จำเป็นจริงหรือที่ต้องซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน


850 ผู้ชม


ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เท่ากับต้องสร้างเขื่อนภูมิพล ปีละ 1 แห่ง   

จำเป็นเพียงใด... ที่ไทยต้องซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน

        หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง ทั้ง ลาว เวียดนาม และไทย ประเทศไทยมีความสะดวกสบาย ด้านพลังงานไฟฟ้านำหน้าสุด ส่งผลให้เราเป็นประเทศอุตสาหกรรมในระดับนำหน้าของประเทศดังกล่าว  เพราะส่วนหนึ่งมาจาก พลังงานไฟฟ้าที่เอื้อต่อ ระบบอุตสาหกรรม มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ในทุกปี  นั่นเท่ากับต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เท่ากับเขื่อนภูมิพล  ปีละ 1 เขื่อน  หากแต่แนวคิดในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศ  ณ เวลานี้เป็นไปได้ยากขึ้น   ดังนั้นการมุ่งไปหาพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน จาก  ลาว พม่า จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ  และเชื่อว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ลงทุนต่ำ หากเทียบกับแนวทางอื่น ขณะเดียวกันพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ หรือ ถ่านหินก็คงเกิดขึ้นยากพอ ๆ กัน  สำหรับประเทศไทย

 (อ่านเพิ่มเติม: คลิกที่นี่)

 

 


 

 เขื่อนภูมิพล :ที่มา คลิก                                                                                                                                                       เขื่อนสิริกิติ์ : ที่มา คลิก

 

           จากบทความดังกล่าวหลายคนที่เคยติดตามข่าวสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย  พบว่า  ประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องวางแผนพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำซึ่งถือว่าเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ต้นทุนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ท่าทราบหรือไม่ว่ากระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นได้อย่างไร และหลักการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีว่าอย่างไร

            บทความนี้เหมาะสำหรับ นักเรียนช่วงชั้นที่ 3 – 4 และ บุคคลทั่วไป

            ผลการเรียนที่คาดหวัง
                1.  มีความเข้าใจเกี่ยวกับ การผลิตกระแสไฟฟ้า แหล่งพลังงานไฟฟ้า
                2.  มีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการของ  เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และหลักการผลิตกระแสไฟฟ้า

 

#  เครื่องกำเนิดไฟฟ้า

       เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงพลังงานกลมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยการเหนี่ยวนำของแม่เหล็กตามหลักการของ ไมเคิล ฟาราเดย์ คือ การเคลื่อนที่ของขดลวดตัวนำผ่านสนามแม่เหล็กหรือการเคลื่อนที่แม่เหล็กผ่านขดลวดตัวนำจะทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำขึ้นในขดลวดตัวนำนั้น เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามี 2 ชนิด คือ ชนิดกระแสตรงเรียกว่า ไดนาโม(Dynamo) และชนิดกระแสสลับเรียกว่า อัลเตอร์เนเตอร์ (Alternator) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมนั้น โดยมากจะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ ซึ่งมีทั้งแบบ 1 เฟส และแบบ 3 เฟส โดยเฉพาะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ตามโรงไฟฟ้าจะเป็นเครื่องกำเนิดแบบ 3 เฟสทั้งหมด เนื่องจากสามารถผลิตและจ่ายกำลังไฟฟ้าได้เป็นสามเท่าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบ 1 เฟส  ( สสวท. ฟิสิกส์ เล่ม 3 )                                                                                

                                                                                                                 ลักษณะเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
                                                                                                                         ที่มา  คลิก              

         โดยทั่วไปแล้วเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือส่วนที่เรียกว่า โรเตอร์(Rotor) ซึ่งจะมีขดลวดตัวนำฝังอยู่ในร่องรอบแกนโรเตอร์ ที่ทำจากแผ่นเหล็กซิลิคอน(Silicon Steel Sheet) ขนาดหนาประมาณ 0.35 - 0.5 มิลลิเมตร นำมาอัดแน่นโดยระหว่างแผ่นเหล็กซิลิคอนจะมีฉนวนเคลือบ ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าไหลวน (Eddy Current) ภายในแกนเหล็กของโรเตอร์จะได้รับไฟฟ้ากระแสตรงจากเอ็กไซเตอร์(Excitor) เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้น อีกส่วนหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าคือส่วนที่อยู่กับที่ เรียกว่า สเตเตอร์(Stator) ภายในร่องแกนสเตเตอร์ มีขดลวดซึ่งทำจากแผ่นเหล็กอัดแน่นเช่นเดียวกับโรเตอร์ฝังอยู่ อาศัยหลักการของการเคลื่อนที่ของแม่เหล็กผ่านลวดตัวนำ จะทำให้เกิดการเหนี่ยวนำแรงดันไฟฟ้าที่สเตเตอร์และนำแรงดันไฟฟ้านี้ไปใช้ต่อไป

