รังสีรักษา


826 ผู้ชม


โรคมะเร็งเป็นโรคที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ซึ่งเป็นกันมากทั้งในเพศชายและเพศหญิง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่หากตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรกก็จะสามารถรักษาใ   

การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธี "รังสีรักษา"

 

 

ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
โรคมะเร็งเป็นโรคที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ซึ่งเป็นกันมากทั้งในเพศชายและเพศหญิง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่หากตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรกก็จะสามารถรักษาให้หายได้ โดยมีวิธีการรักษาด้วยกันหลายวิธี และวิธีที่นิยมวิธีหนึ่งก็คือ... รังสีรักษา!!

คำถามเพื่อเน้นการคิด รังสีรักษาคืออะไร ?

กิจกรรมการเรียนรู้
  ขั้นสอน (ท่องประสบการณ์เน้นกระบวนการคิด)
  1.ให้ศึกษาเอกสารเนื้อหาที่ใช้สืบค้น
รังสีรักษา หรือการฉายรังสี หรือการฉายแสง
 คือ การรักษาโรคโดยใช้รังสีซึ่งเป็นคลื่นพลังงาน หรือลำอนุภาคที่สามารถปล่อยพลังงานปริมาณสูงแก่ร่างกายบริเวณที่ให้รังสีพลังงานจะมีผลทำลาย
เซลล์ซึ่งเป็นส่วนเล็กๆ ที่ประกอบกันเป็นก้อนเนื้องอกและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เซลล์ถูกทำลาย หรือหยุดการแบ่งตัว มีผลทำให้เซลล์ตายลงในที่สุดเนื่องจากพลังงานที่ให้ไปจะมีผลต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอยู่มากกว่าเซลล์ปกติ รังสีหรือพลังงานที่ให้ไปจึงมีผลต่อเซลล์เนื้องอก โดยเฉพาะเนื้อร้ายหรือมะเร็งมากกว่าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะปกติอื่นๆ นอกจากนี้ เซลล์ร่างกายปกติยังมีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้ดีกว่าเซลล์มะเร็ง ทำให้เราสามารถนำรังสีมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้ดี
 2.ศึกษาวิธีการให้รังสีในการรักษา
การให้รังสีเพื่อรักษาโรคมี 2 วิธีใหญ่ๆ ดังนี้

รังสีรักษา
 
  1. การฉายรังสี (Teletherapy หรือ External Radiotherapy) รังสีจะถูกฉายหรือส่งมาจากหัวเครื่องฉายรังสีที่อยู่ห่างจากตัวผู้ป่วยประมาณ 80-100 เซนติเมตร ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ ลักษณะคล้ายการทำเอกซเรย์ปกติ การฉายรังสีจะทำให้เกิดรังสีที่กระจายค่อนข้างสม่ำเสมอ เหมาะในการรักษามะเร็งที่ต้องการครอบคลุมบริเวณกว้าง
    รังสีที่ใช้ในการฉายรังสีมีทั้งที่ผลิตจาก
    สารกัมมันตรังสี คือ เครื่องโคบอลต์-60 และผลิตโดยเครื่องเร่งอนุภาค (Linear Accelator) ที่อาศัยกระบวนการทางฟิสิกส์ในการผลิตรังสี 
  2. การใส่แร่ (Brachytherapy) เป็นการนำแร่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดรังสี (สารกัมมันตรังสี) มาอยู่ชิดติดก้อนมะเร็ง หรือเนื้องอก เพื่อให้รังสีปริมาณสูงแก่ก้อนมะเร็ง เช่น การใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องคลอดและตัวมดลูกเพื่อรักษามะเร็งปากมดลูก หรือใส่แร่เข้าทางจมูกในการรักษามะเร็งของโพรงหลังจมูก เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า intracavitary radiation therapy นอกจากนี้ ยังมีการฝังเข็มหรือท่อนำเพื่อใส่แร่เข้าภายในก้อนเนื้องอกที่เรียกว่า interstitial radiation therapy เช่น การฝังแร่ในมะเร็งต่อมลูกหมาก และการวางแร่ที่ผิวของก้อนเนื้องอกที่เรียกว่า Mold เช่น การทำพิมพ์เหงือกหรือเพดานปาก และวางแร่ในพิมพ์นั้นเพื่อรักษามะเร็งในช่องปากขนาดเล็ก
    รังสีที่ใช้ในการใส่รักษาได้มาจากสารกัมมันตรังสี เช่น เครื่องมือใส่แร่ ซีเซียม (Cesium-137), โคบอลต์ (Cobalt-60) หรือที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน คือ อิริเดียม (Iridium-192) เป็นต้น
 3.ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยรังสี
การักษาด้วยรังสีทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่แพทย์ที่เป็นผู้กำหนดการรักษาจะทราบถึงการกำหนดของปริมาณรังสี ดังนั้น การกำหนดขอบเขตและปริมาณรังสีของแพทย์จะอิงไม่ให้โอกาสเกิดผลข้างเคียงรุนแรงเกิน 5-10% อยู่แล้ว ในปัจจุบันเครื่องมือและความรู้ด้านชีวรังสีดีขึ้น โอกาสในการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงก็ลดลง
ผลข้างเคียงจากรังสีเป็นผลที่เกิดกับอวัยวะที่อยู่ในบริเวณการฉายรังสี ส่วนผลต่อร่างกายทั่วไปผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลียบ้าง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน และพักผ่อนนอนหลับอย่าเพียงพอ และการออกกำลังกายเบาๆ จะช่วยลดอาการอ่อนเพลียทีเกิดขึ้นได้
ผลข้างเคียงทางรังสีรักษาที่พบได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 

