กลไกการเกิดพฤติกรรม (Behabivor Machanism )


763 ผู้ชม


การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกสิ่งมีชีวิตนั้นๆ อาจเกิดขึ้นทันทีทันใด หรืออาจล่าช้าไปได้บ้าง และเนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งมีชีวิตจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล   

พฤติกรรมเป็นกลไกในการรักษาสภาพสมดุลของร่างกายจริงไหม ?

1.เนื้อหาสาระการเรียนรู้    สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 และ 4
2.สาระที่ 1                       สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
3.มาตรฐาน ว 1.2            เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้างและหน้าที่ของระบบต่างๆ
                                      ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน

4.กิจกรรมการเรียนรู้  ;  1. ให้นักเรียนสังเกตการ พูด การหัวเราะ การร้องให้ การเดินของคน สัตว์
                               2.  ให้นักเรียนคิดทบทวนว่าอะไรคือสิ่งเร้า อะไรคือการตอบสนอง และใครคือผู้สั่งการ
                               3.   ให้นักเรียนศึกษาหาความรู้จากเนื้อหาข้างล่างนี้เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง
5. เนื้อหาที่ใช้สืบค้น

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้น (stimulus) ได้ การตอบสนองดังกล่าวจะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ชนิดของสิ่งมีชีวิต โดยทั่วไปสัตว์จะแสดงการตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้รวดเร็วและสังเกตได้ง่าย เช่น การกินอาหาร การวิ่งหนีศัตรู เป็นต้น กิริยาที่สิ่งมีชีวิตแสดงออกมาเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นนี้เรียกว่า พฤติกรรม (behavior
การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกสิ่งมีชีวิตนั้นๆ อาจเกิดขึ้นทันทีทันใด หรืออาจล่าช้าไปได้บ้าง และเนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งมีชีวิตจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อนำไปสู่ความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต จึงกล่าวได้ว่า พฤติกรรมเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการรักษาสภาพสมดุล (
homeostasis)
ในสัตว์ต่างๆ พฤติกรรมของสัตว์เกิดจากการประสานงานกันระหว่างระบบประสาท ระบบกระดูก และระบบกล้ามเนื้อ ตลอดจนระบบต่อมที่มีท่อและต่อมไร้ท่อต่างๆ สัตว์แต่ละชนิดจึงมีพฤติกรรมแตกต่างกัน การศึกษาพฤติกรรมกระทำได้ 2 วิธี คือ

