นักวิจัยไบโอเทคชี้ "ว่านจักจั่น" ที่แท้คือ "จักจั่นติดเชื้อรา"


901 ผู้ชม


นักวิจัยไบโอเทคเผย “ว่านจักจั่น” ที่ชาวบ้านนิยมบูชาแท้จริงแล้วคือ “จักจั่นติดเชื้อรา” ย้ำแม้ทาแลคเกอร์เคลือบก็ยังมีสปอร์ของราหลงเหลืออยู่ เตือนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ต้องระวัง   

                   นักวิจัยไบโอเทคชี้ "ว่านจักจั่น" ที่แท้คือ "จักจั่นติดเชื้อรา"นักวิจัยไบโอเทคชี้ "ว่านจักจั่น" ที่แท้คือ "จักจั่นติดเชื้อรา"
ภาพจาก สวทช.

        จากกรณีที่ชาวบ้านหลายจังหวัดเข้าป่าเพื่อขุดหาว่านจักจั่นโดยเชื่อว่าเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ จนเกิดการซื้อขายตั้งแต่ราคา 199-5,000 บาทนั้น ดร.สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัยห้องปฏิบัติการราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า ว่านจักจั่นที่ชาวบ้านกำลังนิยมนำมาบูชานั้นแท้จริงแล้วคือ จักจั่นที่ตายจากการติดเชื้อรา ไม่ใช่ว่านหรือพืชอย่างที่เข้าใจ โดยเป็นจักจั่นในระยะตัวอ่อนที่กำลังไต่ขึ้นมาเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือพื้นดิน ซึ่งในระยะนี้ร่างกายจักจั่นมีการเปลี่ยนแปลงทำให้อ่อนแอ ประกอบกับช่วงต้นฤดูฝนมีความชื้นสูง จึงมีโอกาสติดเชื้อราแมลงที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ก่อให้เกิดโรคและทำให้จักจั่นตายในที่สุด ซึ่งเมื่อจักจั่นตาย เชื้อราก็จะแทงเส้นใยเข้าไปเจริญในตัวจักจั่นเพื่อดูดน้ำเลี้ยงเป็นอาหารและเจริญเติบโตเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายเขาบริเวณหัว ทำหน้าที่สร้างสปอร์เพื่อแพร่พันธุ์เชื้อราต่อไป ลักษณะที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ราแมลง ส่วนชนิดของราที่เกิดขึ้นบนตัวจักจั่นนั้น เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นราสายพันธุ์คอร์ไดเซพ โซโบลิเฟอรา (Cordyceps sobolifera) ซึ่งต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง

        “ลักษณะของราที่เจริญเติบโตคล้ายเขาบนตัวจักจั่นนี้ ไม่ใช่เป็นการค้นพบครั้งแรก ในประเทศไทยเคยมีการสำรวจพบราแมลงบนตัวจักจั่นแล้วหลายชนิด ชนิดที่น่าสนใจคือ คอร์ไดเซพ นิปปอนนิกา (Cordyceps niponnica) พบครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศไทยพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อปี 2544 และทีมวิจัยได้สกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อราชนิดนี้มาทดสอบ พบว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียด้วย”

        ดร.สายัณห์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเตือนประชาชนให้พึงระวังคือ แม้เชื้อราในแมลงจะก่อโรคที่จำเพาะต่อแมลง ไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เนื่องจากราบนตัวจักจั่นที่ขุดขึ้นมาอาจยังมีชีวิตอยู่และสร้างสปอร์ได้ อีกทั้งแม้จะมีการนำจักจั่นมาทำความสะอาด ทาแลคเกอร์เคลือบ ก็อาจจะยังมีราหลงเหลืออยู่ เพราะราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก ที่สำคัญในช่วงนี้เป็นฤดูฝน อากาศมีความชื้นสูง หากเก็บรักษาไม่ดีจะทำให้เชื้อราชนิดอื่นๆ เจริญเติบโตขึ้นได้ และหากเป็นเชื้อราที่ก่อโรคในคนแล้ว ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้ที่พกพา

