หลากหลายคำถามเกี่ยวกับ "หลุมดำ"แนวข้อสอบO-Net 53


3,477 ผู้ชม


หลุมดำ (Black hole) แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นหลุมอย่างชื่อ แต่เป็นอาณาบริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงสูงมากๆ จนดึงดูดทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งดวงดาวเข้าสู่ศูนย์กลางของอาณาบริเวณนั้น คล้ายกับสิ่งของถูกสูบลงในหลุมใหญ่ แม้กระทั่งแสงซึ่งเป็นสิ่งที่เดินทางได้เร็วที่สุดในจักรว   

หลากหลายคำถามเกี่ยวกับ "หลุมดำ"

ภาพจำลองระยะ 600 กิโลเมตรของหลุมดำบริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก 
เป็นหลุมดำที่มีมวลกว่า 10 เท่าของมวลดวงอาทิตย์


คำถาม  เน้นความจำ หลุมดำคืออะไร ? 
กิจกรรมนักเรียน
  ให้นักเรียนศึกษาเนื้อหาแล้วดึงประสบการณ์เดิมเพื่อช่วยความจำได้ดียิ่งขึ้น

หลุมดำ (Black hole) แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นหลุมอย่างชื่อ แต่เป็นอาณาบริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงสูงมากๆ จนดึงดูดทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งดวงดาวเข้าสู่ศูนย์กลางของอาณาบริเวณนั้น คล้ายกับสิ่งของถูกสูบลงในหลุมใหญ่ แม้กระทั่งแสงซึ่งเป็นสิ่งที่เดินทางได้เร็วที่สุดในจักรวาลก็ยังไม่สามารถหนีพ้นแรงโน้มถ่วงนี้ออกมาได้ และเมื่อไม่มีแสงส่งออกมาถึงตาเรา อาณาบริเวณดังกล่าวจึงไม่สามารถมองเห็นได้ หรือเห็นเป็นเพียงอาณาบริเวณสีดำๆ ทำให้เราเรียกกันว่าหลุมดำนั่นเอง
 คำถาม เน้นกระบวนการคิด   หลุมดำเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
กิจกรรมนักเรียน   ให้นักเรียนศึกษาเนื้อหา และภาพประกอบ เพื่อสรุปเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเอง
หลุมดำมีอยู่ 4 ชนิดด้วยกัน คือ

