โรคขาดสารไอโอดีน


955 ผู้ชม


โรคขาดสารไอโอดีน ที่ทุกคนรู้จักและสังเกตได้คือ โรคคอหอยพอกทั้งธรรมดาและแบบเป็นพิษ   

โรคขาดสารไอโอดีน

 

คำถามก่อนเรียน

1. เมื่อขาดสารไอโอดีน จะมีอาการอย่างไร

2. ถ้ามารดาขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรงขณะตั้งครรภ์ จะมีผลเสียต่อเด็กที่เกิดมาอย่างไร

3. การขาดสารไอโอดีนเกิดจากสาเหตุใด

4. ภาวะการขาดสารไอโอดีนพบในบริเวณใดบ้าง

5. ภาวะการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทยมีความรุนแรงแค่ไหน

แหล่งสืบค้นหาความรู้เพื่อตอบคำถามก่อนเรียน
โรคขาดสารไอโอดีน หมายถึงภาวะร่างกายได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเป็นประจำ ซึ่งมีผลต่อการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนทำให้เกิดการเสียสมดุลในการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เรียกว่า ความผิดปกติของการขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency Disorder : IDD) คือเกิดอาการคอพอก (Goiter), ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (Hypothyrodism), โรคเอ๋อ (Cretinism) ซึ่งทำให้ระดับสติปัญญาพัฒนาด้อยกว่าปกติ และมีพัฒนาการทางร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ ถ้ามีการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ จะมีผลทำให้ทารกมีพัฒนาการของสมอง และระบบประสาทที่ช้ากว่าปกติ และหากขาดสารไอโอดีนในระดับรุนแรง อาจทำให้แท้งหรือตายก่อนคลอด หรือเกิดความพิการแต่กำเนิด อาการแสดงของโรคขาดสารไอโอดีนนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขาดสารไอโอดีน และช่วงระยะเวลาของการขาดสารไอโอดีน
สรุปอาการแสดงของโรคขาดสารไอโอดีน ตลอดช่วงชีวิตมนุษย์
  ระยะของชีวิต อาการแสดงทางคลินิคและผลกระทบที่เกิดขึ้น

ตัวอ่อนในครรภ์ แท้ง หรือ ตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ / เพิ่มอัตราป่วยและอัตราตายในทารกช่วงอายุ 28 สัปดาห์ในครรภ์ จนถึง 28 วันแรกหลังคลอด / ปัญญาอ่อนอย่างถาวร (โรคเอ๋อ) / เชาว์ปัญญาลดลง สูญเสียการได้ยิน และมีความผิดปกติทางระบบประสาทและการเคลื่อนไหว

ทารกแรกเกิด - 2 ปี คอพอก / ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ / เชาว์ปัญญาลดลง สูญเสียการได้ยิน และมีความผิดปกติทางระบบประสาทและการเคลื่อนไหว

เด็ก คอพอก / ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ / ตัวเตี้ย แคระแกร็น สติปัญญาพัฒนาเชื่องช้า

ผู้ใหญ่ คอพอก / ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำและมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ มีอาการเกียจคร้าน เชื่องช้า ง่วงซึม ผิวหนังแห้ง ทนความหนาวเย็นไม่ค่อยได้ เสียงแหบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องผูก

การขาดสารไอโอดีนทำให้เป็นคอพอก

เมื่อขาดสารไอโอดีน ต่อมไทรอยด์ซึ่งมีหน้าที่สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนจึงมีขนาดโตขึ้น เรียกกันโดยทั่วไปว่าคอพอก (Goiter) ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการปรับตัวของร่างกายเพื่อต่อสู้กับการขาดไอโอดีน ทั้งนี้เพราะเมื่อร่างกายขาดฮอร์โมน thyroxine จะส่งผลไปกระตุ้นไฮโปทาลามัสให้หลั่งสารเคมีมากระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าให้หลั่งฮอร์โมน TSH (Thyroid stimulating hormone) ส่งมาที่ต่อมไทรอยด์มากเกินกว่าระดับปกติ ต่อมไทรอยด์เมื่อได้รับการกระตุ้นมากจึงขยายขนาดโตขึ้น ถ้าโตมาก ๆ จะไม่สวย กดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก ไอ สำลัก ถ้ากดหลอดอาหารจะกลืนอาหารลำบาก
โรคขาดสารไอโอดีน โรคขาดสารไอโอดีน

การขาดสารไอโอดีนทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ

ผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่า การขาดสารไอโอดีนในระดับเล็กน้อย อาจไม่ทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายอย่างชัดเจน แต่ยังคงมีผลต่อระดับเชาว์ปัญญาหรือไอคิว

ทารกตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 2-3 ปี ถ้าขาดไอโอดีน จะมีสติปัญญาด้อย มีไอคิวต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตามศักยภาพถึง 30 จุด

เด็กที่อยู่ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีน มักมีไอคิวต่ำลงประมาณ 13.5 จุด

เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีปัญหาไทรอยด์มักมีไอคิวต่ำกว่า 85

 การขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรงทำให้สมองถูกทำลายอย่างถาวร การที่สมองถูกทำลายอย่างถาวรนี้ ได้รับการพิสูจน์แน่นอนจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก 2 ท่าน คือ นายแพทย์จอหน์ แสตนเบอรี่ จากสหรัฐอเมริกา และนายแพทย์เบซิล เฮทเซล จากออสเตรเลีย

ทารกที่คลอดจากแม่ที่ขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรงขณะตั้งครรภ์ มักเป็นโรคเอ๋อ คือ สติปัญญาทึบ หูหนวก เป็นใบ้ พิการทางประสาทและกล้ามเนื้ออย่างถาวร ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องเป็นภาระเลี้ยงดูของครอบครัวและสังคมตลอดไป

แหล่งข้อมูล : https://www.obec /e-media.com 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1930

อัพเดทล่าสุด