เผยมนุษย์ได้ยินด้วยหูข้างขวาดีกว่าหูข้างซ้าย


849 ผู้ชม


นักวิจัยเปิดเผยว่า มนุษย์อย่างเราๆนี้ชอบที่จะได้ยินเสียงจากหูทางด้านขวามากกว่าข้างซ้าย และจะทำตามหน้าที่เมื่อได้รับมอบหมายผ่านทางหูทางฝั่งขวาได้ดีกว่าฝั่งซ้ายอีกด้วย   


ภาพจากวิชาการดอทคอม

    หูเป็นอวัยวะที่ช่วยให้คนเราได้ยินเสียงต่างๆ และเป็นอวัยวะที่ทำงานเกี่ยวกับการทรงตัวของร่างกายขณะร่างกายเคลื่อนไหว

ส่วนประกอบของหู
หูของคนเราแต่ละข้างแบ่งออกเป็น 3 ชั้นคือ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน
        1.หูชั้นนอก ประกอบไปด้วย
           1.1 ใบหู เป็นกระดูกอ่อนที่หุ้มด้วยผิวหนังบางๆ ทำหน้าที่ดักและรับเสียงเข้าสู่รูหู
           1.2 รูหู เป็นท่อคดเคี้ยวเล็กน้อย ลึกประมาณ 2.5 ซม. ผนังของรูหูบุด้วยเยื่อบาง และใต้เยื่ออ่อนนี้เต็มไปด้วยต่อมน้ำมัน ทำหน้าที่ขับไขมันเหนียวและเหลว มาหล่อเลี้ยงรูหู ไขมันเหล่านี้เมื่อรวมกับสิ่งสกปรกต่างๆก็จะกลายเป็น ขี้หู ซึ่งจะช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาทางรูหูไม่ให้เข้าถึงเยื่อแก้วหูได้ง่าย
           1.3 เยื่อแก้วหู เป็นเยื่อบางๆ อยู่ลึกเข้าไปในส่วนของรูหู กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงที่เดินทางเข้ามาทางรูหู
        2.หูชั้นกลาง อยู่ถัดจากเยื่อแก้วหู มีลักษณะเป็นโพรงอากาศบรรจุกระดูกเล็กๆ 3 ชิ้นติดต่อกัน คือกระดูกค้อน อยู่ติดกับเยื่อแก้วหู กระดูกทั่ง อยู่ตรงกลาง และกระดูกโกลน อยู่ติดกับหูชั้นใน ส่วนล่างของโพรงอากาศตอนปลายของหูชั้นกลางจะมีท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian tube) ซึ่งมีลักษณะเป็นช่องอากาศแคบๆ และยาวต่อไปถึงคอ ทำหน้าที่ปรับความกดอากาศ ข้างในและข้างนอกหูให้มีความสมดุลกัน ทำให้เราไม่ปวดหูเวลาอากาศเข้าไปกระทบ แก้วหูขณะที่มีการหายใจ หรือกลืนอาหาร

        3.หูชั้นใน อยู่ถัดจากกระดูกโกลนเข้ามา หูชั้นนี้ประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ 2 ส่วน คือ 
           3.1 ส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ที่ขดเป็นวงซ้อนกันอยู่หลายชั้นคล้ายหอยโข่ง ภายในมีท่อของเหลวบรรจุอยู่ ตามผนังด้านในของท่อมีอวัยวะรับเสียงอยู่ทั่วไป
           3.2 ส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว มีลักษณะเป็นรูปท่อโค้งครึ่งวงกลมเล็กๆ 3 วง วางเรียงติดต่อกันตั้งฉากกับผนังภายใน ปลายของครึ่งวงกลมทั้ง 3 นั้น อยู่ติดกัน ท่อครึ่งวงกลมทั้ง 3 นี้บุด้วยเนื้อเยื่อบางๆ ที่มีประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวกระจายอยู่ ส่วนที่เป็น ส่วนที่เป็นช่องว่างภายในท่อครึ่งวงกลมนี้ บรรจุด้วยของเหลว เมื่อเราเคลื่อนไหว ศ๊รษะ หูย่อมเอนเอียงไปด้วย ของเหลวที่บรรจุภายในท่อทั้ง 3 นี้ ก็จะเคลื่อนที่ตามทิศทางการเอียงของศีรษะ ซึ่งจะไปกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวแล้วส่งความรู้สึกไปยังสมองจึงทำให้เรา ทราบว่าร่างกายของเราทรงตัวอยู่ในลักษณะใด ของเหลวที่บรรจุในท่อครึ่งวงกลมนี้จะปรับไปตามความกดดันของอากาศ ถ้าความกดดันอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันของเหลวปรับตัวไม่ทันก็จะทำให้เรามีอาการวิงเวียน ศีรษะเมื่อขึ้นไปอยู่ที่สูงๆอย่างรวดเร็วเป็นต้น

