ผู้ใหญ่ลีกับนางมา จากหนังสืออ่านนอกเวลาสู่ละครทีวีที่ไม่น้ำเน่า


1,700 ผู้ชม


จากวรรณกรรมงานคุณภาพ สู่ละครทีวีที่สร้างกี่ครั้งก็ได้รับความนิยม เพราะสะท้อนความเป็นไทยได้อย่างดีเยี่ยม   

                    ออนแอร์ไม่เท่าไร่ แต่ละคร "ผู้ใหญ่ลีกับนางมา" ก็มัดใจแฟนละครอยู่หมัด ยิ่งได้นางเอกเซ็กซี่ พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ มารับบทนางมายุค ๒๐๐๙  แถมตอนนี้ไปไหนก็ถูกเรียกนางมาไปแล้ว นางเอกสาวผู้รับบทมาลินี ให้สัมภาษณ์สื่อว่า "ไม่น่าเชื่อเลย ละครเพิ่งจะออนแอร์ไม่กี่ตอน แต่ตอนนี้ เวลาพลอยไปเดินซื้อของ ก็ ได้ยินเสียงเรียกคุณมาๆ วันนี้มาซื้ออะไร ผู้ใหญ่ลีไม่มาเหรอ? ทำให้พลอยปลื้มมากเลย และเรื่องนี้พลอยก็ชอบมาก"
 https://www.norsorpor.com

ผู้ใหญ่ลีกับนางมา จากหนังสืออ่านนอกเวลาสู่ละครทีวีที่ไม่น้ำเน่า
ภาพจาก https://www.ryt9.com/s/psum/621435/

                  “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” เป็นเรื่องราวของ มาลินีสาวชาวกรุงที่ได้รับมรดกเป็นที่นาหลายร้อยไร่ ต้องอกหักจากคนรักจึงมาอาศัยอยู่บ้านนาของยาย ทำให้เธอได้พบกับผู้ใหญ่ลีโดยคิดว่าเป็นแค่คนงานธรรมดา มาลินีจึงต้องใช้ชีวิตแบบชาวนาทำให้ทั้งสองโคจรมาพบกัน
                   คนไทยส่วนใหญ่รู้จักนิยายไทยเรื่อง “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา” ซึ่ง กาญจนา นาคนันท์ หรือ อาจารย์ นงไฉน ปริญญาธวัชเขียนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ 
 อย่างน้อยที่สุด กระทรวงศึกษาธิการก็เคยกำหนดให้เป็นหนึ่งในหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อีกทั้งมีผู้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และโทรทัศน์หลายรอบ แสดงให้เห็นว่าเนื้อหาสาระในนิยายเรื่องดังกล่าว มีคุณค่าเหมาะสมสำหรับการศึกษาเรียนรู้    แต่เราจะมีหลักการวิเคราะห์งานประพันธ์เหล่านี้อย่างไร ? ศึกษาได้จากเนื้อหาด้านล่าง

ประเด็นในการศึกษา 
การพิจารณานวนิยายและเรื่องสั้น (วิชาภาษาไทย ช่วงชั้นที่ ๔)
เนื้อหา
การพิจารณานวนิยายและเรื่องสั้น มีหลักในการวิเคราะห์ดังนี้
 ๑.๑โครงเรื่องและเนื้อเรื่อง
  การเล่าว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด และมีความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครอย่างไรคือเนื้อเรื่อง ส่วนที่กล่าวเฉพาะความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครในช่วงเวลาหนึ่งเป็นโครงเรื่อง และโครงเรื่องที่ดีมีลักษณะคือ
  ๑.มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุการณ์ต่างๆในเรื่อง และระหว่างบุคคลในเรื่องต่อเนื่องกันตลอดมีรายละเอียดเท่าที่จำเป็น
  ๒.มีข้อขัดแย้งที่น่าสนใจ (Conflict) อาจมีข้อขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม หรือระหว่างมนุษย์กับความรู้สึกภายในใจตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมต่างๆ อย่างน่าสนใจ
  ๓.มีการสร้างความสนใจใคร่รู้เรื่องตลอดไป (Suspense) ทำได้เช่น การบอกใบ้ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดต่อไป การปิดเรื่องบางส่วนไว้และจะเปิดให้ทราบเมื่อถึงเวลา การจบตอนโดยทิ้งปัญหาให้คาดเดา
  ๔.มีความสมจริง ไม่ใช่เหตุบังเอิญ (Coincidence) ที่น้ำหนักมากเกินไป แม้ว่าอาจเป็นไปได้ก็ตาม
 ๑.๒ กลวิธีในการดำเนินเรื่อง
๑. ดำเนินเรื่องตามลำดับปฏิทิน คือ ตามลำดับเหตุการณ์
๒. ดำเนินเรื่องย้อนต้น คือ เปิดเรื่องที่เหตุการณ์สุดท้ายแล้วเล่าย้อนตั้งแต่ต้นมาจนถึงจุดเปิดเรื่อง
๓. ดำเนินเรื่องสลับไปมา คือ เปิดเรื่องในตอนใดตอนหนึ่งแล้วเล่าย้อนต้น สลับกับเหตุการณ์ปัจจุบัน หรือเหตุการณ์ที่เกิดต่างสถานที่ในเวลาเดียวกันก็จะสลับเล่าทีละแห่ง ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าผู้แต่งสามารถดำเนินเรื่องได้เหมาะสม เข้าใจได้ดีหรือไม่ ในส่วนของการเล่าเรื่องก็จะมีหลายวิธีคือ
- ให้ตัวละครสำคัญในเรื่องเป็นผู้เล่า ซึ่งจะสังเกตว่าใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑ วิธีนี้มีข้อเสียที่ ผู้แต่งอาจไม่ได้บรรยายความสามารถสามารถของตัวละครผูเล่าเรื่องเด่นชัดได้ เพราะจะเป็นการยกตนเกินไป
- ให้ตัวละครรองเป็นผู้เล่าซึ่งจะบรรยายคุณสมบัติตัวละครเอกได้ดีกว่าวิธีแรก
- ผู้แต่งเล่า เป็นวิธีที่นิยมที่สุด เพราะจะบรรยายได้ทุกแง่ทุกมุม
- ผู้แต่งเล่าในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งจะมีขอบเขตจำกัดกว่าตรงที่จะเล่าได้เฉพาะที่เห็นเท่านั้น ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครจะกล่าวถึงไม่ได้ แต่ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ใช้ความคิดพิจารณาตัดสินตัวละครจากพฤติกรรมที่ได้รับรู้
๑.๓ ตัวละคร วิธีสร้างตัวละครทำได้โดย
- บรรยายโดยตรง
- ให้ตัวละครสนทนา หรือคิดคำนึง
- บรรยายพฤติกรรมของตัวละคร
- ให้ตัวละครอื่นๆ สนทนาเกี่ยวกับตัวละครนั้น
๑. ลักษณะนิสัยของตัวละคร ควรจะมีลักษณะเช่นเดียวกับคนธรรมดา มีทั้งข้อดี-เสีย มีการกระทำที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัย หากจะมีการเปลี่ยนแปลงต้องสมเหตุสมผล
๒. บทสนทนาของตัวละคร ควรสมจริงตามฐานะ นิสัยของตัวละคร มีประโยชน์ต่อการดำเนินเรื่อง ทำให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครได้ชัดเจน ช่วยให้เรื่องงมีชีวิตชีวา
๓. ชื่อของตัวละคร เหมาะสมกับรูปร่างหน้าตา เพศสถานภาพทางสังคม ช่วยสร้างความรู้สึกแก่ผู้อ่าน
๑.๔ ฉาก
   ฉากหมายถึง สถานที่และเวลาที่เรื่องนั้นๆ เกิดขึ้น ลักษณะของฉากที่ดี
๑. สอดคล้องกับเนื้อเรื่องและช่วยสร้างบรรยากาศ
๒. ถูกต้องความสภาพการเป็นจริง
๑.๕ สารัตถะของเรื่อง
   สารัตถะของเรื่อง หมายถึง แนวคิด ทัศนะ หรือเจตนารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งของผู้แต่ง  ที่ต้องการสื่อสารถึงผู้อ่าน ซึ่งอาจบอกตรงๆ หรือให้ตัวละครเป็นผู้บอก โดยมากผู้อ่านต้องศึกษาค้นหาเอง โดยตั้งคำถามว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่องคืออะไร

กิจกรรม
ให้นักเรียนวิเคราะห์นิยายเรื่อง ผู้ใหญ่ลีกับนางมา ตามหัวข้อที่กำหนด
๑. โครงเรื่อง
๒. กลวิธีการดำเนินเรื่อง
๓. ลักษณะนิสัยตัวละคร (สำคัญ)
๔. ฉาก
๕. สารัตถะของเรื่อง

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1444

อัพเดทล่าสุด