แนวคิด การสอนแบบโครงงานเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียน เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความสนใจของผู้เรียนอย่างลุ่มลึก โดยผ่านกระบวนการหลักคือ กระบวนการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง จึงเป็นการเรียนรู้จากการได้มีประสบการณ์ตรงจากแหล่งเรียนรู้ ความหมาย การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน คือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่จัดประสบการณ์ให้แก่ นักเรียนเหมือนกับการทำงานในชีวิตจริง วัตถุประสงค์ การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน 1. มีประสบการณ์โดยตรง 2. ได้ทำการทดลองและพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง 3. รู้จักการทำงานอย่างมีระบบ มีขั้นตอน 4. ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี 5. ได้เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา 6. ได้รู้จักวิธีการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา 7. ฝึกวิเคราะห์ และประเมินตนเอง ประเภทของโครงงาน 1. โครงงานแบบสำรวจ 2. โครงงานแบบทดลอง 3. โครงงานสิ่งประดิษฐ์ 4. โครงงานทฤษฎี รูปแบบการจัดทำโครงงาน 1. ชื่อโครงงาน 2. คณะทำงาน 3. ที่ปรึกษา 4. แนวคิด / ที่มา / ความสำคัญ 5. วัตถุประสงค์ / จุดมุ่งหมาย 6. ขั้นตอนการดำเนินงาน / วิธีการศึกษา 7. แหล่ง / สถานศึกษา (ถ้ามี) 8. วัสดุ อุปกรณ์ 9. งบประมาณ 10. ระยะเวลาการดำเนินงาน 11. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ขั้นตอนในการจัดการสอนแบบโครงงาน การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานมี 4 ขั้นตอน คือ 1. กำหนดความมุ่งหมายและลักษณะโครงงานโดยตัวนักเรียนเอง 2. วางแผนหรือวางโครงงาน นักเรียนต้องช่วยกันวางแผนว่าจะทำอะไร ใช้วิธีการหรือกิจกรรมใด จึงจะบรรลุจุดมุ่งหมาย 3. ขั้นดำเนินการ ลงมือทำกิจกรรมหรือแก้ปัญหา 4. ประเมินผล โดยประเมินว่ากิจกรรมหรือโครงงานนั้นบรรลุผลตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ มีข้อบกพร่อง และควรแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร วิธีการทำโครงงาน 1. ประชุมปรึกษาหารือ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับหัวข้อของโครงงาน จากสิ่งต่อไปนี้ - การสังเกต หรือตามที่สงสัย - ความรู้ในวิชาต่าง ๆ - จากปัญหาใกล้ตัว หรือการเล่น - คำบอกเล่าของผู้ใหญ่ หรือผู้รู้ 2. เขียนหลักการ เหตุผล ที่มาของโครงงาน 3. ตั้งวัตถุประสงค์ของการทำโครงงาน 4. กำหนดวิธีการศึกษา เช่น การสำรวจ การทดลอง เป็นต้น 5. นำผลการศึกษามาอภิปรายกลุ่ม 6. สรุปผลการศึกษา โดยการอภิปรายกลุ่ม 7. ปรับปรุงชื่อโครงงาน ให้ครอบคลุม น่าสนใจ การประเมินผลการทำโครงงาน ครูผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินการทำโครงงานของนักเรียนแต่ละกลุ่ม โดยใช้แบบประเมินแผนผังโครงงานพิจารณาตามรายละเอียดดังนี้ 1. ชื่อเรื่องแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 2. ชื่อเรื่องมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาคำถามมีการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิด 3. สมมติฐานมีการแสดงถึงพื้นฐานความรู้เดิม 4. วิธีการ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เหมาะสมสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและเนื้อหา 5. แหล่งศึกษาสามารถค้นคว้าคำตอบได้ 6. วิธีการนำเสนอชัดเจน เหมาะสมกับเนื้อหาและเวลา ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=775 |