สรรพคุณ แก้โรคเบาหวาน บำรุงน้ำดี ขับพยาธิ แก้โรคตับอักเสบ
ชื่อ มะระขี้นก
ชื่ออื่น ผักเหย ผักไห มะร้อยรู มะระ มะไห่ มะห่อย ผักไซ ผักใส่ ผักไห่ มะมะจีน มะนอย ผักสะไล สุพะซู สุพะเด
ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantia Linn.
วงศ์ CUCURBITACEAE
ชื่อสามัญ Balsam Apple, Balsam Pear, Bitter Cucumber, Bitter Gourd, Carilla Fruit
มะระต้านเบาหวาน (ข้อมูลล่าสุด)
ภาพจาก
มะระเป็นผักที่พบได้ทั่วไปในเอเชียและแอฟริกา รู้จักในทางการแพทย์พื้นบ้านหลายประเทศว่ามีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ช่วยระบาย และฆ่าเชื้อ ทางการแพทย์แผนไทยใช้เข้าตำรับยาแก้ไข้ที่มีอาการติดเชื้อต่างๆ
สารต้านเบาหวานในมะระได้แก่สารชาแรนทิน ซึ่งมี ฤทธิ์ต้านเบาหวานได้ดีกว่ายา tolbutamide นอกจากนี้ พบ สารไวซีน (vicine) โพลีเพปไทด์-พี และสารออกฤทธิ์อื่นที่ กำลังศึกษากันอยู่ โพลีเพปไทด์-พี ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลใน เลือดเมื่อฉีดแบบอินซูลินให้กับผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1
ฤทธิ์ต้านเบาหวานของมะระได้ถูกศึกษาอย่างมากมาย ทั้งโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ การศึกษาในสัตว์ทดลอง และการศึกษาทางคลินิก สารจากมะระให้ผลทั้งในแง่การควบคุมปริมาณการหลั่งอินซูลิน และเปลี่ยน แปลงเมแทบอลิซึมของกลูโคส
การแพทย์ทางเลือกของสหรัฐอเมริกาแนะนำการใช้น้ำคั้นผลมะระ (เชื่อว่าเป็นมะระจีน) เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งนี้จากผลการศึกษาทางคลินิกและจากรายงานการแพทย์ทางเลือกประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ เป็นต้น โดยใช้น้ำคั้นผลสด 4 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 เวลา
การแพทย์แผนแอฟริกันใช้มะระทุกส่วน (ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล) ในการดูแลสุขภาพและรักษาโรค หลายชนิด ที่เด่นคือโรคเบาหวานและความดันเลือดสูง
การศึกษาที่ประเทศแอฟริกาใต้ ปี พ.ศ.2549 ถึงฤทธิ์ของการใช้สารสกัดมะระทั้ง 5เพื่อลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของหนูที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานโดยใช้สารสเตรปโทโซโทซิน พบว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดหนูลดลงทั้งหนูปกติและหนูที่เป็นเบาหวาน ผลการลดปริมาณน้ำตาลแปรผันตามปริมาณสารสกัดที่ได้รับส่วนการทดลองให้สารสกัดมะระทั้ง 5 โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดกับหนูปกติและหนูที่ถูกทำให้มีความดันสูง (hypertensive Dahl salt-sensitive rats) พบว่าลดความดันช่วงบนและอัตราการเต้นของหัวใจของหนูทั้งที่เป็นปกติและมีอาการความดันสูงอย่างแปรผันกับปริมาณสารสกัดดังกล่าว การให้สารอะโทรพีนต่อหนูไม่มีผลต่อการลดความดันเลือดในการทดลองนี้ จึง เชื่อว่าผลการลดความดันดังกล่าวไม่ได้เกิดจากกลไกโคลิเนอร์จิก
การศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2549 พบว่าไทรเทอร์พีนอะไกลโคนจากสารสกัดแอลกอฮอล์ของผลมะระแห้งจำนวน 2 ชนิด แสดงผลลดปริมาณน้ำตาลในเลือดหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน (หนูเบาหวานตัวผู้ พันธุ์ ddY) สารดังกล่าวคือ epoxydihydroxycucurbitadiene และ trihydroxycucurbitadien-al
ผลการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2549 พบว่า สารสกัดโปรตีนจากผลมะระเมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูลดปริมาณน้ำตาลในซีรั่มของหนูปกติและหนูที่เป็นเบาหวานชนิด STZ อย่างมีความสัมพันธ์กับปริมาณโปรตีน สังเกตได้ที่ชั่วโมงที่ 4 ในหนูเบาหวาน และชั่วโมงที่ 6 ในหนูปกติ สารสกัดดังกล่าวมีผลเพิ่มปริมาณอินซูลินในพลาสมาเป็น 2 เท่าในเวลา 2 ชั่วโมงหลังการฉีดสารสกัดเข้าใต้ผิวหนัง เมื่อให้สารสกัดโปรตีนผลมะระในเซลล์ตับอ่อนหนูพบว่าเซลล์มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น ภายใน 5 นาที และมีฤทธิ์นาน 30 นาที แต่ไม่มีผลกับการหลั่งกลูคากอน
การศึกษาสารสกัดโปรตีนในเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมันหนู (rat adipocytes) พบว่าสารสกัดโปรตีนของมะระเพิ่มปริมาณการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ การทดลองในเซลล์ไขมันหนูให้ผลที่ 4 และ 6 ชั่วโมงหลังให้สารสกัด แสดงว่าสารสกัดโปรตีนจากผลมะระมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินและออกฤทธิ์คล้ายอินซูลินด้วย ทำให้เกิดผลการลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง
การศึกษาที่สาธารณรัฐมอริเชียส ปี พ.ศ.2550 พบว่า น้ำคั้นผลมะระมีฤทธิ์ต้านการดูดซึมของกลูโคส กรดอะมิโนไทโรซีน และของเหลวข้ามลำไส้หนูทดลองในห้องปฏิบัติการอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อให้ ATP ในปริมาณมากควบคู่กับน้ำคั้นผลมะระพบว่าฤทธิ์ต้านการ ดูดซึมกลูโคสของน้ำคั้นผลมะระลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีการตั้งสมมุติฐานว่าสารออกฤทธิ์ในน้ำคั้นผลมะระยับยั้งการขนส่งแบบแอกทีฟทรานสปอร์ตของกลูโคส ไทโรซีน และของเหลวโดยยับยั้งการสร้าง ATP ที่ต้องใช้ในการขนส่งสารเหล่านี้
โดยภาพรวม การกินมะระหรือดื่มน้ำคั้นผลมะระช่วยคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานได้แน่นอน โดยมีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนดังข้างต้น แต้ถ้าเอาไปทำเป็นมะระขี้นกต้มเค็มก็คงจะไม่เสริม สุขภาพ (เค็มเกิน ความดันเพิ่ม)
ลักษณะของพืช เป็นไม้เถา มีมือเกาะใบเดี่ยว รูปร่างคล้ายฝ่ามือ เรียงสลับกันขอบใบเว้าลึก 5-7 แฉก กว้างและยาวประมาณ 4-7 ซม. ดอกเดี่ยว ดอกแยกเพศกัน และอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกสีเหลืองรูประฆัง ผลเป็นรูปกระสวย ผิวขรุขระ ดิบสีเขียว เมื่อสุกสีส้ม ใบ ลำต้น และลูกมีรสขม
ส่วนที่ใช้ทำยา เนื้อผลอ่อน
สรรพคุณและวิธีใช้ เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี แก้โรคของม้าม และตับ ขับพยาธิ น้ำคั้นจากผลมะระเป็นยาระบายอ่อน ๆ อมแก้ปากเปื่อย ปากเป็นขุย ผลมะระอ่อนใช้รับประทานเป็นยาเจริญอาหาร โดยการต้มให้สุกรับประทานกับน้ำพริก ผลมะระสุกห้ามรับประทานเพราะจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
น้ำมะระขี้นก มีวิตามินเอสูงมาก ช่วยบำรุงสายตา สรรพคุณน้ำคั้นผลมะระช่วยเจริญอาหาร ลดน้ำตาลในเลือด ลดไข้ แก้อาการข้ออักเสบ บำรุงน้ำดี
ประเด็นคำถามที่นำไปสู่การอภิปราย
1.ทำไมต้องเป็นมะระขี้นก เป็นมะระสายพันธ์อื่นได้หรือไม่
2.มะระขี้นกแก้โรคเบาหวานชนิดใด
บูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้
1.กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศ เช่น ข่าวสาร คำศัพท์
2.กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขพละฯ เช่น
แหล่งที่มา
เขียนโดย
นางยุพิน เดชะศิริพงษ์
ครูโรงเรียนหนองหัวคูปวงประชานุเคราะห์
สพท.อด.4
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=126