หมีควาย....สหายในป่าใหญ่


916 ผู้ชม


เรื่องราวของหมีควาย สหายในป่าใหญ่ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากมายในขณะนี้ จะเป็นอย่างไรลองติดตามอ่านดูนะคะ   

          จากกรณี หมีควายน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัมกัดทำร้ายคนจนเสียชีวิต และต่อมาถูกยิงจนตาย ไปเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น  (ข่าวจากข่าวสดออนไลน์  ---  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 17:06 น.)
  
          หลายคนคงจะสงสัยกันใช่ไหมว่าทำไมเราจึงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า "
หมีควาย" เป็นหมีที่มีรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายควายใช่หรือไม่  เรามาลองทำความรู้จักกับสัตว์ใหญ่รายนี้กันดีกว่าค่ะ  


ภาพจาก  www.surat.stkc.go.th

          หมีควาย มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า  asian black bear, asiatic black bear, Tibetan black bear,Himalayan black bear  หรือ  moon bear  
          ชื่อทางวิทยาศาสตร์    Ursus thibetanus (
G. Cuvierค.ศ. 1823)  
          
อาณาจักร                  Animalia
          ไฟลัม                        Chordata
          ชั้น                            Mammalia
          อันดับ                        
Carnivora  
          วงศ์                           
Ursidae  

          หมีควายเป็นหมีขนาดกลาง และี่เป็นหมีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตัวยาวประมาณ 130-190 เซนติเมตร ตัวผู้หนัก 100-200 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 50-125 กิโลกรัม  มีขนหยาบสีดำหรือน้ำตาลทั่วทั้งตัวยกเว้นบริเวณอกซึ่งขนสีเหลืองอ่อนเป็นรูปตัววี (V) ขนบริเวณหัวไหล่และคอจะยาวเป็นพิเศษ หูค่อนข้างใหญ่ ฝ่าตีนใหญ่เดินเต็มตีน รอยตีนของหมีจึงดูคล้ายรอยตีนคน มีเล็บยาวและแหลมคม หมีควายชอบอาศัยในป่าเขา แต่ก็พบในที่ราบได้บ้าง อยู่ในเขตกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออก ตั้งแต่ อัฟกานิสถาน อิหร่าน บังกลาเทศ ภูฏาน จีน รัสเซีย อินเดีย เนปาล ปากีสถาน พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย มองโกเลีย เกาะฮอนชูและชิโกกุของญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี พบได้สูงถึง 3,000 เมตร  
          หมีควายหากินโดยลำพัง  ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อน อาจหากินเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ใช้เวลาตั้งท้องนาน 7-8 เดือน ออกลูกครั้งละไม่เกิน 2 ตัว ตามโพรงไม้หรือในถ้ำที่ปลอดภัย  พื้นที่หากินราว 10-20 ตารางกิโลเมตร หากินเวลากลางคืน แต่ก็อาจพบตอนกลางวันได้บ้าง กินทั้งพืชและสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นพืชมากกว่า  แต่ถ้าเทียบสัดส่วนของประเภทอาหารแล้วหมีควายยังกินเนื้อสัตว์มากกว่าหมีในทวีปอเมริกา อาหารของหมีควาย เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก แมลง นก ปลา หอย และซากสัตว์ 
          ส่วนอาหารประเภทพืช  ได้แก่  หญ้า ผลไม้ เมล็ดพืช นอกจากนี้ก็กินน้ำผึ้งด้วย ปีนต้นไม้เก่งมาก แต่ชอบฉีกเปลือกไม้เพื่อหาแมลงใต้เปลือกไม้ หรือใช้แสดงเป็นสัญลักษณ์บอกถึงอาณาเขตของตัว

หมีควาย....สหายในป่าใหญ่
ภาพจาก https://www.fm100cmu.com

           แม้จะมีรูปร่างอ้วนอุ้ยอ้ายแต่ก็วิ่งได้เร็วมาก หมีควายเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ค่อยดี จึงค่อนข้างดุร้าย เมื่อตกใจหรือสงสัยจะยืนด้วยขาหลัง ต่อสู้กับศัตรูโดยการตะปบด้วยขาหน้าและกัดด้วยฟันอย่างรุนแรง แต่นอกจากนี้แล้วยังมีพฤติกรรมที่แปลก คือ ชอบขดตัวกลมแล้วกลิ้งลงมาจากเนินเขา สันนิษฐานว่าเป็นการเล่นสนุก  แม้หมีควายจะไม่ดุร้ายอย่างรูปร่างภายนอก หมีควายมักเลี่ยงคนมากกว่าที่จะเข้าโจมตี  หมีควายบางตัวย้ายแหล่งหากินตามฤดูกาล ในฤดูร้อนจะย้ายขึ้นไปอาศัยบนที่สูง ส่วนในฤดูหนาวจะลงมาพื้นที่ต่ำกว่า หมีควายที่อาศัยในถิ่นหนาวจะมีพฤติกรรมที่คล้ายกับการจำศีลด้วย เช่นในญี่ปุ่น หมีควายจะหลับยาวเป็นเวลาราว 5 เดือน แต่ในเขตร้อนหมีควายไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น  ฤดูผสมพันธุ์ของหมีควายอยู่ราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และออกลูกราวเดือนมกราคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่บางสถานที่ฤดูอาจแตกต่างออกไป เช่นในปากีสถาน ฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มในฤดูใบไม้ร่วง ออกลูกคราวละ 1-4 ตัว 
ลูกหมีจะอยู่กับแม่เป็นเวลา 2-3 ปี เมื่ออายุได้ 3-4 ปีก็ผสมพันธุ์ได้แล้ว หมีควายมีอายุขัยราว 25 ปี ในสวนสัตว์ที่มีการดูแลดีอาจอยู่ได้ถึงกว่า 30 ปี
          หมีควายถูกคุกคามจากมนุษย์หลายรูปแบบ ชาวบ้านชายป่าจะฆ่ามันเพราะเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง คนทำไม้จะฆ่ามันเพราะหมีชอบกัดแทะไม้ทำให้ราคาตก  และที่ร้ายแรงก็คือ ดีหมีเป็นที่ต้องการในตลาดยาจีน จึงมีพรานหลายคนยอมเสี่ยงตายเพื่อล่าหมีเอาถุงน้ำดีไปขาย  ปัจจุบันประเทศไทยจัดให้หมีควายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 

          เนื้อหานี้เหมาะสำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับช่วงชั้นที่ 2 ขึ้นไป และผู้ที่สนใจ

ประเด็นคำถาม
          -  
หมีควายมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างจากหมีทั่วไปอย่างไร
       -  เราจะมีวิธีการอย่างไรเพื่ออนุรักษ์หมีควาย
กิจกรรมเสนอแนะ
          
จัดทำแฟ้มภาพสัตว์ที่อยู่ในอันดับเดียวกันกับหมีควาย
การบูรณาการ
          
กลุ่มสาระการเรียนรู้รายวิชาศิลปะ (การปะติดภาพ)
          กลุ่มสาระการเรียนรู้รายวิชาภาษาอังกฤษ (คำศัพท์ที่เกี่ยวกับหมี)
          กลุ่มสาระการเรียนรู้รายวิชาสังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม (การอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า)
 

By
 Teacher Jum หมีควาย....สหายในป่าใหญ่



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
     
https://www.verdantplanet.org
     https://www.th.wikipedia.org

ขอบคุณภาพจาก
     https://www.surat.stkc.go.th
     https://www.fm100cmu.com
 

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=429

 

อัพเดทล่าสุด