           อุปกรณ์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือ เอ็กไซเตอร์อยู่แกนเดียวกับโรเตอร์ ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้ากระแสตรงป้อนให้แก่ โรเตอร์ (D.C. Exciting Current) เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กขึ้นบน โรเตอร์ ชนิดของเอ็กไซเตอร์ จะเป็นแบบไฟฟ้ากระแสตรง หรืออาจจะใช้แบบกระแสสลับ แล้วผ่านวงจรแปลงไฟฟ้าให้เป็นกระแสตรงก่อนป้อนเข้าสู่โรเตอร์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่มักจะใช้ เอ็กไซเตอร์ชนิดหลัง เป็นส่วนมาก 
การควบคุมแรงดันไฟฟ้าของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สามารถกระทำได้โดยการปรับความเข้ม

            ของสนามแม่เหล็กที่โรเตอร์ สร้างขึ้นด้วยการปรับกระแสไฟฟ้าตรงที่ป้อนให้กับโรเตอร์ ส่วนความถี่ของไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่าง คือ ความเร็วรอบที่โรเตอร์หมุน ยิ่งหมุนรอบมากความถี่ไฟฟ้าก็จะยิ่งสูง และจำนวนขั้วแม่เหล็กไฟฟ้าที่สร้างขึ้นบนโรเตอร์ ยิ่งมีขั้วมากเท่าไร ความถี่ไฟฟ้าก็จะมากขึ้นตาม

            ด้านประสิทธิภาพ มิใช่อยู่ที่ตัวเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเท่านั้น ต้องควบคุมการผลิตไฟฟ้าให้ได้ระดับแรงดันและความถี่อยู่ในเกณฑ์กำหนดด้วย ดังนั้น ความเร็วรอบหมุนและสนามแม่เหล็กที่สร้างขึ้นบนโรเตอร์จึงต้องได้รับการควบคุมอยู่เสมอ โดยจะมีตัวโกเวอร์เนอร์(Governor) ควบคุมความเร็วรอบให้คงที่ ถ้าความเร็วรอบลดลงก็จะส่งสัญญาณไปยังแหล่งต้นกำลังงาน ให้เพิ่มกำลังในการหมุนมากขึ้นเพื่อเข้าสู่สภาวะปกติต่อไป   ( มงคล  ทองสงคราม, 2544)

# ไฟฟ้าในประเทศไทย

            ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ความถี่ 50 เฮิร์ตซ์ มีทั้งระบบ 1 เฟส แรงดัน 220 โวลต์ ซึ่งใช้ในบ้านอยู่อาศัย และระบบ 3 เฟส แรงดัน 380 โวลต์ ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และแรงดันขนาด  11,  22, 33, 69, 115, 230 และ 500 กิโลโวลต์ สำหรับการส่งจ่ายไฟฟ้าภายในประเทศ  ความถี่ 50 เฮิร์ตซ์ คือ ใน 1 วินาที ขั้วแม่เหล็กเหนือและขั้วแม่เหล็กใต้ จะหมุนครบรอบตัดผ่านขดลวดตัวนำบนสเตเตอร์ครบ 50 ครั้ง ในกรณีที่โรเตอร์มีขั้วแม่เหล็ก 2 ขั้ว ความเร็วรอบของโรเตอร์จะหมุน 3,000 รอบต่อนาที แต่ถ้ามีขั้วแม่เหล็ก 4 ขั้ว ความเร็วรอบจะลดลงเหลือ 1,500 รอบต่อนาที โดยมีความถี่คงที่   ( การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  https://www.egat.or.th )

 # แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า

            ไฟฟ้าไม่ใช่แหล่งพลังงาน แต่เป็นเพียงพลังงานแปรรูปที่สะอาด และใช้ได้สะดวกรูปหนึ่งเท่านั้น สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานอื่นๆ  ได้ง่าย เช่น แสงสว่าง เสียง ความร้อน พลังงานกล เป็นต้น ทั้งยังสามารถส่งไปยังระยะทางไกลได้อย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ไฟฟ้ามีความเร็วใกล้เคียงกับแสง ในระยะทาง 100 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 1 ใน 3,000 วินาที ดังนั้นจึงส่งไปถึงผู้ใช้งานได้ตลอดเวลา

            สำหรับแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่แท้จริงก็  คือ พลังงานที่นำมาใช้ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้หมุนตลอดเวลาหากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหยุดหมุน การผลิตไฟฟ้าจะหยุดไปด้วย

          การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

        1.  ประเภทไม่ใช้เชื้อเพลิง

             1.1  โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากน้ำในอ่างเก็บน้ำ หรือจากลำห้วยที่อยู่ในระดับสูงๆ
             1.2  โรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติจากต้นพลังงานที่ไม่หมดสิ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พิภพ

        2. ประเภทใช้เชื้อเพลิง

             2.1 โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านลิกไนต์ หรือน้ำมันเตา เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนแก่น้ำจนเดือดเป็นไอน้ำ นำแรงดันจากไอน้ำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า 
             2.2  โรงไฟฟ้าพลังความร้อน ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดีเซลมาสันดาป ทำให้เกิดพลังงานกลต่อไป โรงไฟฟ้าประเภทนี้ ได้แก่  โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส ใช้แก๊สธรรมชาติหรือน้ำมันดีเซล   โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดีเซล   โรงไฟฟ้าดีเซล ใช้น้ำมันดีเซล

 #  หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ

               หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าประเทศต่าง ๆ  (นภัทร  วัจนเทพินทร์. 2550). มีดังนี้

          1.  โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

            เป็นการนำทรัพยากรน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าโดยอาศัยความเร็วและแรงดันสูงมาหมุนกังหันน้ำ มีขั้นตอนดังนี้ 
          1. น้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ในระดับสูงกว่าโรงไฟฟ้าทำให้มีแรงดันน้ำสูง
          2. ปล่อยน้ำในปริมาณที่ต้องการเข้ามาตามท่อส่งน้ำ เพื่อส่งไปยังอาคารโรงไฟฟ้าที่อยู่ต่ำกว่า
          3. น้ำจะไหลเข้าเครื่องกังหันน้ำ ผลักดันใบพัดทำให้กังหันน้ำหมุน
          4. เพลาของเครื่องกังหันน้ำต่อกับเพลาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำให้ โรเตอร์หมุน เกิดการเหนี่ยวนำขึ้นในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ได้พลังงานไฟฟ้าออกมาใช้งาน

        2.  โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ

             เป็นการแปรสภาพพลังงานเชื้อเพลิงไปเป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ไอน้ำเป็นตัวกลาง ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้  น้ำมันเตา ถ่านลิกไนต์ และก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีลำดับการทำงานดังนี้ 
            1. เผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้เกิดการเผาไหม้ทางเคมีได้พลังงานความร้อน
            2. นำความร้อนที่ได้ไปต้มน้ำ เพื่อให้กลายเป็นไอน้ำที่อุณหภูมิและความดันที่ต้องการ
            3. ส่งไอน้ำเข้าไปหมุนเครื่องกังหันไอน้ำ ซึ่งมีเพลาต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้โรเตอร์หมุนเกิดการเหนี่ยวนำขึ้นในเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ได้พลังงานไฟฟ้าออกมาใช้งาน

            สำหรับในต่างประเทศ นอกจากเชื้อเพลิงที่ประเทศไทยใช้อยู่ ยังมีการใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ถ่านหินคุณภาพดี เช่น แอนทราไซต์ และบิทูมินัส เป็นต้น

       3.  โรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส

            เครื่องกังหันแก๊สเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน เปลี่ยนสภาพพลังงานเชื้อเพลิงเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้ 
         1. อัดอากาศให้มีความดันสูง   8 – 10  เท่า
         2. ส่งอากาศนี้เข้าห้องเผาไหม้ โดยมีเชื้อเพลิงทำการเผาไหม้
         3. อากาศในห้องเผาไหม้เกิดการขยายตัว ทำให้มีแรงดันและอุณหภูมิสูง
         4.  ส่งอากาศนี้ไปหมุนเครื่องกังหันแก๊ส
         5.  เพลาของเครื่องกังหัสแก๊สจะต่อผ่านชุดเกียร์ เพื่อทดรอบก่อนต่อเข้ากับเพลาของเครื่องกังหันไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้ความเร็วรอบของมอเตอร์หมุนอยู่ในพิกัดที่กำหนด เมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนจึงเกิดการเหนี่ยวนำ ผลิตแรงดันและกระแสไฟฟ้าออกมาใช้งาน

