สอนคุณธรรมอย่างไรให้ดำรงสามัคคี


741 ผู้ชม


สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดทำหนังสือคู่มือคุณธรรม จริยธรรม แห่งความเป็นคน ชื่อ "สอนคุณธรรมอย่างไรให้ดำรงสามัคคี" เป็นหนังสือที่ให้แง่คิด เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ดังนั้นเราจึงยกข้อสรุปนี้จาก วารสารวิชาการ มาเพื่อเ   

สอนคุณธรรมอย่างไรให้ดำรงสามัคคี

 
แหล่งที่มาของภาพ - https://www.myfirstbrain.com


สอนคุณธรรมอย่างไรให้ดำรงสามัคคี
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดทำหนังสือคู่มือคุณธรรม จริยธรรม แห่งความเป็นคน ชื่อ "สอนคุณธรรมอย่างไรให้ดำรงสามัคคี" เป็นหนังสือที่ให้แง่คิด เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ดังนั้นเราจึงยกข้อสรุปนี้จาก วารสารวิชาการ มาเพื่อเป็นสาระสำคัญเผยแพร่แก่ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง ดังนี้

คุณธรรมแม่บท 4
คุณธรรมแม่บท 4 ลักษณะจำเป็น 4 ประการ ที่ทำให้การกระทำได้ชื่อว่าดี หากไม่ครบก็ถือว่าเป็นความประพฤติไม่ดี ดังนี้
  1. ความรอบรู้ (Prudence) ความรู้รอบที่เป็นลักษณะจำเป็นของความประพฤติดีนั้น มิได้หมายถึง การมีความรู้มาก"ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" มีถมไป ความรอบรู้ หมายถึง การเล็งเห็นหรือการหยั่งรู้ได้ง่ายและชัดเจนว่าอะไรควรประพฤติ อะไรไม่ควรประพฤติ การแสวงหาความรู้มีส่วนช่วยให้เกิดความรอบรู้ แต่ทว่าความรู้รอบอันลึกซึ้งส่วนมากเกิดจากการคิดคำนึงและประสบการณ์
  2. ความเข้มแข็ง (Fortitude, Courage) ความเข้มแข็งทางกายภาพ ได้แก่ กล้าเสี่ยง ความยากลำบาก อันตราย และความตาย เพื่ออุดมการณ์ความเข้มแข็งทางจิตใจ ได้แก่ กล้าเสี่ยงการถูกเข้าใจผิด กล้าเผชิญการใส่ร้ายและการเยาะเย้ย โดยมั่นใจว่าตนทำดี
  3. ความพอเพียง (Sufficiency, Temperance) สัตว์มีสัญชาตญาณกระตุ้นให้ทำกิจการบางอย่างเพื่อการอยู่รอดของมันและเผ่าพันธุ์ เมื่อหมดความจำเป็นสัญชาตญาณนั้นก็หยุดทำงานโดยอัตโนมัติ มนุษย์มีสัญชาตญาณเช่นเดียวกัน แต่มนุษย์ยังมีความสำนึกสามารถสำนึกและปลุกสัญชาตญาณได้ตามใจ มนุษย์จึงมักจะใช้สัญชาตญานเลยเถิดเกินความจำเป็นตามธรรมชาติ จนบางครั้งปลุกสัญชาตญาณเพื่อความพอใจเท่านั้น การไม่รู้จักควบคุมพลังในตัวให้อยู่ในขอบเขตของจุดมุ่งหมายของชีวิต มักจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากมากมายแก่ตัวเองและสังคม คุณธรรมความพอเพียง ช่วยให้รู้ว่าอะไรควรอยู่ในขอบเขตแค่ไหน การไม่ใช้สัญชาตญาณเลยจะทำให้เป็นคนไร้พลังและไร้ประโยชน์ ถ้าเกินขอบเขตก็มักจะก่อความเดือดร้อนจึงต้องฝึกให้รู้จักใช้พลังและสัญชาตญาณในเขอบเขตอันควรในแต่ละสภาพและฐานะของบุคคล
  4. ความยุติธรรม (Justice) ได้แก่ การให้แก่ทุกคนและแต่ละคนตามความเหมาะสม ต้องรู้ว่าเรามกำลังให้เท่าไร ควรให้แก่ใครเท่าไรและอย่างไร เช่น แก่ตัวเราเอง บุคคลในครอบครัว ญาติ เพื่อฝูง มิตรสหาย เพื่อร่วมงาน ความเข้มแข็ง และความพอเพียงเข้ามากำกับด้วยโดยจำเป็น ความยุติธรรมเป็นพื้นฐานของคุณธรรมทุกอย่าง ผู้มีความยุติธรรมสูงจึงเป็นผู้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในตัว สังคมที่มีความยุติธรรมเป็นสังคมที่สงบสุข
กระบวนการของมโนธรรม
มโนธรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดมิได้ เพราะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้พฤติกรรมกลายเป็นความประพฤติ รู้ว่าอะไรชั่ว อันเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้ตัดสินใจด้วยเจตนาจำนงเสรีเฉพาะตัวว่า จะทำดีหรือทำชั่ว ในเมื่อมีสิทธิเลือกตัดสินใจ ความรับผิดชอบต่อการเลือกของตนก็ตามมาเป็นของคู่กัน ดังนั้นจึงควรวิเคราะห์กันให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้ตระหนักในคุณค่าของคุณธรรม ดังกลไกมโนธรรม ต่อไปนี้

แหล่งที่มาของภาพ - https://www.myfirstbrain.com


มนุษย์ทำอะไรย่อมมีเป้าหมายของตนเอง
มนุษย์เรามีส่วนเหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายตรงที่ว่า ทำอะไรมีเป้าหมายที่มาจากสัญชาตญาณคือ ไม่ได้คิดเอง แต่ธรรมชาติผลักดันให้ทำเพราะมีเป้าหมายตามสัญชาตญาณ เพื่อเอาตัวรอดและการดำรงอยู่ของมนุษย์ชาติ เช่น การกิน อยู่ หลับ นอน สืบพันธุ์ เป็นต้น นอกเหนือไปจากนั้น มนุษย์ยังมีเป้าหมายจากใจของตนเองซึ่งจะแตกต่างกันไปตามบุคคล เมื่อมนุษย์มีเป้าหมายแล้วไม่ว่าจะมาจากสัญชาตญาณหรือจากใจของตนเอง มนุษย์เรามีเสรีภาพตัดสินใจเลือกว่าจะเดินตามหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสัตว์เดรัจฉานไม่สามารถกระทำได้ ความสำนึกอย่างนี้เรียกว่า มีมโนธรรม
เป้าหมายสุดท้ายของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนจบลงแค่ความสะดวกสบายในโลกนี้ อยากกินอะไรได้กิน อย่างทำอะไรได้ทำ อยากเที่ยวที่ไหนได้เที่ยว นอกจากนั้นไม่สนใจ เรากำหนดคนประเภทนี้ว่า ในใจห้องขวาของเขามีอภิปรัชญาแบบสสารนิยม (Materialism) หรือ ธรรมชาตินิยม (Naturalism) นั่นคือ ไม่เชื่อว่ามีชีวิตเหนือธรรมชาติ หรือมีชีวิตหลังความตาย
ธรรมชาตินิยมต่างจากสสารนิยมตรงที่ว่า มีจิตซึ่งเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ สัตว์และพืช แต่จิตไม่ใช่วิญญาณอมตะ จิตแบบนี้จะสลายตัวไปพร้อมกับ ความตาย ส่วนสสารนิยม เชื่อว่าจิตไม่มี ที่เรียกว่า จิตนั้น คือ พลังงานของสสารซึ่งผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทึกทักเอาว่าเป็นจิตหรือวิญญาณ
ธรรมาภิบาลหรือ การบริหารงานที่ดี (Good Governance)
ต้องมีเป้าหมายชัดเจนและมีนโยบายบริหารทรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด ใช้เวลาน้อยที่สุด และใช้จ่ายน้อยที่สุด 
ทรัพยากรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรทรัพย์สิน ที่สำคัญ คือ ทรัพยากรมนุษย์ เพราะเป็นฝ่ายใช้ทรัพยากรทรัพย์สินตามความรู้ ความสามารถ อุดมการณ์และการตัดสินใจของแต่ละคน
การบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงต้องยืดหยุ่นภายใน 3 เกณฑ์ คือ เกณฑ์จำเป็น เกณฑ์เสริม และเกณฑ์ส่งเสริม
การบริหารงานที่ดีของรัฐบาล (Good Governance for a Good Government)
รัฐบาลที่ดีต้องใช้ทั้ง 3 เกณฑ์โดยผสมผสานกันอย่างเหมาะสม ด้วยคุณธรรมความพอเพียง คือ