        อย่างไรก็ดี ราแมลงไม่ได้พบเฉพาะจักจั่นเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในหนอน ด้วย แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมงปอ แมงมุม เป็นต้น ซึ่งชนิดของราที่พบก็จะแตกต่างกันไป โดยในประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายของราแมลงสูงมาก มีการศึกษาค้นพบราแมลงกว่า 400 ชนิด (สปีชีส์) ในจำนวนนี้เป็นราแมลงชนิดใหม่ถึง 150 ชนิด ซึ่งราแมลงหลายชนิดมีความมหัศจรรย์เพราะอาศัยในแมลงเจ้าบ้านที่จำเพาะเจาะจงโดยเฉพาะแมลงศัตรูพืช จึงมีการนำราแมลงมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี นอกจากนี้ราแมลงหลายชนิดยังสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเป็นยา เช่น เพนนิซิลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก

นักวิจัยไบโอเทคชี้ "ว่านจักจั่น" ที่แท้คือ "จักจั่นติดเชื้อรา"
ภาพจากวิชาการดอทคอม

นักวิจัยไบโอเทคชี้ "ว่านจักจั่น" ที่แท้คือ "จักจั่นติดเชื้อรา"
จั๊กจั่นลอกคราบ

มาทำความรู้จักกับจั๊กจั่นกันนะครับ

นักวิจัยไบโอเทคชี้ "ว่านจักจั่น" ที่แท้คือ "จักจั่นติดเชื้อรา"

   จั๊กจั่นเป็นแมลงที่มีปีกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
         ชื่อ  ภาษาไทย : จักจั่น
         ชื่อภาษาอีสาน : จักจั่น
         ชื่อภาษาอังกฤษ : Cicada
         ชื่อวิทยาศาสตร์ : Meimuna opalifera Walker, Pompania sp.
       Order : Homoptera
       Family : Cicadidae
      
       ลักษณะทางกายภาพ
       
       จักจั่นถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้เมื่อราว 230-295 ล้านปีก่อน ในยุคไทรแอสสิก (Triassic) นักวิทยาศาสตร์ได้จัดให้จักจั่นเป็นแมลงอยู่ในอันดับ (Order) Homoptera ซึ่งเป็นกลุ่มของแมลงที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชเป็นอาหาร เช่นเพลี้ยชนิดต่างๆ ครั่ง แมลงหวี่ขาว
       
       ลักษณะที่เด่นชัดของแมลงในอันดับนี้ก็คือ ปีกคู่หน้ามีลักษณะและขนาดความหนาของเนื้อปีกเท่ากันตลอดทั้งแผ่นปีก ชื่ออันดับที่มาจากลักษณะเด่นที่ว่านี้ คือ homo แปลว่า เหมือนกัน, เท่ากัน ส่วน ptera แปลว่า ปีก ซึ่งจะหนาทึบหรือบางใสก็ได้แล้วแต่ชนิดของแมลง ปีกของจักจั่นจะบางใสเหมือนกันทั้งแผ่นปีก
       
       จักจั่นเป็นแมลงที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในบรรดาแมลงอันดับนี้ทั้งหมด คือมีขนาดตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไป จนถึงบางชนิดที่ มีขนาดตัวยาวกว่า 10 เซนติเมตร มีหนวดสั้นๆ (หนวดแบบขน-setaceoux) จนเกือบจะมองไม่เห็นดูคล้ายปุ่มเล็กๆ มากกว่าที่จะเป็นหนวด มีตาเดี่ยวสามตา ส่วนหัว ลำตัว ท้อง จะเชื่อมต่อกลมกลืนเป็นส่วนเดียวกัน ปีกคู่หน้าจะบางใส

วงจรชีวิตของจักจั่น
       
       ช่วงชีวิตของจักจั่นเป็นดังนี้
       
       ไข่ (4 เดือน) - วางไข่ใต้เปลือกไม้
       ตัวอ่อน (4-6ปี) - ใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน ดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากไม้เป็นอาหาร
       ตัวเต็มวัย (1-2 เดือน) - อาศัยอยู่ตามต้นไม้ดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้เป็นอาหาร
       ตัวผู้ทำเสียงได้ดังมาก ประมาณ 200 เดซิเบล
       ตัวเมียไม่สามารถทำเสียงได้
       