แหล่งที่มาhttps://www.myfirstbrain.com
หลากหลายคำถามเกี่ยวกับ "หลุมดำ"แนวข้อสอบO-Net 53
ภาพจำลองหลุมดำใจกลางควอซ่าร์
  1. หลุมดำมวลยวดยิ่ง (Supermassive black holes) เกิดขึ้นใจกลางของ ควอซ่าร์ (Quasars) ซึ่งเป็นบริเวณศูนย์กลางของกาแล็กซี มีข้อสันนิษฐานที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางว่ามันเกิดขึ้นจาการชนกันของกาแล็กซี แล้วเกิดการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า ซูเปอร์โนวา (Supernova) หลังการระเบิดได้กลายเป็นกาแล็กซีขนาดใหญ่มวลมาก และตรงใจกลางของกาแล็กซีเกิดหลุมดำที่มีแรงดึงดูดมหาศาลดูดดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์จำนวนนับพันล้านดวง รวมถึงก๊าซและฝุ่นในอวกาศเข้าไป จึงเรียกว่าหลุมดำมวลยิ่งยวด คาดกันว่ามีมวลประมาณ 105 ถึง 109 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ และมีขนาดใหญ่ประมาณ 0.001 ถึง 10 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ในปี ค.ศ.1994 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ได้ถ่ายภาพที่ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการค้นพบหลุมดำมวลยวดยิ่งได้ที่ใจกลางของ กาแล็กซี M87 นอกจากนั้นยังมีอีกหลายกาแล็กซีที่สันนิษฐานว่ามีหลุมดำมวลยวดยิ่งอยู่ที่ใจกลางกาแล็กซี เช่น กาแล็กซีแอนโดรเมดา(Andromeda Galaxy) กาแล็กซี M32 รวมทั้ง กาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) อันเป็นที่อยู่ของโลกเราด้วย
  2. หลุมดำมวลปานกลาง (Intermediate-mass black holes) เกิดขึ้นในกระจุกดาวทรงกลมเหมือนผลส้ม (Globular clusters) ซึ่งมีอยู่ในหลายกาแล็กซี กระจุกดาวทรงกลมที่สันนิษฐานว่าจะมีหลุมดำมวลปานกลางนี้ก็มีอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา เช่น กระจุกดาว M15 บริเวณ กลุ่มดาวเปกาซัส (Pegasus) และเมื่อปี ค.ศ.2004 ได้มีการยืนยันว่าพบหลุมดำมวลปานกลางอีกแห่งในกาแล็กซีของเรา อยู่ห่างจากบริเวณ Sagittarius A* ไปประมาณ 3 ปีแสง หลุมดำนี้มีมวลขนาด 1,300 เท่าของดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าหลุมดำชนิดนี้เกิดขึ้นจากการดูดหลุมดำขนาดเล็กกว่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเข้ามารวมกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้น คาดว่ามีขนาดประมาณ 1,000 กิโลเมตร มีมวลประมาณ 1,000 เท่าของมวลดวงอาทิตย์
  3. หลุมดำที่เกิดจากดาวตายแล้ว (Stellar black holes) ตามทฤษฎีดาวฤกษ์ดวงหนึ่งจะมี แรงโน้มถ่วง (Gravitation) ซึ่งจะดึงเข้าสู่ศูนย์กลางของดาว ทำให้ดาวดวงนั้นยุบตัวหรือหดขนาดลงได้ แต่ยังมีอีกแรงหนึ่งคือแรงดันที่เกิดจาก ปฏิกริยานิวเคลียร์ ภายในดาวดวงเดียวกัน ซึ่งจะปลดปล่อยพลังงานความร้อนและแสงพุ่งออกจากศูนย์กลางของดวงดาว แรงทั้ง 2 นี้จะหักล้างกันจนดาวคงสภาพอยู่ได้ แต่เมื่อดาวมีอายุมากขึ้น ปฏิกริยานิวเคลียร์ภายในดวงดาวจะค่อยๆ หมดลง แรงดันจึงไม่สามารถสู้แรงโน้มถ่วงได้ ทำให้ดาวค่อยๆ หดตัวลงในขณะที่มวลยังเท่าเดิม ซึ่งจะกลายเป็นดาวดวงเล็กที่มีความหนาแน่นสูงมาก ความหนาแน่นที่สูงขึ้นจะมีแรงโน้มถ่วงที่พื้นผิวสูงดาวขึ้นด้วย และสุดท้ายเมื่อดาวนี้ตายลงคือไม่มีปฏิกริยานิวเคลียร์ภายในดวงดาวอีกแล้ว หากดาวดวงนั้นมีมวลมากกว่า 3 เท่าของดวงอาทิตย์ จะยุบตัวลงจนถึง ภาวะเอกฐาน(Singularity) คือจุดที่มวลสารอัดแน่นจนมีขนาดเล็กเป็น อนันต์ (Infinite) และมีความหนาแน่นสูงมากจนมีค่าอนันต์เช่นกัน ทำให้มันกลายเป็นหลุมดำ คือมีแรงโน้มถ่วงที่สูงมากจนดึงดูดทุกสิ่งรอบข้างเข้ามาในตัว แม้กระทั่งแสงที่มีความเร็วมากที่สุดในจักรวาลก็ยังมีความเร็วไม่พอที่จะหนีพ้นจากแรงดึงดูดดังกล่าว ส่วนดาวที่มีมวลน้อยกว่า 3 เท่าของดวงอาทิตย์จะกลายเป็น ดาวนิวตรอน (Neutron stars) หรือ ดาวแคระขาว (White dwarfs) หลุมดำชนิดนี้มีขนาดประมาณ 30 กิโลเมตร มีมวลประมาณ 3 ถึง 20 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรามีอยู่หลายแห่ง เช่นที่กระจุกดาว Cygnus X-1
  4. หลุมดำขนาดจิ๋ว (Mini black holes) หลุมดำชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก ประมาณ 10-15 ถึง 0.1 มิลลิเมตร มีมวลประมาณเท่ามวลของดวงจันทร์ สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับหลุมดำชนิดนี้ว่า เป็น หลุมดำแรกเริ่ม(Primordial black holes) เกิดขึ้นระหว่าง การระเบิดครั้งยิ่งใหญ่ (The Big Bang) อันเป็นต้นกำเนิดของจักรวาล โดยเกิดจากการยุบตัวของบริเวณที่ถูกกดอัดอย่างรุนแรงในตัวกลางที่มีความหนาแน่นสูงและร้อนจัดระหว่างการระเบิดครั้งนั้น ฮอว์กิงเชื่อว่าหลุมดำขนาดจิ๋วก็มีการตายเช่นเดียวกับดวงดาว โดยหลุมดำนั้นจะปล่อยรังสีออกมาเป็นแบบ สเปกตรัมเชิงความร้อน (Thermal spectrum) เมื่อปล่อยรังสีจนหมด หลุมดำก็จะระเหยจนมีขนาดเล็กลงถึง ระดับขั้นของแพล๊งค์(Planck's scale) หรือขนาดประมาณ 10-35 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่มนุษย์ไม่มีทางสัมผัสได้ ก็เท่ากับว่ามันระเหยจนหายสาบสูญไปนั่นเอง ทฤษฎีเรื่องรังสีดังกล่าวนี้เรียกว่า รังสีฮอว์กิง (Hawking Radiation) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้คิดค้น

