ครอบครัวธัญญ่า-ธัญญาเรศ และ เป๊ก-สัณชัย เองตระกูล ประสบความสำเร็จได้บุตรสาวด้วยวิธีการอุ้มบุญ
ธัญญ่าและสามี
ขอบคุณภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/ent/15690
ครอบครัวธัญญ่า-ธัญญาเรศ และ เป๊ก-สัณชัย เองตระกูล ประสบความสำเร็จได้บุตรสาวด้วยวิธีการอุ้มบุญ เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 25 มิ.ย.โดยทารกน้อยมีน้ำหนักแรกเกิด 2,600 กรัมผู้เป็นพ่อตั้งชื่อลูกว่า น้องไลย่า (Liyah)...
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (27 มิ.ย.) ว่า ครอบครัวธัญญ่า-ธัญญาเรศ และ เป๊ก-สัณชัย เองตระกูล ประสบความสำเร็จได้บุตรสาวด้วยวิธีการอุ้มบุญ เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 25 มิ.ย.โดยทารกน้อยที่ญาติสาวลูกพี่ลูกน้องของธัญญ่า เป็นผู้อุ้มทองให้มีน้ำหนักแรกเกิด 2,600 กรัม
นายสมเกียรติ คุณานิธิพงศ์นักแสดง-ผู้จัดการส่วนตัวของธัญญ่า กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดี หลังได้บุตรสาว เป๊ก-สัณชัย สามีของธัญญ่า เป็นคนตั้งชื่อลูกว่า น้องไลย่า (Liyah) ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายพ่อมาก มีความเป็นฝรั่งอยู่เพียงเล็กน้อย ในวันคลอด 2 สามีภรรยาลุ้นมาก ถึงขนาดเข้าไปอยู่ในห้องคลอด เมื่อลูกออกมาเป็นผู้หญิงทั้งคู่ต่างดีใจมาก เพราะรอคอยมานาน ทั้ง 3 พ่อแม่ลูกมีกำหนดกลับในเดือน ก.ย.นี้
(ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน 2552 https://www.thairath.co.th/content/ent/15690)
เมื่อคนสองคนตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ด้วยความรักแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นความต้องการร่วมกันก็คือ " พยานรัก" ไว้เป็นโซ่ทองคล้องชีวิตคู่ให้ราบรื่น หลายต่อหลายคู่เมื่อผ่านเวลาไประยะหนึ่ง ยังไม่มีบุตรไว้เชยชม ความเครียดก็จะตามมา อันเป็นผลกระทบต่อการใช้ชีวิตคู่เป็นอย่างมาก คู่สมรสจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้มีบุตร
การรับตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญให้แก่กัน มีหลายรูปแบบ เช่น การที่แพทย์นำเชื้ออสุจิของสามี ผสมกับไข่ของภริยา (นอกมดลูก) จนเกิดเป็นตัวอ่อน แล้วนำตัวอ่อนไปฝากใส่ไว้ในครรภ์ของหญิงที่ตกลงว่าจะรับตั้งครรภ์ให้
บางกรณี ฝ่ายภริยานอกจากไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ ยังไม่มีไข่ด้วย จึงต้องไปขอไข่บริจาคจากคนอื่น เช่น จากน้องสาวของตน เพื่อนำไปผสม (นอกมดลูก) กับเชื้ออสุจิของสามี แล้วจึงนำตัวอ่อนไปฝากใส่ไว้ในครรภ์ของหญิง ซึ่งตกลงว่าจะรับตั้งครรภ์ให้หรือบางกรณี อาจมีการนำเชื้ออสุจิของสามี ไปฉีดใส่ในมดลูกของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนโดยตรง หรือที่เรียกว่า “การผสมเทียม” โดยที่สามีของหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทน ให้ความยินยอม
ภาวะมีบุตรยาก
คู่รักที่แต่งงานและอยู่กินกว่า 1 ปี แล้วยังไม่มีลูก เรียกว่าเป็น "คนมีลูกยาก" เพราะจากการสำรวจวิจัย คู่สมรส 100 คู่ ที่อยู่กันครบ 1 ปี มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ จะมีลูกหรือกำลังตั้งครรภ์ถึง 90 คู่หรือ 90% เหลือเพียง 10% เท่านั้น ที่ยังไม่มีลูกคนเหล่านี้ถือว่าเป็น "คนมีลูกยาก" ประเภทเริ่มแรก (Primary infertile) แต่ยังมีบางคนที่เคยมีลูกมาแล้ว เช่น มีลูกโต ลูกตายหรือเป็นหม้าย เมื่อแต่งงานใหม่อยากจะมีลูกและได้พยายามดูอยู่นานเกินกว่า 1 ปี ก็ยังไม่สำเร็จ คนพวกนี้ถือว่ามีลูกยากเช่นกัน แต่เป็น "คนมีลูกยากประเภทที่สอง" (Secondary infertile)
