โคลนนิ่งสัตว์ท้องถิ่นออสเตรเลียที่สูญพันธุ์กว่า 70 ปี


696 ผู้ชม


ทัสมาเนียนเดวิล สัตว์ท้องถิ่นของออสเตรเลียอีกชนิดหนึ่งที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะถูกคุกคามด้วยโรคมะเร็งใบหน้า และมีความหลากหลายของพันธุกรรมต่ำมาก   
 

นักวิทย์สกัดดีเอ็นเอจากเส้นขนเสือทัสมาเนียสำเร็จ มีหวังโคลนนิงสัตว์ท้องถิ่นออสเตรเลียที่สูญพันธุ์กว่า 70 ปี ไขปริศนาดีเอ็นเอ พบมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ ยิ่งที่ให้เสี่ยงสูญพันธุ์มากอยู่แล้วนอกเหนือจากถูกล่า หวั่นทัสมาเนียนเดวิลที่มีชะตากรรมเดียวกัน จะสูญพันธุ์ตามรอยเพราะโรคมะเร็งใบหน้าคุกคามอย่างหนัก
       

       ทีมนักวิจัยนานาชาติ ร่วมกันสกัดดีเอ็นเอจากเส้นขนของเสือทัสมาเนีย (Tasmanian tiger) ที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 70 ปี ออกมาศึกษาได้เป็นผลสำเร็จ เช่นเดียวกับกรณีของแมมมอธ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พวกเขาตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารจีโนมรีเสิร์ช (Genome Research) และผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าเสือทัสมาเนียมีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ต้องสูญพันธุ์นอกเหนือจากการถูกล่า
       
       นักวิจัยได้สกัดเอาดีเอ็นเอจากขนของเสือทัสมาเนียเพศผู้ ที่เคยอยู่ในสวนสัตว์แห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. National Zoo) กรุงวอชิงตันดีซี เมื่อปี 2545 และจากขนของเสือทัสมาเนียเพศเมียที่สวนสัตว์ลอนดอน (London Zoo) สหราชอาณาจักร ซึ่งตายไปตั้งแต่ปี 2436 โดยใช้เทคนิคเดียวกับการสกัดดีเอ็นเอจากขนของแมมมอธที่พวกเขาเคยประสบความสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้
       
       ผลการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของสัตว์ทั้ง 2 ตัว ปรากฏว่าคล้ายกันมากๆ โดยมีความแตกต่างกันเพียง 5 นิวคลีโอไทด์เท่านั้นจาก 15,492 นิวคลีโอไทด์ ซึ่งเมื่อความหลากหลายของพันธุกรรมไม่มาก จะทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง เนื่องจากสามารถปรับตัวเพื่ออยู่รอดในสิ่งแวดล้อมแบบต่างๆ ได้ไม่ดีนัก
       
       "สิ่งที่เราค้นพบนั้นน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เนื่องจากตัวอย่างดีเอ็นเอของเสือทัสมาเนียทั้ง 2 ตัว มีความคล้ายคลึงกันมาก ซึ่งแสดงว่ามีความแปรผันทางพันธุกรรมน้อยมากระหว่างสัตว์ชนิดนี้ และสปีชีส์ใดที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมน้อยก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก เช่น เสือชีตา ในปัจจุบันนี้" ดร.แอนเดอร์ส กอธเธอสตรอม (Dr. Anders Gotherstrom) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัปป์ซาลา (Uppsala University) ประเทศสวีเดน เปิดเผย ซึ่งเขาร่วมในงานวิจัยนี้ด้วย
       
       นอกจากนี้พวกเขายังได้ศึกษาดีเอ็นเอของทัสมาเนียน เดวิล (Tasmanian devil) ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์ที่น่าเป็นห่วงว่าจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า โดยส่วนใหญ่กำลังถูกคุกคามจากโรคมะเร็งบนใบหน้า (facial cancer) ที่สามารถติดต่อถึงกันได้ และการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าทัสมาเนียน เดวิล มีความหลากหลายของพันธุกรรมน้อยมากๆ เช่นกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังเร่งหาความแตกต่างทางพันธุกรรมในหมู่พวกมัน เพื่อหาทางปกป้องไม่ให้สูญพันธุ์
       
       ทั้งนี้ บีบีซีนิวส์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เสือทัสมาเนีย หรือไทลาซีน (Thylacine) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไทลาซินัส ไซโนเซฟาลัส (Thylacinus cynocephalus) เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายสุนัข และมีลายเป็นแถบบนหลังคล้ายเสือ แต่จัดเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง และมีเส้นทางการวิวัฒนาการสัมพันธ์กับจิงโจ้และหมีโคอาลา
       
