เงือก หรือ นางเงือก เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่งตามความเชื่อนิยายปรัมปราเกี่ยวกับน้ำ โดยเป็นจินตนาการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ โดยมากจะเล่ากันว่าเงือกนั้นเป็นสัตว์ครึ่งมนุษย์ มีส่วนครึ่งท่อนบนเป็นคน ส่วนครึ่งท่อนล่างเป็นปลา ในหลายประเทศทั่วโลก มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานเ
คณะแพทย์ รพ.วชิระภูเก็ต แถลงหลังผ่าทารกออกจากครรภ์แม่ชาวพม่า พบมีขาติดกันเป็นชิ้นเดียวเหมือนเงือก พบแค่ 1 ใน 7 หมื่นของการคลอด แพทย์ยอมรับโอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก
เรื่องราวของทารกน้อยแรกเกิดมีขาติดกันเหมือนเงือก เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม คณะแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าว กรณีนางสุ่ย อายุ 36 ปี ชาวพม่าให้กำเนิดลูกคนที่ 3 ด้วยวิธีการผ่าท้อง พบทารกมีขาติดกันเป็นชิ้นเดียว ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เรียกว่า เมอร์เมด ซินโดรม (Mermaid syndrome หรือ Sirenomelia) พบได้เพียง 1 ใน 7 หมื่นของการคลอด และเป็นรายแรกของ จ.ภูเก็ต จากรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกมีทั้งหมด 300 ราย
นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการตติยภูมิ กล่าวว่า แพทย์ผ่าคลอดเมื่อเวลา 18.42 น. วันที่ 9 สิงหาคม ด้วยอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ เป็นการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากแพทย์ตรวจพบว่าน้ำคร่ำมีน้อย เมื่อผ่าคลอดออกมาปรากฏว่าทารกขาติดกันเป็นชิ้นเดียว มีน้ำหนักตัว 2,240 กรัม ลำตัวยาวประมาณ 48 เซนติเมตร ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเพศใด เนื่องจากไม่มีอวัยวะบ่งชี้ที่ชัดเจน และเนื่องจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ไม่มีศัลยกรรมกุมารหรือแพทย์เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเด็กโดยเฉพาะ จึงประสานงานกับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพื่อส่งเด็กไปรักษาขั้นต้น เนื่องจากคาดว่าจะต้องมีการผ่าตัดอีกหลายครั้ง และจะได้ติดตามการรักษารวมถึงรับกลับมาดูแลต่อไป ข่าวจาก(หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก) https://news.sanook.com
ข่าวนี้น่าสลดใจที่ทารกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกมีลักษณะที่ผิดปกติ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่ว่าจะแพทย์ หรือพ่อ แม่ของทารกน้อยคงจะเลี้ยงดูอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ ครูนิตก็ขอส่งแรงใจให้น้องสู้ชีวิต สู้ต่อไปนะคะ
ข่าวที่เสนอว่าลักษณะของทารกน้อยที่คลอดออกมาที่มีลักษณะคล้ายเงือก หลายคนก็คงจะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องของ เงือกมาบ้างแล้ว วันนี้มาดูกันว่า เงือกเป็นนางในวรรณคดีไทยเรื่องใดบ้าง
ภาพจาก : https://www.oknation.net
วรรณคดีสะท้อนจินตนาการของมนุษย์ แสดงถึงโลกอีกโลกหนึ่งที่คาบเกี่ยวอยู่ระหว่างความฝันกับความจริง มนุษย์สังเกตความจริงรอบๆตัว แล้วนำมาตกแต่งประดับประดาเข้าเป็นจินตนาการในวรรณคดี เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี คนรุ่นหลังอาศัยวรรณคดีของคนรุ่นก่อนเป็นหลักฐานความคิดความอ่านและวัฒนธรรมของคนรุ่นนั้น บางครั้งก็จะประสบปัญหาการแยกความจริงออกจากความฝัน และสาเหตุที่ทำให้เกิดจินตนาการนั้นๆ
สัตว์ อมนุษย์ และเทพต่างๆในวรรณคดี เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่จบสำหรับนักวรรณคดี ส่วนมากสรุปว่าเป็นแต่จินตนาการของคนสมัยโบราณ แต่นักวรรณคดียบางคนเห็นว่าจินตนาการย่อมมีพื้นฐานบนความจริงอยู่เสมอไม่มากก็น้อย ตัวละครเหล่านี้อาจมีพื้นฐานความจริง หรือไม่ก็แสดงอิทธิพลอารยธรรมจากประเทศอื่นต่อประเทศไทย ที่น่าแปลกก็คือ ประเทศคนละซีกโลกห่างไกลกันจนยากแก่การค้าขายติดต่อ หรือแม้แต่ได้ยินชื่อของกันและกัน สามารถมีจินตนาการพ้องกันได้อย่างแปลกประหลาดทางวรรณคดี อย่างแรกก็คือ เงือก