ไม่ว่าจะเป็น คนมีลูกยากตั้งแต่เริ่มแรก (Primary infertile) หรือกลับใจอยากจะมีอีกสักครั้ง (Secondary infertile) ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องหาสาเหตุให้ได้และแก้ไขรักษา ตามหลักวิชา ซึ่งปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลมาก การที่คนเราจะมีลูกได้นั้น สามีต้องมีเชื้ออสุจิที่แข็งแรง ภรรยาต้องมีไข่ซึ่งเกิดจากรังไข่ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ทั้งก่อนและหลังไข่ตก "เชื้ออสุจิ" ต้องพบกับ "ไข่" ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติสถานที่นัดพบครั้งแรกจะเป็น "ท่อนำไข่" ดังนั้น "ท่อนำไข่" ต้องสะดวกในการเดินทางและมีบรรยากาศที่ไม่เป็นพิษ เมื่อพบกันอสุจิต้องผสมกับไข่ ให้ได้ เพราะทั้งสองมีอายุการใช้งานที่สั้นเพียง 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น การผสม (Fertilization) ต้องพอเหมาะพอดี เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปจะได้ "ตัวอ่อน" ที่ไม่ดี ตัวอ่อนที่ได้จากการผสมจะเดินทางในท่อนำไข่เข้าหาโพรงมดลูกซึ่งในระหว่างทางจะแบ่งตัวและเติบโตแต่ห้ามมีอะไรมาขัดขวาง มิฉะนั้น "ตัวอ่อน" จะตายหรือหยุดลงฝังตัวตรงนั้น "ตัวอ่อน" เดินทางในท่อนำไข่ 5-7 วัน ก็ถึงโพรงมดลูกสักระยะหนึ่ง และฝังตัวในราววันที่ 7-9 นับแต่วันที่ปฏิสนธิ มดลูกของสตรีจึงมีคุณค่าในการรักษาชีวิต "ตัวอ่อน" ต่อแต่นี้ไป หากมดลูกไม่ดี เช่นมีเนื้องอกหรือเยื่อโพรงมดลูกบางเกินไป "ตัวอ่อน" อาจฝังตัวไม่ได้ และตายไปสตรีผู้นั้นก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
จึงอาจกล่าวได้ว่า คนเราจะเกิดมาได้ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 5 ประการ คือ
1. ฝ่ายชายต้องมี "เชื้ออสุจิ" จำนวนมากพอสมควร แข็งแรงและเคลื่อนไหวได้ดี
2. ฝ่ายหญิงต้องมี "ไข่" ที่สมบูรณ์ดีและมีการตกไข่ที่สม่ำเสมอ
3. มูกปากมดลูก ต้องมีคุณภาพดีปริมาณพอเหมาะ และเป็นมิตรคอยช่วยเหลือการเดินทางของ "อสุจิ" จนถึง
จุดหมายปลายทาง
4. เส้นทาง ตั้งแต่ปากมดลูก, โพรงมดลูกและท่อนำไข่ ต้องดี สะดวกไม่มีอุปสรรคขัดขวางทั้งขาไปและขากลับ
5. มดลูกต้องดี ไม่มีเนื้องอก เยื่อบุโพรงมดลูกต้องหนาพอที่จะรองรับการฝังตัวและเจริญเติบโตของ "ตัวอ่อน" อย่าง
ไม่มีปัญหา จนถึงกำหนดคลอดออกมา
เทคโนโลยีการช่วยเหลือและรักษาภาวะมีลูกยากในปัจจุบัน
เพื่อช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก แพทย์ก็พยายามคิดค้นวิทยาการใหม่ ๆ ช่วยแก้ปัญญหา และเติมต่อชีวิตคู่ให้สมบูรณ์ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เรียกว่า "เทคโนโลยีการช่วยเหลือและรักษาภาวะมีลูกยาก" ซึ่งในปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น
1. การฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก ( Intra Uterine Insemination หรือ IUI)เป็นวิธีการคัดเชื้ออสุจิที่มีความแข็งแรง สมบูรณ์ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกในวันที่ไข่ตก ผ่านทางท่อเล็ก ๆ เป็นการเพิ่มโอกาสให้อสุจิพบกับไข่ได้มากขึ้น ความสำเร็จในการตั้งครรภ์แต่ละครั้งประมาณร้อยละ 15-20 แพทย์จะใช้วิธีการนี้ในกรณีที่ฝ่ายชาย มีเชื้ออสุจิไม่แข็งแรงหรือมีปริมาณน้อย ฝ่ายหญิง ที่ไม่มีมูกที่ปากมดลูก หรือมูกเหนียวข้น และไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้เพียงพอต่อการผลิตไข่ที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งอาจต้องใช้ฮอร์โมนเพิ่มและกระตุ้นการตกไข่
การคัดเลือกอสุจิที่สมบูรณ์
ขอบคุณภาพจาก https://www.vibhavadi.com/fertility/knowledge_detail.php?topic=6&id=20
2.การทำกิฟท์ ( Gamete IntraFollopain Transfer หรือ GIF) เป็นวิธีการที่เก็บเซลล์สืบพันธุ์ทั้งไข่และอสุจิมาผสมกัน จากนั้นจึงใส่กลับเข้าสู่ท่อนำไข่ทันที เป็นวิธีการอาศัยให้อสุจิและไข่ปฏิสนธิกันเองตามธรรมชาติ ความสำเร็จในการตั้งครรภ์แต่ละครั้งประมาณร้อยละ 30-40