       ในอดีตไทลาซีนอาศัยอยู่ทั่วไปในทวีปออสเตรเลีย ต่อมาถูกล่าโดยชาวยุโรปที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินดังกล่าวจนลดจำนวนลงเรื่อยและสูญพันธุ์ในที่สุด เสือทัสมาเนียตัวสุดท้ายตายไปเมื่อปี 2479 ที่สวนสัตว์โฮบาร์ต (Hobart Zoo) ในออสเตรเลีย
       
       "เป้าหมายของเราคือการศึกษาว่าจะปกป้องสัตว์ที่กำลังถูกคุกคามไม่ให้สูญพันธุ์ได้อย่างไร ผมต้องการศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ว่าทำใหม่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากถึงสูญพันธุ์ไป เพราะเพื่อนของเราทั้งหมดส่วนใหญ่ก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งนั้น" เวบบ์ มิลเลอร์ หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania State University) เผย ซึ่งเขาก็หวังว่าการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในครั้งนี้จะช่วยปลุกกระแสให้มีการอภิปรายถกเถียงกันถึงความเป็นไปได้ในการทำให้เสือทัสมาเนียฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง และนักวิจัยส่วนใหญ่ต่างก็หวังว่าเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เช่น การโคลนนิง อาจช่วยนำสัตว์หลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง
       
       "หากพิจารณาว่าเหตุผลเดียวที่ทำให้เราสามารถสกัดดีเอ็นเอจากขนของแมมมอธได้ เพราะว่าแมมมอธถูกแช่แข็งไว้ตลอดเวลาที่อาร์กติก ทว่าความสำเร็จของการสกัดดีเอ็นเอจากเส้นขนของเสือทัสมาเนียของเราในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเส้นขนสามารถเก็บรักษาดีเอ็นเอเอาไว้ได้เป็นระยะเวลายาวนานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่หลากหลาย" สเตฟาน ชูสเตอร์ (Stephan Schuster) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย กล่าว ซึ่งเขาหวังว่าสักวันหนึ่งดีเอ็นเอจากเส้นขนของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอาจทำให้พวกมันกลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง
       
       ทั้งนี้ โมเลกุลของดีเอ็นเอนั้นจะค่อยๆ เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ทว่าเส้นขนมีองค์ประกอบของเคราติน (keratin) อยู่ด้วย ซึ่งช่วยชลอการเสื่อมของดีเอ็นเอ และป้องกันการปนเปื้อนจากแบคทีเรียได้ ขณะที่กระดูกนั้นมีรูพรุนจำนวนมาก ทำให้จุลินทรีย์แทรกซึมเข้าไปได้ง่าย และเมื่อจุลชีพเหล่านั้นตายอยู่ภายในกระดูก ดีเอ็นเอของมันก็จะไปทับถมกับดีเอ็นเอของสัตว์ตัวนั้นๆ.

ข่าวล่าสุด ในหมวด
โคลนนิ่งสัตว์ท้องถิ่นออสเตรเลียที่สูญพันธุ์กว่า 70 ปี นักวิจัยยันชัด "ยีนนักรบ" มักพบในกลุ่มโจร-แก๊งอาชญากรรม
โคลนนิ่งสัตว์ท้องถิ่นออสเตรเลียที่สูญพันธุ์กว่า 70 ปี สัตว์ตัวไหนเชื่องไม่เชื่อง ที่แท้ "ยีน" เป็นตัวกำหนด
โคลนนิ่งสัตว์ท้องถิ่นออสเตรเลียที่สูญพันธุ์กว่า 70 ปี ผลวิจัยชี้คนเราเลือกคู่ดูกันที่ความต่างของยีน
โคลนนิ่งสัตว์ท้องถิ่นออสเตรเลียที่สูญพันธุ์กว่า 70 ปี ยีนไวรัสหวัดพันธุ์ใหม่ชี้ ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่มากๆ อย่างที่เข้าใจ
โคลนนิ่งสัตว์ท้องถิ่นออสเตรเลียที่สูญพันธุ์กว่า 70 ปี ใช้เวลากว่า 20 ปีถึงได้กำเนิดไวรัสลูกผสม "ไข้หวัดใหญ่ 2009”
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=718

อัพเดทล่าสุด