การแพ้อาหาร (food allergy) จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง พบได้ในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่
แพ้อาหาร การแพ้อาหาร (food allergy) จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง พบได้ในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่ และเด็กเล็กบ่อยกว่าเด็กโต โดยในผู้ใหญ่พบประมาณร้อยละ 2 ในเด็กพบได้ร้อยละ 6 และเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี พบได้มากถึงร้อยละ 8 การที่เด็กเล็กมีโอกาสที่จะเกิดได้บ่อยกว่ากลุ่มอายุอื่น อันเนื่องมาจากการที่ระบบทางเดินอาหารในเด็กเล็กยังไม่มีการพัฒนาการที่สมบูรณ์ ทั้งในแง่ของระบบภูมิคุ้มกัน การย่อย และการดูดซึมอาหาร ทำให้สารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนที่ถูกย่อยได้ไม่สมบูรณ์ และถูกดูดซึมเข้าไปทำให้เป็นแอนติเจนแปลกปลอมขนาดใหญ่ ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการแพ้ได้
อาการแพ้อาหารนอกจากจะมีอาการแสดงออกทางระบบทางเดินอาหารแล้ว เช่น อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง และเลี้ยงไม่โต เด็กยังอาจมีอาการของระบบอื่นๆ เช่น ลมพิษ ผื่นผิวหนัง หอบหืด ไซนัสอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กที่มีการแพ้ชนิดเกิดจาก IgE เด็กกลุ่มนี้มักจะมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว อย่างไรก็ตามอาการทางระบบทางเดินอาหารมักจะไม่เฉพาะเจาะจง และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทันทีหลังจากกินอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้นั้นๆ ดังนั้นการที่สงสัยว่าเด็กอาจมีภาวะแพ้อาหาร รวมไปถึงการซักประวัติที่ละเอียดเพื่อให้ได้ถึงอาหารที่สงสัยว่าอาจจะเป็นตัวการที่ทำให้แพ้ได้ และการทดสอบบางอย่างจะช่วยให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องอันนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องเช่นกัน การงดอาหารที่สงสัยโดยไม่ได้มีการวินิจฉัยที่แน่นอนอาจทำให้เด็กเกิดการขาดสารอาหารโดยไม่จำเป็นได้และไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น
การแพ้อาหาร จำเป็นจะต้องแยกจาก food intolerance ซึ่งเกิดจากการที่มีความเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่เกิดจากส่วนประกอบของอาหาร ส่วนใน food allergy เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งการที่เด็กมีท้องเสียหลังจากกินนมวัวอาจเกิดจาก food intolerance จากภาวะขาดเอนไซม์แลคเทสในช่วงนั้น เช่น ในรายที่เกิดตามหลังการติดเชื้อ rotavirus ซึ่งการหยุดนมเพียง 2-4 สัปดาห์ก็จะทำให้อาการดีขึ้น และเด็กสามารถกลับมาทานนมวัวได้เหมือนเดิม ซึ่งจะต่างจากใน cow milk allergy ซึ่งจะต้องหยุดนมเป็นเวลาอย่างน้อย 1-3 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการแพ้
สาเหตุ
อาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ในเด็กเล็กที่พบได้บ่อย คือ นมวัว เนื่องจากในเด็กเล็กนมวัวยังเป็นอาหารหลักอยู่ เมื่อเริ่มโตขึ้นได้อาหารเสริม จะพบการแพ้ไข่ได้มากขึ้น สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่พบว่าอาหารทะเลเป็นสาเหตุสำคัญของการแพ้อาหาร
อาการ
อาการของการแพ้อาหารเป็นได้ทุกระบบของร่างกาย ที่พบบ่อยคือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร (คันปาก อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย) อาการทางผิวหนัง (ผื่นคัน ลมพิษ) และอาการทางระบบหายใจ (จาม น้ำมูก ไอ หอบ แน่นหน้าอก) ในบางรายอาการแพ้อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ประวัติอาการที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค ได้แก่ ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการหลังจากที่รับประทานอาหารนั้นเข้าไป