ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถูกมองว่าเกิดจากสภาวะเรือนกระจก สภาวะดังกล่าวเลวร้ายต่อโลกจริงหรือ...
ภาวะเรือนกระจก...มุมดีๆที่ถูกมองข้าม
รูปจาก kapook.com
คณะนักวิทยาศาสตร์ของ "เจต โพรพัลชั่น แลปบอราทอรี่" ขององค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐฯหรือนาซ่า กับ มหาวิทยาลัยโคโลราโด ออกแถลงการณ์ว่า อุณหุภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น ได้ส่งผลให้ชั้นหิมะ ซึ่งปกคลุมพื้นที่ซึ่งมีขนาดเท่ากับรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ บนทวีปแอนตาร์คติก้าละลาย เป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบการละลายของหิมะเป็นปริมาณมากขนาดนี้บนแอนตาร์กติกา ซึ่งบ่งชี้ถึงผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นการละลายของแผ่นน้ำแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานพอที่จะทำให้น้ำที่เกิดจากการละลายไหลลงสู่ทะเล แต่เขาเตือนว่าหากเกิดการละลายของแผ่นน้ำแข็งในแถบนั้นเป็นเวลานานๆ หรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อโลกได้ (ที่มา: Kapook.com)
จากข่าวพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ปรากฏข่าวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่เกิดจากความแปรปวนของสภาพอากาศของโลกที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ปรากฏการณ์เหล่านี้นักวิทยาศาสตร์ได้ให้เหตุผลเกิดจากภาวะโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น (Global Warming) โดยภาวะโลกร้อนเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจคือภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งเท่ากับเป็นผู้ร้ายในสายตาของคนทั่วไป แต่รู้หรือไม่ว่าภาวะเรือนกระจกที่เรากล่าวถึงก็มีประโยชน์ต่อโลกของเรามากเช่นกัน มีประโยชน์อย่างไรนั้นมาดูกันครับ.....
ภาวะเรือนกระจกคืออะไร ?
รูปจาก blog.spu.ac.th
ภาวะเรือนกระจก หรือ Greenhouse Effect คือ ปรากฏการณ์ที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจาก พลังงานแสงอาทิตย์ ในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดที่สะท้อนกลับถูกดูดกลืนโดยโมเลกุลของ ไอน้ำ และแก๊สบางชนิดในบรรยากาศทำให้โมเลกุลเหล่านี้มีพลังงานสูงขึ้นมีการถ่ายเทพลังงานซึ่งกันและกันทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น การถ่ายเทพลังงานและความยาวคลื่นของโมเลกุลเหล่านี้ต่อๆกันไปในบรรยากาศทำให้โมเลกุลเกิดการสั่นการเคลื่อนไหว ตลอดเวลาและมาชนถูกผิวหนังของเรา ทำให้เรารู้สึกร้อน
พลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีทั้งรังสีคลื่นสั้นและคลื่นยาว ชั้นบรรยากาศของโลก ทำหน้าที่ปกป้องรังสีคลื่นสั้น ไม่ให้ลงมาทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกได้ โดยชั้นไอโอโนสเฟียร์จะมีโมเลกุลของแก๊สไนโตรเจนและออกซิเจนในบรรยากาศชั้นบนสุด ดูดกลืนรังสีแกมมาและรังสีเอ็กซ์ จนทำให้อะตอมของแก๊สในบรรยากาศชั้นบนมีอุณหภูมิสูง และแตกตัวเป็นประจุ ชั้นสตราโตสเฟียร์จะมีแก๊สโอโซนดูดกลืนรังสีอุลตราไวโอเล็ต ชั้นโทรโปสเฟียร์ รังสีอินฟราเรดถูกดูดกลืนโดยแก๊สเรือนกระจก เช่น ไอน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ใน ส่วนคลื่นไมโครเวฟและคลื่นวิทยุในบางความถี่ และแสงแดดหรือแสงที่ตามองเห็นสามารถส่องลงมาถึงพื้นโลก
รูปจาก LESA
ภาวะเรือนกระจกกับการควบคุมภูมิอากาศของโลก
