ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?


1,034 ผู้ชม


จุลินทรีย์เป็นคำเรียกรวมๆ ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์เป็นเครื่องมือช่วยในการมองเห็น ซึ่งได้แก่ แบคทีเรีย ยีสต์ รา โปรโตซัว สาหร่าย และไวรัส จุลินทรีย์มีอยู่ทั่วไปทั้งในน้ำ ในดิน ในอากาศ ในอาหาร ในร่างกายของคน   
 
 

 


จุลินทรีย์เป็นคำเรียกรวมๆ ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์เป็นเครื่องมือช่วยในการมองเห็น ซึ่งได้แก่ แบคทีเรีย ยีสต์ รา โปรโตซัว สาหร่าย และไวรัส จุลินทรีย์มีอยู่ทั่วไปทั้งในน้ำ ในดิน ในอากาศ ในอาหาร ในร่างกายของคน สัตว์ รวมถึงในส่วนต่างๆ ของพืชด้วย เมื่อเปรียบกับฝุ่นละอองหรือเม็ดทรายละเอียดที่ลอยอยู่ในอากาศเราจะมองไม่เห็นจนกว่ามันจะมากองรวมกันเป็นจำนวนมาก เราจึงบอกได้ว่า นี่คือกองฝุ่น และนั่นคือกองทราย เช่นเดียวกัน เราอาจจะมองเห็นกลุ่มก้อนของจุลินทรีย์เมื่อมันอยู่รวมกัน เรามองเห็นราดำที่ขึ้นบนแผ่นขนมปังหรือราสีแสดบนซังข้าวโพด หรือจุดสีดำที่กระจายอยู่บนเนื้อผ้าที่เปียกชื้นกองทับกันเป็นเวลานาน
กล่าวกันว่าจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่เกิดขึ้นบนโลก เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันได้สร้างบรรยากาศและสภาพบนพื้นผิวโลกที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ เกิดตามมาเช่น พืช สัตว์ และคน 
 
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
จุลินทรีย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีค่าที่ควรเก็บ
รักษาไว้สำหรับใช้ประโยชน์ในอนาคต
เรื่องราวเกี่ยวกับจุลินทรีย์มีทั้งให้ประโยชน์และเกิดโทษ ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์นั้น อันดับแรกเกิดจากความต้องการที่จะควบคุมหรือกำจัดในกรณีที่มันเป็นสาเหตุของการเกิดโรค การเน่าเสียของอาหาร และต่อมาพบว่า สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกหลายทาง เช่น เป็นผู้ผลิตอาหารที่มีคุณค่า ช่วยในการถนอมรักษาอาหาร ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ช่วยทำลายเชื้อโรค นอกจากนี้ยังช่วยกำจัดของเสีย ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดสมดุล ทำให้โลกสะอาด 
จุลินทรีย์จำนวนมากถูกนำออกมาจากธรรมชาติเพื่อศึกษาในห้องทดลอง ผลจากการศึกษาทำให้ได้พบสิ่งใหม่ๆ ตัวอย่าง เช่น พบจุลินทรีย์พันธุ์ใหม่ พบจุลินทรีย์สร้างยารักษาโรค ผลิตสารช่วยย่อย เป็นปุ๋ยพืช สร้างสารฆ่าแมลง ผลิตสารเคมี กำจัดโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จุลินทรีย์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งมีค่าที่ควรเก็บรักษาไว้สำหรับใช้ประโยชน์ในอนาคต การรวบรวมและเก็บรักษาจุลินทรีย์ที่สำคัญเหล่านี้จึงเป็นที่มาของ "ธนาคารจุลินทรีย์" 
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์ คือ สถานที่หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการรับฝาก เก็บรักษาและดูแลจุลินทรีย์ มีกิจกรรมและความรับผิดชอบเช่นเดียวกับธนาคารทั่วไป คือให้บริการในการรับฝากและดูแลรักษาสิ่งที่มีค่าของผู้ฝาก (เงิน/จุลินทรีย์) รวมทั้งให้บริการในการจัดหาจุลินทรีย์แก่ลูกค้า (นักศึกษา นักวิจัย และประชาชน) ความแตกต่างของธนาคารจุลินทรีย์กับธนาคารทั่วไปคือ สิ่งที่รับฝากเก็บเป็นสิ่งที่มีชีวิตขนาดเล็กมาก ที่ต้องใช้เทคนิคเฉพาะด้านในการตรวจสอบ และให้การดูแลรักษาเป็นพิเศษ เพื่อให้อยู่ในสภาพที่มีชีวิตเสมอ และมีคุณสมบัติเหมือนเดิมที่เคยอยู่ตามธรรมชาติ อีกทั้งต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะหรือเกิดการปนเปื้อนระหว่างที่อยู่ในธนาคาร
เทคนิคการเก็บรักษา
เทคนิคเฉพาะด้านที่ใช้ในการเก็บรักษาจุลินทรีย์ที่เป็นที่ยอมรับในสากล ได้แก่ การเก็บรักษาในสภาพแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิ ระหว่าง -130 ถึง -170 องศาเซลเซียส (ในถังไนโตรเจนเหลว) หรือ ในหลอดสภาพแห้งแบบไร้อากาศ (freeze-dry) ที่อุณหภูมิ 4-10 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูลักษณะจุลินทรีย์แต่ละชนิดจะเป็นผู้กำหนดวิธีการและขั้นตอนต่างๆ โดยคำนึงถึงการรอดชีวิตของจุลินทรีย์เป็นหลัก