ปริมาณของอาหารที่รับประทานเข้าไปที่ทำให้เกิดอาการว่ามากน้อยเพียงใด บ่อยแค่ไหนที่รับประทานอาหารชนิดนี้แล้วเกิดอาการ อาการที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับการออกกำลังกายหรือไม่ ซึ่งคำถามต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยแล้วยังช่วยในการประเมินความรุนแรงของการแพ้อาหารด้วย ประวัติครอบครัวที่มีภูมิแพ้นั้นมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้นึกถึงภาวะ food allergy โดยเฉพาะในกรณีที่ได้ประวัติไม่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงกับการแพ้อาหาร สำหรับการตรวจร่างกายควรมุ่งเน้นที่จะดูอาการแสดงต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการแพ้ เช่น การดูรูจมูก เพื่อมองหาลักษณะของโรคภูมิแพ้ เช่น การที่มี การบวม ซีด ของเยื่อบุจมูก และการมีสารคัดหลั่ง การตรวจตาเพื่อมองหาภาวะภูมิแพ้ เช่น ภาวะบวม, เลือดออก, ตาแดง การตรวจที่บริเวณปาก ซึ่งอาจจะพบว่ามีบวม และแดงในกลุามอาการภูมิแพ้ในช่องปาก การตรวจทางทรวงอกเพื่อหาว่ามีโรคหอบหืดร่วมด้วยหรือไม่
การวินิจฉัย
- เมื่อมีอาการดังกล่าวหลังรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำๆ ควรไปหาแพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายรวมทั้งถามถึงชนิดของอาหาร ปริมาณที่กินอาการที่เกิดขึ้นในรายที่ประวัติชัดเจนว่ากินอาหารชนิดหนึ่งๆ แล้วเกิดอาการแบบเดิมทุกๆ ครั้ง ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ง่าย ว่าแพ้อาหารชนิดนั้นๆ แต่ในบางรายที่สงสัยว่าแพ้อาหารหลายชนิด หรือไม่แน่ใจว่าแพ้อาหารชนิดใด แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำการจดบันทึกอาหารที่กินโดยละเอียด และอาการที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อใช้ในประกอบ
- การทดสอบทางผิวหนัง เพื่อช่วยในการหาชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ด้วย ซึ่งใช้เวลาทดสอบ 15 นาที ก็สามารถทราบผลได้ หรือการตรวจเลือดเพื่อหาว่าแพ้อาหารชนิดใด อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด คือ การให้ผู้ป่วยกินอาหารที่สงสัยว่าแพ้ แล้วดูอาการ ถ้ากินแล้วเกิดอาการ หยุดอาหารนั้นแล้วอาการหายไป พอกินอีกเกิดอาการอีก ก็แสดงว่าผู้ป่วยนั้นแพ้อาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในรายที่มีอาการแพ้อาหารรุนแรง
การรักษา
- การรักษาที่ดีที่สุด และได้ผล คือการงดอาหารที่แพ้ โดยต้องงดอาหารทุกชนิดที่มีส่วนประกอบของสารอาหารที่แพ้ เช่น แพ้นมวัว ก็งดอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ เช่น ไอศครีม คุ้กกี้ และให้กินนมถั่วเหลือง หรือนมสูตรพิเศษสำหรับผู้ที่แพ้นมวัวแทน
- การรักษาด้วยยาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ยารักษาอาการผื่นคัน ยาลดน้ำมูก ยาแก้อาการหอบ แน่นหน้าอก เป็นต้น
- โอกาสหายขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารพบว่าถ้าให้งดอาหารที่แพ้ติดต่อกันนาน 1-2 ปี ก็มีโอกาสหายแพ้ได้ ยกเว้น การแพ้อาหารทะเล และถั่วลิสง ซึ่งมักแพ้ตลอดชีวิต
- สำหรับเด็กที่แพ้นมวัว พบว่ามีโอกาสหายแพ้ร้อยละ 50 เมื่ออายุ 1 ปี และหายแพ้ประมาณร้อยละ 85 เมื่ออายุ 3 ปี ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 15 จะมีอาการแพ้ตลอดไป และร้อยละ 25 ของเด็กที่แพ้นมวัว มักมีอาการแพ้อาหารอื่นๆ ร่วมด้วย
การป้องกัน
- สำหรับครอบครัวที่มีพ่อ แม่ หรือลูกคนโตเป็นโรคภูมิแพ้ สามารถลดโอกาสที่จะเกิดโรคผื่นผิวหนังจากภูมิแพ้ และโรคแพ้อาหารได้ในลูกคนถัดไป โดยให้กินนมแม่อย่างเดียว นานอย่างน้อย 4 เดือน ขึ้นไป
- มารดาที่ให้นมบุตร ให้งดอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้บ่อยๆ เช่น ไข่ นมวัว อาหารทะเล ถั่วลิสงในช่วงระยะที่ให้นมบุตร
- เริ่มให้อาหารเสริมแก่ลูกเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป