ต้องพยายามให้พ้นจากจุดอันตราย อย่าพยายามเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดยัดเข้าไปในปาก เพราะ....
หลักการปฐมพยาบาลฉุกเฉินผู้ป่วยที่มีอาการชัก
- ถ้าหากผู้ที่ชักกระตุกอยู่ในที่อันตราย เช่น บนที่สูง บนขั้นบันได หรือที่อื่นใดอันอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ต้องพยายามให้พ้นจากจุดอันตราย และหากมีวัสดุรอบๆ ที่อาจก่ออันตรายได้ให้เคลื่อนย้ายออก อย่าพยายามไปล็อคตัวหรือผูกตัวคนที่กำลังชักกระตุก
- อย่าพยายามเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดยัดเข้าไปในปาก เพราะถ้าเป็นของแข็งแรงกัดลงมาอาจทำให้ฟันหรือกระดูกกรามหักได้ ถ้าใช้ผ้าม้วนๆ ใส่ในปากได้ จะดีกว่าใช้ของแข็ง
- การชักกระตุกโดยปกติจะเป็นเวลา 1-2 นาที ถ้าหากชักกระตุกนานๆ มากกว่า 3 นาที หรือชักกระตุกติดต่อกันเรื่อยๆ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจรักษา
- ภายหลังชักกระตุกผู้ป่วยมักจะหลับ ให้จัดอยู่ในท่ากึ่งคว่ำเพื่อป้องกันการสำลักถ้ามีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ระวังเรื่องลิ้นอาจจะตกไปขวางทางเดินหายใจ และถ้าทำได้อาจเคลื่อนย้ายให้ไปอยู่ที่ที่เงียบปราศจากเสียงรบกวน แต่ควรจะมีคนคอยดูแลใกล้ชิดด้วย
- ปล่อยให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นเองตามปกติ ถ้าพูดคุยกันรู้เรื่อง และผู้ป่วยมีประวัติชักมาก่อน ท่านควรเล่าให้ผู้ป่วยฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้น หากไม่มีประวัติชักมาก่อน ท่านควรแนะนำคนนั้นๆ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป
อาการชัก
- เป็นอาการแสดงที่เกิดขึ้นในช่วงขณะที่สมองมีการทำงานที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเอง และเป็นอยู่เพียงชั่วขณะ อาการดังกล่าวมักจะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นซ้ำ โดยไม่มีสิ่งกระตุ้นมาทำให้เกิดอาการ ในระหว่างที่มีอาการชักนั้นเซลล์สมองจะส่งกระแสประสาทมากกว่าปกติ และกระแสประสาทเหล่านี้เองที่ไปกระตุ้นให้เซลล์รอบข้างให้ทำงานมากเกินกว่าปกติ ผลก็คือทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสดงที่ผิดปกติเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ
- อาการชักอาจสามารถแบ่งออกได้โดยง่ายๆ เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีอาการชักจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองเฉพาะส่วน หรือเฉพาะตำแหน่งซึ่งอาการแสดงออกจะมีได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสมองที่ทำงาน ผิดปกตินั้นมีหน้าที่ควบคุมอะไร อาทิเช่น ถ้าสมองส่วนที่มีการทำงานผิดปกติเฉพาะส่วนนั้นเกิดขึ้นบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อแขน และใบหน้า อาการแสดงของอาการชักชนิดนี้จะเป็นเพียงการกระตุกเกร็งของกล้ามเนื้อ ใบหน้าหรือแขน แต่ถ้าหากสมองส่วนที่มีการทำงานผิดปกติในขณะที่มีอาการชักนั้นเป็นสมองส่วนที่ควบคุมประสาทสัมผัสรับรู้ของขาในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการชัก อาการแสดงออกจะเป็นเพียงอาการชาของแขนในบริเวณที่สมองส่วนที่มีอาการชักควบคุมดูแลอยู่ เป็นต้น
- กลุ่มที่สอง อาการชักชนิดที่เมื่อเริ่มชักสมองทำงานผิดปกติทั่วทั้งสมองสามารถแสดงออกได้ทั้งอาการชักเกร็งกระตุก หรืออาการแสดงที่ไม่ใช่เป็นอาการชักเกร็งกระตุกก็ได้ อาจจะมีได้หลายรูปแบบ อาทิเช่น ตาเหม่อลอย, ไม่รู้สึกตัว, ผงกศีรษะหรือสัปหงก, สะดุ้งผวา หรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ โดยไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้สึกตัว อาการชักชนิดที่ไม่ได้แสดงออกในรูปของอาการชักเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อของร่างกายมักจะเป็นอาการที่แอบแฝง และไม่เป็นที่สังเกตของคนทั่วไป และมักจะนำมาพบแพทย์ช้า หรือวินิจฉัยได้โดยยาก
- โดยทั่วไปแล้วอาการชักทั่วๆ ไปไม่ได้ทำอันตรายแก่เนื้อสมอง เนื้อสมองส่วนใหญ่จะไม่ตายโดยง่ายในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เกิดอาการชัก แต่อย่างไรก็ตามอาการชักที่เกิดขึ้นเป็นติดต่อกัน เป็นระยะเวลายาวนาน หรือที่เราเรียกว่าอาการชักชนิดต่อเนื่อง หรืออาการชักที่เกิดขึ้นนานเกินกว่า 20-30 นาที อาจจะทำให้เกิดเซลล์สมองบางส่วนหรือบางเซลล์ถูกทำลายไปได้
- สิ่งกระตุ้นทำให้เกิดอาการชัก ผู้ป่วยทั่วไปหากมีภาวะอ่อนล้า อดนอน อดอาหารหรือขาดยากันชัก อาจจะทำให้เกิดอาการชักเกิดขึ้นโดยง่าย นอกจากนั้นยา หรือเครื่องดื่มบางอย่าง อาทิเช่น แอลกอฮอล์, ยากระตุ้นบางชนิด เช่น ยาเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอาจมีผลทำให้เกิดอาการชัดได้โดยง่าย นอกจานั้นแล้วภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จากการอดอาหารก็มีส่วนทำให้เกิดอาการชักได้ ในผู้ป่วยบางรายการได้รับแสงไฟกระพริบ เช่น ไฟจากสปอตไลท์ หรือไฟกระพริบก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้เช่นกัน
สมองผิดปกติอย่างไร ที่ทำให้เกิดอาการชัก
- โรคทางพันธุกรรม มีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหลายชนิด ที่มีอาการชักร่วมด้วย โรคเหล่านี้อาจมีความผิดปกติที่อื่นด้วย เช่น ภาวะปัญญาอ่อน และมีประวัติการชัดในครอบครัว
- สมองพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติเหล่านี้เกิดได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น การติดเชื้อของมารดา อุบัติเหตุทำให้ตกเลือด ขาดอาหาร ได้รับรังสี หรือสารเสพติด ขณะมารดาตั้งครรภ์ เป็นต้น
- ภยันตรายต่อสมอง การขาดออกซิเจน หรือเลือดออกในสมอง ซึ่งอาจเกิดในระหว่างคลอด ภายหลังคลอด หรืออุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง
- การติดเชื้อในสมอง ฝีในสมอง สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือพยาธิตืดหมูขึ้นสมอง เป็นต้น
- เนื้องอกในสมอง ที่เกิดเริ่มต้นในสมอง หรือกระจายจากมะเร็งของอวัยวะอื่นไปสู่สมอง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม เป็นต้น
- หลอดเลือดสมองผิดปกติ หลอดเลือดสมองผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หลอดเลือดสมองแตก หรือตีบ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าแบบปกติ เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที สามารถทำการตรวจแบบผู้ป่วยนอกได้ โดยถือว่าเป็นการตรวจเบื้องต้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ วูบ หมดสติ ชัก เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักหรือไม่ หรือเป็นการตรวจในผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักแล้ว เพื่อที่จะหาตำแหน่งความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมองว่ามีจุดกำเนิดมาจากส่วนใดของสมอง หรือเป็นการตรวจเพื่อใช้ในการติดตามการรักษา หรือแม้กระทั่งเพื่อดูว่าการรักษาในผู้ป่วยรายนั้นหายขาดหรือไม่
- ผู้ป่วยจะต้องมีการเตรียมตัวในการตรวจ โดยจะต้องมีการสระผม หรือไม่ใส่เจล ก่อนมาทำการตรวจ ซึ่งในขณะทำการตรวจได้มีการติดสายวัดคลื่นไฟฟ้าสมองที่บริเวณศีรษะ โดยใช้เจลพิเศษที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า ซึ่งกระบวนการในระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องมีการลืมตา หลับตา แล้วจะมีการหายใจเข้าออกเร็วๆประมาณ 3 นาที รวมทั้งจะมีการใช้แสงไฟกระตุ้นในระหว่างการตรวจ การใช้สิ่งกระตุ้นเหล่านี้เพื่อเป็นการที่จะทำให้สามารถกระตุ้นคลื่นไฟฟ้าที่อาจผิดปกติที่แฝงอยู่ในสมองอาจแสดงออกมาให้เห็นได้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้า 24 ชั่วโมง เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่ใช้เวลา ที่ผู้ป่วยจะต้องมาอยู่ในโรงพยาบาลนานมากกว่า 1 วัน โดยทั่วไปในผู้ป่วยที่ต้องการตรวจเพื่อดูลักษณะอาการชัก เช่น ในผู้ป่วยที่เตรียมเพื่อการผ่าตัด อาจจะต้องมีการตรวจนานประมาณอย่างน้อย 3-5 วัน
- ผู้ป่วยจะต้องมานอนโรงพยาบาล และจะต้องมีการติดสายวัดคลื่นไฟฟ้าสมองที่ใช้กาวพิเศษซึ่งสามารถติดที่หนังศีรษะโดยมั่นคงและไม่หลุดง่าย ผู้ป่วยก็จะสามารถทำกิจวัตรประจำวันเป็นปกติในห้องที่มีการบันทึกภาพวิดิโอ การตรวจเพื่อที่จะเป็นการวินิจฉัยดูลักษณะการชักของผู้ป่วย ซึ่งจะต้องมีการกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการชักเกิดขึ้น เช่น จะต้องมีการถอนลดยาบางส่วน หรือว่าจะต้องมีการให้ผู้ป่วยอดนอน หรือมีการออกกำลังภายในห้องเพื่อทำให้มีการเหนื่อยเกิดขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดมีอาการชักได้ง่ายขึ้น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้า 24 ชั่วโมง เป็นการตรวจในผู้ป่วยที่เราไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยมีอาการชักหรือไม่ ซึ่งหลังจากที่ได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแบบปกติแล้วไม่พบความผิดปกติใดๆ ก็จะต้องมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าแบบ 24 ชั่วโมงเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการตรวจเพื่อหาตำแหน่งของคลื่นลมชักให้ชัดเจนมากขึ้นหรือว่าดูลักษณะอาการชักของผู้ป่วย เช่นว่า เป็นลักษณะของอาการชักแบบชนิดไหน แล้วมีจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปกติอยู่ในสมองส่วนไหน
- การตรวจเพื่อหาจุดตำแหน่งเพื่อเตรียมการผ่าตัด การตรวจคลื่นไฟฟ้า 24 ชั่วโมงจะกระทำในผู้ป่วยทุกรายที่จะพิจารณาเพื่อการผ่าตัดหาตำแหน่งที่ชัดเจนว่าคลื่นไฟฟ้าลมชักมีจุดกำเนิดมาจากส่วนไหนของสมองที่ผิดปกติ และเพื่อหาจุดที่ชัดเจนในการเตรียมการผ่าตัดได้แม่นยำมากขึ้น
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคลมชัก
- ผู้ที่เคยชัก และผู้เห็นเหตุการณ์ พยายามสังเกต และจดจำลักษณะของลมชักไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตรวจ และรักษา
- หลีกเลี่ยงงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ที่สูง ใกล้น้ำ บนผิวจราจร ของร้อน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดการชัก เช่น การอดนอน เครียด ตรากตรำการงาน ดื่มเหล้า และกินยากันชักไม่สม่ำเสมอ
- กินยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
- แม้คุมอาการชักได้แล้ว ห้ามหยุดยาเองจนกว่าแพทย์จะบอกให้หยุดยา เพราะโรคอาจไม่หาย และอาจมีอาการชักได้อีก
- ถ้าตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่นด้วย จะต้องแจ้งแพทย์ผู้รักษา
- ยอมรับความเจ็บป่วยของตนเอง ศึกษาหาความรู้ เพื่อความเข้าใจและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1739