โรคไหนๆ ก็แพ้เกลือ


951 ผู้ชม


เชื่อไหมว่าเรามียาดีประจำบ้านกันทุกคน ก็เกลือที่อยู่ในครัวนี่เอง   

โรคไหนๆ ก็แพ้เกลือ
ภาพจากที่นี่ดอทคอม

        ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าเกลือที่แทบจะทุกครัวเรือนมีไว้ปรุงอาหาร  จะมีคุณสมบัติในทางยารักษาโรคได้หลายชนิด ซึ่งในที่นี้ได้รวบรวมมาไว้  ดังนี้

1. ไอเพราะเป็นหวัด 
        แค่เอาน้ำเปล่า 1 ถ้วย มาเหยาะเกลือลงไป 1 ช้อนชา คนเบาๆ จนกว่าเกลือจะละลาย แล้วใช้บ้วนปากกลั้วคอหลายๆ ครั้ง ความเค็มจะเข้าไปละลายเสมหะในลำคอ ทีนี้ก็ไม่ต้องไอให้คนข้างๆ รำคาญแล้ว
2. มึนหัว สมองไม่แล่น 
        สาวทำงานที่เจอแบบนี้อย่ารอช้า รีบรองน้ำอุ่นให้เต็มถัง หยอดเกลือลงไป 2-3 ช้อนชา แล้วเอามาอาบ รับรองว่าสมองจะโล่งคิดงานได้ปรู๊ดปร๊าด เพราะเกลือช่วยกระตุ้นให้เลือดลงไหลเวียนดี มีเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง 
3. เร่งให้อาเจียน 
        ถ้าบังเอิญกินสารพิษเข้าไป หรืออึดอัดอาหารไม่ย่อย จนต้องทำให้อาเจียนออกมา ให้ดื่มน้ำเกลือเข้มข้นแก้วใหญ่ๆ ไม่นานจะได้อาเจียนสมใจ 
4. คัดจมูก 

        จะแค่คัดจมูกน้ำมูกไหล หรือลุกลามจนกลายเป็นโรคจมูกอักเสบก็ตาม ให้ใช้น้ำเกลือเจือจางหยอดเข้าไปในรูจมูกทั้งสองข้าง เกลือจะช่วยฆ่าเชื้อโรคในโพรงจมูก จะได้หยุดซี้ดซ้าดปาดน้ำมูกได้เสียที 
5. คันตามผิวหนัง 
        ทาบริเวณที่คันด้วยน้ำเกลือ เชื้อราบริเวณนั้นจะสิ้นฤทธิ์ 
6. โรคตาแดง 
        โรคนี้มีเชื้อโรคเป็นตัวการอยู่เบื้องหลัง แต่สามารถปฐมพยายาบาลตัวเองก่อนถึงมือหมอได้ง่ายๆ ด้วยการเอาผ้าขนหนูสะอาดๆ (ถ้าต้มฆ่าเชื้อโรคก่อนได้ยิ่งดี) จุ่มน้ำเกลือแล้วเอามาเช็ดตา อาจจะแสบบ้างแต่นั่นล่ะคือยาดี หลังจากที่เกลือเข้าไปฆ่าเชื้อโรคในตาแล้ว ก็ล้างตาหลายๆ ครั้งด้วยน้ำสะอาด อาการบวมแดงมีขี้ตาของคุณจะทุเลาลง 
7. แผลยุงกัด 
        ถ้าใครถูกเจ้ายุงตัวร้ายมาขอบริจาคเลือดไป แถมยังทิ้งรอยแผลไว้เป็นที่ระลึก อย่ามัวแต่เกาให้เสียลุคส์สาวงาม รีบๆ ใช้น้ำเกลือทาที่รอยแผล ไม่นานความคันจะหายไป และรอยบวมก็จะยุบเร็วด้วย

