"กระบวนการคิดวิเคราะห์ของลูก" เริ่มต้นจาก...?


787 ผู้ชม


ผู้ปกครองหลายท่านอาจคิดไม่ถึงว่า ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาของลูกจะมีมากหรือน้อย เริ่มต้นได้ที่กระบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดจากการทำงานของสมอง อันประกอบด้วยความสามารถในการวางแผน จดจำ และมีสมาธิ 
การที่ลูกน้อยของท่าน จะมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่ดี ก็จะทำให้เด็กรู้จักคิดหาเหตุผล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง และชอบที่จะเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเมื่อเด็กประสบผลสำเร็จในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะเป็นแรงจูงใจให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จนเกิดเป็นทักษะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ลูกน้อยต้องเผชิญ ส่งผลให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
กระบวนการคิดวิเคราะห์ของลูกน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง
หากทารกมีโภชนาการที่ดี และการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ลูกน้อยก็จะมีศักยภาพอย่างเต็มที่ในการวางแผน จดจำ และมีสมาธิ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา
รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการ และการเจริญเติบโต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ให้คำแนะนำเพื่อคุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปต่อยอดการเลี้ยงดูลูกน้อย เพราะนอกจากปัจจัยเรื่องพันธุกรรมแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ เป็นตัวกำหนดสติปัญญาเด็ก สามารถช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ และช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างต่อเนื่อง 

 


  • โภชนาการที่ดี จะทำให้ร่างกายและสมองเจริญเติบโตตามวัย ลูกน้อยควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสมกับวัย ซึ่งแหล่งของสารอาหารที่ดีที่สุดก็คือ "นมแม่" เนื่องจากมีสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสมองของลูกน้อยก็คือ ดีเอชเอ และเออาร์เอ ซึ่งหากลูกน้อยได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะทำให้การเรียนรู้ของลูกมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
    • ประสบการณ์เรียนรู้ที่หลากหลาย และการเลี้ยงดูที่เหมาะสม - คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างเสริมทักษะของกระบวนการคิดวิเคราะห์ของลูกน้อยได้โดยการเสริมสร้าง และกระตุ้นอย่างถูกวิธีผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ตา - ดู, หู - ฟัง, ปากลิ้น - ดูด อม เลีย รับรส, ผิวหนัง - รับสัมผัสสิ่งต่างๆ ซึ่งการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ตรงตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาทในสมอง โดยเฉพาะช่วง 3 ขวบปีแรกของชีวิต ที่สมองจะมีการพัฒนามากถึง 80% ยิ่งคุณพ่อคุณแม่เสริมทักษะให้ลูกน้อยได้เรียนรู้อย่างหลากหลาย การเชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาทในสมองจะยิ่งเกิดมาก ซึ่งนอกจากการเรียนรู้ที่หลากหลายแล้ว การเล่นที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ก็เป็นการกระตุ้นให้เด็กรู้จักฝึกสังเกต และเรียนรู้ที่ดีวิธีหนึ่ง
เกมส์ซ่อนของเล่น - บททดสอบกระบวนการคิดวิเคราะห์สำหรับเด็กวัย 9 เดือน
ผลงานวิจัยล่าสุดที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระบุว่า ทารกวัยเพียง 9 เดือน ที่มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเกต และการเรียนรู้ที่ดี จะสามารถแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าได้สำเร็จ ซึ่งการวิจัยนี้ ได้ทดสอบทารกวัย 9 เดือน จำนวน 229 คน ด้วยวิธี 2-Step Means End Problem Solving (MEPS) Test คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำวิธีนี้ ไปเล่นกับลูกได้

 

  • ขั้นตอนแรก - ให้คุณพ่อคุณแม่นำของเล่นวางบนผ้าให้ห่างจากตัวลูกน้อย หากลูกน้อยเอามือตวัดผ้า และดึงของเล่นเข้ามาหาตัว แสดงว่าลูกน้อยมีศักยภาพในการแก้ปัญหา มีการคิดวิเคราะห์ว่าต้องดึงผ้าเข้าหาตัวเพื่อหยิบของเล่นชิ้นนั้น
  • ขั้นตอนที่สอง - ให้คุณพ่อคุณแม่นำของเล่นวางไว้ใกล้ตัวเด็ก แต่ให้นำผ้ามาปิดคลุมของเล่นที่อยู่ตรงหน้าลูกน้อย หากลูกพยายามที่จะเปิดผ้าเพื่อหยิบของเล่นออกมาให้ได้ จะเป็นการบ่งบอกถึงกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเกต และการเรียนรู้ที่ดีของลูกน้อย ระหว่างขั้นตอนการทดสอบ คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจลูกด้วยการตบมือเชียร์ ชมลูกน้อยไปด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กแล้ว ยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่ และคุณลูกอีกด้วย
ขีดๆ เขียนๆ - กิจกรรมเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์สำหรับเด็กวัย 1 ขวบ ถึง ขวบครึ่ง
การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ขั้นต้นสำหรับเด็กวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกโดยการทำเป็นตัวอย่างให้แก่ลูก เพราะเด็กในช่วงวัยนี้ มีการเรียนรู้จากการเลียนแบบ คุณพ่อคุณแม่สามารถร่วมทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์สำหรับเขาได้อย่างง่ายๆ 
โดยการยื่นดินสอสีเทียนให้ลูกน้อยและขีดเขียนให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ลูกน้อยจะเกิดการเรียนรู้ว่าการนำดินสอสีเทียนกดลงไปบนกระดาษจะทำให้เกิดสีออกมา
จากนั้นให้คุณพ่อคุณแม่เปลี่ยนวิธีการให้แตกต่างกันออกไป เช่น เปลี่ยนจากสีเทียนเป็นปากกาลูกลื่น และให้คุณพ่อคุณแม่กดที่หัวปากกาให้ปลายปากกายื่นออกมา ลูกน้อยก็จะเกิดการเรียนรู้ว่าหากเป็นดินสอสีเทียนสามารถขีดเขียนได้โดยไม่ต้องกด แต่หากเป็นปากกาลูกลื่น เด็กก็จะรู้จักวิธีแก้ปัญหาโดยการกดหัวปากกาออกมาก่อนจึงจะขีดเขียนได้
 กิจกรรมนี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ของลูกน้อยแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างจินตนาการหลายๆ ด้านให้แก่ลูกน้อยอีกด้วย
ทั้งนี้ การส่งเสริมพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ให้ลูกน้อย ต้องมีความพร้อมทั้งทางสมอง และร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งเริ่มจากการได้สารอาหารและโภชนาการที่ดี พร้อมทั้งการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมตามวัยค่ะ

 


ที่มาข้อมูล : www.meadjohnsonthailand.com
ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2000

อัพเดทล่าสุด