เงือกที่ปรากฏชิ้นแรกในวรรณคดีไทย ได้แก่ ลิลิตพระลอ ลักษณะไม่ปรากฏชัดนัก เป็นประเภทสัตว์น้ำอย่างหนึ่ง มีผมยาวมักเอาผมรัดคอคนที่ลงไปเล่นน้ำพาจมหายลงไป บางทีก็ใช้คู่กับคำว่า งู ทำให้เข้าใจว่าคงจะเป็นงูใหญ่มีหงอนต้นประวัติของพญานาค
พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์มีเงือกอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ‘นางมัจฉา’ ลักษณะเป็นเงือกที่เรารู้จักกันในสมัยนี้ทุกประการ คือที่ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลา นางมัจฉานี้ไม่ใช่เงือกตามเผ่าพันธุ์ตน แต่เป็นเงือกตัวเดียวในเรื่อง เกิดจากทศกัณฐ์กับนางปลา จึงมีรูปร่างตามส่วนผสมของพ่อและแม่
สุนทรภู่เป็นผู้สร้างนางเงือกขึ้นมาตรงกับความคิดของฝรั่งอย่างสมบูรณ์ นางเงือกน้อยและพ่อแม่นั้น เป็นสัตว์น้ำอาศัยอยู่ในทะเล มีบรรพบุรุษเป็นคน ได้แก่พวกเรือแตก เมื่อจมลงไปก็ถูกเหล่าเงือกฉุดลงไปเป็นคู่ครอง นางเงือกและพ่อแม่จึงรู้ภาษาคน แต่ก็ยังเป็นครึ่งสัตว์ครึ่งคน ท่อนบนเป็นมนุษย์โสภา และมีหางเป็นปลาทุกประการ อาศัยในน้ำ สามารถขึ้นบนบกได้เป็นครั้งคราว แต่อยู่บนบกไม่ได้
เงือกฝรั่งนั้น ที่เก่าแก่ที่สุดก็น่าจะเป็นสมัยกรีกและโรมัน เป็นบริวารของเนปจูน เทพแห่งสมุทร ตัวเนปจูนนั้นบางครั้งรูปวาดหรือรูปปั้น เป็นเทพร่างมหึมาเท่าภูเขา สวมมงกุฎ ถือสามง่าม สำหรับกวนน้ำทะเลให้เป็นวังน้ำวน และท่อนล่างเป็นปลา แต่บางครั้งก็เป็นมนุษย์ บริวารครึ่งคนครึ่งปลาเรียกว่าไทรทอน ซึ่งตัวโตเป็นภูเขาเลากา ผุดขึ้นจากทะเล เป่าสังข์ ประกาศการนำขบวนเสด็จของเนปจูน
นางเงือกของสุนทรภู่อาศัยอยู่ในน้ำเฉยๆแบบสัตว์น้ำ ไม่มีบทบาทอะไรในทะเล แต่กรีกและโรมันมีอมนุษย์จำพวกหนึ่งเรียกว่า nymph หรือ sylph อาศัยอยู่ตามภูเขา ลำธาร และทะเลเป็นพวกๆ ลักษณะเป็นนางมนุษย์สวยงาม คอยฉุดคร่ามนุษย์เคราะห์ร้ายลงไปเป็นคู่ พวกนี้บางทีก็ตามขบวนเสด็จของเนปจูนเหมือนกัน รูปปั้นและรูปวาดชั้นหลังๆแสดงภาพนางพรายเหล่านี้เป็นครึ่งคนครึ่งปลา แบบเงือก แต่ของเดิมนั้นมีรูปร่างเป็นมนุษย์ทุกประการ
นางเงือกที่มีชื่อเสียงทั่วโลกได้แก่ เงือกน้อยของ แฮน คริสเตียน แอนเดอร์สัน ปัจจุบันมีรูปปั้นอยู่ที่
โคเปนเฮเกน เป็นสัญลักษณ์ของเมือง แอนเดอร์สันอาจจะรวบรวมนิทานพื้นบ้านเก่าๆมา รวมทั้งเรื่องเงือกน้อย หรืออาจแต่งขึ้นมาเองก็ได้ไม่มีใครยืนยันได้ชัด นางเงือกน้อยนี้รูปร่างหน้าตาแบบเดียวกับของสุนทรภู่ แต่ไม่ใช่สัตว์น้ำ เป็นอมนุษย์อาศัยอยู่ในอาณาจักรใต้ทะเล มีความเจริญเท่าเทียมหรือมากกว่ามนุษย์เสียอีก
‘เงือก’ ในภาษาไทย น่าจะเป็นคำควบกับ ‘งู’ มาก่อน แสดงว่าแต่เดิมใช้กับสัตว์ประเภทงู แล้วกลายเป็นครึ่งคนครึ่งปลาสมัยพระอภัยมณี รามเกียรติ์เรียกนางมัจฉาทุกคำ อย่างไรก็ตาม เรื่องนางสุพรรณมัจฉานี่ไม่มีใน
รามยณะของอินเดีย ไทยได้มาจากฉบับใดก็ตามเป็นเรื่องต้องค้นคว้ากันต่อไป สำหรับฝรั่ง เรียกเงือกว่า merman สำหรับเงือกตัวผู้ และ mermaid หรือ sea maid แปลว่าทะเล เหมือนคำว่า sea
สุนทรภู่อาจได้ความคิดเรื่องเงือกจากนางมัจฉาในรามเกียรติ์หรือได้จากฝรั่งที่มาติดต่อค้าขายในสมัยนั้น เราไม่สามารถจะรู้ได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ลักษณะของเงือกนั้นอาจพ้องกันได้ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก เพราะคนกับปลามีส่วนต่อกลมกลืนกันได้ไม่ขัดตา เหมือนคนกับสัตว์บางประเภท ข้อมูลจาก https://www.vcharkarn.com
คำถาม
นางเงือกปรากฏในวรรณคดีของไทยเรื่องใดบ้าง และมีชื่อว่าอยางไร
กิจกรรมเสนอแนะ
ให้นักเรียนเขียนแสดงความคิดเห็นหรือทัศนะที่มีต่อนางเงือกในวรรณคดีที่เกี่ยวกับนางเงือก
การบูรณาการ บูรณณาการกับกูล่มสาระศิลปะ เกี่ยวกับการวาดภาพนางในวรรณคดี
แหล่งอ้างอิง
https://news.sanook.com
ที่มา :https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1477