มาเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่พอเพียงกันเถอะค่ะ...
และแล้วก็มาถึงตอนสุดท้ายที่เราจะมากล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ทางตรงกันบ้าง หลังจากที่ได้กล่าวถึงการใช้ประโยชน์ทางอ้อมกันมาแล้วในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์นี้ถือเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) สามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่สิ้นสุดและมีลักษณะกระจายไปถึงผู้ใช้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดปราศจากมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและตามปกติมนุษย์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ตามธรรมชาติในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่น การในการถนอมอาหารในลักษณะของการทำให้แห้งโดยการตากแดด เป็นต้น
ภาพจาก กระทรวงพลังงาน
เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์จำแนกเป็น 2 รูปแบบ คือ เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน
1. เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จำแนกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์และระบบผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนแสงอาทิตย์
1) ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยการใช้สารกึ่งตัวนำที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเพื่อปล่อยประจุไฟฟ้า ซึ่งเป็นอนุภาคที่ถูกชาร์จที่ขั้วลบ สารกึ่งตัวนำที่ใช้กันมากที่สุดในเซลล์แสงอาทิตย์ คือ ซิลิกอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบโดยทั่วไปในทราย เซลล์แสงอาทิตย์ทุกชิ้นมีสารกึ่งตัวนำดังกล่าว 2 ชั้น ชั้นหนึ่งถูกชาร์จที่ขั้วบวก อีกชั้นหนึ่งถูกชาร์จที่ขั้วลบ เมื่อแสงส่องมายังสารกึ่งตัวนำ สนามไฟฟ้าที่แล่นผ่านส่วนที่ 2 ชั้นนี้ตัดกันทำให้ไฟฟ้าลื่นไหล ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าสลับ ยิ่งแสงส่องแรงมากเท่าใด ไฟฟ้าก็ลื่นไหลมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นระบบเซลล์แสงอาทิตย์จึงไม่ต้องการแสงอาทิตย์ที่สว่างในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังผลิตไฟฟ้าในวันเมฆมากได้ด้วย เนื่องจากผลิตไฟฟ้าได้สัดส่วนกับความหนาแน่นของเมฆ นอกจากนี้วันที่มีเมฆน้อยยังผลิตพลังงานได้สูงขึ้นกว่าวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสปราศจากเมฆ เนื่องจากแสงอาทิตย์สะท้อนมาจากเมฆ การใช้เซลล์แสงอาทิตย์ขนาดเล็กมากให้พลังงานให้กับอุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น เครื่องคิดเลขเซลล์แสงอาทิตย์ นอกจากนี้เซลล์แสงอาทิตย์ยังใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่ไม่มีสายส่งไฟฟ้าได้อีกด้วย
2) ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนแสงอาทิตย์ เป็นระบบที่ทำการรวมแสงไว้ที่วัตถุรับแสงโดยใช้กระจกหรือวัสดุสะท้อนแสงและหมุนตามดวงอาทิตย์เพื่อสะท้อนแสง และส่งไปยังตัวรับแสงซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานที่มีอุณหภูมิสูง
ดังนั้นจากการที่กลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชน ตำบลบางขุนไทร จังหวัดเพชรบุรี ได้คิดค้นวิธีทำน้ำมันไบโอดีเซลที่ประหยัดและไม่ทำลายสุขภาพ โดยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการต้มด้วยแก๊ส ซึ่งใช้เวลาในการทำประมาณ 10 - 14 วัน นั้น (ข่าวจากสำนักข่าวไทย - 15 เมษายน 2552) จึงเป็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ในทางตรงนั่นเอง
ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบผสมผสาน
ภาพจาก กระทรวงพลังงาน (https://www.energy.go.th)
2. เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เทคโนโลยีอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และ เทคโนโลยีการผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
1) เทคโนโลยีอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- การอบแห้งโดยใช้พลังงานเฉพาะจากดวงอาทิตย์ คือ ระบบที่เครื่องอบแห้งทำงานโดยอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งประกอบด้วยวัสดุโปร่งใส ความร้อนที่ใช้ได้มาจากการดูดกลืนพลังงานแสงอาทิตย์นั่นเอง
- การอบแห้งระบบความร้อนผสมผสาน คือระบบอบแห้งที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และยังต้องอาศัยพลังงานในรูปแบบอื่นๆ ด้วย
2) เทคโนโลยีการผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- การผลิตน้ำร้อนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงรับความร้อน ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ถังเก็บน้ำร้อน และแผงรับความร้อนแสงอาทิตย์
- การผลิตน้ำร้อนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน เป็นการผลิตน้ำร้อนจากแสงอาทิตย์มาผสมผสานกับความร้อนเหลือทิ้งจากการระบายความร้อนจองเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศ
เทคโนโลยีผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทตามระดับอุณหภูมิ ได้แก่ ระบบผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่อุณหภูมิสูงกว่า 100 0C และระบบผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 100 0C
สำหรับรูปแบบการใช้งานเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อนในประเทศไทยมีการใช้งานในรูปแบบต่างๆ เช่น เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องอบแห้ง เป็นต้น
ตู้อบแห้งแบบเรือนกระจก
ภาพจาก กระทรวงพลังงาน (https://www.energy.go.th)
ประเด็นคำถาม
- พลังงานแสงอาทิตย์มีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง
- สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง
- เรามีวิธีการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานในรูปแบบอื่นได้กี่วิธี อย่างไรบ้าง
กิจกรรมเสนอแนะ
ศึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้งานด้วยระบบเซลล์แสงอาิทิตย์
การบูรณาการกับกลุ่มสาระ : การงานอาชีพและเทคโนโลยี (สิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์)
ศิลปะ (การออกแบบสิ่งประดิษฐ์พลังงานแสงอาทิตย์)
เนื้อหาของบทความนี้เหมาะสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เ่รื่อง พลังงานไฟฟ้า ระดับช่วงชั้นที่ 2 ช่วงชั้นที่ 3 และผู้ที่สนใจทั่วไป
>>>>>>> อ่านบทความเก่า
พลังงานแสงอาทิตย์...สู่ชีวิตพอเพียง ตอน 1 พลังงานแสงอาทิตย์...สู่ชีวิตพอเพียง ตอน 2
ขอบคุณข้อมูลจาก
กระทรวงพลังงาน
กรีนพีซ (https://www.greenpeace.or.th)
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=117