 คำถาม  นักเรียนคิดว่าหลุมดำดึงดูดสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร ?
กิจกรรม  ให้นักเรียนศึกษาหาความรู้จากภาพและใบความรู้ข้างล่างนี้แล้วสรุปเป็น แผนผังความคิด

ดาวที่อยู่รอบๆ (สีขาว) จะเคลื่อนที่เข้าสู่หลุมดำ (สีน้ำเงิน) เพราะเกิดความโค้งลงของอวกาศบริเวณที่เป็นหลุมดำ

ใบความรู้
ในปี ค.ศ.1915 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ได้เสนอ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Relativity) ซึ่งเขาได้อธิบายถึงเรื่องความโค้งของอวกาศว่าเป็นเหมือนแผ่นผ้าใบที่ขึงตึงทั้ง 4 ด้าน ถ้าเรากลิ้งลูกหินบนผืนผ้าใบนี้ มันย่อมวิ่งเป็นเส้นตรงเนื่องจากแผ่นผ้าใบนั้นเรียบ แต่ถ้าเราวางตุ้มน้ำหนักลงกลางแผ่นผ้าใบ น้ำหนักของตุ้มน้ำหนักจะทำให้ตรงกลางผ้าใบบุ๋มลงไป ในตอนนี้ถ้าเรากลิ้งลูกหินบนผ้าผืนใบ ทิศทางการกลิ้งของลูกหินย่อมได้รับผลกระทบจากความโค้งของผืนผ้าใบ คือกลิ้งไปสู่ตรงกลางผืนผ้าใบที่บุ๋มลงไป ซึ่งอวกาศก็มีลักษณะเดียวกัน กล่าวคือ แรงโน้มถ่วงของดวงดาวเปรียบได้กับความโค้งของอวกาศรอบๆ ดาวดวงนั้น ยิ่งดาวที่มีมวลมาก แรงโน้มถ่วงจะมาก ความโค้งของอวกาศก็จะมาก หรือบุ๋มลงไปลึก มันจึงมีแรงดูดสิ่งที่อยู่รอบๆ ให้ลงไปสู่ส่วนที่บุ๋มได้มาก นี่ก็คือลักษณะการทำงานของหลุมดำนั่นเอง
ไอน์สไตน์ได้เขียนคำอธิบายถึงแรงโน้มถ่วงของอวกาศนี้ออกมาเป็นสูตรที่เรียกกันว่า สมการสนามของไอน์สไตน์ (Einstein’s Field Equation) โดยผู้ที่สามารถหาคำตอบแรกของสมการนี้ได้ คือ คาร์ล ชวาร์ซไชลด์ (Karl Schwarzschild) ซึ่งเขาได้พิจารณาถึงความโค้งของอวกาศรอบๆ ดาวที่มีรูปทรงกลมสมบูรณ์และไม่หมุนรอบตัวเอง แล้วพบว่าเมื่อดาวดวงนี้หดตัวจนถึงภาวะเอกฐาน (Singularity) กลายเป็นหลุมดำ จะมีระยะห่างค่าหนึ่งที่วัดจากจุดศูนย์กลางของหลุมดำออกไปทุกทิศทางเป็นระยะทำการของหลุมดำ คือเป็นระยะที่หลุมดำสามารถดูดสิ่งต่างๆ ในอาณาเขตนี้เข้ามาในหลุมดำได้ เรียกกันว่า รัศมีของชวาร์ซไชลด์ (Schwarzschild radius) หรือ ขอบเขตแห่งเหตุการณ์ (Event horizon) แต่หากพ้นจากอาณาเขตนี้ไปแล้วแรงดึงดูดของหลุมดำก็ไม่มีผลใด สำหรับดาวฤกษ์ที่มีมวลประมาณ 10 เท่าของดวงอาทิตย์ จะมีรัศมีชวาร์ซไชลด์ประมาณ 30 กิโลเมตร

คำถาม  ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ : เมื่อมองไม่เห็นแล้วรู้ได้อย่างไรว่าหลุมดำอยู่ตรงไหน ?