       4.  โรงไฟฟ้าระบบความร้อนร่วม

            เป็นโรงไฟฟ้าที่ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 2 ระบบร่วมกัน คือ โรงไฟฟ้ากังหันแก๊สและโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ โดยนำความร้อนจากไอเสียที่ออกจากเครื่องกังหันแก๊สซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึงประมาณ 550 องศาเซลเซียส มาใช้แทนเชื้อเพลิงในการต้มน้ำของโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ เพื่อใช้ไอเสียให้เกิดประโยชน์ โดยมีหลักการทำงานดังนี้ 
        1.  นำไอเสียจากเครื่องกังหันแก๊สหลายๆเครื่องมาใช้ต้มน้ำในโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ
        2.  ไอน้ำได้จากการต้มน้ำจะไปดันเครื่องกังหันไอน้ำทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุน ผลิตไฟฟ้าออกมาได้เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไป
       3. กำลังผลิตที่ได้จากโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ จะเป็นครึ่งหนึ่งของกำลังผลิตรวมของโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สที่เดินเครื่องอยู่

       การผลิตไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าระบบความร้อนร่วมนี้ จะทำการผลิตร่วมกันหากเกิดเหตุ ขัดข้องที่โรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำ ก็ยังคงเดินเครื่องกังหันแก๊สได้ตามปกติ โดยการเปิดให้ไอเสียออกสู่อากาศโดยตรง แต่หากเกิดเหตุขัดข้องกับเครื่องกังหันแก๊สเครื่องใดเครื่องหนึ่ง กำลังผลิตที่ได้ก็จะลดลงตามส่วน และถ้าเครื่องกังหันแก๊สทุกตัวหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากังหันไอน้ำที่ใช้ร่วมกันก็จะต้องหยุดเดินเครื่องด้วย

        5.  โรงไฟฟ้าดีเซล

            เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง มีหลักการทำงานเหมือนกับเครื่องยนต์ในรถยนต์ทั่วไป โดยอาศัยหลักการสันดาปของน้ำมันดีเซลที่ถูกฉีดเข้าไปในกระบอกสูบของเครื่องยนต์ที่ถูกอัดอากาศจนมีอุณหภูมิสูง ซึ่งเราเรียกว่าจังหวะอัด ในขณะเดียวกัน น้ำมันดีเซลที่ถูกฉีดเข้าไปจะเกิดการสันดาปกับความร้อนและเกิดระเบิด ดันให้ลูกสูบเคลื่อนที่ลงไปหมุนเพลาข้อเหวี่ยงซึ่งต่อกับเพลาของเครื่องยนต์ ทำให้เพลาของเครื่องยนต์หมุน เครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งเชื่อมต่อกับเพลาของเครื่องยนต์ก็จะหมุนตาม และผลิตไฟฟ้าออกมา 

 

         ประเด็นคำถาม เพื่อนำไปสู่  การอภิปราย เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิด  ในห้องเรียน

         1.      นักเรียนอ่านบทความข้างตนแล้วมีความรู้สึกอย่างไร
         2.      ทำไมไฟฟ้าในประเทศไทยจึงไม่เพียงพอ
         3.      ทำไมประเทศไทยจึงไม่สามารถสร้างเขื่อนเพิ่มต่อไปได้
         4.      สภาพดุลการค้าในอนาคตของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตจะเป็นอย่างไร
         5.      ถ้าประเทศเพื่อนบ้านสร้างเขื่อนตามโครงการที่กำหนดไว้จะกระทบต่อสภาพแวดล้อมในอนาคต ของภูมิภาคนี้อย่างไร

        กิจกรรมเสนอแนะ

         1.      ให้นักเรียนได้มีโอกาสได้ไปทัศนศึกษา  แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่อยู่ใกล้ท้องถิ่นของท่านและศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน  หรือการตั้งโรงไฟฟ้า
         2.      ให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายและศึกษาผลดี  ผลเสีย  จากการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
         3.      ให้นักเรียนศึกษาและจัดทำโครงงาน  พลังงานทดแทน  พลังงานไฟฟ้า

       การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้  อื่นๆ  ได้แก่

          1.      กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  ได้แก่  

                  1.      เศรษฐศาสตร์    เศรษฐกิจพอเพียง
                  2.      ทรัพยาการธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อม  ท้องถิ่นของเรา
                  3.      เอเชีย  และ อาเซียน  ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
                  4.      คุณธรรมจริยธรรม

          2.       กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ  จาก คำศัพท์ต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง  เช่น 

                 1.         กระแสไฟฟ้า  (Electric  current)
                 2.         แหล่งกำเนิดไฟฟ้า (Source of eletromotive force)
                 3.         แม่เหล็ก (Magnet) 
                 4.         สนามแม่เหล็ก (Magnetic field)

 

 

อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล

      แหล่งที่มา :  เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552

                        https://www.trf.or.th/News/Content.asp?Art_ID=1222

       นภัทร  วัจนเทพินทร์. (2550). การผลิตไฟฟ้า  โรงไฟฟ้า  และพลังงานทดแทน . 
                  กรุงเทพมหานคร : บริษัท  สกายบุ๊กส์ จำกัด

        มงคล  ทองสงคราม. (2544). เครื่องกลไฟฟ้ากระแสสลับ. กรุงเทพมหานคร : วิ.เจ.พริ้นดิ้ง.

       สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.(2547). ฟิสิกส์ เล่ม 3   ช่วงชั้นที่ 4.  
                กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว

 อ้างอิงแหล่งที่มาของรูปภาพ

รูปโรงงานไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล 1

https://tbn0.google.com/images?q=tbn:pz1k2EL60A5QEM:https://www.pantown.com/data/10219/album26/full/2006-07-21-135326.jpg

รูปโรงงานไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล 2

https://tbn3.google.com/images?q=tbn:qKkTCJDszyflaM:https://www.rakbankerd.com/kaset/Plant/346_1.jpg

รูปโรงงานไฟฟ้าเขื่อนสิริกิติ์  1

https://tbn1.google.com/images?q=tbn:OpI5KKGueq3ZuM:https://www.uttaradit.go.th/tour/thapa/picture/60-04%2520copy%2520100.jpg

รูปโรงงานไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์

https://tbn3.google.com/images?q=tbn:Iagfi9olyYssjM:https://www.erawancity.com/images/1136972403/khean.jpg

รูปโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะ

https://tbn2.google.com/images?q=tbn:xXGW6YakH5nLpM:https://maemoh.egat.com/images/maemoh.jpg

คุณสามารถศึกษา รายละเอียดเกี่ยวกับ แม่เหล็กไฟฟ้า เพิ่มเติม ได้ที่นี่

ลักษณะเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2

https://tbn0.google.com/images?q=tbn:BpR4v5xq04UwxM:https://www.friendthai.com/Classifieds/item/H04046434.jpg

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า(Generator)

https://tbn2.google.com/images?q=tbn:MTOuWmhS16IhmM:https://lmputw.bay.livefilestore.com/y1pvyCl9NI5AvHeasw11OtHHuaLgvirG4aak8NRzZGqkRYzofUe7J4RRfaxaljpQt7pQJlwU5QcM2_2kiUHPNKEug

คุณสมบัติและแรงแม่เหล็ก

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-1-2.htm

เส้นแรงแม่เหล็ก

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-1-3.htm

สนามแม่เหล็กโลก

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-1-4.htm

สนามแม่เหล็กที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-2.htm

สนามแม่เหล็กจากเส้นลวดยาวมีกระแสไฟฟ้า

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-2-1.htm

สนามแม่เหล็กจากเส้นลวดขดเป็นวงกลม

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-2-2.htm

สนามแม่เหล็กจากขดลวดโซลีนอยด์และขดลวดทอรอยด์

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-2-3.htm

ฟลั๊กแม่เหล็ก

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-2-4.htm

แรงกระทำต่ออนุภาคไฟฟ้าที่เคลื่อนที่ในสนามแม่เหล็ก

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-3.htm

แรงกระทำต่อขดลวดมีกระแสไฟฟ้า

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-4-2.htm

มอเตอร์ไฟฟ้า

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-4-3.htm

กระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำจากสนามแม่เหล็กเปลี่ยนค่า

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-5-1.htm

กระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำจากเส้นลวดเคลื่อนที่ตัดสนามแม่เหล็ก

https://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/electromagnetic1/index/index3-5-2.htm

ชัยชาญ  พรวญหาญ
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าอุตรดิตถ์

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=24

อัพเดทล่าสุด