภาษาจับแก๊งตุ๋นเงินข้ามชาติ


755 ผู้ชม


จับได้แล้วอาชญากรข้ามชาติ หลอกตุ๋นเงินผ่านเอทีเอ็ม จนมุมเพราะใช้ภาษาสื่อสาร   

             

ใช้ภาษาจับแก๊งตุ๋นเงินข้ามชาติ

https://4.bp.blogspot.com/_ve0wHBk3A0I/SdtDHw-

               "ดีเอสไอ" บุกทลายแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติรวม ๑๔  คน พร้อมของกลางมือถือเกือบ ๑๐๐ คอมพิวเตอร์อีก ๕ เครื่องแฉเป็นพวกไต้หวัน-จีน-พม่า อ้างเป็นจนท.รัฐ-สถาบันการเงินตั้งสนง.ในประเทศไทย แล้วโทรศัพท์ลวงเหยื่อในจีน-ไต้หวัน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชียให้โอนเงินผ่านเอทีเอ็ม มูลค่าความเสียหายกว่า ๑๐๐ ล้านบาท

               โดยกลุ่มคนร้ายแก๊งนี้ตั้งสำนักงานคอล เซ็นเตอร์ (call center) ในประเทศไทย ใช้วิธีสุ่มโทรศัพท์หาผู้เสียหายที่ประเทศจีนและไต้หวัน ผ่านระบบ VOIP (Voice Over Internet Protocal) ระหว่างประเทศ โดยอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือสถาบันการเงิน หลอกลวงผู้เสียหายให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มเข้าบัญชีของกลุ่มผู้ต้องหาที่เปิดเตรียมไว้ เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายกว่า ๑๐๐ ล้านบาท โดยกลุ่มผู้ต้องหาจะโทรศัพท์หลอกลวงให้โอนเงินในประเทศจีน, ไต้หวัน และประเทศในภูมิภาคเอเชียอีกหลายประเทศและมีเครือข่ายสำนักงานคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศ โดยมีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ

                ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ ก.ค. เจ้าหน้าที่สำนักกิจการต่างประเทศ และคดีอาชญา กรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.บางนา จับกุมนายเจิ้น หมิง ซวิน กับพวกรวม ๑๔ คน ที่หมู่บ้านบางนาวิลล่า พร้อมของกลางจำนวนมาก โดยมีพลเมืองดีแจ้งว่าที่บ้านดังกล่าว มีบุคคลต่างด้าวเข้า-ออกจำนวนมากจนน่าสงสัย 
     
                
สน.บางนาจึงประสานไปยังดีเอสไอสืบสวนโดยส่งสายปลอมตัวเป็นคนขับแท็กซี่ไปจอดใกล้ๆ บ้านกลุ่มต้องหา กระทั่งกลุ่มผู้ต้องหา ๒  คนหลงกลเรียกใช้บริการ และพูดคุยกันเป็นภาษาจีนบนรถ โดยระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ที่แฝงตัวเป็นโชเฟอร์แท็กซี่บันทึกเสียงไว้นำไปให้ล่ามแปลกระทั่งรู้ข้อมูลนำไปสู่การจับกุมได้ดังกล่าว
                เบื้องต้นตั้งข้อกล่าวหาเป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาหลอกลวงและฉ้อโกงเงินนั้น อยู่ระหว่างประสานผู้เสียหายในต่างประเทศ ทั้งนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษประสานงานกับสถานกงสุลไต้หวันและสถานเอกอัครราชทูตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องติดตามผู้ได้รับความเสียหายในต่างประเทศและดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาที่อยู่ในต่างประเทศเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีต่อไป
ข่าวจาก  https://tnews.teenee.com/crime/38184.html

              ในที่สุดผู้ต้องหากลุ่มนี้ก็ถูกกงเกวียนกงกรรม ถูกจับกุมได้ในที่สุด ซึ่งจุดเริ่มต้นในการหลอกลวงผู้อื่นนั้นมาจากการใช้วัจนภาษา พูดจาโน้มน้าวใจผู้อื่นให้คล้อยตาม และตกเป็นเหยื่อ แต่สุดท้ายก็ต้องปิดฉากลงด้วยภาษาที่ตนเองสื่อสาร  เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้  

ประเด็นในการศึกษา
การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร (วิชาภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๔)

สาระสำคัญ
              ภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการสื่อสารของมนุษย์ ไม่ว่าในฐานะของผู้ส่งสารหรือผู้รับสาร ดังนั้นในการสื่อสารที่สัมฤทธิ์ผล ผู้ใช้ภาษาจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถเลือกใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งมีคุณธรรมและมารยาทที่ดีในการสื่อสารเป็นสำคัญ

เนื้อหา
             การสื่อสาร (Communication) คือ กระบวนการถ่ายทอดสารจากผู้ส่งสารผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อาจเป็นการพูด การเขียน การแสดงการจัดกิจกรรม ฯลฯ ไปยังผู้รับสารอย่างมีวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกันมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน  สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับบริบททางการสื่อสาร เพื่อให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล 

ความสำคัญของการสื่อสาร 
      
 ๑) การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ไม่มีใครที่ดำรงชีวิตได้ โดยปราศจาก การสื่อสาร โดยเฉพาะสังคมมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา พัฒนาการทางสังคมจึงดำเนินไปพร้อมๆ กับพัฒนาการทางการสื่อสาร 
 ๒) การสื่อสารช่วยธำรงสังคมให้อยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข เนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับระเบียบ ประเพณี กฎเกณฑ์ทางสังคมและความรู้ต่างๆ จำเป็นต้องรับการถ่ายทอดเพื่อให้เป็นมรดกทางสังคมตกลงใช้ร่วมกันอย่างสันติ 
 ๓) การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทางสังคมในด้านคุณธรรม จริยธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ รวมทั้งในการสื่อสารจำเป็นต้อง พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและต้องใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การใช้สื่อโสตฯ หรือสื่อ  อิเล็คทรอนิกส์ในงานสาธารณสุข เป็นต้น 

