อาณาจักรโพรทิสตา (Protista Kingdom)


7,055 ผู้ชม


สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตา หรือเรียกรวมๆ ว่า กลุ่มโพรทิสต์ มีลักษณะสำคัญคือ ส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ แต่เซลล์ยังไม่มีการจัดตัวกันเป็นเนื้อเยื่อดังเช่นพืชและสัตว์ สิ่งมีชีวิตบางชนิดในกลุ่มนี้ ยังมีลักษณะของทั้งพืชและสัตว์ร่วมกัน กล่าว   

อาณาจักรโพรทิสตา (Protista  Kingdom)

สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตา หรือเรียกรวมๆ ว่า กลุ่มโพรทิสต์ มีลักษณะสำคัญคือ ส่วนใหญ่เป็นพวกที่มีเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ แต่เซลล์ยังไม่มีการจัดตัวกันเป็นเนื้อเยื่อดังเช่นพืชและสัตว์ สิ่งมีชีวิตบางชนิดในกลุ่มนี้ ยังมีลักษณะของทั้งพืชและสัตว์ร่วมกัน กล่าวคือในเซลล์มีคลอโรฟิลล์เช่นเดียวกับพืช แต่มีโครงสร้างที่ใช้ในการเคลื่อนที่ได้เช่นเดียวกับสัตว์ ดังนั้น นักชีววิทยาจึงจัดสิ่งมีชีวิตพวกนี้ไว้เป็นอาณาจักรที่แยกออกจากกลุ่มสัตว์และพืช

 
 
อาณาจักรโพรทิสตา (Protista Kingdom)
อาณาจักรโพรทิสตา (Protista Kingdom)

Phylum Protozoa
Phylum Chlorophyta
Phylum Chrysophyta
Phylum Phaeophyta
Phylum Rhodophyta
Phylum Eumycophyta
Phylum Myxomycophyta

ภาพตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในไฟลัมต่างๆ ของอาณาโพรทิสตา

อาณาจักรโพรทิสตา (Protista Kingdom)
อาณาจักรโพรทิสตา (Protista Kingdom)


 ไฟลัมโพรโทซัว (Phylum Protozoa)

เป็นโพรทิสต์เซลล์เดียวที่มีขนาดเล็กมาก ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ โพรโทซัวมีรูปร่างลักษณะหลายแบบ บางพวกมีแฟลเจลลัม (flagellum) ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นยาวๆ ยื่นออกไปจากตัว สำหรับใช้ในการเคลื่อนที่ เช่น ยูกลีนา แคลมิโดโมแนส (Chlamydomonas sp.)
บางพวกมีซิเลีย (
cilia) ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนเส้นเล็กๆ สั้นๆ อยู่ที่ผิวหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของเซลล์ สำหรับใช้ในการเคลื่อนที่เช่น พารามีเซียม (Paramecium sp.) วอร์ติเซลลา (Vorticella sp.)

 


บางพวกเช่น อะมีบา (Amoeba) เคลื่อนที่ได้โดยการไหลของไซโทพลาสซึม คือเมื่อไซโทพลาสซึมไหลไปทางใด ก็จะทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ทางนั้นยื่นปูดออกไป เรียกส่วนนั้นว่า ซูโดโปเดียม (pseudopodium)
โพรโตซัวส่วนใหญ่หากินเป็นอิสระในน้ำ บางชนิดเป็นปรสิต และเป็นสาหตุของโรคบางอย่างในคน เช่น อะมีบาชนิดหนึ่งชื่อ Entamoeba histolytica ทำให้เกิดโรคบิด ลำไส้อักเสบ ท้องร่วง อีกชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดี ได้แก่ พลาสโมเดียม (Plasmodium sp.) ซึ่งเป็นสาเหตุของเชื้อไข้มาเลเรีย
พลาสโมเดียมไม่มีโครงสร้างในการเคลื่อนที่ พลาสโมเดียมที่พบในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Plasmodium falciparum เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรียขึ้นสมอง มีอาการรุนแรง มีการจับไข้ทุกวัน อีกชนิดหนึ่ง คือPlasmodium vivax ทำให้เกิดมาลาเรียลงตับ มีการจับไข้ทุก 2 วัน ปัจจุบันเชื้อมาลาเรียมีความดื้อยาสูง และยังพบผุ้ป่วยในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

 


โพรโทซัวบางชนิดดำรงชีวิตแบบภาวะที่ต้องพึ่งพากับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น Entamoeba coli ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์ใหญ่ของสัตว์ชั้นสูงรวมทั้งคนด้วย พวกนี้จะกินแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อะมีบาอีกชนิดหนึ่งคือ Entamoeba gingivalis อาศัยอยู่ที่คอฟัน คอยกินแบคทีเรียในปาก

 ไฟลัมคลอโรไฟตา (Phylum Chlorophyta)

