โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ


703 ผู้ชม


หมายถึง การที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้ หรือแข็งได้ไม่นานพอ   

อาการอย่างไรถึงเข้าข่ายเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

          โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction : ED) หมายถึง การที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้ หรือแข็งได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จเป็นที่พึงพอใจอยู่เป็นประจำ หรือย่างต่อเนื่อง

ระดับความรุนแรง

          โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ จากการศึกษาในชายสูงอายุในมลรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Male Aging Study) ซึ่งศึกษาระบาดวิทยาของโรคนี้ไว้ดังนี้

  • หย่อนสมรรถภาพอย่างอ่อน  :  ผู้ป่วยสามารถมีอวัยวะเพศแข็งตัวพอดี สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ได้เกือบทุกครั้ง
  • หย่อนสมรรถภาพปานกลาง  :  ผู้ป่วยสามารถมีอวัยวะเพศแข็งตัวดี สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ได้บ้างเป็นบางครั้ง
  • หย่อนสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง  :  ผู้ป่วยไม่สามารถมีอวัยวะเพศแข็งตัวดีพอ สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ได้เลย

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

หย่อนสมรรถภาพไม่ใช่ไร้สมรรถภาพ

          คำว่าหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) ในปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้มากกว่าศัพท์เดิม คือ ไร้สมรรถภาพทางเพศ (Impotence) คำว่าไร้สมรรถภาพทางเพศมีความหมายในทางอับอาย เป็นเหตุให้ผู้ป่วยในอดีตน้อยรายที่จะไปพบแพทย์ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นรูปแบบหนึ่งของความบกพร่องทางเพศ (Sexual Dysfunction) ได้แก่

  • อาการหลั่งเร็ว (premature ejaculation)
  • อาการหลั่งช้า (delay ejaculation)
  • อาการเฉื่อยชาทางเพศ (deficits in desire)
  • การไม่ถึงจุดสุดยอด (orgasmic disabilities)
  • อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (erectile dysfunction)

ถ้าไม่รักษาจะมีปัญหา

          โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นโรคที่พบบ่อย และก่อให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวันในหลายด้าน ผู้ชายราว 30 ล้านคนในสหรัฐอเมริกามีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เมื่อคำนวณจากตัวเลขนี้จะพบว่าผู้ชายทั่วโลกเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศมากกว่า 100 ล้านคน ประมาณว่า 52% ของชายอายุ 40-70 ปี มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศระดับใดระดับหนึ่ง ในหมู่คนเหล่านี้จำนวนมากจะก่อให้เกิดปัญหาความเครียดที่กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวตามมา และอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าสูญเสียความนับถือตัวเอง และมองภาพตัวเองไม่ดี (poor self-image)

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แบ่งการแข็งตัวออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ

  • - เกิดจากจิตใจ ส่วนใหญ่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง
  • - เกิดจากปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ส่วนใหญ่เกิดจากการกระตุ้นที่อวัยวะเพศ
  • - เกิดในยามวิกาล เกิดขึ้นในช่วงของการหลับที่มีการกลอกตาอย่างรวดเร็ว การแข็งตัวส่วนใหญ่เป็นผลร่วมกันของการกระตุ้นทางจิตใจ และปฏิกิริยาสะท้อนกลับ 

สาเหตุของการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

          ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เชื่อว่าเกิดจากการลดระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน การเสื่อมสังขารตามธรรมชาติหรือสาเหตุทางจิตใจ แต่ความจริงพบว่าโรคนี้สัมพันธ์กับโรคบางโรค การบาดเจ็บ หรือจากการรักษาทั้งทางยา และการผ่าตัด

ปัจจัยความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

          ประกอบด้วยโรคต่าง ๆ จำนวนมาก ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง และโรคมัลติเปิลสเคลอโรซิส (multiple sclerosis) โรคเหล่านี้ทำให้เกิดความผิดปกติต่อหลอดเลือด เส้นประสาทของอวัยวะที่จะมีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ยาหลายชนิดก็มีผลด้วยเช่นกัน การลดลงของการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน ก็อาจทำให้ความสนใจในทางเพศลดลง และหรือทำให้การแข็งตัวลดลงด้วย นอกจากนั้นกระบวนการการบำบัดทางจิต อาจรบกวนการกระตุ้นทางด้านจิตใจ หรือลดความตื่นตัวในการรับความรู้สึก ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ เช่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และการศึกษาในชายสูงอายุที่มลรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Male Aging Study) พบว่าสภาพร่างกายที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ แบ่งออกเป็นห้ากลุ่มหลัก ดังนี้

  1. โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด ปัญหาการไหลเวียนของกระแสเลือด ซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังอัณฑะ รวมถึงการแข็งตัวของเส้นเลือดแดง (atherosclerosis) โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  2. วิถีการดำรงชีวิต การสูบบุหรี่ (จะยิ่งส่งผลร้ายต่อปัญหาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง) การดื่มสุราจัด และการใช้สารเสพติด
  3. ความผิดปกติของระบบประสาท และบาดแผล อันเป็นผลจากการได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง และกระดูกเชิงกราน
  4. การผ่าตัด (ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมาก) และการรักษาด้วยการฉายรังสี
  5. การให้ยาบางประเภท ยกตัวอย่างเช่นที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง อาการซึมเศร้า และยาบางตัวสำหรับการรักษาโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร (gastric ulcers) และโรคมะเร็ง

จากการศึกษาที่แมสซาชูเซตส์ พบว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีความสัมพันธ์กับ

  1. ความโกรธ และโรคซึมเศร้า
  2. การสูบบุหรี่ในชายกับโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง
  3. การรับประทานยาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคซึมเศร้า
  4. ระดับของคลอเลสเตอรอลชนิดดี (ความหนาแน่นสูง) อยู่ในระดับต่ำ
  5. สารสเตียรอยด์ซึ่งมีฤทธิ์อ่อน ๆ ของฮอร์โมนแอนโดรเจนในซีรั่มมีระดับต่ำ

ความบกพร่องของอวัยวะเพศ

          ความบกพร่องในการทำหน้าที่ หรือความบกพร่องในส่วนประกอบทางโครงสร้างของอวัยวะเพศ จะส่งผลทำให้เกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ตัวอย่างเช่น

  • ความผิดปกติที่ทำให้เกิดการขัดขวางเลือดมิให้ไหลสู่แท่งเนื้อเยื่อที่มีโพรงภายใน หรือความผิดปกติที่รบกวนกลไกการกดทับหลอดเลือดดำที่จะกักเลือดไว้ในอวัยวะเพศ ซึ่งจะรบกวนการแข็งตัวในส่วนที่เกี่ยวกับหลอดเลือด
  • ความผิดปกติ หรือความเสียหายที่เกิดกับเส้นประสาทอัตโนมัติที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศ อาจขัดขวางการแข็งตัวที่เกิดจากจิตใจ
  • ความผิดปกติ หรือความเสียหายต่อเส้นประสาทรับความรู้สึกจากอวัยวะเพศ อาจขัดขวางการแข็งตัวจากปฏิกิริยาสะท้อนกลับ

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพชาย

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=873

อัพเดทล่าสุด