(ซ้าย) ตู้แช่แข็งจุลินทรีย์ และ (ขวา) หลอดสุญญากาศเก็บจุลินทรีย์


ธนาคารจุลินทรีย์มีระบบการทำงานที่คล้ายคลึงกับระบบของธนาคารทั่วไป คือก่อนการรับฝากเก็บจุลินทรีย์ จะมีการตรวจสอบความถูกต้อง ไม่รับเก็บจุลินทรีย์ปลอม (มีลักษณะที่ไม่ตรงกับชื่อ) เช่นเดียวกับธนาคารที่ไม่รับฝากธนบัตรปลอม ต้องมีหลักฐานแสดงความสำคัญของจุลินทรีย์ที่นำมาฝากเก็บที่สามารถพิสูจน์ได้ 
จากหลักฐานที่ปรากฏ ธนาคารจุลินทรีย์แห่งแรกถูกจัดตั้งขึ้นเมือปี พ.ศ.2433 ในกรุงปราก ประเทศเชคโกสโลวาเกีย โดย ดร.คราล ผู้ที่มองเห็นการณ์ไกลที่จุลินทรีย์จะมีบทบาทและความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศชาติในอนาคต หลังจากนั้นอีกไม่นานประเทศต่างๆ ในโลกเริ่มทยอยกันจัดตั้งธนาคารจุลินทรีย์ขึ้น เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2446 ตามด้วยอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2447 จนกระทั่งปัจจุบันมีธนาคารจุลินทรีย์ทั้งหมดเกือบ 500 แห่งจาก 58 ประเทศทั่วโลก
(คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่)
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ประเทศที่มีความก้าวและทันสมัย
ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จะให้ความสำคัญต่องานเก็บรักษาจุลินทรีย์
ส่วนใหญ่ประเทศที่มีความก้าวและทันสมัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะให้ความสำคัญต่องานเก็บรักษาจุลินทรีย์ หรือธนาคารจุลินทรีย์ โดยการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและกำลังคน และเป็นการสนับสนุนแบบต่อเนื่อง เช่นในปี 2541 ประเทศอังกฤษจัดสรรงบประมาณ 80 ล้านบาทสำหรับการพัฒนาธนาคารจุลินทรีย์แห่งชาติให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 ปี และที่อังกฤษอีกเช่นกันจะมีห้องนิรภัยสำหรับเก็บจุลินทรีย์ที่สำคัญซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นจุลินทรีย์เหล่านี้จะปลอดภัยจากการถูกไฟครอก 
ในประเทศไทยมีองค์กรหลายแห่งที่ศึกษาและรวบรวมจุลินทรีย์ไว้ ส่วนมากจะเก็บไว้ใช้ในงานสอนและงานวิจัยในองค์กรของตนเอง มีเพียงไม่กี่แห่งที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารจุลินทรีย์ให้บริการต่อสาธารณะ แต่ส่วนใหญ่ก็เพื่อการศึกษา หน่วยงานเหล่านี้ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตั้งแต่ปี 2543 ไบโอเทคได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการจัดตั้งเครือข่ายศูนย์เก็บรักษาจุลินทรีย์ของประเทศ (ธนาคารจุลินทรีย์) ระหว่างหน่วยงานที่กล่าวถึงข้างต้นเพื่อทำหน้าที่ในการเก็บรักษาและดูแลจุลินทรีย์ของประเทศที่ต่างชนิดกันโดยที่ศูนย์เก็บรักษาจุลินทรีย์ไบโอเทค (ธนาคารจุลินทรีย์) ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขานุการของเครือข่าย ในปัจจุบันนี้มีจุลินทรีย์ที่เก็บรักษาในธนาคารจุลินทรีย์ของไบโอเทคมากกว่า 20,000 ตัวอย่าง ซึ่งสามารถจำแนกได้แล้ว 1,100 ชนิด (species) และ 783 สกุล (Genera) ทั้งนี้ศูนย์เก็บรักษาจุลินทรีย์ไบโอเทค ให้บริการแก่ภาครัฐ และเอกชน ในการนำจุลินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านการอุตสาหกรรม สาธารณสุข เกษตร และสิ่งแวดล้อม
 


ที่มาข้อมูล : วันเชิญ โพธาเจริญ และ สุวนีย์ ชุณหเมธา
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

 
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?
ธนาคารจุลินทรีย์คืออะไร ?

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1383

อัพเดทล่าสุด