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าภายในหลุมดำนั้นแม้แต่แสงก็ยังผ่านออกมาไม่ได้ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นภาพของหลุมดำได้ นอกจากเห็นเป็นเพียงความมืดดำที่ว่างเปล่า ถ้าเช่นนั้นนักดาราศาสตร์ใช้วิธีการใดจึงทราบว่าหลุมดำอยู่ตรงตำแหน่งไหน 
วิธีการหาตำแหน่งของหลุมดำก็คือ เฝ้าสังเกตการโคจรของดวงดาว โดยเฉพาะดาวใน ระบบดาวคู่ (Binary Star) ซึ่งเป็นดาวขนาดใหญ่ 2 ดวง ที่ส่งแรงดึงดูดต่อกันจนโคจรรอบกัน เมื่อมีดาวดวงหนึ่งยุบตัวลงจนกลายเป็นหลุมดำ หากดาวอีกดวงไม่อยู่ในรัศมีของชวาร์ซไชลด์ ก็จะไม่ถูกดูดเข้าไป แต่ก็ยังคงโคจรรอบหลุมดำอยู่เช่นเดิม ทำให้เราเห็นดาวดวงที่เหลือนี้เหมือนกำลังโคจรรอบอะไรบางอย่างทั้งที่เห็นเพียงความว่างเปล่า จึงสันนิษฐานได้ว่ามันกำลังโคจรรอบหลุมดำอยู่
ในบางกรณีหลุมดำอาจจะดูดกลุ่มก๊าซหรืออนุภาคที่อยู่รอบๆ ให้หมุนจนกลายเป็น ปรากฏการณ์จานรวมมวล (Accretion Disc)และเมื่อดึงดูดจนเข้าสู่รัศมีของชวาร์ซไชลด์ก็จะกลืนจานรวมมวลนี้หายไป กลุ่มก๊าซหรืออนุภาคที่ถูกดึงดูดด้วยแรงมหาศาลขณะเข้าสู่รัศมีของชวาร์ซไชลด์จะมีความร้อนสูงและสามารถแผ่ รังสีเอ็กซ์ (X-ray) ได้ ซึ่งนักดาราศาสตร์สามารถตรวจวัดรังสีเอ็กซ์ของกลุ่มก๊าซและอนุภาคนี้จนรู้ตำแหน่งที่มันถูกดูดหายไป ซึ่งก็คือตำแหน่งของหลุมดำได้หรืออีกวิธีหนึ่งคืออาศัย ปรากฎการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง (Gravitational lens) ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่ว่าแรงโน้มถ่วงสามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินของแสงได้ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงมีอิทธิพลต่ออนุภาคทุกชนิดที่มีมวลหรือพลังงาน ถึงแม้ว่าแสงซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะไม่มีมวลแต่มันก็มีพลังงาน นักดาราศาสตร์จึงตรวจวัดแสงที่มาจากดวงดาวที่อยู่ไกลๆ แล้วสังเกตการโคจรของแสง ถ้าระหว่างดาวดวงนั้นกับโลกมีหลุมดำอยู่ แสงส่วนหนึ่งจากดาวดวงนั้นจะเดินทางตรงเข้าสู่สายตาเราที่อยู่บนโลก แต่แสงอีกส่วนหนึ่จะถูกดึงดูดให้เปลี่ยนทิศทางไปใกล้หลุมดำแล้วค่อยเข้าสู่สายตาเราคนละเส้นทางกับแสงกลุ่มแรก เราจึงเหมือนกับเห็นดาวดวงเดียวกันแต่มีถึง 2 ตำแหน่ง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเส้นทางระหว่างดาวดวงนี้กับโลกมีหลุมดำขวางอยู่