สิ่งมีชีวิตในไฟลัมนี้เรียกรวมๆ กันว่า สาหร่ายสีเขียวเป็นสาหร่ายที่มีคลอโรพลาสต์สีเขียวสด ทั้งพวกเซลล์เดียว เช่น คลอเรลลา (Chlorella sp.) ชนิดที่เซลล์อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เช่น ซีนเดสมัส (Scenedesmus sp.) เพดิแอสตรัม (Pediastrum sp.) หรือเซลล์ต่อกันเป็นสายยาว เช่น สไปโรไจรา (Spirogyra sp.) หรือเทาน้ำ โดยสาหร่ายทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นสาหร่ายที่พบในแหล่งน้ำจืด สาหร่ายสีเขียวที่อยู่ในทะเลก็มีหลายชนิด เช่น อะเซตาบูลาเรีย (Acetabularia sp.) บางชนิดมีขนาดใหญ่ ได้แก่ อุลวา (Ulva sp.) และโคเดียม (Codium sp.)
สาหร่ายสีเขียวหลายชนิด เช่น คลอเรลลา ซีนเดสมัส เป็นสาหร่ายที่มีโปรตีนสูง ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตออกเป็นอาหารสัตว์ สไปโรไจราเป็นสาหร่ายที่คนในบางท้องถิ่นนำมาประกอบอาหารได้

 
อาณาจักรโพรทิสตา (Protista Kingdom)
รูปร่างแบบต่างๆ ของไดอะตอม
ไฟลัมคริโซไฟตา (Phylum Chrysophyta)

เป็นสาหร่ายที่มีรงควัตถุสีเหลืองหรือสีน้ำตาลปนกับคลอโรฟิลล์ ได้แก่ พวกไดอะตอม (Diatom sp.) ผนังเซลล์มีลักษณะเป็น 2 ฝา ประกบกันสนิท มีสารซิลิกาผสมอยู่ ไดอะตอมพบมากทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม ซากของไดอะตอมที่ตายทับถมอยู่ใต้ผืนน้ำมีความหนามาก จนบางแห่งมีลักษณะเป็นภูเขาใต้น้ำ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลายด้าน เช่น ทำเครื่องแก้ว ยาขัดโลหะ ยาสีฟัน และทำฉนวนกันความร้อนในตู้เย็น เตาอบ เตาหลอมโลหะ นอกจากนี้ยังใช้ทำไส้กรอง แผ่นกรองในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

 ไฟลัมฟีโอไฟตา (Phylum Phaeophyta)

เป็นสาหร่ายที่มีรงควัตถุสีน้ำตาลอยู่กับคลอโรฟิลล์ ส่วนใหญ่อยู่ในน้ำเค็ม มักมีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมาก สาหร่ายสีน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เคลป์ (Kelp) ซึ่งแผ่กระจายอยู่ในทะเลหรือมหาสมุทร มีความสำคัญต่อสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งในแง่ที่เป็นอาหาร แหล่งที่อยู่และที่หลบภัย

นอกจากนั้นยังมีสาหร่ายสีน้ำตาลชนิดอื่นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อมนุษย์ ได้แก่ ลามินาเรีย (Laminaris sp.) พาไดนา (Padina sp.) และฟิวกัส (Fucus sp.) สาหร่ายทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถนำมาทำปุ๋ยโพแทสเซียมได้ดี มีการสกัดสารแอลจิน (algin) จากลามินาเรียและเคลป์ มาใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภา เช่น อุตสาหกรรมทำยา ทำอาหาร เส้นใย กระดาษ ยาง สบู่ ฯลฯ สาหร่ายสีน้ำตาลบางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ ยังให้ไอโอดีนสูงอีกด้วย เช่น ซาร์แกสซัม (Sargassum sp.) หรือที่เรียกว่าสาหร่ายทุ่น

 ไฟลัมโรโดไฟตา (Phylum Rhodophyta)

เป็นสาหร่ายที่มีรงควัตถุสีแดงที่ปนอยู่กับคลอโรฟิลล์ ส่วนใหญ่อยู่ในน้ำเค็ม สาหร่ายสีแดงที่รู้จักกันทั่วไปคือ พอร์ไฟรา (Porphyra sp.) หรือจีฉ่าย ที่นำมาใช้เป็นอาหาร กราซิลาเรีย (Gracillaria sp.) นำมาสกัดวุ้นใช้เป็นอาหารของมนุษย์ เป็นส่วนผสมในอาหหารเลี้ยงจุลินทรีย์ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้ทำแคปซูลยา ทำยา เครื่องสำอาง ใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้าเพื่อใช้เคลือบเส้นใยให้เหนียว ใช้เป็นส่วนผสมของยาขัดรองเท้า และครีมโกนหนวด
 ไฟลัมยูไมโคไฟตา (Phylum Eumycophyta)

สิ่งมีชีวิตในกลุ่มนี้ได้แก่ พวกที่มีเซลล์เดียวคือ ยีสต์ และพวกที่มีหลายเซลล์คือ เห็ดรา ซึ่งประกอบด้วยเซลล์เส้นใย ที่เรียกว่า ไฮฟา (hypha) กลุ่มของไฮฟาเรียกว่า ไมซีเลียม (mycelium) ไฮฟาเป็นตัวยึดเห็ดราให้ติดแน่นอยู่กับแหล่งที่อยู่ได้ดี ส่วนปลายของไฮฟาจะสร้างสปอร์ เมื่อสปอร์แก่จะปลิวไปตกในที่ต่างๆ หากสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมในการดำรงชีวิต สปอร์ก็จะงอกออกเป็นไฮฟาขึ้นใหม่ เจริญเติบโตต่อไป

 


สิ่งมีชีวิตในกลุ่มนี้บางชนิดดำรงชีพโดยการย่อยสลายสารอินทรีย์ จึงพบราบนซากพืชซากสัตว์ อาหารหรือสิ่งปฏิกูล ฯลฯ มีบางชนิดดำรงชีพเป็นปรสิต ได้แก่ พวกที่ทำให้เกิดโรคกับคน สัตว์และพืช
เห็ดมีความสำคัญมากต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมทั้งคน เห็ดซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิดมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีดไฟจนถึงขนาดใหญ่เท่าจานข้าว เห็ดหลายชนิดใช้เป็นอาหารและสามารถเพาะเลี้ยงได้ เช่น เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า เห็ดหอม เป๋าฮื้อ เห็ดบางพวก เช่น เห็ดโคน เห็ดตับเต่า เห็กเผาะ เพาะเลี้ยงไม่ได้ ต้องอาศัยสภาพตามธรรมชาติ เห็ดบางชนิดกินเข้าไปอาจมึนเมา อาเจียนและอาจถึงตายได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรกินเห็ดที่ไม่รู้จักหรือเห็ดที่มีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากเห็ดที่เราเคยกินมาก่อน
ราหลายชนิดมีความสำคัญในวงการอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมผลิตกรดอินทรีย์ และสารเคมีต่างๆ อุตสาหกรรมผลิตอาหาร ได้แก่ เนยแข็ง เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว เต้าหู้ยี้

เชื้อราที่ขึ้นบนผลไม้ ทำให้ผลไม้เน่าเสีย


การดำรงชีพของยีสต์ คือ กระบวนการหมัก (fermentation) มีความสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตแอลกอฮอลล์ เหล้า และไวน์ ช่วยในการทำให้ขนมปังฟู เซลล์ของยีสต์มีโปรตีนและวิตามินบีสิบสิงอยู่มาก ในปัจจุบันจึงมีการใช้ยีสต์เป็นอาหารเสริมเพื่อเพิ่มวิตามินบีสิบสองได้
เชื้อราหลายชนิดใช้ประโยชน์มากในด้านการแพทย์ โดยสกัดสารจากเชื้อรามาผลิตยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน เทอราไมซิน ปัจจุบันนี้มียาปฏิชีวนะมากมายหลายชนิด บางชนิดมีฤทธิ์ต่อต้านโรคเฉพาะอย่าง บางชนิดใช้ต่อต้านโรคได้หลายโรค และการใช้ยาปฏิชีวนะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์
 ไฟลัมมิกโซไมโคไฟตา (Phylum Myxomycophyta) 

สิ่งมีชีวิตในกลุ่มนี้เรียกรวมๆ ว่า ราเมือก ได้แก่ สเตโมนิติส (Stemonitis sp.) ไฟซารัม (Physarum sp.) ชอบขึ้นอยู่ในที่ชื้นแฉะมีสิ่งปฏิกูลของพืชหรือสัตว์ ตามขอนไม้หรือใบไม้ผุๆ วัฏจักรชีวิตของราเมือกมี 2 ระยะ คือ ในระยะหนึ่งของชีวิตจะมีลักษณะคล้ายแผ่นวุ้น ประกอบด้วยเซลล์หลายเซลล์มารวมกันโดยแต่ละเซลล์ไม่มีผนังกั้น จึงเห็นมีนิวเคลียสเป็นจำนวนมาก มองดูคล้ายกับร่างแหอยู่ภายในแผ่นวุ้น มีสีส้ม สีเหลือง ขาว หรือใส ไม่มีรงควัตถุที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงจึงต้องอาศัยพลังงานจากสารอินทรีย์ในสิ่งมีชีวิตอื่น แผ่นวุ้นนี้สามารถเคลื่อนที่ได้คล้ายอะมีบา อีกระยะหนึ่งเป็นระยะที่มีการสืบพันธุ์ ราเมือกจะสร้างอับสปอร์ เมื่ออับสปอร์แตกสปอร์จะปลิวไป ถ้าตกในที่เหมาะสมก็จะงอกและเจริญเติบโตมีลักษณะคล้ายแผ่นวุ้นสลับกันอยู่เช่นนี้
ราเมือกส่วนใหญ่มักดำรงชีวิตแบบภาวะการย่อยสลาย บางชนิดเป็นปรสิตในพืชที่รู้จักกันดี ได้แก่ พลาสโมดิโอฟอรา (Plasmodiophora sp.) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรครากโป่งในกะหล่ำปลีและผักชนิดอื่นๆ

ข้อมูล : แบบเรียนชีววิทยา เล่ม 5 ( สสวท.)
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1527

อัพเดทล่าสุด