มองพิศสกิดเส้นใย


1,060 ผู้ชม


เสื้อผ้าที่สวมใส่ มาจากเส้นใยที่แตกต่างกัน รู้ไหมเสื้อผ้าหรือสไตล์การแต่งตัวของท่าน เป็นแบบใดค้นหาคำตอบได้ที่นี่   

มองพิศสกิดเส้นใย ..... แต่งกายสไตล์สวยใส

มองพิศสกิดเส้นใย
( ละคร : ดงผู้ดี)

              จากละครทีวีที่เราชอบดูกัน  สังเกตไหมว่าตัวละครต่าง ๆ มีการแต่งกายที่แตกต่างกัน  การแต่งกายให้ดูดี  เป็นสิ่งที่ทุกท่านต้องการใช่ไหม  ก่อนที่เราจะแต่งกายหรือเลือกเครื่องแต่งกายสิ่งที่สำคัญที่เราควรทำความรู้จักกันก่อน คือ เสื้อผ้าซึ่งทำจากเส้นใยชนิดต่าง ๆ กันก่อน 

ความหมายของเส้นใย

               เส้นใย   หมายถึง  วัสดุหรือสารใดๆทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น ที่มีอัตราส่วนระหว่างความยาวต่อเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับหรือมากกว่า 100   สามารถขึ้นรูปเป็นผ้าได้ และต้องเป็นองค์ประกอบที่เล็กที่สุดของผ้า ไม่สามารถแยกย่อยในเชิงกลได้อีก
ประเภทของเส้นใย  (ตามแหล่งกำเนิด) แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ ( ที่มา : www.ceramic.lpru.ac.th )
1. เส้นใยจากธรรมชาติ ได้แก่ เส้นใยที่มีอยู่ในธรรมชาติ แบ่งได้เป็น  3 ชนิด คือ
         1) เส้นใยจากพืช  เป็นเส้นใยที่ประกอบด้วยเซลลูโลส   ซึ่งได้จากส่วนต่างๆของพืช เช่น ป่าน ปอ ลินิน ใยสับปะรด ใยมะพร้าว ฝ้าย นุ่น ศรนารายณ์ เป็นต้น   เซลลูโลส เป็น โฮโมพอลิเมอร์ ประกอบด้วยโมเลกุลของกลูโคสจำนวนมาก มีโครงสร้างเป็นกิ่งก้านสาขา
         2) เส้นใยจากสัตว์  ได้แก่ เส้นใยโปรตีน เช่น ขนสัตว์ (wool) ไหม (silk) ผม (hair)  เล็บ เขา ใยไหม เป็นต้น เส้นใยเหล่านี้ มีสมบัติ คือ เมื่อเปียกน้ำ ความเหนียวและความแข็งแรงจะลดลงถ้าสัมผัสแสงแดดนานๆ จะสลายตัว
         3) เส้นใยจากสินแร่  เช่น แร่ใยหิน (asbestos) ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมี ทนไฟ ไม่นำไฟฟ้า
2. เส้นใยกึ่งสังเคราะห์ เป็นเส้นใยที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น โดยใช้วัสดุธรรมชาติ ทำปฏิกิริยากับสารเคมีเกิดเป็นสารใหม่  เช่น เซลลูโลสอะซิเตด  วิสคอสเรยอง แบมเบอร์กเรยอง เป็นต้น
3. เส้นใยสังเคราะห์ เป็นเส้นใยที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นจากสารอนินทรีย์หรือสารอินทรีย์ใช้ทดแทนเส้นใยจากธรรมชาติ แบ่งเป็น 3 ประเภท
        1) เส้นใยพอลิเอสเตอร์ เช่น เทโทรอน ใช้บรรจุในหมอน เพราะมีความฟูยืดหยุ่นไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง สำหรับดาครอน (Dacron) เป็นเส้นใยสังเคราะห์พวกพอลิเอสเทอร์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Mylar มีประโยชน์ทำเส้นใยทำเชือก และฟิล์ม
       2) เส้นใยพอลิเอไมด์ เช่น ไนลอน (Nylon) เป็นพอลิเมอร์สังเคราะห์มีหลายชนิด เช่น ไนลอน 6,6 ไนลอน 6,10 ไนลอน 6 ซึ่งตัวเลขที่เขียนกำกับหลังชื่อจะแสดงจำนวนคาร์บอนอะตอมในมอนอเมอร์ของเอมีนและกรดคาร์บอกซิลิก ไนลอนจัดเป็นพวกเทอร์มอพลาสติก มีความแข็งมากกว่าพอลิเมอร์แบบเติมชนิดอื่น  เป็นสารที่ติดไฟยาก (เพราะไนลอนมีพันธะ C-H ในโมเลกุลน้อยกว่าพอลิเมอร์แบบเติมชนิดอื่น) ไนลอนสามารถทดสอบโดยผสมโซดาลาม (NaOH + Ca(OH)2)  หรือเผาจะให้ก๊าซแอมโมเนีย ประโยชน์ของไนลอน ใช้ในการทำเสื้อผ้า ถุงเท้า ถุงน่อง ขนแปรงต่างๆ สายกีต้าร์ สายเอ็น ไม้แร็กเก็ต เป็นต้น 
       3) เส้นใยอะคริลิก เช่น ออร์ใช้ในการทำเสื้อผ้า ผ้านวม ผ้าขนแกะเทียม ร่มชายหาด หลังคากันแดด ผ้าม่าน พรม เป็นต้น
4)เซลลูโลสแอซีเตด เป็นพอลิเมอร์ที่เตรียมได้จากการใช้เซลลูโลสทำปฏิกิริยากับกรดอซิติกเข้มข้น โดยมีกรอซัลฟูริกเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา การใช้ประโยชน์จากเซลลูโลสอะซีเตด เช่น ผลิตเป้นเส้นใยอาร์แนล 60 ผลิตเป็นแผ่นพลาสติกที่ใช้ทำแผงสวิตช์และหุ้มสายไฟ
ข้อดี ข้อเสียของเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์
      ข้อดีของเส้นใยธรรมชาติ
             1. สวมใส่สบาย
             2. ย่อยสลายง่าย
             3. ย้อมติดสีง่าย
             4. ระบายอากาศได้ดี
             5. เป็นทรัพยากรที่ไม่หมดสิ้น
             6. ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมธรรมชาติ 
             7. มีสมบัติที่ดีบางประการ
                   - น้ำหนักเบา 
                   - ไม่เป็นพิษ 
                   - เป็นฉนวนความร้อน / เสียงดี 
                   - มีศักยภาพในการเสริมแรงวัสดุอื่น 
                   - ย่อยสลายได้
        
