แผ่นดินไหว.....ภัยใกล้ตัว (ตอนที่ 5 : มหันตภัยใกล้ตัว)


1,227 ผู้ชม


เมื่อก่อนต่างก็ว่าประเทศไทยไม่มีทางเกิดภัยธรรมชาติที่น่ากลัวอย่างแผ่นดินไหวนี้ได้ แต่มาถึงตอนนี้เราคงต้องคิดใหม่แล้วว่า...มันอยู่ใกล้ตัวเรามากแค่ไหน.....   
               ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นยูเรเซียนซึ่งล้อมรอบด้วยแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น  คือ แผ่นมหาสมุทรอินเดีย และ แผ่นมหาสมุทรแปซิฟิก แผ่นดินไหวมักเกิดมากบริเวณตรง รอยต่อระหว่างแผ่น ในขณะที่บริเวณภายในแผ่นมีแผ่นดินไหวเกิดน้อยกว่า และมักไม่รุนแรง โดยมากเกิดตามแนวของ รอยเลื่อนใหญ่ ๆ ประเทศไทยอยู่ในเขตที่ถือว่าค่อนข้างปลอดแผ่นดินไหวพอสมควร แต่จากการบันทึกทางประวัติศาสตร์ ระบุว่าในปี พ.ศ. 1558 มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นทำให้บริเวณโยนกนครยุบจมลงเกิดเป็นหนองน้ำใหญ่ จวบจน พ.ศ. 2088 ก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่นครเชียงใหม่ จนยอดเจดีย์หลวงสูง 86 เมตร หักพังลงมาเหลือ 60 เมตร นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันประมาณ 550 ปีมาแล้ว ก็ไม่เคยมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็นในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2455 ได้มีการผลิตเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวขึ้นมาใช้ในโลก และมีเครือข่ายถึงกัน ก็มีรายงานแผ่นดินไหวให้ทราบตลอดมาว่า แผ่นดินไหวในประเทศไทยเกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่มีขนาดเล็กสามารถตรวจสอบได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวเท่านั้น ข้อมูลแผ่นดินไหวครั้งสำคัญที่ตรวจพบในประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดน่าน มีขนาด 6.5 ริกเตอร์ ใกล้กับรอยเลื่อนปัว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในป่าเขา ไม่มีบันทึกความเสียหาย สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สามารถรู้สึกได้ที่กรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 มีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งอยู่ใกล้แนว รอยเลื่อนเมย มีขนาดความรุนแรง 5.6 ริกเตอร์ และขนาดความรุนแรง 5.9 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวใกล้อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ หลังจากนั้นแผ่นดินไหวในประเทศไทยเกิดขึ้น บ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยรุนแรง สำหรับกรณีที่เกิดจนเกิดความเสียหายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2537 ที่บริเวณอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และใกล้เคียง ก่อให้เกิดความเสียหายมากกับโรงพยาบาลอำเภอพาน รวมทั้งวัด และโรงเรียนต่าง ๆ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่บริเวณอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีความรุนแรงขนาด 5.1 ริกเตอร์ และอีกหลายครั้งตามมาในปี พ.ศ. 2538 และ 2539 ในบริเวณจังหวัดเชียงราย และใกล้เคียง รวมทั้งบริเวณชายแดนไทย-ลาว และไทย-พม่า  
                กล่าวโดยสรุป คือ  เขตรอยเลื่อนที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหว และมีผลกระทบต่อประเทศไทย ได้แก่ รอยเลื่อนในเขตตะวันตกของประเทศไทย-ตะวันออกของประเทศพม่า ซึ่งได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนสะแกง กลุ่มรอยเลื่อนพานหลวง รอยเลื่อนทั้งสองนี้มีแนวแยกต่อเนื่องมาทางตะวันตกของประเทศไทย ไล่จากทางตอนบนลงมาตอนล่าง อันได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนเมย กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ตามลำดับ ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย มีกลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา กลุ่มรอยเลื่อนเถิน กลุ่มเลื่อนแม่จัน ซึ่งยังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่ และกลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ เป็นต้น แนวทางและโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวในย่านประเทศไทย และประเทศโดยรอบข้างเคียง ศึกษาได้จากการแบ่งขอบเขตแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว (Seismic Source Zone) ซึ่งปริญญา นุตาลัย และคณะ (1985) เป็นผู้ทำการวิจัยและศึกษาไว้โดยสามารถแบ่งเขตต่าง ๆ ในบริเวณประเทศไทย และประเทศไทยใกล้เคียง ออกได้ 12 เขต ทั้งนี้อาศัยสภาพลักษณะทางเทคโทนิก (Tectonic setting) และโครงสร้างทางเทคโทนิก (Tectonic structure) ประกอบกับประวัติการเกิดแผ่นดินไหวที่บันทึกได้เป็นบรรทัดฐาน โดยเฉพาะอาศัยแผนที่ธรณีวิทยา แผ่นดินไหว (Seismotectonic map) ที่สร้างขึ้นจากข้อมูล เหล่านั้นด้วย
แผ่นดินไหว.....ภัยใกล้ตัว (ตอนที่ 5 : มหันตภัยใกล้ตัว)
                                  ภาพแผนที่แสดงตำแหน่งบริเวณเสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวของประเทศไทย (ที่มา : กรมทรัพยากรธรณี)
 
ประเด็นคำถาม
-  บริเวณที่นักเรียนอาศัยอยู่จะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด
การบูรณาการ
          วิชาภาษาอังกฤษ (คำศัพท์เกี่ยวกับแผ่นดินไหว)
          
แผ่นดินไหว.....ภัยใกล้ตัว (ตอนที่ 5 : มหันตภัยใกล้ตัว)  เนื้อหานี้เหมาะสำหรับนักเรียนตั้งแต่ช่วงชั้นที่  1-4 และผู้ที่สนใจทั่วไป
ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก  กรมทรัพยากรธรณี

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1603

อัพเดทล่าสุด