  1. เกณฑ์จำเป็น ต้องออกกฎหมายที่กระตุ้นให้พลเมืองขยันขันแข็งทำงาน โดยมุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วยตนและพวกพ้อง เพื่อเศรษฐกิจมั่งคั่งและความมั่นคงของประเทศชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมอย่างเพียงพอมิให้ความขยันขันแข็งของใครมีผลกระทบกระเทือนต่อประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้อื่น โดยเขาไม่ยินยอม
    สอนคุณธรรมอย่างไรให้ดำรงสามัคคี
    แหล่งที่มาของภาพhttps://www.myfirstbrain.com
    เบื้องหลังของกฎหมาย ก็คือ ต้องสมมติว่า ทุกคนเห็นแก่ตัว ผู้รับผิดชอบด้านกฎหมายทุกฝ่าย คือ ผู้ออกกฎหมาย ผู้รักษากฎหมายและผู้ชี้ขาดกฎหมายในหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต้องสมมติทุกคนเห็นแก่ตัว จึงต้องใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเห็นแก่ตัวของทุกคนโดยไม่ไว้หน้า โดยถือว่าใครก็อยากใช้ช่องโหว่เพื่อเอาเปรียบผู้อื่นได้ทั้งสิ้น ถ้ากฎหมายมีช่องโหว่กฎหมายก็อ่อนแอและขาดความศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้ากฎหมายเคร่งครัดเกินจำเป็นก็จะละเมิดวิทธิของประชาชน
  2. เกณฑ์เสริม จะต้องเสริมกฎหมายด้วยสานา ไม่ใช่เพียงแต่ส่งเสริม โดยถือว่าคำสนของศาสนาเป็นส่วนเสริมที่จำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิตของพลเมือง ซึ่งจะมีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของชาติ ในสมัยก่อนหลายรัฐบาลจึงเอาคำสอนศาสนามาเป็นเกณฑ์จำเป็น คือ เอาศีลธรรมของศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือออกเป็นกฎหมายของชาติเสียเลย แต่ในปัจจุบันไม่นิยมทำกัน เพราะมักจะมีปัญหากับชนกลุ่มน้อยที่มีศาสนาของตนเอง จึงนิยมใช้เป็นเกณฑ์เสริม คือ ไม่เพียงแต่ส่งเสริม แต่ออกกฎหมายเสริมเพื่อคุ้มครอง และช่วยศาสนาที่รัฐบาลรับรู้ให้สามารถใช้ศักยภาพของแต่ละศาสนาในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีนโยบายให้ศาสนาต่างๆ ได้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ อย่างไรก็ตามเนื่องจากในปัจจุบัน มีผู้ประกาศตัวไม่นับถือศาสนาใดเลย หรือนับถือศาสนาเป็นส่วนตัว ไม่เข้ากลุ่มศาสนาใดทั้งสิ้น จึงต้องมีเกณฑ์ที่ 3
  3. เกณฑ์ส่งเสริม ถ้ามีเพียงกฎเกณฑ์และศาสนาเท่านั้น ก็ยังอาจจะมีจุดอ่อนในสังคมอีกมากที่อาจจะส่งเสริมได้โดยส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสมาคม อิสระที่มีอุดมคติ จะทำอะไรก็ได้กฎหมายบ้านเมืองและองค์การศาสนาของชาติครอบคลุมไม่ถึง หรือถึงแต่อ่อนฝึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ สมาคมอาจจะมีอุดมคติสนับสนุนบางแง่ของกฎหมายหรือของศาสนาก็ได้ แต่จะไม่ต้องขัดแย้งกฎหมายและศาสนาของชาติ สมาคมอาจจะรวมถึงองค์การศาสนาที่ยังไม่ได้รับการรับรู้จากรัฐบาลก็ได้ รัฐบาลมีหน้าที่ออกกฎหมายคุ้มครองให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและไม่ละเมิดประเพณีอันดีงาม ตลอดจนให้ความคุ้มครองให้ทำงานตามอุดมคติได้โดยสะดวก และส่งเสริมให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ควรเป็นภาระด้านการเงินแก่รัฐบาลโดยไม่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้ตั้งสมาคมเป็นฉากบังหน้าหาผลประโยชน์แทนเสียสละเพื่ออุดมคติเบื้องหลังของนโยบายนี้ก็คือ บางคนอาจจะมีศรัทธาต่อศาสนาใดแล้ว หรือยังไม่มีศาสนาใดในใจเลยก็ตาม ก็อาจจะมีจิตสำนึกด้วยเหตุผลส่วนตัว เรียกว่า จิตสำนึกในหน้าที่ (Duty Call) คือ รู้สึกว่าเกิดมาเป็นคนทั้งที่มีหน้าที่ต้องทำอะไรฝากไว้ในประวัติศาสตร์ให้คนสรรเสริญแม้ตัวตายไปแล้ว นี่เป็นเพียงตัวอย่างการบริหารงานที่ดีทุกระดับและทุกด้านพึงหาความพอเพียงและพอดีระหว่าง 3 เกณฑ์อย่างเหมาะสม สามัคคีธรรมก็จะเกิดขึ้นและธำรงอยู่โดยอัตโนมัติ
เรื่องที่ควรขยายความต่อไป คือ
  1. เป้าหมายสูงสุดของแต่ละคนมาจากไหน (ปรัชญาชาวบ้าน + ปรัชญาของนักปราชญ์)
  2. อิทธิพลต่อการตัดสินใจของมนุษย์มีอะไรบ้าง (อิทธิพลภายใน + อิทธิพลภายนอก)
  3. ขุมพลังปฏิบัติคุณธรรมมีอะไรบ้าง (พลังสร้างสรรค์ พลังปรับตัว พลังแสวงหา พลังร่วมมือ)
  4. คุณธรรมทำให้ชีวิตมีคุณค่าอย่างไร (To-be-a-man-for-himself)
  5. คุณธรรมจูงใจให้มนุษย์อยากมีสามัคคีธรรมอย่างไร (To-be-a-man-with-others)
  6. คุณธรรมจูงใจให้มนุษย์อยากอุทิศตนอย่างไร (To-be-a-man-for-others)
  7. คุณธรรมจูงใจให้มนุษย์รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างไร ((To-be-a-man-for-the-world)
สรุป
ขณะนี้องค์กรที่เสียสละแรงงานแรงใจและเวลาสร้างเครือข่ายชักชวนให้ทำอะไรบางอย่างหรืออย่างน้อยสักอย่าง เพื่อตอบสนองพระราชดำริและเดินตามเบื้องพระยุคลบาทแห่งปรัชญาความพอเพียง และนโยบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านธรรมาภิบาล ด้วยคุณธรรม จริยธรรม เท่าที่สำรวจรู้มีไม่ต่ำกว่า 500 องค์กรกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ หากสำรวจให้ทั่วถึงจริงก็คงจะมีถึง 1,000 องค์กรขึ้นไป จึงน่าจะหวังอย่างฝันหวานที่น่าจะเป็นจริงได้ว่า หากบรรดาวิทยากรแห่งองค์กรเหล่านี้ได้เข้าใจความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ และใช้เป็นพื้นฐานร่วมหรือเป็นคำอธิบายเสริม โดยแต่ละองค์กรซึ่งมีวิธีดีอยู่แล้วพร้อมกับประสบการณ์ที่มีอยู่ ก็จะรับรู้ได้ว่า เบื้องหลังของวิธีการและเนื้อหาที่สรรหามาอบรมและสอนกันได้มากมายพร้อมเทคนิคดีๆ อันทรงประสิทธิผลอยู่แล้วนั้น หากได้ตระหนักและรับรู้คุณธรรมจริยธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ผนวกเข้าไปด้วย โดยถือว่าเป็นพื้นฐานรวมเพื่อการพัฒนาขยายความออกไปทางไหนก็ได้ และเชื่อมโยงไปถึงอะไรก็ได้ สามัคคีธรรมก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