ข้อเสียของเส้นใยธรรมชาติ
             1. อายุการใช้งานค่อนข้างสั้น
             2. ไม่ทนต่อการซักล้าง
             3. มีข้อจำกัดในการใช้งาน
             4. ปรับปรุงสมบัติได้น้อย
              5. คุณภาพไม่คงที่ 
              6. ราคาไม่คงที่ 
              7. ไม่ทนความร้อน 
              8. ดูดความชื้น 
              9. ติดไฟง่าย 
             10. เสียหายง่ายระหว่างการผลิต 
             11. มีข้อจำกัดในการนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่
      ข้อดีของเส้นใยสังเคราะห์
              1. นำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
              2. ทนต่อการซักล้าง
              3. สามารถปรับปรุงสมบัติได้หลากหลาย
      ข้อเสียของเส้นใยสังเคราะห์
             1. สวมใส่แล้วร้อน 
             2. ย่อยสลายยาก
             3. ระบายอากาศได้น้อย

ลักษณะเส้นใยกับการนำไปใช้
1.ลักษณะการทอ บ่งบอกถึงความทนของเนื้อผ้า
2.รอยยับ 
3.ลักษณะการเผาไหม้ 
4.การคลายความร้อน
5.การดูดทรัพย์ความชื้น
6.การติดทนนานของสีจากการย้อม