โลกจะมีกลไกในการควบคุมอุณหภูมิให้มีความเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โดยอาศัยชั้นบรรยากาศของโลกประกอบด้วย แก๊สไนโตรเจน 78% แก๊สออกซิเจน 21% แก๊สอาร์กอน 0.9% นอกนั้นเป็น ไอน้ำ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนเล็กน้อย ซึ่งแก๊สโมเลกุลใหญ่ เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน แม้จะมีอยู่ในบรรยากาศเพียงเล็กน้อย กลับมีความสามารถในการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด และมีอิทธิพลทำให้อุณหภูมิของโลกอบอุ่น เราเรียกแก๊สพวกนี้ว่า “แก๊สเรือนกระจก” (Greenhouse gas)
ภาวะดังกล่าวทำให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ย 15°C อุณหภูมิเวลากลางวันและกลางคืนบนโลกแตกต่างกันประมาณ 10 - 20°C ซึ่งแตกต่างจากดวงจันทร์ที่ไม่มีบรรยากาศทำให้ด้านที่รับแสงอาทิตย์ของดวงจันทร์มีอุณหภูมิสูงถึง 130°C และด้านเงามืดมีอุณหภูมิต่ำถึง -180°C
รูปจาก LESA
ดังนั้นกลางวันและกลางคืนบนดวงจันทร์จึงมีอุณหภูมิแตกต่างกันถึง 310°C การที่กลางวันและกลางคืนบนโลกไม่แตกต่างกันมากเป็นเพราะ โลกมีการถ่ายเทพลังงานในชั้นบรรยากาศ ในเวลากลางวันเมฆและบรรยากาศจะช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ส่วนหนึ่งออกไป ทำให้อุณหภูมิไม่สูงมาก และรังสีอินฟราเรดที่แผ่ออกมาจากไอน้ำและก๊าซเรือนกระจก ช่วยรักษาอุณหภูมิไว้ไม่ให้ต่ำมากเวลากลางคืน ส่วนบนดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ ในหมุนเวียนพลังงาน และพาความร้อน กลางวันและกลางคืนจึงมีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก
รูปจาก LESA
จะเห็นได้ว่าภาวะเรือนกระจกมีคุณประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกในหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้
1. ช่วยให้โลกมีความอบอุ่น เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต
2. ช่วยลดความแตกต่างของอุณหภูมิในเวลากลางวันและกลางคืนของโลก
3. ช่วยให้น้ำบนพื้นโลกมีครบทั้งสาม สถานะ
4. ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นหาดาวเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิต โดยอาศัยการตรวจสอบสเปคตรัมของก๊าซเรือนกระจก
คำถาม
1. ปรากฏการณ์เรือนกระจกคืออะไร
2. สภาวะเรือนกระจกเกิดจากสาเหตุใด
3. แก๊สเรือนในชั้นบรรยากาศประกอบด้วยแก๊สชนิดใดบ้าง และแต่ละชนิดมีประโยชน์อย่างไร
4. เพราะเหตุใดอุณหภูมิกลางวันและกลางคืนของดวงจันทร์จึงมีความแตกต่างกันมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับโลก
5. โลกร้อนมีความสัมพันธ์กับภาวะเรือนกระจกอย่างไร
กิจกรรมเสนอแนะ
- การสืบค้นความรู้เกี่ยวกับโลกร้อน
- กิจกรรมการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก
- กิจกรรมการรีไซเคิล
- การโต้วาทีเรื่องภาวะโลกร้อน
- กิจกรรมเขียวเรียงความ คำขวัญ วาดภาพ รณรงค์ลดโลกร้อน
แหล่งที่มา:
https://hilight.kapook.com/imghilight4/61608_225.jpg
https://blog.eduzones.com/nunthida/1559
https://blog.spu.ac.th/spufcontent5/2008/08/29/entry-1
https://blog.spu.ac.th/home/blog_data/669/669/images/greenhouseeffect.jpg
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87
https://www.lesa.in.th/5/greenhouse/greenhouse/incoming_rays_s.gif
https://blog.eduzones.com/yimyim/3239
https://www.lesa.in.th/5/greenhouse/greenhouse/day_night_s.gif
https://www.lesa.in.th/5/greenhouse/greenhouse/gh_benefit_s.gif
เขียนโดย
นายเวียงชัย แสงทอง
ตำแหน่งครู
สพท.อุบลราชธานี เขต 2
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=38