  1. วิธีทางสรีรวิทยา (physiological approach) จุดมุ่งหมายของการศึกษาด้วยวิธีการนี้ก็เพื่อที่จะอธิบายพฤติกรรมในรูปแบบของกลไกการทำงานของระบบประสาท
  2. วิธีการทางจิตวิทยา (phychological approach) เป็นการศึกษาถึงผลของปัจจัยต่างๆ รอบตัวและภายในร่างกายสัตว์ที่มีต่อการพัฒนาและการแสดงออกของพฤติกรรมที่มองเห็นได้ชัดเจน
ขณะที่แมววิ่งไล่จับหนูหรือตะครุบจิ้งจกเป็นอาหาร ถ้าพิจารณาถึงกลไกของระบบประสาทที่ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้รวดเร็ว ก็น่าจะอธิบายได้ว่า แมวรับรู้สิ่งเร้าโดยการได้ยินและการเก็บเหยื่อซึ่งเป็นสิ่งเร้าภายนอก แล้วส่งกระแสประสาทไปยังสมอง จากนั้นสมองจะสั่งการมายังอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานหรือแสดงพฤติกรรมออกมา
ในการแสดงพฤติกรรมของสัตว์นั้นนอกจากจะถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าแล้ว สัตว์จะแสดงพฤติกรรมได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุจูงใจ (motivation) ให้แสดงพฤติกรรมนั้นๆ เหตุจูงใจนี้หมายถึงความพร้อมภายในร่างกายของสัตว์ก่อนที่จะแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างของเหตุจูงใจนี้เช่น ความหิวโหย ความกระหาย เหตุจูงใจเกิดจากการทำงานร่วมกันของปัจจัยหลายประการ ได้แก่ สุขภาพทั่วไปของสัตว์ ฮอร์โมน ระบบประสาท หรือประสบการณ์ที่สัตว์ได้รับ การที่สัตว์จะแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาได้ สัตว์จะต้องมีเหตุจูงใจอยู่ในระดับที่สูงพอสมควรและได้รับสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นที่สอดคล้องกับเหตุจูงใจนั้นๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจะไปกระตุ้นหน่วยรับความรู้สึกในสมอง สัตว์จะเกิดความหิวโหย และสมองจะสั่งคำสั่งไปยังวงจรของกระแสประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมการกินอาหารให้พร้อมที่จะทำงาน เมื่อสัตว์ได้รับตัวกระตุ้นที่เหมาะสมคือ อาหาร วงจรกระแสประสาทจะทำให้เกิดพฤติกรรมการกินอาหารออกมาทันที ตัวกระตุ้นที่เหมาะสมกับความพร้อมในร่างกายของสัตว์ และทำให้สัตว์ปลดปล่อยพฤติกรรมออกมาได้นี้ เรียกว่า ตัวกระตุ้นปลดปล่อย (releasing stimulus) ส่วนวงจรกระแสประสาทที่ไวต่อตัวกระตุ้นปลดปล่อยนี้เรียกว่า กลไกการปลดปล่อยพฤติกรรม (releasing mechanism) โดยทั่วไปความสัมพันธ์ระหว่างเหตุจูงใจ และตัวกระตุ้นปลดปล่อยจะเป็นปฏิภาคกลับกัน ถ้าเหตุจูงใจสูงสัตว์จะสามารถแสดงพฤติกรรมออกมาได้ แม้ตัวกระตุ้นปลดปล่อยจะไม่รุนแรง ในทางตรงข้ามถ้าเหตุจูงใจของสัตว์ต่ำ สัตว์จะแสดงพฤติกรรมได้ เมื่อตัวกระตุ้นปลดปล่อยมีความรุนแรงมาก
จากตัวอย่างการแสดงพฤติกรรมที่กล่าวมา คงพอจะทำให้เห็นภาพกลไกโครงสร้างของร่างกายที่ควบคุมการเกิดพฤติกรรมได้ดังแผนภาพ
สำหรับสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่ไม่มีระบบประสาทหรือมีระบบประสาทที่ไม่เจริญ จะมีโครงสร้างบางอย่าง เช่น มีเส้นใยประสานงาน และมีหน่วยรับความรู้สึกอยู่ที่ผิวของร่างกายซึ่งไวต่อสิ่งเร้าหลายชนิด เป็นกลไกควบคุมการเกิดพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตพวกนี้ด้วย
พฤติกรรมจะสลับซับซ้อนเพียงใดขึ้นกับระดับความเจริญของปัจจัยสำคัญต่างๆ (ในแผนภาพ) อันก่อให้เกิดพฤติกรรมนั้นๆ ปัจจัยดังกล่าวแยกออกได้เป็น
  • หน่วยรับความรู้สึก (receptor) คือส่วนของเซลล์ หรือเนื้อเยื่อที่ไวเป็นพิเศษต่อสิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ และสามารถเปลี่ยนพลังงานที่ได้รับจากการกระตุ้น เช่น แสง ความร้อน ให้เป็นกระแสประสาท แบ่งเป็น หน่วยรับความรู้สึกภายนอกร่างกาย และหน่วยรับความรู้สึกภายในร่างกาย
  • ระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) คือ ศูนย์รวมข้อมูลและออกคำสั่ง ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ประสาท และเส้นใยประสาทจำนวนมากมารวมกัน ซึ่งจะมีความสลับซับซ้อนมากน้อยเพียงใดขึ้นกับชนิดของสัตว์ ในสัตว์มีกระดูกสันหลังจะมีระบบประสาทส่งนกลางที่พัฒนาการดี เช่น สมอง และไขสันหลัง ในโพรโทซัว และฟองน้ำ จะไม่มีระบบประสาทส่วนกลางนี้เลย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีหน่วยรับความรู้สึกที่ไวต่อสิ่งเร้าอยู่ใกล้กับหน่วยปฏิบัติงานมาก จึงแสดงพฤติกรรมได้โดยไม่ต้องผ่านระบบประสาทส่วนกลาง
  • หน่วยปฏิบัติงาน (effector) คือ ส่วนของร่างกายที่ใช้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ในรูปการเคลื่อนไหว ระดับความเจริญของหน่วยปฏิบัติงานในสัตว์มักจะสัมพันธ์กับระดับความเจริญของหน่วยรับความรู้สึกของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ในสัตว์มักจะมีกล้ามเนื้อเป็นหน่วยปฏิบัติงาน

สัตว์แสดงพฤติกรรมมากมายหลายอย่างเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่แตกต่างกัน การแสดงพฤติกรรมไม่ได้เป็นไปอย่างง่ายๆ ตรงไปตรงมาเท่านั้น บางพฤติกรรมก็ซับซ้อนโดยเฉพาะพฤติกรรมของคนซึ่งยากแก่การจำแนกได้ว่าการแสดงออกนั้นเป็นพฤติกรรมแบบใดแน่ อย่างไรก็ตามนักพฤติกรรมได้พยายามจำแนกพฤติกรรมออกเป็นแบบต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาและทำความเข้าใจ

6.คำถาม  1. มีกลไกอะไรบ้างที่ทำให้เกิดพฤติกรรมจงเขียนเป็นแผนภูมิ
               2. ให้สรุปว่าพฤติกรรมคืออะไร ไดแก่อะไรบ้าง
7.กิจกรรมเสนอแนะ  ให้นักเรียนบอกความสัมพันธ์ระหว่างระบบประสาท สิ่งมีชีวิต และพฤติกรรม
8.การบูรณาการ        นักเรียนเขียนความสัมพันธ์ในเชิงเนื้อหา (Intraintigration)
9. แหล่งอ้างอิง  :  https://www.myfirstbrain.com.  แบบเรียนชีววิทยา เล่มที่ 4 
                         สสวท

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1908

อัพเดทล่าสุด