        นักวิจัยเปิดเผยว่า มนุษย์อย่างเราๆนี้ชอบที่จะได้ยินเสียงจากหูทางด้านขวามากกว่าเข้าซ้าย และจะทำตามหน้าที่เมื่อได้รับมอบหมายผ่านทางหูทางฝั่งขวาได้ดีกว่าฝั่งซ้ายอีกด้วย

        ดร. Luca Tommasi และ Daniele Marzoli แห่งมหาวิทยาลัย Gabriele d'Annunzio ในเมืองChieti ประเทศอิตาลีเปิดเผยว่าจากการศึกษาการสื่อสารระหว่างมนุษย์โดยการได้ยินนั้นสามารถแสดงให้เห็นถึงความไม่สมมาตรกันในร่างกายโดยธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากความไม่สมมาตรกันของสมอง และมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์แต่ละวันอีกด้วย

         โดยหนึ่งในสิ่งที่รู้จักกันดีในความไม่สมมาตรกันคือ หูข้างขวาของมนุษย์จะทำงานได้ดีกว่าในการฟังเสียง เพราะเชื่อกันว่าสมองซีกซ้ายของมนุษย์นั้นสามารถประมวลผลคำพูดออกมาได้ดีกว่า

         อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีเพียงการศึกษาที่ว่าหูข้างใดได้ยินดีกว่ากันในขั้นทดลองในห้องปฏิบัติการที่มีการควบคุม และยังไม่ถือว่าเป็นผลการทดลองจากคนส่วนใหญ่ในโลกนี้

 จนกระทั่งเกิดการศึกษาวิจัย 3 ครั้งของ Tommasi และ Marzoli ขึ้นมา โดยมีการทดลองดังนี้

         ครั้งแรก  จะดูพฤติกรรมการได้ยินของมนุษย์ในขณะที่มีการพบปะพูดคุยกันในสิ่งแวดล้อมแบบไนท์คลับที่มีเสียงอึกทึก โดยการทดลองครั้งแรกพบว่า ใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักท่องราตรีทั้งหมด 286 คนอยู่ในห้องที่มีเสียงดนตรีดังมาก พบว่าการสื่อสารกันทั้งหมดร้อยละ 72 เกิดขึ้นโดยการได้ยินด้วยหูทางด้านขวาของผู้ฟัง และเมื่อนำมาทดลองซ้ำในห้องปฏิบัติการแล้วพบว่าให้ผลใกล้เคียงกัน จึงสามารถสรุปได้ว่าความไม่สมมาตรกันของมนุษย์ก็น่าจะเกิดขึ้นทั้งในและนอกห้องปฏิบัติการได้เช่นกัน

         ครั้งที่ 2 นักวิจัยทดลองกับนักท่องราตรี 160 คน โดยจะพูดแบบไม่ค่อยชัดและไร้ความหมายให้กลุ่มนี้ฟัง แล้วคอยดูว่าเนื้อหาที่พูดนั้นเข้าหูผู้ฟังมากเพียงใด โดยจะพูดทั้งทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาแบบอู้อี้ๆ แล้วจากนั้นก็ขอให้ผู้ฟังหยิบบุหรี่มาให้ ผลการทดลองพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58 ได้ยินด้วยหูข้างขวา ขณะที่อีกร้อยละ 42 ได้ยินด้วยหูข้างซ้าย และเมื่อทดลองกับกลุ่มผู้หญิงนั้นก็ให้ผลแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาครั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนบุหรี่ที่ได้จากผู้ฟังกับหูข้างที่ได้ยินแต่ละข้างนั้น

         ครั้งที่ 3 ที่เป็นครั้งสุดท้ายนั้น นักวิจัยใช้นักท่องราตรี 176 คน โดยจะพูดให้กลุ่มนี้หยิบบุหรี่มาให้แบบตั้งใจให้ได้ยินเลย โดยให้ฟังด้วยหูข้างใดข้างหนึ่ง พบว่านักวิจัยจะได้รับบุหรี่จากคนที่ได้ยินด้วยหูข้างขวามากกว่าจากคนที่ได้ยินด้วยหูข้างซ้าย

         จากการทดลอง จึงสรุปได้ว่าหูข้างขวาและสมองทางฝั่งซ้ายนั้นมีประสิทธิภาพในการสื่อสารด้วยคำพูดมากกว่า

         นักวิจัยสรุปว่า "การศึกษาของเราได้ยืนยันความเชื่อของบรรพบุรุษถึงพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์หรือสปีชี่ส์อื่นๆเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารทางสังคม ไม่เพียงแต่การสื่อสารระหว่างสิ่งมีชีวิตในสปีชี่ส์เดียวกันเองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมด้วย"

 

ประเด็นคำถาม 
        จะมีวิธีการป้องกันและรักษาหูได้อย่างไร

กิจกรรมเสนอแนะ
     ให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติมจากอินเติร์เนต

การบูรณาการ
        ภาษาไทย      การอ่านจับใจความ
        สุขศึกษา        การดูแลสุขภาพ
        ศิลปศึกษา     วาดภาพส่วนประกอบของหู
แหล่งข้อมูล
       
วิชาการดอทคอม
        Google
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1228

อัพเดทล่าสุด