แสงจากดาวส่วนหนึ่งพุ่งตรงสู่โลกเป็นภาพดาวจริง อีกส่วนหักเหไปทางหลุมดำเป็นภาพดาวเสมือนจริง
เราจึงมองเห็นดาวดวงเดียวเป็น 2 ดวง เรียกว่าปรากฏการณ์ Gravitational lens


คำถาม  ที่เน้นการประเมินสรุป : ดวงอาทิตย์จะกลายเป็นหลุมดำได้หรือไม่ ? 
ทราบกันดีแล้วว่าดวงอาทิตย์ก็เป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่าเมื่อดวงอาทิตย์ตายลงจะกลายเป็นหลุมดำหรือไม่ คำตอบถือ ไม่ เนื่องจากดวงอาทิตย์แม้จะเป็นดาวดวงใหญ่เมื่อเทียบกับโลก แต่ก็ยังเป็นดาวดวงเล็กไปสำหรับการกลายเป็นหลุมดำ จากการคำนวณพบว่ารัศมีชวาร์ซไชลด์ของดวงอาทิตย์ในปัจจุบันนั้นมีขนาดเพียง 2.9 กิโลเมตร ในขณะที่รัศมีของดวงอาทิตย์ยาวถึงเกือบ 7 แสนกิโลเมตร ดังนั้นดวงอาทิตย์จึงไม่มีคุณสมบัติของหลุมดำ เมื่อมันตายลงมันจะหดตัวแล้วกลายเป็นเพียงดาวแคระขาวแทน แต่นั่นก็ต้องรอไปอีกหลายพันล้านปีกว่าที่ดวงอาทิตย์จะตายลง
คำถาม  ที่เน้นการนำไปใช้แก้ปัญหา : มนุษย์สร้างหลุมดำขึ้นเองได้หรือไม่ ? 
คงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะสร้างหลุมดำชนิดที่ 1 - 3 เพราะหากสามารถสร้างได้จริง มนุษย์รวมทั้งโลกและดวงดาวอื่นๆ แม้แต่ดวงอาทิตย์ก็จะถูกดูดเข้าไปในหลุมดำนั้นจนหมดสิ้น แต่สำหรับหลุมชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นหลุมดำขนาดจิ๋ว (Mini black holes) มีขนาดเล็กมากจนมนุษย์อาจจะจำลองขึ้นมาได้ และกำลังมีความพยายามทำอยู่โดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire) หรือ เซิร์น (CERN) ซึ่งมีชาติในยุโรปเป็นสมาชิกในปัจจุบันถึง 20 ชาติ และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
หลากหลายคำถามเกี่ยวกับ "หลุมดำ"แนวข้อสอบO-Net 53
ภายในท่อใต้ดินของเครื่อง LHC