รังสีรักษา
ผิวหนังที่คล้ำขึ้นเป็นผลมาจากการฉายรังสี
  1. ผลข้างเคียงในระยะฉายรังสี 3 เดือนหลังการรักษา (Acute side effect) 
    เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นชั่วคราวจากรังสี ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะหายไปหลังจากการฉายรังสีครบ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ ผลข้างเคียงต่อผิวหนังที่คล้ำขึ้น การอักเสบของเยื่อบุผิวต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณที่ฉายรังสี การทำความเข้าใจกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นและการให้ยาระงับอาการจะทำให้ผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นระยะการเกิดอาการได้
  2. ผลข้างเคียงในระยะหลังจาก 3 เดือนหลังการรักษา (Late side effect)
    เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากความเสื่อมและพังผืดที่เกิดขึ้นต่ออวัยวะต่างๆ ผลข้างเคียงเหล่านี้เมื่อเกิดพยาธิสภาพอาจไม่หายขาด แต่การดูแลตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสมจะทำให้อาการไม่เกิด หรือไม่รุนแรงได้
    โอกาสในการเกิดผลข้างเคียงขึ้นกับปริมาณรังสีที่ได้รับ และขอบเขตการฉายรังสี และอวัยวะสำคัญที่อยู่บริเวณการฉายรังสี ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์รังสีรักษาที่ทำการรักษาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการรักษา
4.ข้อควรรู้เกี่ยวกับการรักษาด้วยรังสี
  • การฉายรังสีไม่เจ็บ ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนการเอกซเรย์ธรรมดา
  • เมื่ออกจากห้องฉายแสงแล้วจะไม่มีรังสีอยู่ในตัว ผู้ป่วยสามารถอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นได้ตามปกติ
  • การฉายรังสีโดยทั่วไปต้องมีการแบ่งให้เป็นหลายครั้ง เพื่อลดการเกิดผลข้างเคียงต่ออวัยวะปกติ
  • การฉายรังสีโดยทั่วไปฉาย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ วันละ 1 ครั้ง จึงมักมีการฉายรังสีในวันจันทร์ - ศุกร์ หยุดวันเสาร์ - อาทิตย์
  • การฉายรังสีในแต่ละวัน ควรเตรียมการใช้ระยะเวลาในห้องฉายรังสีประมาณ 30 นาทีต่อครั้ง
  • การฉายรังสีเพื่อทำลายมะเร็งในขอบเขตการฉายรังสีเป็นการป้องกันการกระจายของโรค รังสีไม่ทำให้มะเร็งกระจาย
  • การดูแลตนเองระหว่างการฉายรังสี คือ การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ดี อาจออกกำลังกายเบาๆ ที่ไม่เหนื่อยมากเกินไปได้
  • ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีจะหลุดลอกง่าย ควรหลีกเลี่ยงการขัดถูหรือระคายเคืองบริเวณผิวหนังส่วนที่มีการฉายรังสี
  • ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นชั่วคราวระหว่างการฉายรังสี และจะค่อยๆ หายไปหลังการฉายรังสีครบ
  • ผลข้างเคียงตากการฉายรังสีเกิดเฉพาะบริเวณที่มีการฉายรังสี
    ขั้นสรุป  เมื่อนักเรียนเรียนรู้ว่ารังสีรักษาใช้รักษาโรคมะเร็งได้ นักเรียนจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
 


ที่มาข้อมูล : https://www.cccthai.org
https://medinfo2.psu.ac.th
https://www.myfirstbrain.com

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1938

อัพเดทล่าสุด