ฝุ่นของเส้นใยสิ่งทอจากพืช 3 ชนิดหลัก ๆ คือ ฝ้าย ป่าน และปอ
สิ่งทอ (พิษฝุ่นร้าย/โรคบิสซิโนซิส) ปัญหาอาชีวอนามัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งได้แก่ ปัญหาการสัมผัสกับฝุ่นของเส้นใยสิ่งทอจากพืช 3 ชนิดหลัก ๆ คือ ฝ้าย ป่าน และปอ ของผู้ที่ทำงานในโรงงานดังกล่าว ตลอดจนผู้ที่อยู่อาศัยในย่านใกล้ๆ โรงงานอุตสาหกรรมประเภทนี้ ก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะโรงงานในย่านสมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และเขตกรุงเทพมหานคร
ฝุ่นฝ้ายในโรงงานปั่นด้าย ทอผ้า จะฟุ้งกระจายได้มากในขั้นตอนการผสม การสางใย การปั่นด้าย การกรอ และการทอผ้า สำหรับการตัดเย็บ หรืองานประเภทการ์เมนต์ จะมีฝุ่นฝ้ายฟุ้งกระจายได้มากในงานตัดเย็บที่มีฝ้ายเป็นส่วนประกอบ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้ายีนส์ และในงานที่ตัดเย็บด้วยจักรอุตสาหกรรม และผู้ทำงาน หรืออาศัยใกล้เคียงก็จะหายใจเอาฝุ่นฝ้ายนั้นเข้าสู่หลอดลม และปอดได้
โรคพิษฝุ่นฝ้ายนี้มีผู้ป่วยในประเทศไทยจำนวนมาก และผู้ทำงานกับฝุ่นฝ้ายมานานเสียชีวิตด้วยอาการทางเดินหายใจแล้ว
โรคบิสสิโนซิสในประเทศไทย
โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย หรือบิสสิโนซิส มีรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 พบในคนงานทอผ้าเขตจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ป่วยนอนราบไม่ได้ มีอาการเหนื่อย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และคลีนิคไม่ต่ำกว่า 35 แห่ง ในระยะ 5 ปี จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยบิสสิโนซิสในโรงงานดังกล่าวกว่าร้อยละ 20
ในปี 2532 มีรายงานผู้ป่วยบิสสิโนซิส ในโรงงานทอผ้าอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด สมุทรปราการอีกเช่นกันในแผนกปั่น เท่ากับร้อยละ 15.4 ซึ่งพบโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย และไอบ่อยๆ นอกจากนั้นยังมีรายงานการเกิดโรคบิสสิโนซิสในคนงานทอกระสอบ และผู้ทำสัมผัสกับปออื่นๆ ด้วย
สาเหตุ
โรคบิสสิโนซิส เกิดจากการที่เราหายใจเอาฝุ่น ป่าน และปอ ซึ่งมีการปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคต่างๆ ได้แก่ เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียฝุ่นดังกล่าวเป็นฝุ่นเส้นใยจากธรรมชาติ ซึ่งจะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่งสารอิสตามีน ทำให้หลอดหายใจแคบลงได้ จึงทำให้แน่นหน้าอก และไอได้
อาการ
- สำหรับการอาการของโรคบิสซีโนซิส มีได้ทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง
- ในผู้ทำงานผู้ทำงานสิ่งทอประเภทฝ้าย จะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ไอบางครั้ง ในวันแรกที่กลับเข้ามาทำงานหลังจากที่ได้หยุดพัก และมีสมรรถภาพของปอดลดลงมากเมื่อวัดหลังเข้าทำงานเปรียบเทียบกับที่วัดก่อนเข้าทำงาน
- ในกลุ่มที่ป่วยเรื้อรัง จะมีอาการเรื้อรัง และมีอาการไอ แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก มีเสมหะ หรือมีการติดเชื้อเพิ่มซ้ำ
- ผู้ป่วยบางรายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืดได้
- ในผู้ที่ป่วยรุนแรงจะมีเล็บนูนปุ้ม รอบปากสีเขียวคล้ำ และเสียชีวิตได้
อาการอื่นที่พบได้
- หายใจมีเสียง “หวี๊ดๆ” ได้ยินเสียง
- หอบเหนื่อย
- นอนราบไม่ได้
- แน่นหน้าอกทุกวัน (ถ้าเป็นมาก)
- ไอ อาจไม่มีเสมหะในระยะแรก และต่อมามีเสมหะ
- หายใจสั้น
- อาการแบบโรคหลอดลมอักเสบ