เซิร์นได้ติดตั้ง เครื่องเร่งความเร็วอนุภาคขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider : LHC) ขึ้นภายในอุโมงค์ใต้ดินรูปวงแหวนขนาดเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร ใต้พื้นดินของประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อจำลองการเกิด Big Bang ด้วยการยิง โปรตอน 2 ตัว ให้เครื่องแอลเอชซีเร่งลำอนุภาคของโปรตอนทั้ง 2 ลำให้เคลื่อนที่ในทิศทางตรงกันข้ามไปตามท่อที่วางขนานกันภายใต้ภาวะสุญญากาศ แล้วชนกันที่ความเร็ว 99.9999% ของความเร็วแสง ที่พลังงานสูงระดับล้านล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (1012 eV) เปรียบได้กับการเกิด Big Bang เมื่อครั้งกำเนิดจักรวาล แต่เป็น Big Bang ขนาดเล็กมากจากอนุภาคโปรตอนเพียง 2 ตัว ซึ่งมีมวลน้อยเกินกว่าจะเป็น มวลวิกฤต (Critical mass) ที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ หรือการชนกันอย่างต่อเนื่องแบบหลักการของระเบิดนิวเคลียร์เมื่อโปรตอนทั้ง 2 ตัวชนแล้วจะสลายตัวไปภายในเสี้ยววินาที แต่ในช่วงเวลานั้นก็จะถูกบันทึกโดยอุปกรณ์พิเศษแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ศึกษาถึงสภาพก่อนชน ในขณะที่ชน และหลังชน เพื่อไขความลับหลายๆ อย่างของจักรวาล เช่น จักรวาลเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ก็คือ หลุมดำขนาดจิ๋ว (Mini black holes) ตามทฤษฎีการเกิดหลุมดำจาก Big Bang แต่หลุมดำที่อาจเกิดในการทดลองนี้ จะมีขนาดเล็กกว่าโปรตอนหลายเท่าและจะมีช่วงอายุขัยอยู่เพียงเศษเสี้ยวของวินาที ดังนั้นมันจึงไม่สามารถดูดมนุษย์หรือโลกนี้ไปได้ แต่เราสามารถรู้ว่ามันเกิดขึ้นหรือไม่จากการวัดรังสีฮอว์กิงของหลุมดำตามทฤษฎีของสตีเฟน ฮอว์กิง
เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2008 เซิร์นได้ทำการทดลองครั้งแรก โดยทดลองยิงโปรตอน 1 ตัวด้วยความเร็วต่ำ เพื่อทดสอบการวิ่งของลำอนุภาคโปรตอน ซึ่งประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีเมื่อมันสามารถวิ่งตามความยาวของท่อจนครบรอบได้ และปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเตรียมการทดสอบขั้นต่อไป

ขั้นสรุป   ให้นักเรียนคาดหวังว่าในธรรมชาติเป็นสิ่งที่นักเรียนจะต้องสนใจอย่างสม่ำเสมอจะทราบความเป็นจริงของธรรมชาติได้มากน้อยอย่างไร ( สรุปเป็นแนวคิดของนักเรียนเอง)

หลากหลายคำถามเกี่ยวกับ "หลุมดำ"แนวข้อสอบO-Net 53


ที่มาข้อมูล : https://physics.science.cmu.ac.th
www.vcharkarn.com
www.sci.ubru.ac.th
www.wikipedia.org  แหล่งที่มาhttps://www.myfirstbrain.com
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=1980

อัพเดทล่าสุด