ภาษาในฐานะเป็นเครื่องมือสื่อสาร
         ๑.  ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร  ผู้ส่งสารใช้ภาษาถ่ายทอดเรื่องราว  ความรู้  ความคิด  ความรู้สึกไปยังผู้ส่งสาร  ภาษาแบ่งออกได้  เป็น  ๒ ชนิด  คือ
               ๑.๑  วัจนภาษา  (verbal  languaye)  เป็นภาษาถ้อยคำ  อาจเป็นคำพูดหรือตัวอักษรก็ได้  การใช้วัจนภาษาจะต้องชัดเจนและถูกต้องทั้งการเขียน  การออกเสียงคำ  และการเรียงเรื่องประโยค  นอกจากนี้ยังต้องใช้ภาษาให้เหมาะสมกับลักษณะของการสื่อสาร  ลักษณะงาน   สื่อ  และผู้รับสารด้วย
               ๑.๒  อวัจนภาษา  (non-verbal  languaye)  คือภาษาที่ไใม่ใช้ถ้อยคำ  แต่แฝงอยู่ในถ้อยคำ  ได้แก่  สีหน้า  สายตา  ท่าทาง  น้ำเสียง  วัตถุ  ช่องว่าง  เวลา การสัมผัส  กลิ่น  รส  ภาพและลักษณะของอักษร  เป็นต้น เราอาจใช้อวัจนภาษาเพื่อเสริม   เน้นหรือแทนคำพูดก็ได้  ผู้ใช้ภาษาต้องเลือกใช้อวัจนภาษาให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
     
ระดับภาษาในการสื่อสาร
               การใช้ภาษาต้องคำนึงถึงระดับของภาษา  ซึ่งต้องใช้ให้เหมาะสมกับโอกาส  สถานการณ์และบุคคล  ระดับภาษามี  ๓  ระดับ  คือ 
               ๑.  ระดับพิธีการ  
เป็นระดับภาษาที่ใช้กับพระมหากษัตริย์  เช่น   ภาษาในศาล  การประชุมรัฐสภา  และในพิธีการต่าง ๆ  
ตัวอย่าง  ข้าพระพุทธเจ้าของพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลอัญเชิญใต้ผ่าละอองธุลีพระบาทพระราชทาน    ปริญญาบัตร  
               ๒.   ระดับทางการ  
เป็นรูปแบบของภาษาที่ใช้ในโอกาสหรือเรื่องสำคัญ  ได้แก่ภาษาในบทความวิชาการ  เอกสารทางราชการ  สุนทรพจน์  การประชุมทางการ  ตัวอย่าง  ประธานขอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
               ๓.  ระดับกึ่งทางการ  
เป็นระดับภาษาที่ใช้ปรึกษาหารือกิจธุระ  การประชุมไม่เป็นทางการ  บทความแสดงความคิดเห็น  สารคดีกึ่งวิชาการ 
ตัวอย่าง   ก็หวังว่าท่านผู้ฟังจะได้รับความรู้และความสนุกสนานพอสมควรจากการอบรมในวันนี้
               ๔.  ระดับสนทนา  
มักใช้กับเพี่อนสนิท  ตัวอย่าง    มีปัญหาอะไรก็บอกมาเลยนะ  ไม่ต้องรอให้ถาม
               ๕. ระดับกันเอง  
ใช้ระหว่างบุคคลที่สนิทสนมคุ้นเคยกันมาก ๆ  สถานที่ใช้มักเป็นส่วนตัว  ไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร 
ตัวอย่าง    หิวยัง  ไปกินข้าวไหม        

ภาษาในฐานเป็นเครื่องมือสืบค้น
               การใช้ภาษาสือค้นความรู้ทำได้หลายวิธี  ดังนี้
               ๑.  การฟังอย่างมีจุดมุ่งหมาย  สามารถจับใจความได้ถูกต้องและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ
               ๒.  การอ่านอย่างวิเคราะห์วิจารณ์  และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งการอ่านข้อมูลจากหนังสือ  
คอมพิวเตอร์  อินเตอร์เน็ต  อินทราเน็ตและซีดีรอม
               ๓.  การถามใช้เก็บข้อมูล  เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล  หรือเพื่อขอรายละเอียดของข้อมูล
               ๔.  การคิดอย่างสร้างสรรค์  เชิงสังเคราะห์  และเชิงประเมินค่า  สารที่ได้รับอยู่เสมอ
               ๕.  การบันทึกเรื่องราว  ข้อมูลต่าง ๆ  เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางราชการและในชีวิตประจำวัน

 คำถาม
๑. ภาษามีความสำคัญอย่างไร
๒. การใช้ภาษาในการสื่อสาร ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
๓. วัจนภาษา และอวัจนภาษา แตกต่างกันอย่างไร
๔. ภาษามีกี่ระดับ อะไรบ้าง แต่ละระดับต้องใช้ในสถานการณ์ใด
๕. ภาษาเป็นเครื่องมือสืบค้นได้อย่างไร
แหล่งอ้างอิง
https://gold.rajabhat.edu/learn/ELEANING/information/home/Pasasumkun.htm
https://human.tru.ac.th/elearning/thai_for_com/lesson1/content21.html

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1317

อัพเดทล่าสุด