สมรรถภาพปอด
นอกจากอาการของโรคดังกล่าว ยังตรวจพบความผิดปกติของสมรรถภาพการทำงานของปอดร่วมด้วย โดยเป็นความผิดปกติแบบท่อทางเดินหายใจอุดตัน สำหรับภาพรังสีทรวงอกจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่สู้ชัดเจนนัก
การรักษา
- ยาต้านฮิสตามีน และวิตามินซี ช่วยรักษาภาวะหลอดลมหดเกร็ง
- พิจารณาให้ยายาขยายหลอดลม เช่น salbutamol, isoprenaline, orciprenaline
- ในผู้ป่วยรุนแรงนั้นใช้การรักษ เช่นเดียวกับโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง
- ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ต้องให้การรักษาภาวะติดเชื้อด้วย ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มผู้ป่วยนี้
- ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้ว ถ้าไม่ได้รับการป้องกันมิให้สัมผัสกับฝุ่นฝ้าย ป่าน และปอ อีก เช่นต้องกลับเข้าไปทำงานในสิ่งแวดล้อมการทำงานเช่นเดิม ผู้ป่วยก็จะกลับมาเป็นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า และความรุนแรงของโรคก็มักจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนติดตามมามาก
แนวทางการป้องกันโรค
- ถ้าท่านมีหน้าที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอ หากเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นลูกจ้างในโรงงานเหล่านี้ ท่านต้องช่วยกันหาทางลดปริมาณฝุ่นฝ้าย ลดการแพร่กระจาย ด้วยมีแผนการผลิต การทำงานที่ดี และมีระบบกำจัดพร้อมบำบัดที่ดีด้วย
- ในกรณีที่ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ควรใช้หน้ากากที่มีการรับรองแล้ว และไม่นำฝุ่นฝ้ายที่ติดตามเสื้อผ้า และร่างกายกลับไปแพร่กระจายที่บ้าน จะทำให้ผู้อาศัยอื่นต้องป่วยได้โดยเฉพาะเด็ก
- ควรเปลี่ยนชุดปฏิบัติงานในที่ทำงาน
- ในกรณีที่ครอบครัว และญาติสายตรงไม่มีประวัติการป่วยด้วยโรคหอบหืด หรือโรคภูมิแพ้มาในรุ่นก่อน หรือรุ่นปัจจุบัน แล้วมีอาการป่วยจนได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืด หรือโรคภูมิแพ้ ควรสงสัยว่าตนเองอาจป่วยด้วยโรคพิษฝุ่นฝ้ายถ้าได้รับฝุ่นฝ้ายอยู่ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
การป้องกันโรคบิสสิโนซิสในโรงงาน
- การกำจัดฝุ่นฝ้ายในขบวนการผสม สารใยปั่น โดยการใช้ระบบการจำกัดแบบเฉพาะที่
- จัดอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นฝ้ายที่ได้รับการรับรองแล้วให้กับผู้ทำงานที่สัมผัสฝุ่นอย่างเพียงพอ
- จัดให้มีชุดปฏิบัติงาน และสถานที่เปลี่ยนชุดปฏิบัติงาน ก่อน และหลังปฏิบัติงานจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคบิสสิโนซิส และการป้องกันให้แก่ผู้ทำงาน และปฏิบัติการประจำการ
- การจัดให้มีการตรวจสุขภาพ และการตรวจที่เกี่ยวกับการสัมผัสฝุ่นฝ้าย และฝุ่นฝ้ายเดียวกัน ได้แก่ การตรวจหน้าที่การทำงานของปอดทั้งการตรวจก่อนเข้าทำงาน และการตรวจเป็นระยะ ตลอดจนการเฝ้าดูการเกิดโรคบิสสิโนซิส อย่างใกล้ชิด โดยผ่านระบบการเฝ้าระวังโรคทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดโรคในกลุ่มคนทำงานจำนวนมากได้ และสามารถให้การดูแล และรักษาผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะแรก
การป้องกันโรคบิสสิโนซิสด้วยตนเอง
- ปฏิบัติตนตามแนวทางป้องกันโรคบิสสิโนซิสของโรงงาน
- ไม่นำชุดปฏิบัติการที่ปนเปื้อนด้วยฝุ่นฝ้ายหรือฝุ่นกลุ่มเดียวกันไปปนเปื้นสิ่งแวดล้อมที่บ้าน
- ถ้ามีอาการสงสัย ให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