โรคไหนๆ ก็แพ้เกลือ
ผลึกเกลือ เมื่อส่องขยาย (เฮไลต์/เกลือแกงภาพจากวิกิพีเดีย

          ในทางเคมี เกลือ เป็นสารประกอบไอโอนิก (ionic compound) ประกอบด้วยแคตไอออน(cation : ไอออนที่มีประจุบวก) และแอนไอออน (anion : ไอออนที่มีประจุลบ) ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นกลาง (ประจุสิทธิเป็นศูนย์) ไอออนเหล่านี้อาจเป็นอนินทรีย์ (Cl) กับอินทรีย์(CH3COO) และไอออนอะตอมเดี่ยว (F) กับไอออนหลายอะตอม (SO42−) เกลือจะเกิดขึ้นได้เมื่อกรดและเบสทำปฏิกิริยาด้วยกัน โดยมีคุณสมบัติดังนี้

  1. เกลือ เป็นสารประกอบ สถานะปกติเป็นของแข็ง ไม่นำไฟฟ้า
  2. เกลืออาจจะละลายน้ำหรือไม่ละลายน้ำก็ได้ หากละลายน้ำจะทำให้น้ำเป็นสารละลาย(อิเล็กโทรไลต์) เพราะเกลือแตกตัวเป็นไอออนทำให้น้ำนั้นนำไฟฟ้าได้
  3. สารละลายเกลืออาจเป็นกรด กลาง หรือเบสก็ได้
    1. เกลือที่มีคุณสมบัติเป็นกรด เกิดจาก กรดแก่ + เบสอ่อน
    2. เกลือที่มีคุณสมบัติเป็นกลาง เกิดจาก กรดแก่ + เบสแก่
    3. เกลือที่มีคุณสมบัติเป็นเบส เกิดจาก กรดอ่อน + เบสแก่

        เกลือที่เรารู้จักโดยทั่วไปคือ เกลือแกง มีสภาพเป็นกลาง เกลือแกง มีรสเค็ม ใช้ในการปรุงรสเกลือแกงมีคุณสมบัติในการดูดน้ำออกจากเนื้อสัตว์ ผัก ทำให้สามารถช่วยชะลอระยะเวลาอาหารเสียช้าลง

เกลือเรียกตามแหล่งที่มา มี 2 ประเภทได้แก่

  1. เกลือสมุทร (Sea salt) คือ เกลือที่ได้จากสูบน้ำทะเลเข้ามาขังไว้ในที่นา ผึ่งแดดและลมจนน้ำระเหยเหลือแต่ผลึกเกลือสีขาว
  2. เกลือสินเธาว์ หรือ เกลือหิน คือ เกลือที่ได้จากดินเค็ม โดยการปล่อยน้ำลงไปละลายหินเกลือที่อยู่ใต้ดินแล้วจึงสูบน้ำกลับขึ้นมาตากหรือต้มให้น้ำระเหยไป

ลักษณะของเกลือแบ่งเป็น 2 ชนิด

  1. เกลือเม็ด ผลิตโดยชาวนาเกลือทะเลและผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ด้วยวิธีตาก นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การดองผักผลไม้ และไอศกรีม
  2. เกลือป่น ผลิตโดยโรงงานเกลือป่นที่ซื้อเกลือเม็ดจากชาวนาเกลือมาแปรรูปเป็นเกลือป่น และผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ด้วยวิธีการต้ม เกลือป่นที่ไม่ต้องผ่านการแปรรูปนิยมทำเป็นเกลือบริโภคตามบ้านเรือน

 ประเด็นคำถาม
        1.  จังหวัดใดของประเทศไทยที่ทำนาเกลือมากที่สุด
        2.  เกลือมีประโยชน์ในด้านการปรุงอาหารและถนอมอาหารอะไรได้บ้าง
        3.   เกลือมีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมได้อย่างไรบ้าง

การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้อื่น
        1.  การงานอาชีพ  (การปรุงอาหาร  การถนอมอาหาร  การทำนาเกลือ)
        2.  ภาษาไทย   (การอ่านจับใจความ)
        3.  สุขศึกษา  (การรักษาสุขภาพ)

กิจกรรมเสนอแนะ
         ให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติมจากอินเตอร์เนต

แหล่งข้อมูล
วิกิพีเดีย
ที่นี่ดอทคอม
         

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1348

อัพเดทล่าสุด