เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล


893 ผู้ชม


เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อันตรายสำหรับชาวนาข้าว และเกษตรกรไทย   

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ประเด็นข่าว
         จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2554 คอลัมน์การเกษตร จากอธิบดีกรมการข้าวเปิดเผยว่าเพลี้ยกระโดสีน้ำตาล ระบาดหนักในหลาย
จังหวัดทางภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เริ่มมีการระบาดของฝูงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอีกทั้งยังพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวบางแห่งเพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้การระบาดของเพลี้ยดังกล่าวขยายวงกว้าง  รุนแรงเหมือนในรอบปีที่ผ่านมา  กรมการข้าวขอแนะนำว่า  หากระยะข้าวแตกกอ  อายุไม่เกิน 40 วัน  หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  ที่ส่วนใหญ่เป็นชนิดปีกยาว  ให้งดใช้สารเคมีใดๆ  หรือถ้าพบตัวอ่อนแมลงควรใช้สารตามคำแนะนำของกรมการข้าว กรณีที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาในระยะข้าวแตกกอเต็มที่ถึงระยะออกรวงมากกว่า 10 ตัว/ต้น  ควรเร่งระบายน้ำออกจากแปลงให้อยู่ในสภาพดินเปียก

เนื้อหาสาระ หลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว เรื่อง การปลูกพืช ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

เพลี้กระโดดสีนน้ำตาล (brown planthopper, BPH )
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
 Nilaparvata lugens (Stal)
วงค์ Delphacidae 
อันดับ Homoptera

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ที่มาภาพ

             เป็นแมลงศัตรูพืช ชนิดปากดูด โดยมักทำลาย ข้าว โดยดูดน้ำเลี้ยงข้าวจนทำให้ข้าวแห้งตาย และเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิกลักษณะเป็นแมลงขนาดเล็ก 2-3 มิลลิเมตรสีน้ำตาล มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น (bracrypterous form) ชนิดมีปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วย ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ โดยวางไข่เป็นกลุ่ม เรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4-4.5 มิลลิเมตร วางไข่ประมาณ 100 ฟอง เพศผู้มีขนาด 3.5-4 มิลลิเมตร เพศเมียชนิดปีกสั้นวางไข่ประมาณ 300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัย (generation)

ลักษณะการทำลาย

        เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลส์ท่อน้ำท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆเรียก “ อาการไหม้ ( hopperburn )” โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง ซึ่งตรงกับช่วงอายุขัยที่ 2-3 ( generation ) ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว นาข้าวที่ขาดน้ำตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิก ( rice ragged stunt ) มาสู่ต้นข้าวทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียว แคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปรกติ ปลายใบบิด เป็นเกลียว และ ขอบใบแหว่งวิ่น

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ที่มาภาพ

ปัจจัยที่มีผลต่อการระบาด

        วิธีการปลูกข้าว การปลูกข้าวแบบนาหว่านน้ำตมมีปัญหาการระบาดมากกว่านาดำเพราะนาหว่านมีจำนวนต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อุณหภูมิและความชื้นในแปลงนาเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประกอบกับนาหว่านเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถทำลายข้าวได้อย่างต่อเนื่อง

        การใช้ปุ๋ย การใช้ปุ๋ยอัตราสูง โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้การเพิ่มจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้ใบข้าวเขียว หนาแน่น ต้นข้าวมีสภาพอวบน้ำเหมาะแก่การเข้าดูดกินและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

        การควบคุมน้ำในนาข้าว สภาพนาข้าวที่มีน้ำขังในนาตลอดเวลา ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มจำนวนได้มากกว่าสภาพที่มีการระบายน้ำในนาออกเป็นครั้งคราว เพราะมีความชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

        การใช้สารฆ่าแมลง การใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นตัวเต็มวัยชนิดปีกยาวหรือช่วงที่อพยพเข้าในนาข้าวใหม่ๆ ( ข้าวระยะ 30 วันหลังหว่าน ) ศัตรูธรรมชาติจะถูกทำลายและสารฆ่าแมลงก็ไม่สามารถทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ ทำให้ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีโอกาสรอดชีวิตสูง

ศัตรูธรรมชาติที่มีบทบาทในการควบคุมประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้แก่

        มวนเขียวดูดไข่ Cyrtorhinus lividipennis (Reuter) เป็นตัวห้ำในอันดับ Hemiptera วงค์ Miridae เป็นตัวห้ำที่สำคัญทำลายไข่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยการดูดกินของเหลวภายในไข่ มักพบแพร่กระจายในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่และอพยพเข้ามาพร้อมกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งถ้าพบมวนชนิดนี้ในนามากกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2-3 เท่า มวนชนิดนี้สามารถควบคุมการเพิ่มปริมาณของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตข้าวได้

        แมงมุมสุนัขป่า Lycosa psuedoannulata ( Bosenberg & Strand ) เป็นแมงมุมในอันดับ Araneae วงค์ Lycosidae เป็นตัวห้ำที่มีบทบาทมากที่สุดในการควบคุมปริมาณตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายไปมาในพื้นที่ต่างๆในนา โดยจะเคลื่อนย้ายเข้าในนาระยะหลังหว่านข้าวและจะเพิ่มปริมาณสูงในระยะข้าวแตกกอ

การป้องกันกำจัด

1. ใช้พันธุ์ข้าวต้านทาน ได้แก่ สุพรรณบุรี 1 ,สุพรรณบุรี 2, สุพรรณบุรี 90 , ชัยนาท 1, กข 23, 
2. การเขตกรรม เช่น มีการระบายน้ำออกจากแปลงนา 7-10 วัน ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว และเมล็ดข้าวเริ่มแข็งแล้ว
3. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
4. ใช้สารเคมี ควรใช้เมื่อพบปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มากกว่า 10 ตัวต่อข้าว 1 กอ เช่น คาร์แทบ+ไอโซโปรคาร์บ 6%G 5 กิโลกรัมต่อไร่ อิมิดาโคลพริด 65% EC. อัตรา 60 ซีซีต่อไร่ บูโพรเฟซิน+ไอโซโปรคาร์บ 25% WP. อัตรา 100 กรัมต่อไร่

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ที่มาภาพ


สารเคมีที่ใช้ควบคุม

คาร์แทป+ไอโซโพรคาร์บ 5 กิโลกรัม/ไร่ 
อิมิดาโคลพริด 15-30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร 
บูโพรเฟซิน+ไอโซโปร์คาร์บ 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร 
ไอโซโปร์คาร์ 60กรัม/น้ำ 20 ลิตร 
บูโพรเฟซิน 20-30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร 
อีทิโพรล 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร

ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
 1. อธิบายการปลูกและการดูแลรักษาข้าว
 2. อธิบายวิธีการกำจัดแมลงศัตรูของข้าวชนิดอื่น
กิจกรรมเสนอแนะ
 ให้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการปลูกข้าวชนิดหรือพืชอื่น  แล้วจัดทำเป็นรายงานส่ง
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
 สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม

ที่มา 
https://www.thairath.co.th/content/edu/160073  
https://www.doae.go.th/pest/rice/ribph.htm 
https://www.brrd.in.th/rkb/data_005/rice_xx2-05_bug02.html 
https://th.wikipedia.org/

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=3592

อัพเดทล่าสุด