       เสียงร้องของจักจั่น
       
       ลักษณะเด่นของจักจั่น คือเพศผู้สามารถทำเสียงได้ แหล่งกำเนิดเสียงมาจากบริเวณด้านใต้ลำตัวของท้องปล้องแรกต่อกับส่วนอก จักจั่นแต่ละชนิดมีเสียงเฉพาะในแต่ละตัว ทำให้สามารถแยกประเภทของจักจั่นได้จากเสียงร้อง     
        ทำนองของเสียงร้องอาจบ่งบอกได้ถึงการป้องกันตัว ตกใจเมื่อถูกรบกวน หรือร้องเรียกเพื่อหาคู่ จักจั่นมีส่วนหัวและส่วนอก กว้างเรียวมาทางหาง มีตาเดี่ยว 3 ตาเรียงกันเป็นรูป 3 เหลี่ยม อยู่ใกล้กับด้านสันหลัง ของศีรษะ หนวดสั้นเป็นรูปขน ปากเป็นแบบเจาะดูด มีปีกบางใสและยาวกว่าลำตัว เวลาเกาะอยู่กับที่ ปีกจะหุบชิดกันเป็นรูป 3 เหลี่ยม มองคล้ายหลังคา ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนสลับกับสีน้ำตาลเข้ม ตัวอ่อนมีสีน้ำตาลอ่อน ตาโต ขาหน้ามีขนาดใหญ่ไว้สำหรับขุดดิน ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวตั้งแต่หัวจรดปีกประมาณ 30 – 40 มิลลิเมตร

แหล่งที่อยู่อาศัย
       
       ตัวเต็มวัยเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ ถ้าในประเทศไทยจะพบมากที่ต้นกุง หรือกอหน่อไม้ ตัวเมียจะเจาะต้นไม้ให้เป็นรูเล็ก ๆ เพื่อวางไข่เมื่อไข่ฟักกลายเป็นตัวอ่อนแล้ว ตัวอ่อนจะร่วงลงสู่พื้นดิน ใช้ขาหน้าขุดฝังตัวอยู่ในดิน เมื่อเจริญเต็มที่จะไต่ขึ้นมาบนต้นไม้ ลอกคราบ กลายเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บนต้นไม้ ระยะที่เป็นตัวเต็มวัยนี้สั้นมาก คือเมื่อผสมพันธุ์และวางไข่จะตายลง
        จักจั่นเป็นแมลงที่ชาวบ้านนิยมบริโภค  เมื่อได้ตัวจักจั่นมาแล้ว จะเด็ดปีกและหัวออก ล้างทำความสะอาด และถ้าหากจับด้วยวิธีใช้ยางตัง ต้องล้างให้สะอาดเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจะมีกลิ่นของยางตังติดปนมากับตัวจักจั่น ตัวเต็มวัยสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ทอด คั่ว หมก ยำ แกง ก้อย ลาบ ป่น (ตำดิบ) บริโภคดิบ และนำมาทำเมี่ยง
ประเด็นคำถาม
        1.  ว่านจั๊กจั่นที่ชาวบ้านเข้าป่าเพื่อขุดนำมาขายโดยเชื่อว่าเป็นเครื่องรางนั้นแท้จริงคืออะไร
        2.  ราแมลงคืออะไร เกิดขึ้นกับแมลงชนิดใดได้บ้าง
        3.  วัฏจักรชีวิตของจั๊กจั่นใวลานานเท่าใด

กิจกรรมเสนอแนะ
        ให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวงจรชีวิตของจั๊กจั่นจากเว็บไซด์ต่างๆ

การบูรณาการ
        1.  สาระการเรียนรู้ศิลปศึกษา(ดนตรี)
        2.  สาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศานาและวัฒนธรรม
แหล่งข้อมูล
สวทช.
วิชาการดอทคอม
วิกิพีเดีย
https://webboard.yenta4.com/topic/130383

 ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1121

อัพเดทล่าสุด