คุณสมบัติของผ้าเพื่อการเลือกใช้สอย  (ที่มา : www3.srp.ac.th)
     1. ผ้าฝ้าย  มีความมันน้อย ความเหนียวปานกลาง มีความยืดหยุ่นน้อยคงรูปดี ทนต่อความร้อน ด่างไม่ทนต่ออากาศ
     2. ผ้าใยลินิน  เป็นผ้าเส้นใยที่อยู่รวมกันเป็นหมู่และมีเนื้อเยื่อเหนียวกว่าใยฝ้าย 3 เท่า มีความมันเหมือนใยไหม ดูดซึมน้ำได้ดี ทนแสง และความร้อน ได้ดีเหมือนใยฝ้าย
     3. ผ้าใยรามี  มีความมันเหมือนไหม เหนียวกว่าใยฝ้าย 4 เท่า และเหนียวกว่าใยลินิน2 เท่า ดูดน้ำได้ดีแห้งเร็ว ทนต่อเห็ดและรา ทนต่อสารเคมี แต่ยับง่าย ยืดหยุ่นน้อย กระด้าง หักตามแนวพับ
     4. ผ้าป่าน  ปกติที่มีลักษณะเส้นใย อ่อนนุ่ม เส้นใยยาว เหนียว ระบายความร้อนได้ดี
     5. ผ้าใยสับปะรด  เส้นใยยาว มีความมันเหมือไหมมาก ประเทศฟิลิปปินส์เรียกผ้าไหมสับปะรด มีความเหนียวกว่าใยกล้วย 25 เท่า  และมีความเหนียวมา สีขาว นุ่ม แต่กระด้างเล็กน้อย
    6. ผ้าขนสัตว์  ความเหนียวปานกลาง เมื่อเปียกความเหนียวจะลดลง มีความมันมาก ทนต่อความร้อนปานกลาง ถ้าความร้อนสูงเส้นใยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง  ทนต่อกรดอ่อนๆไม่ทนต่อด่างและแสงอัตราไวโอเลต ทนต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี เส้นใยเปื่อย ขาดง่าย ไม่ทนต่อมอด  ทำความสะอาดโดยวีการซักแห้งและตากบนพื้นที่ราบ
     7. ผ้าไหม   เส้นใยเป็นมัน   นุ่ม ปรับตัวเองเข้ากับอุณหภูมิไม่ได้ ทำความสะอาดง่าย ดูดความชื้นได้น้อย  ทนต่อความร้อนได้มากกว่าขนสัตว์ ทนต่อด่างอ่อนๆ ไม่ทนต่อกรด ทนความร้อนปานกลาง ทนต่อเชื้อราได้ดี ถ้าเปื้อนทำความสะอาดทันที มิฉะนั้นจะเกิดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ทำให้ใยเปื่อยขาดง่าย
    8. ผ้าเส้นใยกึ่งสังเคราะห์
        - เส้นใยสังเคราะห์จากนม คล้ายใยขนสัตว์  เมื่อเปียกมีความเหนียวจะลดลง50 %ดูดความชื้นได้น้อย ทนต่อตัวแมลงต่างๆ 
        - เส้นใยสังเคราะห์จากข้าวโพด เส้นใยจะเหนียว เมื่อเปียกความเหนียวน้อยลง ไม่ขึ้นรา ตัวแมลงไม่กิน ทนต่อด่าง ทนความร้อนสูง 
       - เส้นใยสังเคราะห์จากถั่วลิสง  จะยืดหดน้อย ไม่เหนียว  คุณสมบัติคล้ายขนสัตว์มาก
    9. ผ้าเส้นใยสังเคราะห์  เส้นใยมีความเหนียวมาก ยืดหยุ่นและคงรูปดี ทนต่อด่าง เชื้อรา และแมลงได้ดี ทนต่อการเสียดสีดีเยี่ยม ไม่ทนต่อความร้อนสูง ไม่ดูดความร้อน ซักง่ายแห้งเร็ว
    10. ผ้าใยโพลีเอสเตอร์   ทนต่อแสงแดด มอดและรา ทนต่อการซักได้ดี ทนต่อความร้อน เกิดไฟฟ้าสถิต  ระบายความร้อนและดูดึวามชื้นได้น้อย

 การเลือกใช้เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย  
      1.รู้จักอำพรางส่วนที่บกพร่องของตนเอง และรู้จักเน้นในส่วนที่เป็นจุดเด่น
      2.รู้จักเลือกสีเสื้อผ้าให้เข้ากับสีผิวของตนเอง
      3.สวมใส่เสื้อผ้าที่มีความประณีต มีความสะอาด เรียบร้อย
      4.รักษาซ่อมแซมเสื้อผ้าให้อยู่ในสภาพดี
      5.เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับรูปร่าง โอกาส และกาลเทศะ

 การเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับโอกาส  
       ในการแต่งกายเราควรเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับโอกาส ดังนี้
        1.เสื้อผ้าสวมใส่อยู่กับบ้าน  ควรเลือกเสื้อผ้าที่สะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน เช่น ทำงานบ้าน นอนเล่น เป็นต้น ดังนั้น เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่กับบ้าน ควรเป็นเสื้อผ้าที่ตัวหลวมเล็กน้อย หรือไม่คับจนเกินไป สวมใส่สบาย
        2.เสื้อผ้าสวมใส่ไปทำงานหรือไปทำกิจธุระ  ควรเลือกที่หรูกว่าเสื้อผ้าอยู่กับบ้าน และเลือกแบบสุภาพ ปกปิดมิดชิดไม่เปิดเผย สำหรับผู้หญิงไม่ควรใส่เสื้อเปลือยไหล่ เสื้อสายเดี่ยว เสื้อรัดรูป ที่เน้นรูปทรง หรือมองเห็นทรวดทรงชัดเจนเพราะไม่สุภาพ ไม่ปลอดภัย และทำให้ผู้สวมใส่มีคุณค่าความงามทางความรู้สึกของผู้พบเห็นน้อยลง
         3.เสื้อผ้าสวมใส่ไปงานเลี้ยงต่างๆ  ควรเป็นแบบเก๋ หรือพิถีพิถันมากกว่าชุดทำงานหรือไปทำธุระ ควรเป็นแบบสุภาพไม่เปิดเผย  ควรเลือกกระเป๋า รองเท้า ให้เข้ากับชุดที่สวมใส่
         4. เสื้อผ้าสวมใส่ไปงานเลี้ยงกลางคืน  เลือกเสื้อผ้าที่หรูหราพอสมควร เช่น ตกแต่งด้วยเลื่อม หรือวัสดุอื่นที่ให้แสงวูบวาบ  ไม่ควรเปิดเผยทรวดทรงมากนัก เพาระธรรมเนียมประเพณีไทย ไม่นิยมให้แต่งเปิดเผยมาก โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งถือว่าไม่สุภาพ และขัดต่อประเพณีนิยม
         5. เสื้อผ้าที่ใช่สำหรับงานกลางวัน  นิยมใช้ผ้าธรรมดา ผ้าแพร เนื้อด้าน มีลวดลายและดอกตามความชอบหรือวัสดุอื่น ส่วนการแต่งกายในเวลากลางคืนนั้นนิยมใช้ผ้าแพรเนื้อด้าน หรือผ้าที่มีความมัน เครื่องประดับในกลางคืนจะพิถีพิถันมากกว่างานกลางวัน

 การเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับฤดูกาล สีและวัย  
        การเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับฤดูกาล เป็นการเลือกเสื้อผ้าตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และสภาพฟ้าดิน อากาศ ซึ่งควรพิจารณาเลือก ดังนี้
       1.ฤดูร้อนนิยมใช้ผ้าสีสว่างสดใส ตามสภาพฟ้าดินอากาศ
       2.ฤดูฝนใช่สีค่อนข้างทึบ เนื้อผ้าไม่บางเกินไป เพราะถ้าเปียกฝนเสื้อผ้าก้อจะช่วยอำพรางสัดส่วนได้
       3.ฤดูหนาวนิยมใช้สีหม่น สีเข้ม เพื่อเพิ่มความอบอุ่น ให้แก่ร่างกาย
       4.ผู้ที่ผิวสีขาวจะสวมเสื้อผ้าได้ทุกสี ผู้ที่มีผิวคล้ำควรหลีกเลี่ยงสีหม่น สีปนเทา ควรหลีกเลี่ยงสีร้อน เพราะจะทำให้มองดูผิวคล้ำมากขึ้น

การเลือกสีผ้าตามวัย ควรพิจารณาเลือก ดังนี้มองพิศสกิดเส้นใย
      1.เด็กเล็ก   ควรใช้สีอ่อนเพราะดูสะอาดตา เช่น ฟ้าอ่อน ชมพูอ่อน เขียวอ่อน เหลืองอ่อน เป็นต้น
      2. วัยเด็กถึง 12 ขวบ    ควรใช้สีอุ่น สีสดใสสะอาดตา ถ้าต้องใช้สีตัดกัน  ควรเป็นปริมาณ ๒๐-๔๐% ควรใช้สีสดใสที่คล้ายธรรมชาติ เช่น สีฟ้า สีน้ำทะเล สีของดอกไม้ใบหญ้าเป็นต้น
      3.วัยรุ่น เป็นวัยที่มีความคิดเป็นอิสระ ชอบเพ้อฝัน เบื่อง่าย ชอบแต่งตัวตามแฟชั่น เพื่อให้เกิดจุดเด่น เสื้อผ้าจึงเป็นแบบสะดุดตาตามสมัยนิยม
      4.วัยหนุ่มสาว   ใช้สีได้ทุกสี ทั้งสีสด สีเข้ม สีหม่น โดยดูจากการใช้สอยว่าเป็นชุดในโอกาสใด ควรเลือกให้เข้ากับสีผิว สวมใส่แล้วช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพ
      5.วัยสูงอายุ ในสมัยก่อนแฟชั่นของผู้สูงอายุ ใช้ได้ไม่กี่สี เช่น เทา น้ำตาลปนเหลือง แต่ปัจจุบันแฟชั่นของผู้สูงอายุมีทั้งสีอ่อน สีเข้ม สีหม่น แฟชั่นสีสันทำให้ผู้สูงอายุกระปรี้กระเปร่าขึ้น สำหรับผู้สูงอายุที่ทำงานเป็นนักบริหารจะแต่งการเน้นรูปแบบเรียบ มีการตกแต่งเล็กน้อยเพื่อให้สง่างามสมวัย


