การปรับตัวของสิ่งมีชีวิต


672 ผู้ชม


สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเพื่อการอยู่รอด การปรับตัวเป็นผลมาจากการคัดเลือกตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวในด้านต่างๆได้ดี จะสามารถดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์ต่อไปได้   

การปรับตัวของสิ่งมีชีวิต

จุดประสงค์การเรียนรู้

1. อธิบายความหมายของการปรับตัวและการปรับตัวต่างๆของสิ่งมีชีวิตได้

2. ยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และบอกสาเหตุของการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตนั้นๆได้

สาระสำคัญ

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเพื่อการอยู่รอด การปรับตัวเป็นผลมาจากการคัดเลือกตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวในด้านต่างๆได้ดี จะสามารถดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์ต่อไปได้

การปรับตัว

ความหมายของการปรับตัว

การปรับตัว(Adaptation) หมายถึง กระบวนการที่สิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับลักษณะบางประการให้เข้ากับ สภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ซึ่งลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ดังกล่าวจะอำนวยประโยชน์แก่ชีวิตในแง่ของการอยู่รอดและสามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตมีหลายประการ ได้แก่ การแสวงหาอาหาร การสืบพันธุ์ การต่อสู้กับศัตรู และการหลบหลีกศัตรู หรือสิ่งแวดล้อม

สิ่งมีชีวิตมีการปรับตัว ดังนี้

1. การเกิดและการคงรูปร่าง ท่าทาง ลักษณะ หรือหน้าที่ ของสิ่งมีชีวิตในประชากร ทำให้เหมาะสมและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมนั้นๆการปรับตัวชนิดนี้เกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่แปรผันทำให้เกิดความแตกต่างกันทางพันธุกรรม

2. ลักษณะทางสรีรวิทยา พฤติกรรมหรือสัณฐาน ซึ่งควบคุมโดยพันธุกรรม เอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมอย่างเหมาะสมจนกระทั่งสืบพันธุ์ได้

3. เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น การขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองทำให้คนล้มลง ทำให้เลือดส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เร็วขึ้น นั่นคือ การเป็นลม

หรือนกบางชนิดมีการเปลี่ยนสีของขนนก หรือพฤติกรรมในบางฤดู เช่น ในช่วงสืบพันธุ์ของนกยูง นกยูงตัวผู้จะรำแพนอวดหางอันสวยงาม

การปรับตัวทางพันธุกรรมเป็นผลที่เกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจำเป็นต้องปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้จึงจะอยู่รอด การปรับตัวนั้นเกิดได้ทั้งในแง่

รูปร่าง สรีรวิทยาหรือพฤติกรรม หากการปรับตัวนั้นเหมาะสมและสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมแล้ว ทำให้เกิดวิวัฒนาการทั้งสิ้น

การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเป็นผลของการคัดเลือกตามธรรมชาติ ลักษณะที่ปรากฏจะอำนวยประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตในแง่ของการอยู่รอด และสามารถสืบพันธุ์ได้ ลักษณะดังกล่าวที่คงไว้ในสิ่งมีชีวิตนี้ถูกควบคุมโดยหน่วยพันธุกรรม สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ดีจะสามารถดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์ต่อไปได้

ดังนั้น สิ่งมีชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้มีความคล้ายคลึงกับธรรมชาติที่อาศัยอยู่ทั้งนี้เพื่ออำพรางศัตรูที่จะเข้ามาทำร้าย และอำพรางเหยื่อที่หลงเข้าไปใกล้ตัว ซึงเหยื่อของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด จะแตกต่างกันเพื่อความสะดวกในการบริโภค ตามรูปภาพแสดงลักษณะปากของแมลงบางชนิด

การปรับตัวด้านต่างๆของสิ่งมีชีวิต

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดและสามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้ แต่เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในโลกมีมากมายหลายชนิด การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจึงมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งจะพอสรุปได้ดังนี้

การปรับตัวของจิ้งจก จิ้งจกจะปรับสีตามผนังหรือเพดานที่มันอาศัยอยู่ ถ้าเป็นตึกสีขาวจิ้งจกจะปรับตัวให้มีสีซีดเกือบขาว แต่ถ้าอยู่ตามบ้านไม้ ก็จะปรับสีเป็นสีน้ำตาล

การปรับตัวของนกเป็ดน้ำ นกเป็ดน้ำที่อาศัยและหากินอยู่ในน้ำจะปรับขนเป็นมัน ขามีพังผืดระหว่างนิ้ว เพื่อใช้ในการว่ายน้ำและสะดวกในการจับปลากินเป็นอาหาร

การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตต่างๆเหล่านี้ มีจุดประสงค์เพื่ออำพรางตัวให้รอดพ้นจากการล่าของศัตรูหรืออำพรางเหยื่อที่หลงเข้ามาใกล้ตัว และเพื่อสะดวกในการหาอาหารกิน