สามัคคีธรรมเริ่มต้นที่ความเข้าใจและยอมรับร่วมกันว่า มนุษย์ทุกคนเป็นคนและในฐานะที่เป็นคนจึงมีความสามารถคิดในระดับปัญญา ส่วนหนึ่งของปัญญาคือ ให้ความสำนึกดี/ชั่ว คือ เมื่อจะต้องตัดสินใจทำอะไร ปัญญาจะบอกทันทีว่า ควรทำหรือควรละเว้นเสียงบอกเช่นนี้นักปราชญ์เขาเรียกว่า เสียงมโนธรรม ซึ่งแต่ละสาสนามีชื่อเรียกต่างๆ กัน และแปลเป็นภาษาไทยได้ต่างๆ กัน โดยมีความหมายเพิ่มเติม ตามรายละเอียดคำสอนของแต่ละศาสนา แต่พื้นฐานความคงไม่พ้นความสำนึกดี/ชั่ว อันเป็นนิยามของปรัชญาของมโนธรรม เมื่อมโนธรรมสั่งก็ย่อมจะต้องตัดสินใจว่าจะทำตาม มโนธรรมหรือฝ่าฝืนมโนธรรม ผลก็คือ ทำดีหรือทำชั่วเป็นครั้งๆ หากทำจนเคยชินก็เรียกว่าคุณธรรม คุณธรรมชุดหนึ่งๆ ที่ทำให้คนใดคนหนึ่งนับได้ว่าเป็นคนดี เรียกว่าจริยธรรม จริยธรรมจึงใช้เรียกคุณธรรมทั้งชุด แต่ละสาสนาจะมีชุดจริยธรรมไม่เหมือนกันในรายละเอียด นักปรัชญาทำการวิเคราะห์เชิงปรัชญาว่า ทุกระบบจริยธรรมจะต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการ เรียกว่า คุณธรรมแม่บท คือ ความรู้รอบความพอเพียง ความเข้มแข็งและความยุติธรรม ซึ่งนิยามได้ 5 แบบ เฉพาะแบบที่ 5 คือ การให้แก่แต่ละคนตามสิทธิของเขา จึงถือได้ว่ามีความชอบธรรม
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือ คุณธรรม จริยธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งแต่ละสาสนาอาจจะอธิบายด้วยศัพท์ สำนวน และโวหาร อันเป็นที่ยอมรับในศาสนา โดยอ้างหลักฐานตามคัมภีร์และคำสอนของนักปราชญ์ในศาสนาของตนต่อไปอีกเท่าใดก็ได้ ส่วนนักปราชญ์ก็อาจจะอธิบายขยายความต่อไปได้มากมายหลายแบบตามแนวคิดของแต่ละสำนัก แต่เท่าที่เสนอขึ้นมาเป็นโครงสร้างที่เป็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์อันเป็นผลจากการสังเกตกระบวนการคิดของตนเอง และสังเกตการแสดงออกของมนุษย์โดยทั่วไป ก็ย่อมถือได้ว่ามรดกร่วมของความเป็นมนุษย์ที่คนทุกคนพึงสำนึกและใช้ให้เป็นประโยชน์ร่วมกันในการศึกษา เรื่องคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้เกิดสามัคคีธรรม


ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2551-เวบไซต์ -https://www.myfirstbrain.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1867

อัพเดทล่าสุด