เสื้อผ้ากับบุคลิกภาพมองพิศสกิดเส้นใย  
      1. คนลักษณะเรียบร้อย สุภาพ     เสื้อผ้า แบบอ่อนหวาน ใช้เนื้อผ้าทิ้งตัวมีจีบรูด ตกแต่งด้วยการปัก ใช้สีอ่อน เย็นตา  ใช้สีเข้มเฉพาะที่ต้องการเน้น 
      2. คนลักษณะแข็งแรง  นักกีฬา   แบบเสื้อเรียบ ใช้ผ้าทรงตัวเหมาะกับการเคลื่อนไหว ลวดลายเส้นตรงสีเข้มเหมาะกว่าสีอ่อน
      3. คนลักษณะว่องไว ปราดเปรียว  แบบเสื้อแบบทะมัดทะแมงเหมาะสมกับการเคลื่อนไหว ไม่ตกแต่งรุงรัง สีเข้ม เนื้อผ้าทรงตัว
      4. คนลักษณะสุขุม แบบผู้ใหญ่ แบบเสื้อเน้นความสง่างาม แบบเรียบ เน้นความงามแบบผู้ใหญ่สมวัย ไม่ตกแต่งรุงรัง สีผ้าเข้ม จะทำให้ดูเกรงขาม

เสื้อผ้ากับรูปร่างและสีผิว (ที่มา : www3.srp.ac.th)

รูปร่าง

เสื้อผ้า

1. คนสูง

เลือกแบบและลวดลายที่ช่วยเสริมในทางกว้าง เช่นเสื้อปกใหญ่ ลายขวางตามตัว กระโปรงบาน เป็นต้น

2. คนเตี้ย

เลือกแบบและลวดลายที่ช่วยเสริมในทางสูง เสื้อกระโปรงควรสีเดียวกัน กระโปรงทรงตรงหรือบานเล็กน้อย

3.คนอ้วน

เลือกแบบเรียบ สีเข้ม ลวดลายไม่เด่นมาก เสื้อคอแหลม  กระโปรงแคบเข้ารูป ไม่รัดรูป

4.คนผอม

ใช้เสื้อผ้าสีอ่อน ปกตั้ง แขนพอง เสื้อตกแต่ง ลูกไม้ระบาย กระโปรงบานหรือย้วย

5.คนไหล่กว้าง อกใหญ่ สะโพกเล็ก

เสื้อสีแก่ แบบเรียบ ไม่ใส่เสื้อแขนพอง กระโปรงสีอ่อนกว่าเสื้อ มีจีบหรือรูด

6. คนไหล่แคบ สะโพกใหญ่

เสื้อสีอ่อน แขนพอง มีจีบระบาย กระโปรงสีแก่กว่าเสื้อ หรือแบบเรียบทรงตรง

ประเด็นคำถาม
    
  1. เส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์สีสมบัติแตกต่างกันอย่างไร
      2. เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่เป็นเส้นใยประเภทใด
      3. รูปร่างแบบฉัน(เธอ) ควรเลือกเสื้อผ้าอย่างไร
 
กิจกรรมเสนอแนะ
      1. สืบค้นข้อมูลเพิ่มเตอมเรื่องเส้นใย เพื่อใช้ประกอบการศึกษาวิชาเคมี ( กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  เรื่อง พอลิเมอร์ในชีวิตประจำวัน)
      2. เลือกเสื้อผ้าที่ชอบมา 1 ชิ้น แล้วบอกเกี่ยวกับ ชนิดของเส้นใย  สมบัติของเส้นใย พร้อมทั้งวิธีการในการทดสอบชนิดของเส้นใยนั้น

การบูรณาการ
        กลุ่มสาระวิชาการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี  ( คหกรรม ) เรื่อง เสื้อผ้าและการตัดเย็บ
  
อ้างอิง  :
https://www.chu-g.com
https://www2.mtec.or.th

https://www.promma.ac.th

https://www.ryt9.com

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=125

อัพเดทล่าสุด