สิ่งมีชีวิตบางชนิดจะมีการปรับตัวทางด้านรูปร่าง ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เพื่ออำพรางศัตรูที่จะเข้ามาทำร้าย เพื่ออำพรางเหยื่อที่หลงเข้ามาใกล้ตัว

การปรับตัวของตั๊กแตนทั้ง 3 ชนิด มีการปรับลักษณะรูปร่างดังนี้

1. ตั๊กแตนกิ่งไม้ มีลำตัวสีน้ำตาลและขายาวเก้งก้าง เมื่อเกาะอยู่กับที่นิ่งๆจะมีลักษณะคล้ายกิ่งไม้

2. ตั๊กแตนใบโศก มีลำตัวสีเขียวหรือสีน้ำตาล เมื่อเกาะอยู่กับที่นิ่งๆปีกจะประกบกัน ทำให้มองดูคล้ายใบไม้

3. ตั๊กแตนตำข้าว มีลำตัวสีเขียว ขาคู่หน้ามีขนาดใหญ่ และปลายขาจะมีอวัยวะสำหรับจับเหยื่อเมื่อเกาะอยู่กับที่นิ่งๆปีกจะซ้อนกันคลุมลำตัว มองดูคล้ายใบไม้

สิ่งมีชีวิตนอกจากจะปรับลักษณะรูปร่างให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ที่อาศัยอยู่แล้ว บางชนิด เช่น แมลง ยังปรับลักษณะปากเพื่อความเหมาะสมต่ออาหารหรือเหยื่อที่กินอีกด้วย

การปรับลักษณะปากของแมลงให้เหมาะสมต่อเหยื่อที่กิน มีผลทำให้แมลงแต่ละชนิดมีโครงสร้างทางสรีระแตกต่างกัน คือ

แมลงที่กัดกินใบไม้ จะปรับส่วนปากให้มีลักษณะคล้ายกรรไกรหรือคีมเพื่อกัดกิน บดเคี้ยว หรือแทะอาหารออกเป็นชิ้นเล็กๆ เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงสาบ มด เป็นต้น ปากของแมลงกลุ่มนี้ เรียกว่า ปากกัด

แมลงที่กินอาหารเป็นของเหลว จะปรับส่วนปากให้มีลักษณะแบนคล้ายใบพายริมฝีปากจะแผ่กว้างเพื่อเลียและดูดซับอาหาร ภายในมีท่อกลวงสำหรับเป็นทางเปิดของท่อน้ำลายช่วยในการย่อยและเป็นทางเดินของอาหารสู่คอหอย แมลงกลุ่มนี้ เช่น แมลงวัน เหลือบ ผึ้ง เป็นต้น ปากของแมลงกลุ่มนี้ เรียกว่า ปากเลียและดูด

แมลงที่ดูดน้ำจากเหยื่อ จะปรับส่วนปากให้มีลักษณะเป็นท่อยาวๆคล้ายเข็มยื่นออกมาเพื่อใช้เจาะและดูดอาหารจำพวกน้ำจากเหยื่อ เช่น ยุง เพลี้ยอ่อน แมงดานา เป็นต้น ปากของแมลงกลุ่มนี้ เรียกว่า ปากเจาะและดูด

แมลงที่ดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ ปรับส่วนปากให้มีลักษณะเป็นวงม้วนเก็บได้หลังจากดูดอาหารเสร็จแล้ว เช่น ผีเสื้อ เป็นต้น ปากของแมลงกลุ่มนี้เรียกว่า ปากดูด

การปรับตัวของสัตว์เพื่อความเหมาะสมต่อการกินอาหารของสัตว์ แต่ละชนิดทำให้สัตว์แต่ละชนิดมีโครงสร้างทางสรีระแตกต่างกัน เช่น แมลงที่กัดกินใบไม้จะมีขากรรไกรเพื่อการบดเคี้ยว แมลงที่กินอาหารเป็นของเหลวก็จะปรับส่วนปากเป็นท่อสำหรับดูดซับ เป็นต้น การปรับตัวของสัตว์เช่นนี้ทำให้สัตว์ดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นได้อย่างเหมาะสม และสามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้

การปรับตัวของพืช

การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะพบในสัตว์แล้ว ยังพบในพืชอีกด้วย การปรับตัวของพืชขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เช่น

ผักตบชวา เป็นพืชน้ำ จะมีก้านใบที่พองออกเป็นกระเปาะ ภายในมีช่องว่างระหว่างเซลล์มากน้ำหนักเบา ทำให้สามารถลอยอยู่เหนือน้ำได้

 

 แหล่งที่มาของข้อมูล- https://www.school net.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1901

อัพเดทล่าสุด