แพทย์จะใช้วิธีการนี้ในกรณีที่ฝ่ายชาย มีเชื้ออสุจิอ่อนแอไม่มากนัก ฝ่ายหญิง มีท่อนำไข่ที่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง และมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และมีพังผืดมาก และวิธีการนี้สามารถใช้ได้สำหรับคู่สมรสที่ไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยาก การทำกิฟท์ (GIFT)ต้องทำการผ่าตัดส่องกล้องตรงช่องท้องเพื่อนำไข่และอสุจิ หรือตัวอ่อนใส่เข้าไปในท่อนำไข่
3.การทำซิฟท์ ( Zygote IntraFollopain Transfer หรือ ZIFT)เป็นวิธีการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ทั้งไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธินอกร่างกายก่อน แล้วจึงนำตัวอ่อนในระยะ Zygote ใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ ความสำเร็จในการตั้งครรภ์แต่ละครั้งประมาณร้อยละ 20-30
แพทย์จะใช้วิธีการนี้ในกรณีที่ฝ่ายชาย มีเชื้ออสุจิน้อยกว่าปกติ ฝ่ายหญิง ที่ท่อนำไข่ไม่ตัน แต่ทำงานไม่ปกติ มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และมีพังผืดมาก รวมถึงในคู่สมรสที่ไม่ทราบสาเหตุของการมีบุตรยากด้วย การทำซิฟท์ (ZIFT) ต้องทำการผ่าตัดส่องกล้องตรงช่องท้องเพื่อนำไข่และอสุจิ หรือตัวอ่อนใส่เข้าไปในท่อนำไข่
4.การทำเด็กหลอดแก้ว ( InVitro Fertilization and Embryo Transfer หรือ IVF& ET)
เป็นวิธีการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ทั้งไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธินอกร่างกาย จนแบ่งเซลล์เป็นตัวอ่อน และทำการเลี้ยงตัวอ่อนภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในห้องปฏิบัติการ จะถึงระยะ 4 - 8 เซลล์ หรือเป็น Blastocyst แล้วจึงใส่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก ความสำเร็จในการตั้งครรภ์แต่ละครั้งประมาณร้อยละ 20-50 ขึ้นอยู่กับสภาพของสาเหตุ
แพทย์จะใช้วิธีการนี้ในกรณีที่ฝ่ายชาย มีเชื้ออสุจิที่ไม่แข็งแรง ฝ่ายหญิง มีท่อนำไข่อุดตันทั้ง 2 ข้าง และ มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน (Endometriosis
ตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน
ขอบคุณภาพจาก https://www.praram9.com/showarticle.php?essayID=410
5.การทำอิ๊กซี่ ( IntraCytoplasmic Sperm Injection หรือ ICSI)เป็นวิธีการคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรง สมบูรณ์เพียงตัวเดียวเพื่อฉีดเข้าไปในไข่โดยตรง จะใช้ในกรณีที่เด็กหลอดแก้วธรรมดาไม่ประสบความสำเร็จ วิธีการนี้จะมีความสำเร็จในการตั้งครรภ์แต่ละครั้งประมาณร้อยละ 25-30แพทย์จะใช้วิธีการนี้ในกรณีที่ฝ่ายชาย มีเชื้ออสุจิผิดปกติอย่างมาก ฝ่ายหญิง ที่มีรังไข่ผิดปกติ ไม่มีการตกไข่ และไข่กับอสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกันเองได้
หมายเหตุ ปัจจุบันนี้แพทย์มักไม่ทำกิฟท์ (GIFT) และซิฟท์ (ZIFT )
ประเด็นปัญหา หรือประเด็นอภิปราย
1. ผู้มีบุตรยากหมายความว่าอย่างไร
2. ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์อะไรบ้างเพื่อช่วยเหลือและรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก
3. การ "อุ้มบุญ" อยู่ในประเภทใดของเทคโนเพื่อช่วยเหลือและรักษาภาวะมีลูกยาก
4. นักเรียนมีความคิดเห็นอย่างไรกับการ "อุ้มบุญ"
อ่านเสริม เพิ่มความรู้
1. ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว https://www.vibhavadi.com/fertility/knowledge_detail.php?id=125&topic=9
2. ขั้นตอนการทำอิ๊กซี่ https://www.praram9.com/showarticle.php?essayID=410
อ้างอิง
1. www.vibhavadi.com/fertility/knowledge_detail.php?topic=6&id=20
2. www.weneedbaby.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=357219
3. www.thairath.co.th/content/ent/15690
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=967